วัฒนธรรมการอ่าน และระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ

โดย เดชรัต สุขกำเนิด

In Focus

  • แม้ว่าคนไทยให้เวลากับการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น แต่อุตสาหกรรมหนังสือของไทยยังมีขนาดเล็กและหดตัวลง จากผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
  • ความสามารถในการเข้าถึงหนังสือของคนไทยแตกต่างกันมาก โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เกิดในครัวเรือนยากจน กว่าร้อยละ 77 มีหนังสือที่เหมาะสมสำหรับช่วงวัยในบ้านของตนไม่ถึง 3 เล่ม
  • วัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสือมีบทบาทสำคัญมากในฐานะต้นน้ำของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงมีความเชื่อมโยง (หรือตัวทวีทางเศรษฐกิจ) ไปสู่สาขาอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยกันเป็นอย่างมาก จึงควรพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ไปพร้อมกัน
  • Think Forward Center เสนอให้มีการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ” ทั้งระบบ โดยมีการสร้างวัฒนธรรมการอ่านเป็นหนึ่งในแกนหลักของการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ของสังคมไทย โดยกำหนดวงเงินไว้เบื้องต้น 40,000 ล้านบาท/ปี หรือประมาณร้อยละ 5 ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งประเทศ ทำหน้าที่
    • สนับสนุนวงการการผลิต/จัดทำหนังสือ/สื่อที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ในแต่ละมิติและแต่ละช่วงวัย โดยมีวงเงินสนับสนุนที่ชัดเจนเป็นรายปี
    • สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด พื้นที่เรียนรู้/ทำงานร่วมกัน และ/หรือพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในแต่ละเมือง หรือแต่ละท้องถิ่น
    • สนับสนุนเด็กและเยาวชนในการเข้าร่วม/เข้าถึงกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ในลักษณะของ “คูปองการเรียนรู้” ในอัตราประมาณ 1,000 บาท/คน/ปี


การสร้างและการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในการสร้างระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของแต่ละประเทศ Think Forward Center เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง/สนับสนุนวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย และข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้


สถานการณ์ของวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย

วัฒนธรรมการอ่านของคนไทยค่อย ๆ เติบโตขึ้นในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา (พ.ศ. 2551-2561) การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือมากขึ้นประมาณหนึ่งเท่าตัวในทุกช่วงวัย ยกเว้นสำหรับผู้สูงอายุที่มีอัตราการอ่านเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อย และที่สำคัญคือ เยาวชนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่มีอัตราการอ่านสูงที่สุด


ตารางที่ 1 เวลาที่ใช้ในการอ่านของคนไทยในแต่ละช่วงวัย ในปีพ.ศ. 2551 และพ.ศ. 2561 (นาทีต่อวัน)

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการเข้าถึงหนังสือของครัวเรือนที่มีฐานะแตกต่างกันก็ยังคงเป็นปัญหาอย่างมาก เพราะผลการสำรวจเด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2559 พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในครัวเรือนที่มีฐานะยากจน ร้อยละ 77 มีหนังสือที่เหมาะสมสำหรับเด็กในบ้านไม่ถึง 3 เล่ม และพบว่า มีเด็กไทยเพียงร้อยละ 14.2 ที่มีหนังสือที่เหมาะสมมากกว่า 10 เล่มขึ้นไป ขณะเดียวกัน ผลการทดสอบความสามารถในการอ่านของนานาชาติ (หรือ PISA) ความสามารถในการอ่านของเยาวชนไทยที่อายุ 15 ปี ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของนานาชาติ และยังคงมีแนวโน้มลดลงจนน่าเป็นห่วงอีกด้วย


สถานการณ์อุตสาหกรรมหนังสือของไทย

ในด้านอุปทาน (หรือการผลิตหนังสือ) เราจะพบว่า อุตสาหกรรมหนังสือของไทยยังมีขนาดเล็ก โดยหากเปรียบเทียบอุตสาหกรรมหนังสือของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ โดยเทียบปริมาณหนังสือที่พิมพ์ในแต่ละปีต่อประชากรหนึ่งล้านคน ประเทศไทยก็ยังผลิตหนังสือที่ 136.7 ปกต่อประชากรหนึ่งล้านคน เทียบกับเดนมาร์กหรือฟินแลนด์ที่ผลิตหนังสือมากถึง 2,400-2,500 ปกต่อประชากรหนึ่งล้านคนเลยทีเดียว (ข้อมูลปี พ.ศ. 2552 จาก Fink-Jensen, 2015) หรือหากเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ มูลค่าตลาดหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไทยก็ยังอยู่ที่ 0.1% ของ GDP ในขณะที่มูลค่าตลาดหนังสือและสิ่งพิมพ์ของสหภาพยุโรปอยู่ที่ 0.27% ของ GDP และของญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.29% ของ GDP

ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมหนังสือของไทยยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์สื่อ และพฤติกรรมของผู้บริโภค จนทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมหนังสือ (รวมถึง e-book) ลดลงจาก 25,000 ล้านบาท ในปีพ.ศ. 2554 มาเหลือเพียง 12,000 ล้านบาทในปีพ.ศ. 2563 (ข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย) ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ร้านหนังสือต้องปิดดำเนินการ รวมถึงงานสัปดาห์หนังสือ/มหกรรมหนังสือที่ต้องจัดในรูปแบบออนไลน์แทน


ศักยภาพของวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสือ

แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงในเชิงเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมจะเกิดขึ้นมากมายในช่วงที่ผ่านมา แต่วัฒนธรรมการอ่านก็ยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผลดีที่เกิดขึ้นกับ

  1. พัฒนาการของเด็กและเยาวชน ทั้งในแง่การเรียนรู้ (เช่น ความสามารถในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น) ในแง่จิตวิทยา (เช่น การรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ความรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง) และในแง่สังคม (เช่น การเข้าสังคม การเปิดมุมมองที่มีต่อโลก)
  2. คุณภาพชีวิตของผู้ใหญ่ โดยในแง่การทำงาน ทักษะการอ่านมีผลต่อประสิทธิผลในการทำงาน และในแง่คุณภาพชีวิต (โดยเฉพาะการช่วยลดความเครียด ช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว และช่วยลดภาวะซึมเศร้า)
  3. ผลกระทบโดยรวมของเศรษฐกิจและสังคม ผลการศึกษาในต่างประเทศยังพบว่า ผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือน้อย จะเชื่อว่าตนเองมีโอกาสเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองรวมถึงนโยบายสาธารณะได้น้อย จึงมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองน้อยกว่าผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือ


ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมหนังสือก็มีส่วนสำคัญมากในฐานะ “ต้นน้ำ” ของระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งในแง่ของ (ก) การสร้างหรือการต่อยอดเนื้อหาหรือ content ที่จะนำไปสู่การผลิตในรูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์รูปแบบอื่น ๆ ภาพยนตร์ เพลง สื่อใหม่ ฯลฯ (ข) นำไปสู่การสร้างและเพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนปฏิบัติการเฉพาะด้าน โดยมิได้จำกัดเฉพาะวงการหนังสือ ขณะเดียวกัน (ค) พื้นที่ร้านหนังสือต่าง ๆ โดยเฉพาะที่มีพื้นที่สำหรับการอ่านและกิจกรรม ก็สามารถทำหน้าที่ในการเป็น “ประตู” สำหรับการใช้เวลาและเปิดประสบการณ์ ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ธุรกิจอื่นในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น ๆ ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์และการร่วมรังสรรค์ (Co-creation) ได้มากขึ้น

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมองในมุมของผู้อ่านหรือในมุมของผู้ผลิต วัฒนธรรมการอ่าน และอุตสาหกรรมหนังสือล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของไทยในอนาคต


ระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ

การส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสือควรดำเนินการอย่างควบคู่กันการเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆ แยกขาดจากกันไม่ได้ ผลการวิจัยของ ศ.พิริยะ ผลพิรุฬห์ และ อ. อัครนัย ขวัญอยู่ (2563) แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้ในแต่ละด้านล้วนมีผลเชื่อมโยงกัน และมีผลทางบวกต่อความสามารถในการอ่านของเยาวชน โดยเฉพาะการเรียนรู้ในเรื่องคอมพิวเตอร์ การออกกำลังกายในช่วงเย็น และการเรียนรู้ทางศิลปะ/ดนตรี ล้วนมีผลต่อความสามารถในการอ่านจับใจความของเด็กและเยาวชน การพัฒนาวัฒนธรรมการอ่านจึงจำเป็นต้องพัฒนาควบคู่กับระบบนิเวศการเรียนรู้อื่น ๆ ไปพร้อมกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ผลการศึกษาของ UNESCO และธนาคารโลก (World Bank) ยังชี้ไปในทางเดียวกัน เนื่องจากการจ้างงานในภาคการผลิตวรรณกรรมมีความสัมพันธ์อย่างสูงกับการจ้างงานในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในสาขาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน (ก) ดนตรี/ภาพยนตร์ (ข) สื่อ/ศิลปะ (ค) หัตถศิลป์ และ (ง) มรดกทางวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือกับการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ในภาพรวมจึงเสริมหนุนกันเป็นอย่างดี [1]

ในสหราชอาณาจักรได้เคยมีการประมาณการณ์กันว่า อุตสาหกรรมหนังสือและสิ่งพิมพ์ของสหราชอาณาจักรมีค่าตัวทวีทางเศรษฐกิจ (หรือ multiplier effect) อยู่ที่ 1.70-2.43 เท่า และนำไปสู่ข้อสรุปที่ระบุว่า การจ้างงานโดยตรงในอุตสาหกรรมหนังสือและสิ่งพิมพ์ 1 ตำแหน่ง จะทำให้เกิดการจ้างงานในสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องอีก 1 ตำแหน่ง [2]


กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ

Think Forward Center จึงเสนอให้จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ” ทั้งระบบ โดยวัฒนธรรมการอ่านเป็นหนึ่งในแกนหลักของการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ของสังคมไทย วงเงินเบื้องต้น 40,000 ล้านบาท/ปี หรือประมาณร้อยละ 5 ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั้งประเทศ โดยแยกเป็น 50% สำหรับการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ในระบบการศึกษา และอีก 50% สำหรับการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา

กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 20,000 ล้านบาทที่อยู่นอกระบบการเรียนรู้ จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการยกระดับวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสือใน 3 ด้านด้วยกันคือ

  • การสนับสนุนวงการการผลิต/จัดทำหนังสือ/สื่อที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ในแต่ละมิติและแต่ละช่วงวัย โดยมีวงเงินสนับสนุนที่ชัดเจนเป็นรายปี ซึ่งวงการหนังสือสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการงบประมาณดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น (ก) การออกแบบการจัดสรรงบประมาณ การกำหนดเงื่อนไขการใช้งบประมาณ และการติดตามการใช้งบประมาณ (ข) การออกแบบการระดมทุนจากภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม และ (ค) การจัดตั้งหน่วยงานที่จะเป็นแกนกลางของวงการหนังสือ (เช่น สถาบันหนังสือแห่งชาติ) โดยวงเงินการสนับสนุนในภาพรวม (รวมการพัฒนานิเวศการเรียนรู้อื่นๆ) ประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี
  • การสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด พื้นที่เรียนรู้/ทำงานร่วมกัน และ/หรือพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในแต่ละเมืองหรือท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมการอ่านและระบบนิเวศการเรียนรู้ในภาพรวม โดยมีวงเงินสนับสนุนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อเทศบาลและอำเภอ โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและการดำเนินการ ซึ่งจะใช้งบประมาณประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี
  • การสนับสนุนเด็กและเยาวชนในการเข้าร่วม/เข้าถึงกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ในลักษณะของ “คูปองการเรียนรู้” ซึ่งสามารถตัดสินใจด้วยเอง (และ/หรือผู้ปกครองในกรณีเด็กเล็ก) ในการเข้าอบรม/กิจกรรม และ/หรือซื้อหนังสือและสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม ในอัตราประมาณ 1,000 บาท/ปี ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปี [3]


ขณะเดียวกัน การพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้จะต้องเกิดขึ้นในระบบการศึกษาด้วย (กล่าวคือในโรงเรียน) เพราะการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้สำหรับผู้สอนและผู้เรียนจะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในระบบการศึกษา โดย Think Forward Center เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการและสถาบันการศึกษาเปิดกว้างในเรื่องงบประมาณสำหรับการจัดหาและการใช้ตำราเรียน หนังสือประกอบ หรือสื่อประกอบอื่น ๆ ของสถาบันการศึกษาทุกระดับ โดยมุ่งเน้นให้ครู อาจารย์ และนักเรียน นิสิต/นักศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาหนังสือ สิ่งพิมพ์ และสื่อประกอบอื่น ๆ ที่ออกแบบได้ตรงกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนวงการหนังสือในทางอ้อมอีกด้วย

นอกจากนี้ ขอบเขตของการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือและสิ่งพิมพ์ไม่ควรถูกจำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขตของประเทศไทย แต่ความร่วมมือกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ในประชาคมอาเซียน และประเทศอื่น ๆ ในการพัฒนาวงการและอุตสาหกรรมหนังสือแบบข้ามวัฒนธรรมก็มีความสำคัญมาก ทั้งสำหรับวงการหนังสือเอง และสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรออกแบบกลไกความร่วมมือระยะยาวในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือ (และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง) กับประเทศต่าง ๆ โดยในกลไกดังกล่าวจะต้องมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะนักเขียน เข้ามามีส่วนร่วมอย่างทัดเทียมกันด้วย

Think Forward Center เชื่อว่า การพัฒนาวงการและอุตสาหกรรมหนังสือเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมรังสรรค์ได้ จะเป็นรากฐานที่สำคัญมากสำหรับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยในระยะยาว



[1] https://www.worldbank.org/en/topic/urbandevelopment/publication/cities-culture-creativity

[2] https://www.publishers.org.uk/wp-content/uploads/2020/02/Contribution-of-the-Publishing-Industry-to-the-UK-Economy-2017-1.pdf

[3] กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ยังมีงบประมาณอีก 2,000 ล้านบาท สำหรับกิจกรรมการพัฒนาอาชีพและความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพใหม่ ๆ ในสังคม สำหรับนักเรียน คุณครู และผู้ปกครอง

บทความล่าสุด

งบ 67: สิ่งที่พอจัดการได้กับงบโรงเรียนขนาดเล็ก

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร

ห้ามนำเข้าสินค้า จากพื้นที่ที่มีการเผา นโยบายที่ปรากฏอยู่ในร่าง พรบ.ฝุ่นพิษ ฉบับก้าวไกล

คุยกับ “นิติพล ผิวเหมาะ” ทางออกที่เป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันของ “คนกับสัตว์”

จาก “ตัวเงินตัวทอง” และ “ลิง” สู่ “นกปรอดหัวโขน” และ “ช้างป่า” ว่าด้วยปัญหาที่ผ่านมาระหว่าง “คนกับสัตว์”

“ถ้าคุณให้ทุนมา จะมีนักมานุษยวิทยาที่พร้อมนั่งสังเกตลิง”: รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ว่าด้วย ‘คนกับสัตว์’ ที่ไม่รู้ใจ แต่ใช้ชีวิตร่วมกันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า