ของแพง ค่าแรงถูก? แล้วค่าแรงที่ถูก (ต้อง) ควรเป็นเท่าไร?

โดย เดชรัต สุขกำเนิด

In Focus

  • อัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2565 เท่ากับ 3.23 % ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำยังคงที่ จนนำมาสู่คำถามว่า เมื่อข้าวของแพงขึ้น แล้วค่าแรงขั้นต่ำที่ควรจะเป็นจะต้องเป็นเท่าไร?
  • การพิจารณาค่าจ้างแรงงานที่ผ่านมา มักอิงตามอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ แต่การเพิ่มค่าจ้างแรงงานตามอัตราเงินเฟ้อก็จะไม่ทำให้อำนาจการตัดสินซื้อและคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานมีเพิ่มขึ้น เพราะค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเท่ากับข้าวของที่มีราคาแพงขึ้นอยู่ดี
  • ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นช้ากว่าผลิตภาพของแรงงาน และหากพิจารณาค่าจ้างแรงงานจากผลิตภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้น ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่แท้จริงควรอยู่ที่ 350-380 บาท/วัน 
  • Think Forward Center เสนอให้การพิจารณาค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ไม่ควรพิจารณาจากค่าครองชีพหรืออัตราเงินเฟ้อ แต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาจากผลิตภาพของแรงงานเป็นหลักมากกว่า


จากปัญหาราคาสินค้าแพงขึ้นมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ ทำให้ใครหลายคนเกิดคำถามว่า เมื่อข้าวของแพงขึ้นแต่ค่าแรงไม่ขึ้น แล้วจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป? เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา เท่ากับ 3.23% (เทียบกับปี 2564) ซึ่งสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และนำไปสู่คำถามว่า เมื่อข้าวของแพงขึ้น แล้ว “ค่าแรงขั้นต่ำที่ควรจะเป็น” ต้องเป็นเท่าไร


การกำหนดค่าแรงตามค่าครองชีพ

การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ถือเป็นมาตรการหนึ่งในการสร้างมาตรฐานการจ้างงานและเป็นหลักประกันให้กับแรงงานเมื่อแรกเข้าทำงานว่า จะได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและสามารถใช้ชีวิตตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลานั้นๆ โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยมักกำหนดค่าแรงขั้นต่ำตามค่าครองชีพ และปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายคือ ราคาสินค้าที่แพงขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำหนดให้ปี 2556 = 100 เป็นฐานคำนวณอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นปีที่กำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ เมื่อนำมาคำนวณกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556 จนถึงเดือนมกราคม 2565 จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 7.62% เท่ากับว่า ถ้าเราคำนวณค่าแรงขั้นต่ำจากเงินเฟ้อ ค่าแรงงานขั้นต่ำก็ควรอยู่ที่ 323 บาท/วัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับค่าแรงงานขั้นต่ำในหลายจังหวัดพอดี (ข้อมูลปัจจุบัน กระทรวงแรงงานกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ที่ 313-336 บาท/วัน โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละจังหวัด)

ดังนั้น ระหว่างปีนี้กับปีที่แล้ว หากข้าวของแพงขึ้นประมาณ 3% ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำยังคงที่ หมายความว่า อำนาจในการซื้อสินค้าและคุณภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำจะลดลงอย่างน้อย 3% ทั้งนี้ ที่ใช้คำว่าอย่างน้อย เพราะโดยทั่วไป หมวดสินค้าที่คนจนหรือคนรายได้น้อยต้องซื้อบริโภคนั้นมีสัดส่วนราคาที่สูงขึ้น เช่น หมวดอาหาร มักมีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าสินค้าทั่วไป

แต่สิ่งที่เรามักลืมคิดกันก็คือ หากค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อก็เท่ากับว่า จริงๆ แล้ว คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในทุกภาคส่วนนั้นไม่ได้ดีขึ้นเลย เพราะว่า แม้ค่าจ้างแรงงานจะเพิ่มขึ้น 6% แต่ข้าวของก็จะแพงขึ้นประมาณ 6% อยู่ดี หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ แม้ว่าเราจะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น แต่เราก็ยังซื้อของได้เท่าเดิมอยู่ดี เนื่องจากค่าแรงที่แท้จริงของเรานั้นแทบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย


การกำหนดค่าแรงตามผลิตภาพของแรงงาน

Think Forward Center ขอเสนอแนวคิดใหม่ในการกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ โดยคำนวณจากผลิตภาพของแรงงาน (Labor Productivity) แทน เพราะผลิตภาพแรงงานคือ ผลผลิตของแรงงานจากการทำงานในแต่ละชั่วโมง กับผลิตภาพจากแรงงานต่อคน เมื่อแรงงานมีผลิตภาพในการทำงานมากขึ้น (หรือพูดง่ายๆ คือ ทำงานได้ผลผลิตมากขึ้น) ค่าจ้างแรงงานก็ควรจะถูกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่ เมื่อเราพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำจากผลิตภาพแรงงานในหนึ่งชั่วโมงทำงานจะพบว่า ในช่วงเวลา 9 ปี (นับตั้งแต่ปี 2556-2565) ผลิตภาพแรงงานต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้นมาถึง 27.46% ซึ่งถ้าเรากำหนดค่าจ้างแรงงานจากผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น 27.46% ค่าจ้างแรงงานต่อวัน ควรอยู่ที่ 380 บาท/วัน

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับมีปัญหาใหม่ขึ้นมาว่า ผลิตภาพแรงงานต่อชั่วโมงการทำงาน กับผลิตภาพแรงงานต่อคนนั้นกลับมีค่าแตกต่างกัน ความแตกต่างนี้สามารถอธิบายได้ง่ายๆ ว่า เมื่อชั่วโมงการทำงานของแรงงานถูกลดลงจากมาตรการรักษาระยะห่างของรัฐบาลและเอกชน ทำให้ผลิตภาพแรงงานเมื่อเทียบเป็นต่อคนจึงต่ำกว่าผลิตภาพแรงงานเมื่อเทียบต่อชั่วโมง

เพราะฉะนั้น หากนำตัวเลขล่าสุด ซึ่งเป็นผลิตภาพแรงงานเมื่อเทียบต่อคนมาใช้ในการคำนวณกับผลิตภาพแรงงานต่อชั่วโมงการทำงานที่ลดลงจะพบว่า ผลิตภาพแรงงานต่อคนในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2556 = 14.23% แปลว่า ถ้าคำนวณค่าจ้างแรงงานจากผลิตภาพแรงงานต่อคน ค่าจ้างแรงงานควรอยู่ที่ 350 บาท/วัน

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากผลิตภาพแรงงาน อาจกล่าวได้ว่า ค่าจ้างแรงงานที่คิดตามผลิตภาพของของแรงงานควรอยู่ที่ 350-380 บาท/วัน


ต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ลดลง

การที่ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นช้ากว่าผลิตภาพของแรงงาน นำไปสู่ผลลัพธ์คือ ต้นทุนแรงงานต่อผลผลิตหนึ่งหน่วยของผู้ประกอบการกลับลดลง โดยก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ปี 2562) พบว่า ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยผลผลิตของผู้ประกอบการไทยลดลงประมาณ 7% เมื่อเทียบกับปี 2556

หรือแปลอีกนัยหนึ่ง 7% ของต้นทุนแรงงานที่ลดลงก็คือ ผลกำไรที่เพิ่มขึ้น 7% ของผู้ประกอบการจากผลิตภาพที่ได้การทำงานของพี่น้องแรงงาน ขณะที่ค่าจ้างแรงงานยังคงเพิ่มขึ้นทีละน้อยตามปัจจัยอย่างค่าครองชีพไปเรื่อยๆ 

และแม้ว่า สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ผู้ประกอบการจะได้รับภาระค่าแรงงานบางส่วน (หมายถึง แรงงานอาจลดชั่วโมงทำงานลง แต่ผู้ประกอบการยังต้องจ่ายค่าจ้างต่อวันอยู่) ทำให้ต้นทุนแรงงานต่อผลผลิตหนึ่งหน่วยกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโรคโควิด-19) แต่เมื่อรวมกันแล้ว (ทั้งก่อนและหลังโควิด-19) กล่าวได้ว่า ต้นทุนแรงงานต่อผลผลิตหนึ่งหน่วยของผู้ประกอบการยังคงลดลงประมาณ 3% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556


ข้อเสนอการกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ

Think Forward Center ขอเสนอให้ การพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ไม่ควรพิจารณาจากค่าครองชีพหรืออัตราเงินเฟ้อสินค้าในตลาดเพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาจากผลิตภาพของแรงงานเป็นหลักมากกว่า

และหากพิจารณาจากตัวเลขผลิตภาพแรงงานที่เป็นอยู่ ตามรายละเอียดด้านบน ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำควรอยู่ที่ 350-380 บาท/วัน

นอกจากนี้ Think Forward Center เสนอให้ พิจารณาการขึ้นค่าจ้างแรงงานเป็นประจำทุกปี เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตของแรงงาน รวมทั้งช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ได้ดีกว่าการขึ้นค่าจ้างแรงงานครั้งใหญ่แต่นานๆ ครั้ง ซึ่งจะกระทบกับการปรับตัวของภาคธุรกิจมากกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า