ความเหลื่อมล้ำที่ (อาจ) ยังไม่จบที่รุ่นเรา : สถานการณ์เด็กและเยาวชนไทย และข้อเสนอเชิงนโยบาย

โดย เดชรัต สุขกำเนิด

In Focus

  • เด็กและเยาวชนที่อยู่ในครัวเรือนยากจนประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำหลายประการ เช่น เด็กในกลุ่มนี้เพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่ได้อยู่กับทั้งพ่อและแม่ และมีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น ที่ที่บ้านมีหนังสือตั้งแต่ 3 เล่มขึ้นไป มีเพียงร้อยละ 28 เท่านั้นที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต และมีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ เด็กในครัวเรือนกลุ่มนี้เกือบร้อยละ 70 ต้องเผชิญประสบการณ์การใช้ความรุนแรงในการเลี้ยงดู
  • ความจำกัดของโอกาสและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อความสำเร็จในการศึกษาระดับมัธยม เด็กในครัวเรือนยากจนเพียง 4 ใน 10 คนที่สำเร็จมัธยมปลาย และมีเพียงประมาณ 1 ใน 10 เท่านั้น ที่ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เพราะภาระค่าใช้จ่ายในระดับอุดมศึกษาเมื่อเทียบกับรายได้ของครัวเรือนกลายเป็นกำแพงสำคัญ
  • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรของไทยกำลังทำให้เด็กไทย (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ประมาณ 2 ใน 3 กำลังเติบโตในครัวเรือนที่มีข้อจำกัดเหล่านี้ (ครัวเรือน 40% ล่างของประเทศ) ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำและความยากจนข้ามรุ่นแล้ว แต่หากความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ยังดำรงอยู่จะส่งผลต่อคุณภาพของกำลังแรงงานโดยภาพรวม และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์
  • Think Forward Center เสนอให้ดำเนินนโยบาย 4 ด้านในการแก้ปัญหานี้ ได้แก่
    • การพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้า สำหรับเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ 0-22 ปี
    • การพัฒนาโอกาสในการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา โดยระบบการทำงานร่วมกับการศึกษา และการร่วมลงทุนทางการศึกษาแทนการกู้ยืมเพื่อการศึกษา
    • การจัดตั้งและการพัฒนากองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ
    • การพัฒนาความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อลดความจำเป็นในการอพยพออกนอกพื้นที่ของคนรุ่นพ่อและแม่





เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2565 Think Forward Center จะชวนวิเคราะห์และขบคิดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและสถานการณ์ต่างๆ ที่เด็กไทยยังต้องเผชิญในรูปแบบต่างๆ และตอนท้ายของบทความนี้ Think Forward Center ก็จะได้นำเสนอทางออกสำหรับเรื่องนี้ไว้ในตอนท้ายด้วย


ความเหลื่อมล้ำในการอยู่กับพ่อ/แม่

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ UNICEF เมื่อปี 2562 ได้ฉายภาพความเหลื่อมล้ำที่น่าสนใจ ตั้งแต่เด็ก อายุ 0-17 ปี ได้อาศัยอยู่กับพ่อและ/หรือแม่มากน้อยเพียงใด ซึ่งภาพที่ออกมาน่าตกใจที่พบว่า เด็กในครัวเรือนที่ยากจน (40% ล่าง หรือในควินไทล์ที่ 1 และที่ 2) ได้อยู่กับพ่อและแม่พร้อมกัน มีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น เด็กในครัวเรือนที่ยากจนที่สุด (ในควินไทล์ที่ 1) ถึงร้อยละ 39.0 ไม่ได้อยู่กับพ่อหรือแม่เลย โดยเด็กกลุ่มนี้มักอาศัยอยู่กับ ปู่/ย่าหรือกับตา/ยายแทน ในขณะที่เด็กในครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า เช่น เด็กที่อยู่ในควินไทล์ที่ 5 (หรือร้อยละ 20 ของครัวเรือนที่มีสินทรัพย์มากที่สุด) ได้อยู่พร้อมกันทั้งพ่อและแม่ถึงร้อยละ 70 และมีที่ไม่ได้อยู่กับพ่อหรือแม่เลยมีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น

แน่นอนว่า การได้อยู่ร่วมกับพ่อและ/หรือแม่ย่อมเป็นความปรารถนาและความสุขของเด็กและเยาวชน (รวมถึงเป็นความสุขของพ่อและแม่ด้วย) นอกจากนั้น ยังเป็นพลังสำคัญในชีวิตของเด็กๆ ด้วย แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจที่บีบรัดกลับทำให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยจำนวนมาก จึงไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ และอาจนำเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาศักยภาพของเด็กไทย (อย่างน้อยบางส่วน) ในอนาคตได้


การได้รับนมแม่: ปัญหาที่ไม่เหลื่อมล้ำ

ข้อมูลในภาพที่ 2 นี้ ชี้ให้เห็นว่า เด็กไทยอายุ 0-5 เดือน เพียงร้อยละ 55 เท่านั้นที่ได้รับนมแม่เป็นหลักหรือนมแม่อย่างเดียว และสัดส่วนดังกล่าวยังลดลงเหลือเพียงร้อยละ 25 เมื่อเด็กอายุ 1 ปี และเมื่อพิจารณาตามระดับสินทรัพย์ของครัวเรือน แล้วพบว่า การได้รับนมแม่ไม่มีความแตกต่างกันชัดเจน ตามฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ซึ่งเป็นไปได้อย่างมากว่า คุณแม่ในทุกกลุ่มฐานะทางเศรษฐกิจล้วนมีข้อจำกัดในการลาคลอดและดูแลบุตร รวมถึงการให้นมบุตรหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาลาคลอดด้วย ดังจะเห็นได้ว่า เด็กในกลุ่มครัวเรือนที่จนที่สุด ซึ่งคุณแม่น่าจะมีสัดส่วนที่ไม่ได้เป็นแรงงานในระบบมากกว่ากลุ่มอื่นๆ จึงมีโอกาสได้รับนมแม่มากกว่าเด็กในกลุ่มอื่นๆ


ความเหลื่อมล้ำและปัญหาทางโภชนาการ

เมื่อพิจารณาข้อมูลภาวะโภชนาการจำแนกตามฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่อยู่ในครัวเรือนยากจน (โดยเฉพาะในควินไทล์ที่ 1) มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น และภาวะผอมมากกว่าเด็กในกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าอย่างชัดเจน

ในทางตรงกันข้าม เด็กในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางและค่อนข้างดี (เด็กในกลุ่มควินไทล์ที่ 3 และ 4) กลับมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะน้ำหนักเกินสูงกว่าเด็กในกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า

ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า นอกจากฐานะทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงโภชนาการที่ดีสำหรับเด็กไทยแล้ว การส่งเสริมให้มีทางเลือกและให้เด็กได้รับอาหารที่มีผลดีทางโภชนาการ (เช่น ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม) รวมถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสม ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับพัฒนาการของเด็กไทย


ความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของเด็กไทยจะเห็นปัญหาชัดเจนมากขึ้น เมื่อก้าวเข้าสู่โลกการเรียนรู้ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ UNICEF บ่งชี้ว่า จำนวนหนังสือสำหรับเด็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) ที่มีในบ้านสัมพันธ์กันกับฐานะของครัวเรือนอย่างชัดเจน โดยเด็กในครัวเรือนที่จนที่สุด (ควินไทล์ที่ 1) ที่ในบ้านมีหนังสือสำหรับเด็กตั้งแต่ 3 เล่มขึ้นไป มีอยู่เพียงร้อยละ 14.4 เท่านั้น ในขณะที่เด็กในครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด (หรือในควินไทล์ที่ 5) ที่มีหนังสือสำหรับเด็กตั้งแต่ 3 เล่มขึ้นไปมีมากถึงร้อยละ 65 และมีถึงร้อยละ 28.0 ที่มีหนังสือสำหรับเด็กมากกว่า 10 เล่มขึ้นไป

เพราะฉะนั้น การช่วยให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงหนังสือสำหรับเด็ก (ซึ่งอาจเป็นภาระสำคัญทางเศรษฐกิจของครัวเรือนที่มีรายได้น้อย) จึงเป็นภารกิจที่สำคัญเร่งด่วน


ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโลกดิจิทัล

นอกเหนือจากหนังสือแล้ว การเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเด็กและเยาวชนก็คือ การเข้าสู่การเรียนรู้ในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะภายหลังจากการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ UNICEF พบว่า เด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า จะเข้าถึงโลกดิจิทัลได้น้อยลงอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และการมีคอมพิวเตอร์ ซึ่งสัมพันธ์กับฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนอย่างชัดเจน โดยเด็กในกลุ่มควินไทล์ที่ 1 (จนสุด) สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้เพียงร้อยละ 28.1 และมีเพียงร้อยละ1.4 เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ (รวมทั้งเดสก์ท็อป แล็ปท็อป และแท็บเล็ต)

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโลกดิจิทัล ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อเราต้องใช้ระบบการเรียนแบบออนไลน์เป็นหลักในปี 2563-2564 และทำให้เด็กในครัวเรือนที่ยากจนไม่สามารถเข้าร่วมการเรียนแบบออนไลน์ได้ จนเป็นสาเหตุสำคัญที่เด็กในครัวเรือนกลุ่มนี้จะต้องหลุดออกจากระบบการศึกษามากยิ่งขึ้นไปอีก


ความเหลื่อมล้ำในทักษะการเรียนรู้พื้นฐาน

ข้อมูลร้อยละของเด็ก 7-14 ปี ที่มีทักษะการอ่านและการคำนวณขั้นพื้นฐาน ปี 2562 จำแนกตามระดับสินทรัพย์ของครัวเรือน เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนมีความสัมพันธ์กับกับทักษะการอ่านและการคำนวณพื้นฐาน โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่จนที่สุด ซึ่งเด็กๆ ต้องเผชิญปัญหาต่างมากกว่า ทั้งปัญหาทางสังคมปัญหาทางโภชนาการ และข้อจำกัดในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ มีทักษะการอ่านและการคำนวณพื้นฐานต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ นอกจากข้อจำกัดทางเศรษฐกิจโดยตรงแล้ว ข้อจำกัดในทักษะพื้นฐานการอ่านและการคำนวณพื้นฐานของเด็กในครัวเรือนยากจน อาจจะมีผลกระทบสำคัญต่อการสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมปลาย ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป


ปัญหาความรุนแรงในการเลี้ยงดู

จากการสำรวจพบว่า เด็กไทยอายุ 1-14 ปีทุกกลุ่มรายได้ ต่างต้องเผชิญกับความรุนแรงในการเลี้ยงดู ในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางจิตใจ (เช่น การใช้คำพูด) และทางร่างกาย (เช่น การตี การทำโทษทางกายแบบอื่นๆ)

อย่างไรก็ดี เด็กในครัวเรือนยากจนที่สุด (ควินไทล์ที่ 1) ก็ยังเผชิญกับปัญหาความรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดย เกือบ 70% ในกลุ่มควินไทล์ที่ 1 เคยเผชิญกับความรุนแรงในการเลี้ยงดู ในขณะที่เด็กในครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า เช่นในควินไทล์ที่ 5 มีประสบการณ์กับการใช้ความรุนแรงในการเลี้ยงดูประมาณร้อยละ 42

ทั้งนี้ การสำรวจพบว่า การใช้ความรุนแรงในการเลี้ยงดูเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ทัศนคติที่ว่า การใช้ความรุนแรงเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการดูแลและสั่งสอนลูกหลาน ซึ่งการแก้ไขปัญหา/ทัศนคติดังกล่าว ยังจำเป็นต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับพ่อแม่ และผู้ปกครองของเด็กไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป


ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

จากข้อมูลสภาพปัญหาและความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ดูเหมือนจะส่งผลให้เด็กในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุดต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย จนน่าจะส่งผลกระทบอัตราการสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมโดยเฉพาะในระดับมัธยมปลาย ที่อัตราการสำเร็จการศึกษาของเด็กในกลุ่มควินไทล์ที่ 1 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 38.2 เท่านั้น หรือแม้กระทั่งเด็กในกลุ่มควินไทล์ที่ 2 ยังมีอัตราการสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมปลายเพียงร้อยละ 59.3  ในขณะที่เด็กในกลุ่มควินไทล์ที่ 5 มีอัตราการสำเร็จมัธยมปลายถึงร้อยละ 88.8

ความเหลื่อมล้ำในอัตราการสำเร็จมัธยมปลายจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังความเหลื่อมล้ำในการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และการสร้างรายได้ในชีวิตหลังจากสำเร็จการศึกษา หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ความเหลื่อมล้ำในอัตราการสำเร็จมัธยมปลายเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญมากประการหนึ่ง ของการส่งต่อความเหลื่อมล้ำหรือความยากจนข้ามรุ่นในสังคมไทย


ความเหลื่อมล้ำในการเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา

แม้ว่า ความเหลื่อมล้ำในการสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมปลายจะบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นได้ชัดเจน แต่ความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นที่ชัดเจนยิ่งกว่านั้น คือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยข้อมูลอัตราการเข้าเรียนสุทธิ (net enrollment rate หรืออัตราการเข้าเรียนที่เทียบกับประชากรในช่วงอายุนั้นๆ) จากสภาพัฒน์ฯ บ่งชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 10% แรก และ 10% ถัดมา (หรือ decile ที่ 1 และที่ 2) สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (รวม ปวส.) ได้เพียงร้อยละ 7.7 และ 11.4 เท่านั้น หรืออาจจะกล่าวได้ว่า อัตราการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา (กราฟแท่งสีส้ม) มีความเหลื่อมล้ำมากกว่าอัตราการเข้าเรียนมัธยมปลาย (แท่งสีฟ้า) อย่างชัดเจน

สาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำในการเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาคือ ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า ในการศึกษาระดับพื้นฐาน (ประถมและมัธยม) ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยก็มีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเมื่อเทียบกับรายได้มากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงอยู่เล็กน้อยอยู่แล้ว (แม้ว่าจะมีระบบการเรียนฟรี 12 ปีอยู่แล้วก็ตาม) แต่เมื่อก้าวเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งไม่มีนโยบายสนับสนุนการเรียนฟรี จะเห็นได้ว่า ภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมาก โดยในครัวเรือนที่ยากจน 10% แรกจะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.5 ในการศึกษาระดับพื้นฐาน มาเป็นร้อยละ 24 (หรือ 1 ใน 4 ของรายได้ของครัวเรือน) ในการศึกษาระดับอุดมศึกษา

เพราะฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า การส่งต่อความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นในสังคมไทย ยิ่งปรากฏชัดเจนมาก เมื่อก้าวเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย เพราะมีค่าใช้จ่ายในการศึกษาเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุด


ทุนการศึกษาที่ไปไม่ค่อยถึง

ในสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หนึ่งในมาตรการที่ภาครัฐมุ่งหวังในการแก้ไขปัญหาคือ การจัดสรรทุนการศึกษา และระบบสินเชื่อหรือการกู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ ปรากฏว่า ทุนการศึกษา และสินเชื่อเพื่อการศึกษา ไปถึงเด็กที่มีฐานะยากจนน้อยมาก แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น ภายหลังจากมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาก็ตาม กล่าวคือ ในปี 2563 มีเด็กในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐเพียงร้อยละ 2.8 ของเด็กที่ยากจนทั้งหมด

เช่นเดียวกับระบบสินเชื่อเพื่อการศึกษา (เช่น กยศ. หรือ กรอ.) ที่พบว่า เด็กในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน เพียงร้อยละ 0.39 (หรือประมาณ 4 ใน 1,000 คน) เท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อการศึกษาที่รัฐบาลจัดสรรสำหรับการกู้ยืมเพื่อการศึกษา

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ระบบทุนการศึกษาและการกู้ยืมเพื่อการศึกษายังมีประสิทธิผลน้อยมาก ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะยังมีความจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุนและสินเชื่อสำหรับครัวเรือนที่ยากจน


ความท้าทายแห่งอนาคต

นอกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางพัฒนาการและการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย กำลังจะขยายตัวไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นแล้ว ด้วยโครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนไป ทำให้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปี 2562 พบว่า เด็กไทยประมาณร้อยละ 63 กำลังเติบโตอยู่ในครัวเรือนที่มีระดับรายได้ 40% ล่างของประเทศ ซึ่งนั้นแปลว่า เด็กไทยเกือบ 2 ใน 3 ของเด็กไทย อาจมีอัตราการสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายเพียงร้อยละ 40-60 เท่านั้น และอาจมีโอกาสเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา เพียงไม่ถึงร้อยละ 20

เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลไม่สามารถหยุดภาวะความเหลื่อมล้ำดังกล่าวได้ นอกจากจะส่งผ่านความเหลื่อมล้ำและความยากจนข้ามรุ่นแล้ว ยังจะทำให้คุณภาพและศักยภาพของกำลังแรงงานโดยรวมของเศรษฐกิจไทยอาจด้อยลง โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย

ช่วงเวลานี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและเร่งด่วนที่สุดในการหยุดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นนี้ให้ได้




ข้อเสนอนโยบายที่ 1 การพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้า

ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ที่ Think Forward Center นำเสนอจะเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ที่นอกจากจะมีการเพิ่มเบี้ยยังชีพเพื่อผู้สูงอายุแล้ว ยังมีสวัสดิการแบบถ้วนหน้าสำหรับเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ 0-22 ปี โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างเป็นลำดับขั้น (ตามภาพ) ดังนี้

  • เด็กเล็ก 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า 600 บาท/เดือน และเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 บาท/เดือน ในที่สุด
  • เด็กโต 7-14 ปี แบบถ้วนหน้า โดยเริ่มจาก 600 บาท/เดือน และเพิ่มขึ้นเป็น 800 บาท/เดือน
  • เยาวชน 15-22 ปี แบบถ้วนหน้า โดยเริ่มจาก 600 บาท/เดือน และเพิ่มขึ้นเป็น 800 บาท/เดือน
  • เด็กและครอบครัวพิการ โดยเพิ่มเบี้ยความพิการเป็น 3,000 บาท/เดือน

การเพิ่มสวัสดิการแบบถ้วนหน้า นอกจากจะช่วยลดความยากจนในสังคมไทยลงได้มากแล้ว ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลงได้ โดยจะเห็นในภาพว่า สัดส่วนภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อรายได้ของครัวเรือนยากจนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานลดลงอย่างมาก จนเกือบจะเป็นเส้นตรง (หมายถึง ครัวเรือนทุกระดับรายได้มีภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนโยบายนี้จะต้องมาพร้อมกับ (ก) การขยายช่วงเวลาในการดูแลบุตรหลังคลอดให้กับคุณแม่ และคุณพ่อ ได้อยู่ดูแลลูกมากขึ้น (ข) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ความเท่าเทียมกันมากขึ้น และ (ค) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น


ข้อเสนอนโยบายที่ 2 การเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา

แม้ว่า ข้อเสนอนโยบายด้านสวัสดิการถ้วนหน้า จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาต่อรายได้ของครัวเรือนลงได้มาก ทั้งในระดับการศึกษาพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา แต่เมื่อพิจารณาถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (ตามภาพ) ก็ยังพบว่า ครัวเรือนที่ยากจนก็ยังมีภาระค่าใช้จ่ายในระดับอุดมศึกษาสูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงอยู่ดี

เพราะฉะนั้น Think Forward Center เห็นว่า ควรจะมีมาตรการเพิ่มเติมดังนี้

  • กำหนดเป้าหมายร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้มีการจัดสรรทุนการศึกษาเต็มจำนวนสำหรับนักเรียนที่ยากจน ให้ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 10 ของจำนวนผู้เข้าศึกษาในแต่ละปี
  • พัฒนาและสนับสนุนระบบการศึกษาควบคู่การทำงาน เพื่อ (ก) เป็นแหล่งรายได้เสริมสำหรับนักศึกษา และ (ข) เพิ่มพูนประสบการณ์การทำงานให้กับนักศึกษา โดยจะเน้นการทำงานทั้งในภาคธุรกิจเอกชนทั่วไป และในบริการสังคม เช่น การสอนและนำกิจกรรมการเรียนรู้ การให้ความช่วยเหลือ/ดูแลผู้สูงอายุ ตามความถนัด/ความสนใจ/โอกาสของนักศึกษาแต่ละคน
  • การแก้ปัญหาระบบการกู้ยืมทางการศึกษา โดยเฉพาะในประเด็นดอกเบี้ยค้างชำระ การดำเนินการทางกฎหมาย การปรับโครงสร้างหนี้ และการผ่อนชำระ เพื่อให้มีความเป็นธรรมและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงได้มากขึ้น
  • การพัฒนาระบบการร่วมลงทุนเพื่อการศึกษา แทนการกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยรัฐจะไม่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้ (ตามระบบเดิม) อีกต่อไป แต่จะทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมลงทุน (ร่วมกับสถาบันการศึกษา) ให้กับนักศึกษาแทน เพื่อมิให้เป็นผลักภาระความเสี่ยงในการลงทุนให้กับนักศึกษา (หรือครอบครัว) แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยรัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาตามสัดส่วนที่กำหนด ในกรณีที่ที่นักศึกษาสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามที่คาดหวังไว้ในอนาคต


ข้อเสนอนโยบายที่ 3 การพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ

Think Forward Center ได้เคยเสนอกองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ (ติดตามรายละเอียดได้ที่นี่ ) เพื่อช่วยในการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ เช่น แหล่งเรียนรู้ พื้นที่สาธารณะ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สนามกีฬา ฯลฯ หรือสื่อการเรียนรู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้ เช่น หนังสือ เกม เพลง ภาพยนตร์ ฯลฯ

กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ จะดำเนินการร่วมกับภาคประชาสังคม กิจการเพื่อสังคม และภาคเอกชนทั่วไป ในการพัฒนาแหล่งและกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เลือกเข้าร่วม ตามความถนัด/ความสนใจของตนเอง ขณะเดียวกัน กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติก็จะดำเนินการผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อที่จะให้ อปท. ช่วยเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในโอกาสการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทย

นอกจากจะทำงานกับเด็กและเยาวชนแล้ว กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติยังมีส่วนหนึ่งที่ทำงานร่วมกับพ่อแม่และคุณครู เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้และสร้างความเข้าใจร่วมกันในการเลี้ยงดูบุตรหลานในยุคที่เศรษบกิจและสังคมมีพลวัตและมีการพลิกโฉม (หรือ disruption) อยู่ตลอดเวลา


ข้อเสนอนโยบายที่ 4 การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น

หนึ่งในปัญหาสำคัญของเด็กและเยาวชนไทยคือ การไม่ได้อยู่ร่วมกับพ่อและแม่ ซึ่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น นอกจากจะต้องสร้างครอบครัวให้เข้มแข็งแล้ว สังคมไทยยังจำเป็นต้องสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เข้มแข็งด้วย เพื่อลดความจำเป็นในการอพยพออกนอกพื้นที่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจของคนรุ่นพ่อแม่ด้วย โดย Think Forward Center เห็นว่า มาตรการที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ประกอบด้วย

  • การสนับสนุนการกระจายอำนาจ และกระจายงบประมาณในการส่งเสริมอาชีพ ลงสู่ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมการเกษตร การพัฒนา/การบริการด้านปศุสัตว์ การพัฒนาการแปรรูปภายในท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อให้สามารถสร้างความเข้มแข็งทางอาชีพให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในท้องถิ่น ได้ทั่วถึงมากกว่าเดิม (ที่กระจุกตัวไว้กับราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค)
  • การปรับระบบการจัดซื้อของภาครัฐ ให้สนับสนุนกิจการในท้องถิ่นให้มากขึ้น เช่น งบประมาณอาหารกลางวันเพิ่มเติม สำหรับผัก ผลไม้ และอาหารที่ผลิตในท้องถิ่น
  • การพัฒนาโอกาสการเข้าถึงพื้นที่สำหรับการประกอบการของผู้ประกอบการท้องถิ่น ทั้งพื้นที่ในเชิงกายภาพ (เช่น ตลาดนัด ตลาดท้องถิ่น) ในเชิงคุณภาพ (การเข้าถึงมาตรฐานคุณภาพที่จำเป็น) ในเชิงออนไลน์ (เช่น การพัฒนา/การสนับสนุนแพล็ตฟอร์มออนไลน์สำหรับท้องถิ่น) และในเชิงกฎระเบียบ (เช่น การปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อของภาครัฐ เป็นต้น)
  • การร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น ในสาขาธุรกิจเป้าหมายของแต่ละท้องถิ่น เช่น ศูนย์/ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ กิจการเพื่อสิ่งแวดล้อม กิจการที่แปรรูปและเพิ่มมูลค่าของผลผลิตการเกษตรในท้องถิ่น เป็นต้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า