คุยกับ “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” ในวันที่ Infrastructure based อาจเป็นคำตอบในการสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ

ในอดีต รัฐบาลไทยเคยสร้างระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการสร้างนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจแบบพลังละมุน (Soft Power) เช่น “ครัวไทยสู่ครัวโลก” “OTOP” และ “พื้นที่แห่งการเรียนรู้” ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก ทั้งภาคการผลิตและภาคการส่งออก แต่ภายหลังรัฐประหาร 2 ครั้ง (ปี 2549 และปี 2557) ทำให้เศรษฐกิจของประเทศถูกแช่แข็ง เนื่องจากนโยบายเชิงเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมไม่ถูกสานต่อ

นอกจากนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจจะไม่ถูกให้ความสำคัญแล้ว การสร้างบรรยากาศทางสังคมที่ไม่เอื้อให้คนกล้าคิด กล้าทดลองทำ หรือกล้าลงทุน ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอลงอย่างมาก และหลายๆ ครั้ง การส่งเสริมเรื่อง Soft Power ก็ไปจบด้วยการยัดเยียดชุดความคิดบางอย่างให้ผู้คนในสังคม ผ่านธุรกิจภาพยนตร์ ละคร และสื่อต่างๆ 

ภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยก็ยังมีแนวโน้มไม่ฟื้นตัวมากนัก จากสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้ใครหลายๆ คนเริ่มมองหาหนทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น การใช้ “พลังละมุน” หรือ “Soft Power” อาจเป็นคำตอบแรกๆ ที่ใครหลายคนนึกถึง โดยการนำวัฒนธรรมไทยมาดัดแปลงให้เกิดระบบเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture Economy) เพื่อตอบสนองความต้องการของสากลโลกมากขึ้น

แต่การจะสร้างระบบเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ขึ้นมาได้จะต้องทำอย่างไรบ้าง?


Think Forward Center ขอชวนไปคุยกับ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ถึงวิถีทางในการสร้างระบบเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture Economy) ในแบบฉบับของพรรคก้าวไกล ว่าจะต้องมีวิธีการและรูปร่างหน้าตาเป็นแบบใดบ้าง?



Recap: Soft Power ปัญหา และอุปสรรคในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทย

ขออนุญาตเท้าความเสียเล็กน้อยว่า ครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการใช้ Soft Power อยู่ก่อนแล้ว โดยสมัยของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2544-2549 เช่น นโยบายผลักดันการส่งออกสินค้าจำพวกอาหาร ผ่านนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ส่งผลให้อาหารไทยกลายเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ร้านอาหารไทยในต่างแดนที่แต่เดิมมีอยู่เพียง 5,000 ร้าน เพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ร้านภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี รวมถึงนโยบาย “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” (OTOP) ที่เข้ามากระตุ้นระบบเศรษฐกิจในระดับชุมชนและทำให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักทั้งในและนอกประเทศมากขึ้น 

รวมถึงนโยบาย “การสร้างพื้นที่การเรียนรู้” เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้พัฒนาความรู้ความสามารถ พัฒนาคุณภาพความคิดและคุณภาพชีวิตให้ประชาชนและเยาวชนของประเทศ ผ่านการก่อตั้งองค์การมหาชนที่มีชื่อว่า “สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้” (Office of Knowledge Management and Development:  OKMD) ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลหน่วยงานย่อยภายในอย่าง National Discovery Museum Institute (NDMI หรือ Museum Siam) แหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ Thailand Knowledge Park (TK Park) แหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กเล็ก หรือแม้แต่ “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy Agency: CEA) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการดูแล Thailand Creative and Design Center (TCDC) ห้องสมุดเพื่อการสร้างสรรค์และออกแบบ


แต่ภายหลังการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง (ปี 2549 และปี 2557) ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่แต่เดิมกำลังพุ่งสูงขึ้นต้องชะงักลง งบประมาณที่ถูกปันไปให้กองทัพและหน่วยงานรักษาความมั่นคงมากขึ้น ทำให้งบประมาณที่แต่เดิมต้องปันไปให้ทั้ง OKMD และ TCDC หายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการรัฐประหารในปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ก็เคยมีความพยายามที่จะยุบหน่วยงานทั้ง 2 เนื่องจากเห็นว่า 2 หน่วยงานนี้ เป็นผลผลิตจากขั้วตรงข้ามทางความคิดกับคณะรัฐประหาร 

ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นเวลาเดียวกันที่รัฐบาลมีความพยายามอย่างมากที่จะสร้าง Soft Power ให้ประชาชนมีความคิดความเชื่อในรูปแบบความเป็นชาตินิยม และมองว่าวัฒนธรรมไทยนั้นทรงคุณค่า จำเป็นจะต้องอนุรักษ์และคงไว้เช่นเดิม โดยชุดความคิดเช่นนี้ถูกผลิตออกมาเป็นการสร้างวาทกรรมคำขวัญ พร้อมกับสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจภาพยนตร์ ละคร เพลงและสื่อต่างๆ หยิบวาทกรรมเหล่านี้ออกมาเผยแพร่สู่ประชาชนมากขึ้น


เมื่อ Project based อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ?

เราได้พบปะและพูดคุยกับ “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” ชายหนุ่มร่างใหญ่ใบหน้าเปื้อนยิ้ม ท่าทีที่เป็นกันเองและสนุกเฮฮา ทำให้เราเริ่มต้นบทสนทนาได้อย่างไม่เคอะเขิน แม้ก่อนหน้านี้เราหลายคนจะรู้จักเขาเป็นอย่างดี กับการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เพื่อแก้ปัญหาการผูกขาดตลาดธุรกิจสุรา แต่ว่าครั้งนี้เราจะชวน เท่าพิภพ พูดคุยกันว่า ถ้าเราจะสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ได้ เราจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง?


เท่าพิภพ เล่าว่า แม้ปัจจุบันนี้ Soft Power จะถูกพูดถึงอย่างมากในฐานะทางรอดของเศรษฐกิจประเทศไทย จากผลสำเร็จของแนวนโยบายเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ที่สามารถส่งออกวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ เช่น เพลง ละคร ภาพยนตร์ อาหาร และสินค้าสำหรับประกอบอาหารได้เป็นจำนวนมาก โดยที่วัฒนธรรมเหล่านั้นถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัยและมีความเป็นสากลเพื่อตอบสนองผู้บริโภคทั่วโลกได้

รวมถึง ห้องสมุดในแต่ละเมืองของเกาหลีใต้ ที่ถูกปรับให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลาย นอกเหนือไปจากพื้นที่สำหรับค้นคว้าข้อมูลทั้งในรูปแบบของหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังมีห้องสตูดิโอ ห้องอัดเสียง ห้องทำงาน และห้องประชุมงาน ที่ครบครันและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างมาก ในขณะที่ TCDC ซึ่งถูกคิดริเริ่มในช่วงเวลาเดียวกัน แต่เพราะไม่ถูกพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2549 

แม้ว่าประเทศไทยจะเคยถูกวางรากฐานในการเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์มาบ้างแล้ว แต่เมื่อถูกชะลอแผนงานลง ประกอบกับผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่นอกจากจะทำให้ธุรกิจในทุกภาคส่วนต้องประสบปัญหาเรื่องรายได้ตกต่ำ ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ในขณะที่ราคาข้าวของอุปโภคบริโภคกลับสูงขึ้น ก็ทำให้เกิดคำถามอีกว่า แล้วแนวทาง Soft Power ที่ต้องเกิดขึ้นหลังจากนี้ควรเป็นเช่นไร? 

เท่าพิภพ เอ่ยต่อว่า จริงอยู่ว่านโยบายที่อิงตามโครงการที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตจะเป็นโครงการที่ดีและสมควรแก่การนำมาต่อยอด แต่ว่าปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยยังย่ำอยู่กับที่ ไม่ใช่เพราะเราไม่เคยมีโครงการนำร่อง ไม่ใช่เพราะเราไม่มีหน่วยงานรองรับ การมีหน่วยงานทั้ง 2 หน่วยอย่าง CEA และ OKMD คือคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า เรามีหน่วยงานที่มีศักยภาพเพียงพอในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการวางแผนนโยบายเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์อยู่แล้ว


เพียงแต่ปัญหาตอนนี้คือ ผู้คนบางส่วนในรัฐไทย โดยเฉพาะข้าราชการและชนชั้นนำที่ปกครองประเทศในขณะนี้ ยังคงยึดติดกับแนวคิดอำนาจนำที่ให้คุณค่ากับวัฒนธรรมชนชั้นสูงของไทยว่า เป็นวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า จำเป็นจะต้องได้รับการอนุรักษ์และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงได้ ในขณะที่ความสำเร็จในการสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในหลายประเทศคือ การยอมรับว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สามารถพลิกแพลง ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและความต้องการของสากลได้   


เท่าพิภพ กล่าวเปรยเชิงคำถามกึ่งบอกเล่าว่า เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมอาหารไทยถึงเป็นที่ต้องการในท้องตลาดโลกได้ ในขณะที่โขนไทยกลับทำไม่ได้? คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้คือ เรายอมรับว่าอาหารไทยสามารถพลิกแพลงได้ เนื่องจากต้นทางของอาหารไทยนั้น เกิดจากนำเอาวัฒนธรรมจากทั้งอินเดีย จีน และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผนวกเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นอาหารไทย

ขณะที่ นาฏศิลป์ไทย โดยเฉพาะโขนยังคงความเป็นพิธีรีตองอยู่มาก เนื่องจากเป็นบันเทิงศิลป์ที่อยู่คู่กับราชสำนักมาเป็นเวลานาน แต่กระนั้นเรื่องราวที่ถูกนำมาใช้แสดงโขนอยู่บ่อยครั้งอย่าง รามเกียรติ์ ซึ่งมีต้นทางมาจากคัมภีร์รามายณะ วรรณคดีประเภทมหากาพย์ของอินเดีย ที่พ่วงกับความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เรากลับปฏิเสธไม่ได้ว่า รามเกียรติ์มีการดัดแปลงและเสริมแต่งให้เข้ากับวัฒนธรรมการเสพความบันเทิงของคนไทยด้วย จึงทำให้เกิดคำถามว่า ยังจำเป็นหรือไม่ที่นาฏศิลป์ไทยต้องคงตามขนบดั้งเดิมอยู่?


นอกเหนือไปจากแนวคิดเรื่องการแช่แข็งวัฒนธรรมที่เป็นปัญหาแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นต้องเปลี่ยนคือ โครงสร้างการทำงานของหน่วยงานราชการ/ข้าราชการ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ด้วยคำว่า “ข้าราชการ” นั้นมีความหมายว่า “ข้าทำงานของราชา” ซึ่งคำนี้ไม่มีส่วนยึดโยงใดๆ กับประชาชน ทั้งๆ ที่ข้าราชการส่วนใหญ่ต้องทำงานยึดโยงกับประชาชน ค่านิยมที่สืบเนื่องมาจากคำนี้ทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่ยึดติดกับการเป็นผู้อารักขาข้อมูลและสถานที่ของหน่วยงานราชการ และกลายเป็นเรื่องยากหากประชาชน/นิติบุคคลต้องการจะขอเข้าถึงข้อมูลและสถานที่ของราชการ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ต้องอ้างอิงกับฐานข้อมูลของราชการได้

ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย/รายใหม่ยังไม่มีทุนก็เป็นเรื่องยากที่จะเริ่มต้นลงทุนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกองทุนที่รองรับธุรกิจสร้างสรรค์ กองทุนสื่อ/ภาพยนตร์/เกมสร้างสรรค์ นอกเหนือไปจากนั้น หากจะมองหาทุนจากโครงการที่เกี่ยวข้องกับรัฐเพื่อนำไปสร้างสรรค์ผลงานก็อาจถูกครอบงำด้วยแนวคิดที่แทรกมากับเงื่อนไขของการรับทุนเหล่านั้นด้วย 


Infrastructure based คือคำตอบ?

เท่าพิภพ กล่าวด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นชัดเจนว่า การจะสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์แบบ Infrastructure based เราอาจต้องเริ่มจากการทำงานเชิงความคิดกับข้าราชการและหน่วยงานของรัฐทีละเล็กทีละน้อย เพื่อกำจัดแนวคิดแช่แข็งวัฒนธรรมของเรา โดยค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองว่า การจะสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ให้กับประเทศไทยได้ เราต้องดึงจุดเด่นทางวัฒนธรรมมาปรับแต่งและสร้างเป็นจุดขายที่สามารถดึงดูดชาวต่างชาติให้มาสนใจในวัฒนธรรมไทยได้

ขณะที่ การเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของข้าราชการทีละน้อยก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยค่อยๆ ปรับจุดยืนในหน้าที่ของข้าราชการให้ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ให้การเข้าถึงข้อมูลและสถานที่ทางราชการสามารถเข้าถึงง่ายขึ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกองทุนเพื่อการริเริ่มธุรกิจสร้างสรรค์ และการผลิตสื่อในทุกประเภทอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการนำเงินส่วนหนึ่งจากภาษีที่จัดเก็บจากรายได้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ กลับมา เพื่อผลักดันรายย่อย/หน้าใหม่สามารถเข้าถึงตลาด เพิ่มความหลากหลายให้ตลาด 


นอกเหนือไปจากสองประเด็นนี้ การสร้าง Infrastructure based ผ่านการพัฒนาและต่อยอดองค์การมหาชนอย่าง CEA และ OKMD ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ ทดลอง ริเริ่มและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนอย่างถ้วนหน้า โดยต่อยอดจากหน่วยงานย่อยที่มีอยู่เดิมตามเมืองใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่แล้ว ให้ทั่วถึงไปครบทุกจังหวัดและทุกอำเภอ ภายใต้ชื่อ “Creative Forward Center” โดยหน่วยงานย่อยนี้จะจัดทำเป็นพื้นที่ Public Space ที่ทุกคนสามารถเข้ามาทดลองทำสิ่งใหม่ๆ โดยมีอุปกรณ์ เช่น กล้องถ่ายภาพ กล้องถ่ายวิดีโอ ขาตั้งกล้อง ไมค์ เครื่องบันทึกเสียง คอมพิวเตอร์สำหรับสืบค้นข้อมูล ฯลฯ รวมถึงต้องมีการจัดจ้างบุคลากรที่พร้อมจะเข้ามาให้ข้อมูล ดูแล และพัฒนาระบบตรงนี้ ให้สามารถยั่งยืนได้


ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้งหมดก็ไม่ได้อนุมานเพียงว่า บทบาทของรัฐบาลไทยหลังจากนี้จะต้องละทิ้งการจัดทำนโยบายแบบ Project based ไปแล้ว แต่ Project based หลังจากนี้ รัฐจะต้องเปลี่ยนจุดยืนจากผู้จัดทำโครงการเป็นผู้สนับสนุนโครงการ ผ่านการส่งเสริมให้เอกชน โดยเฉพาะนายทุนใหญ่เข้ามาริเริ่มทำธุรกิจสร้างสรรค์ในราย Project based หรือร่วมมือกับรายย่อยแต่มีความสามารถเฉพาะด้านเข้ามาพัฒนาเพื่อเปิดตลาดธุรกิจที่หลากหลาย และก่อให้เกิดเป็นเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์อย่างที่เราต้องการได้



Think Forward Center ในฐานะศูนย์นโยบายของพรรคก้าวไกล จึงขอสรุปข้อเสนอแนะจาก “เท่าพิภพ” เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นนโยบายเพื่อสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ดังนี้

  1. กำจัดแนวคิด “การแช่แข็งทางวัฒนธรรม” และเปลี่ยนเป็นมุมมองว่า การสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ต้องดึงจุดเด่นทางวัฒนธรรมมา “ปรับแต่ง” และสร้างเป็นจุดขายที่ดึงดูดชาวต่างชาติให้มาบริโภควัฒนธรรมไทยได้
  2. เปลี่ยนจุดยืนหน้าที่ของข้าราชการให้ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ให้การเข้าถึงข้อมูลและสถานที่ทางราชการสามารถเข้าถึงง่ายขึ้น และต้องมีกองทุนสำหรับผู้ริเริ่มธุรกิจสร้างสรรค์จากการจัดการภาษีจากรายได้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุน
  3. สร้าง Infrastructure based ทางวัฒนธรรม ผ่านการพัฒนาและต่อยอดองค์การมหาชนอย่าง CEA และ OKMD ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้อย่างครบครันทุกอำเภอและจังหวัดในชื่อ “Creative Forward Center”
  4. รัฐต้องเปลี่ยนจุดยืนเป็นผู้สนับสนุน Project based โดยส่งเสริมให้นายทุนใหญ่สามารถเข้ามาริเริ่มทำธุรกิจสร้างสรรค์ในราย Project based เข้ามาริเริ่มทำธุรกิจสร้างสรรค์ โดยอาจร่วมมือกับรายย่อยแต่มีศักยภาพเฉพาะด้านมาร่วมทำ เพื่อเพิ่มโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า