ผลกระทบโควิด-19 ต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน: มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน



นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ และระบบสาธารณสุขแล้ว หนึ่งในผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่หนักหนาสาหัสมากคือ การเรียนรู้/การศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งในบทความนี้ Think Forward Center จะกล่าวถึง ผลกระทบที่มีต่อเด็กและเยาวชนในรูปแบบต่างๆ รวมถึงข้อเสนอแนะในการออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทยด้วย



ผลกระทบของโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนไทย

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการเรียนรู้/การศึกษาของเด็กและเยาวชนไทยมีทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ 

  • การเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน 
  • ฐานะและภาระทางเศรษฐกิจของครัวเรือน และ 
  • การเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทั้งของเด็ก/เยาวชน และพ่อแม่/แม่/ผู้ปกครอง


ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเด็กและเยาวชนไทย ประกอบด้วย


ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ที่ลดน้อยลงไป

เพราะต้องเป็นการเรียนรู้แบบออนไลน์เป็นหลักเกือบทั้งหมด ซึ่งไม่สอดคล้องกับพัฒนาการเด็กที่ต้องการเรียนรู้อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการได้รับการสนับสนุนทางจิตใจ (ผ่านปฏิสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ) ของครู/อาจารย์/เพื่อนๆ โดยเฉพาะในช่วงเด็กปฐมวัย ซึ่งผลการศึกษาของ รศ.ดร. วีระชาติ กิเลนทอง พบว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เด็กปฐมวัยมีระดับความพร้อมของการเรียนรู้ถดถอยลงประมาณ 0.32-0.39 ปี นอกจากนี้ ผลการสำรวจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ยังพบว่า ร้อยละ 70 ของเยาวชน (อายุ 15-19 ปี) มีความเครียดและความวิตกกังวลในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย

การเข้าไม่ถึงรูปแบบการเรียนรู้แบบออนไลน์

โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต และ/หรืออุปกรณ์การเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนแบบออนไลน์ได้ ซึ่งจากการสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคเพื่อการศึกษาพบว่า เฉพาะนักเรียนทุนเสมอภาคของกองทุนฯ มีนักเรียนที่ประสบปัญหาในการเรียนรู้แบบออนไลน์มากถึง 271,888 คน

ภาวะขาดแคลนสารอาหารของนักเรียน

อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีผลให้นักเรียนที่ยากจน (และยากจนพิเศษ) ไม่สามารถเข้าถึงอาหารกลางวันและนมจากโรงเรียน ประกอบกับครัวเรือนก็มีรายได้ลดน้อยลงก็จะกระทบกับภาวะโภชนาการของนักเรียนด้วย โดยข้อมูลประมาณการณ์ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คาดว่า จะมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนสารอาหารอยู่ประมาณ 1 แสนคน

ภาระค่าใช้จ่ายและการเป็นหนี้สินจากระบบการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น

เพราะรายได้ครัวเรือนลดลง ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาต่อรายได้ของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ในกลุ่ม 40% ที่น้อยที่สุดของประเทศ และกลุ่มครัวเรือนที่มีเยาวชนศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยจะพบว่า สำหรับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยภาระค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของครัวเรือนจะมีสัดส่วนที่เทียบเป็นร้อยละที่สูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา  นอกจากนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยยังพบจากการระบาดระลอกแรกว่า ครัวเรือนที่มีเด็กเล็กมักจะมีรายได้ที่ลดลง และรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีเด็กเล็ก ทั้งนี้ เพราะครัวเรือนที่มีเด็กเล็กจะมีสัดส่วนของคนทำงานไม่ประจำมากกว่า (ซึ่งคนทำงานกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า)

การหลุดออกนอกระบบการศึกษา

โดยเฉพาะในช่วงระหว่างรอยต่อช่วงชั้น (เช่น จากประถมขึ้นมัธยม จากม.ต้นขึ้น ม.ปลาย) โดยข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคเพื่อการศึกษาพบว่าในปีการศึกษา 2563 คาดว่าจะมีจำนวนนักเรียนหลุดออกระบบการศึกษา (เฉพาะปีที่มีการข้ามช่วงชั้น) ประมาณ 57,500 คน โดยมีสาเหตุหลักมาจากฐานะเศรษฐกิจของครัวเรือน และในปีการศึกษา 2564 นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคเพื่อการศึกษาคาดว่า จำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจะมีประมาณ 65,000 คน

การสูญเสียบุพการีและ/หรือผู้ปกครองจากสถานการณ์โควิด-19

ทั้งในกรณีที่พ่อแม่เสียชีวิตเพียงคนเดียว หรือเสียชีวิตทั้งคู่ และ/หรือ ผู้ปกครองที่ดูแลเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ยังไม่มีการสรุปจำนวนเด็กและเยาวชนที่สูญเสียพ่อ/แม่/ผู้ปกครอง แต่ข้อมูลเบื้องต้นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พบว่ามีจำนวน 35 ราย (ส่วนจำนวนเด็กที่ติดเชื้อมีประมาณ 70,000 ราย ข้อมูล ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2564) และปัจจุบัน ภาครัฐมีการให้ความช่วยเหลือในอัตราเพียง 2,000 บาท/คน/เดือน (ให้แก่ครอบครัวอุปถัมภ์) ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตและการศึกษาในอนาคตได้




ข้อเสนอมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทย

การเยียวยาและฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินการทั้งอย่างเร่งด่วน และระยะยาว โดย Think Forward Center เห็นว่าควรมีมาตรการที่สำคัญ 5 ประการดังนี้

1. มาตรการเยียวยาแบบถ้วนหน้าสำหรับครัวเรือนที่มีเด็ก (0-14 ปี) และเยาวชน (15-18 ปี)

เพื่อช่วยลดปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งการป้องกันภาวะการขาดแคลนสารอาหาร และภาวะความยากลำบากทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงที่มีมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด โดยมาตรการนี้ควรช่วยเหลือแก่ครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนทุกรายในอัตรา 2,000 บาท/คน/ราย เป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือน (สิงหาคม และกันยายน 2564) มาตรการเยียวยาแบบถ้วนหน้านี้จะใช้งบประมาณประมาณ 60,000 ล้านบาท

2. มาตรการการช่วยสนับสนุนการเรียนรู้แบบออนไลน์

สำหรับนักเรียนที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการเรียนรู้แบบออนไลน์ และอาจหลุดออกจากการเรียนรู้ไปแล้ว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งอุปกรณ์สมาร์ทโฟน, SIM ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต, แพ็คเกจการเรียนการสอนสำหรับทุกระดับชั้น (หรือตารางการเรียนรู้แบบออนไลน์) รวมถึงมีระบบพี่เลี้ยง (เช่น นิสิต/นักศึกษาที่หารายได้เสริม บัณฑิตที่กำลังรอการทำงาน) ที่ช่วยสนับสนุน/แนะนำในการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย แบบเดียวกับที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น StartDee หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตรายต่างๆ ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ซึ่งหากรัฐบาลตัดสินใจสนับสนุนแล้ว ก็สามารถดำเนินการผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้เลย โดยหากมองในภาพรวมแล้ว มาตรการนี้ยังสามารถช่วยทำให้เกิดการจ้างงาน นิสิต/นักศึกษา/บัณฑิต ได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งมาตรการสนับสนุนในส่วนนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท (รวมงบประมาณที่จะสนับสนุนการจ้างงานนิสิต/นักศึกษา/บัณฑิตในการเป็นการเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เรียนด้วย)

3. มาตรการการลดค่าใช้จ่ายทางการศึกษา

โดยเฉพาะค่าเล่าเรียนและค่าลงทะเบียนเรียนของนักเรียน และนิสิต/นักศึกษา ซึ่งรัฐบาลและสถาบันการศึกษาก็ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน (โดยไม่รวมถึงสถาบันการศึกษาเอกชน) สำหรับภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2564 แต่เป็นการดำเนินการย้อนหลัง ซึ่งอาจมีผลเสียที่ผู้ปกครองจะต้องชำระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา/ค่าลงทะเบียนเรียนไปก่อน แล้วค่อยมาได้รับเงินคืนในภายหลัง และเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 น่าจะยังมีผลต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงในช่วงภาคการศึกษาปลาย ของปีการศึกษานี้ และอาจต่อเนื่องไปจนถึงปีการศึกษาหน้า เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณาขยายเวลาการลดค่าเล่าเรียน/ค่าลงทะเบียนเรียนไปจนถึงภาคการศึกษาที่ 1 ของปีการศึกษา 2565 เป็นอย่างน้อย โดยมีงบประมาณสนับสนุนเพื่อมิให้เกิดเป็นปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินงานของสถาบันการศึกษาในทุกระดับและในทุกขนาด โดยจะใช้งบประมาณประมาณ 80,000 ล้านบาท/ปี (หรือประมาณร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั่วประเทศ)

4. มาตรการสินเชื่อฉุกเฉินพิเศษเพื่อการศึกษา

โดยปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเพิ่มเติมขึ้นจากมาตรการลดค่าใช้จ่ายในข้อ 3 เพราะสำหรับนักเรียน นิสิต/นักศึกษาบางส่วนยังอาจมีภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่ยังคงเป็นภาระอยู่ ก็จะสามารถมาขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้โดยปลอดดอกเบี้ยในระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้ผู้เรียนยังคงสามารถได้ศึกษาต่อในหลักสูตร/สถาบันที่ตนต้องการและได้ศึกษามาแล้วต่อเนื่องต่อไปได้ แล้วจึงชำระคืนในภายหลัง หลังจากระยะเวลา 3 ปี หรือหากมีความพร้อมเพิ่มมากขึ้นก็สามารถชำระคืนก่อนได้ ทั้งนี้ อาจต้องเตรียมวงเงินสินเชื่อสำหรับการดำเนินการประมาณ 30,000 ล้านบาท

5. มาตรการเยียวยาระยะยาว สำหรับเด็ก/เยาวชน ที่พ่อ/แม่/ผู้ปกครองเสียชีวิตจากโควิด-19

ปัจจุบัน ภาครัฐมีมาตรการ (ก) การจัดสถานเลี้ยงดูระยะยาวให้กับเด็ก และ (ข) เงินสนับสนุนการเลี้ยงดู 2,000 บาท/เดือน ให้กับครัวเรือนที่ช่วยเลี้ยงดูเด็กที่สูญเสียพ่อ/แม่/ผู้ปกครอง ซึ่งควรจะมีมาตรการเพิ่มเติมเช่น การเพิ่มเงินสนับสนุนการเลี้ยงดู (สำหรับเด็กกำพร้าทุกคน) และการมีมาตรการทุนการศึกษาระยะยาว จนถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (และ/หรืออาชีวศึกษาขั้นสูงสุด) ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจะใช้เงินไม่เกิน 30 ล้านบาท/ปี



ทั้งนี้ การดำเนินการในมาตรการทั้ง 5 ด้านควรดำเนินการอย่างสอดคล้องกัน รัฐบาลควรดำเนินการมาตรการเยียวยาทั้ง 5 มาตรการ ภายใต้แผนงานเดียวกัน หรือพระราชกำหนดเงินกู้ฉบับเดียวกัน โดยใช้งบประมาณรวมกันประมาณ 200,000 ล้านบาท เพื่อให้การประสานและติดตามดำเนินการเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องต้องกันมากที่สุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า