ลงพื้นที่ สะท้อนเสียงผู้สูงอายุ “เมื่อระบบดูแลหลักประกันการดูแล คือคำตอบที่ผู้สูงอายุต้องการ”

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ

In Focus

  • รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี 2563 ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุจำนวน 11.6 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 66.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.6 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีการวางแผนสวัสดิการที่จะรองรับผู้สูงอายุที่จะกลายเป็นประชากรหลักของประเทศในอนาคตอันใกล้
  • Think Forward Center เคยคำนวณจากข้อมูลการสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย ปี 2560 พบว่าร้อยละ 67.3 ของผู้สูงอายุไทยไม่มีความมั่นคงทางการเงิน และร้อยละ 88.5 ของผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่มีเงินเพียงพอจะจ่ายค่าดูแลหากต้องป่วยติดบ้าน/ติดเตียง
  • จากการสอบถามปัญหาหลักๆ ของผู้สูงอายุคือ การเดินเหินที่ไม่สะดวก ทำให้การเดินทางไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคต่างๆ ต้องพึ่งพาลูกหลาน ทำให้ลูกหลานสูญเสียเวลาทำงานและรายได้ ค่าใช้จ่ายรักษาโรค ซึ่งโรคที่เกี่ยวเนื่องกับโรคชราบางโรคก็ยังไม่อยู่ในสวัสดิการของบัตรทอง 30 บาท อีกทั้งเบี้ยผู้สูงอายุ 600-800 บาท/เดือน ก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตจริงตลอดหนึ่งเดือน
  • Think Forward Center เสนอให้
    • ต้องสร้างความมั่นคงให้กับผู้สูงอายุ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท/เดือน และสร้างหลักประกันสำหรับการใช้บริการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยการขอเก็บออมเบี้ยผู้สูงอายุ 200 บาท/เดือน เพื่อนำมารวมกันเป็นกองกลางในการพัฒนาระบบการบริการดูแลผู้สูงอายุ
    • การสร้างระบบบริการเพื่อดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง โดยรัฐสามารถดำเนินนโยบายได้หลากหลาย เช่น การส่งเสริมระบบชุมชน การดำเนินการเอง หรือการส่งเสริมภาคเอกชนเข้ามาให้บริการในราคาที่จับต้องได้
    • อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเพื่อการดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกตามความต้องการของโลกในอนาคต ผ่านการปรับเปลี่ยนของใช้และเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นแบบอารยสถาปัตย์ (Universal design) เพื่อลดอุบัติเหตุและอำนวยความสะดวกในการใช้งาน หรือแม้แต่สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุอื่นๆ เช่น รถเข็น แผ่นรองกันเปื้อน ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ชุดอุปกรณ์วัดความดันและเบาหวาน อุปกรณ์ตรวจวัดชีพ (Wearable device) รองเท้าเพื่อสุขภาพ หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เทคโนโลยีสมาร์ทโฮมต่างๆ เป็นต้น



เนื่องในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ตรงกับวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ กับสถิติรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี 2563 ที่ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุจำนวน 11.6 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 66.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.6 ของประชากรทั้งหมด

แต่กระนั้น คุณภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันมีความพร้อมทางการเงินแค่ไหน เพื่อรองรับภาวะความเจ็บป่วย/ความไม่แน่นอนของชีวิต?



Think Forward Center ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล เคยคำนวณจากข้อมูลการสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย ปี 2560 พบว่าร้อยละ 67.3 ของผู้สูงอายุไทยไม่มีความมั่นคง/มีความเสี่ยงทางการเงิน และร้อยละ 88.5 ของผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่มีเงินเพียงพอจะจ่ายค่าดูแลหากต้องป่วยติดบ้าน/ติดเตียง

ภาวะ “แก่ก่อนรวย” ของผู้สูงอายุไทย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการพึ่งพิงวัยแรงงานในครัวเรือน ทั้งในแง่รายจ่ายและการให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น ไปพบแพทย์ และไปทำธุระต่างๆ นอกบ้าน โดย Think Forward Center เคยได้คำนวณจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมปี 2562 ก่อนจะพบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดมีจำนวนสมาชิกที่ต้องการการพึ่งพิงเช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการมากที่สุด และมากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุดเกือบ 4 เท่า



และเป็นเหตุผลให้ Think Forward Center ตัดสินใจลงพื้นที่ไปเพื่อพบปะกับครอบครัวรายได้น้อยจนถึงปานกลางที่มีผู้สูงอายุ และอยู่ในกลุ่มที่ต้องการการพึ่งพิงในด้านต่างๆ ว่า พวกเขาต้องใช้ชีวิตอย่างไร และต้องการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในทางใดบ้าง?



ผู้สูงอายุกรุงเทพ: 700 บาทต่อเดือนในกรุงเทพ ทำอย่างไรก็ไม่พอ



Think Forward Centerได้ลงพื้นที่สำรวจครัวเรือนในละแวกชุมชนพิบูลย์อุปถัมภ์ เขตห้วยขวาง ซึ่งเป็นตรอกเล็กๆ ข้างโรงเรียนพิบูลย์อุปถัมภ์ ก่อนจะได้พบกับ สมพร กลิ่นจันทร์หอม อดีตข้าราชการวัย 72 ปี พร้อมกับลูกสาวที่เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวและให้ความช่วยเหลือ ลุงสมพร ในด้านต่างๆ เนื่องจากเดินเหินไม่ค่อยสะดวก

เราได้พูดคุยกับ ลุงสมพร ถึงสภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในกรุงเทพ ความไม่สะดวกในการเดินเหิน ทำให้เราต้องอยู่แต่กับบ้าน การได้ออกไปข้างนอกส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของการเดินทางไปรักษาโรคความดันที่โรงพยาบาล ต้องไปทุกเดือน เพราะต้องไปตรวจ พร้อมกับรับยามาทานตามแพทย์สั่ง

“ค่าใช้จ่ายหลักๆ นอกจากค่ากินอยู่ ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องเดินทางไปหาหมอและค่าใช้จ่ายยา ซึ่งบางทีก็แพงมาก หลายๆ ครั้งเราต้องเอาชื่อยี่ห้อยาไปถามตามกับเภสัชกร เพื่อให้เขาจ่ายยาให้ในราคาที่ถูกกว่า”

ลุงสมพร บอกกับเราว่า แม้วันนี้ ตนจะได้เบี้ยดูแลผู้สูงอายุจากรัฐทุกเดือน แต่ด้วยจำนวนเงินเพียง 700 บาท/เดือน หากให้พิจารณาการต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพ ไม่ว่าคำนวณอย่างไรแล้วก็ไม่เพียงพอต่อเดือน อย่างมากก็เป็นได้เพียงค่ากับข้าว ของใช้ สำหรับหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น หรือถ้าเป็นค่ายารักษาโรค เงินตรงนี้ก็อาจหมดได้ภายใน 1 วัน

เราจึงได้สอบถามกับลูกสาวของลุงสมพรว่า การที่เราต้องทำมาหากิน ไปพร้อมๆ กับต้องดูแลคุณพ่อเช่นนี้ บางครั้งมันมีอุปสรรคหรือความลำบากอะไรหรือไม่?

“การที่เราต้องดูแลเขาเช่นนี้ทุกวัน บางครั้งเราก็เหนื่อย แต่ว่าเราก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ ใครจะทำ”

ลูกสาวของลุงสมพร เล่าต่อว่า สถานการณ์รายได้ในครอบครัวมันแย่ลง ตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด โรงเรียนปิดการเรียนการสอน ไม่มีเด็กและครูอาจารย์เดินมากินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านเรา ก็ทำให้รายจ่ายที่มีอยู่แต่เดิมเริ่มแบกรับไม่ไหว



เราจึงสอบถามทั้งสองคนว่า จะดีกว่าหรือไม่ หากมีการปรับเบี้ยผู้สูงอายุขึ้นเป็น 3,000 บาท/เดือน พร้อมกับมีระบบดูแลผู้สูงอายุในท้องถิ่น ที่คอยให้การช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุในบ้านเรา หากต้องการออกไปทำธุระข้างนอก?

ทั้งสองตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เห็นด้วยกับนโยบายที่จะปรับเบี้ยผู้สูงอายุขึ้นเป็น 3,000 บาท/เดือน มีระบบดูแลให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุ พาไปรับไปส่งเมื่อต้องไปพบแพทย์ และถ้ามีเงินให้สำหรับผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุด้วยจะดีมาก เนื่องจากลูกสาวของลุงสมพร ยังคงยินดีที่จะช่วยเหลือดูแลของพ่อของเธอ เพียงแต่รายได้ที่หาได้ขณะนี้ เต็มไปด้วยภาระที่ต้องแบกรับ

ทั้งนี้ ลุงสมพร ได้เอ่ยในตอนท้ายว่า อยากให้รัฐช่วยอุดหนุนค่ายารักษาโรคที่เกี่ยวเนื่องกับโรคชรา เพราะอย่างวันนี้ตนมีโรคความดัน วันข้างหน้าก็อาจมีโรคอื่นๆ ตามมา โดยอยากให้ปรับปรุงเรื่องสวัสดิการในบัตรทอง 30 บาท ให้ครอบคลุมทุกโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคชรา และการให้บริการเรื่องยารักษาโรค ก็ต้องเป็นยาที่มีประสิทธิภาพและบรรเทาอาการได้ตามโรคที่หมอวินิจฉัยจริง

ถัดไปไม่ไกลนัก เป็นร้านโชห่วยของ สิงห์ แสงดี ชายวัย 75 ปี ที่ทุกวันนี้อยู่อาศัยกับภรรยาวัย 65 ปีและลูก 1 คน หลานอีก 2 คน จากการสอบถามทำให้เราทราบว่า จริงๆ แล้ว ลุงสิงห์กับภรรยามีลูกด้วยกัน 3 คน โดยลูกโตทำงานอยู่แถวลาดพร้าววังหิน ลูกคนกลางทำงานอยู่พระราม2 และลูกคนเล็กทำงานอยู่แถวบ้าน



ลุงสิงห์ เล่าให้เราฟังว่า ตนเคยเป็นคนแข็งแรง แต่ภายหลังถูกรถชน เมื่อตอนอายุ 55 ปี จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ตนต้องนอนโรงพยาบาลอยู่เกือบ 1 ปี และนำมาซึ่งอาการต่อเนื่องคือ ลำกล้องตีบ ทำให้ยังต้องไปหาหมอจนถึงปัจจุบันนี้ แม้จะดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ต้องไปส่องลำกล้องตลอด

“ทุกวันนี้ เวลาไปหาหมอ เราต้องโทรเรียกลูกคนโตที่อยู่แถวลาดพร้าววังหิน ให้มารับไปหาหมอ ซึ่งก็จะมีบ้างที่บางครั้งเขาไม่ว่างมารับไปหาหมอ เพราะเขาทำงานบริษัท เหมือนกับครั้งนี้ที่เราจะต้องไปหาหมอตามนัด วันที่ 1 มีนาคม แต่ยังดีที่สามารถโทรเลื่อนนัดหมอไปเป็นวันที่เราสะดวกเดินทางไปได้ ก็เลยขอเลื่อนไปวันที่ 8 มีนาคม แทน”

ลุงสิงห์ เล่าต่อว่า ทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ ถ้าชนิดโรคและยาที่รักษาอยู่ในสวัสดิการบัตรทอง 30 บาทก็ไม่ต้องเสีย แต่บางครั้งยาบางชนิดก็ต้องจ่ายแยกต่างหากเพราะไม่อยู่ขอบเขตของสวัสดิการที่เราได้รับ ทำให้หลายๆ ครั้งเราต้องดูก่อนว่า ถ้าที่ไหนจ่ายยาโดยใช้บัตรทองได้ก็ไปที่นั่นก่อน

ลุงสิงห์ บอกว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะทุกวันนี้ตนยังต้องทำมาหากิน ค้าขายของชำ และเมื่อเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ ของก็ขายยาก เงินก็ไม่ค่อยพอใช้ บางทีเราขายตั้งแต่ตีสี่ยันหกโมงเย็น เรายังได้ไม่ถึง 1,000 บาทเลย ซึ่งตอนก่อนโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ตนเคยขายของได้มากกว่านี้ เดี๋ยวนี้มีคนละครึ่ง เรารักกัน เขาจะมาซื้อของแล้วโอนเงินให้ ตนก็บอกว่าตนไม่มี เพราะตนทำไม่เป็น ก็กลายเป็นว่าเขาไม่มาซื้อของที่ร้าน ตนก็เลยขายไปตามมีตามเกิด เอาแค่พอกินไปวันๆ

เราเลยสอบถามกับลุงสิงห์ว่า จะดีกว่าหรือไม่ หากมีการปรับเบี้ยผู้สูงอายุขึ้นเป็น 3,000 บาท/เดือน พร้อมกับมีระบบดูแลผู้สูงอายุในท้องถิ่น ที่คอยให้การช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุในบ้านเรา หากต้องการออกไปทำธุระข้างนอก?

ลุงสิงห์ตอบว่า ถ้าทำได้ผู้สูงอายุจะสบายขึ้นอย่างมมากเลย เพราะทุกวันนี้ 700 บาท/เดือน ให้ประหยัดอย่างไรก็ไม่พอใช้ ถ้าเกิดมันปรับเพิ่มขึ้นไปเป็น 3,000 บาท/เดือนได้ แถมยังมีคนคอยมารับมาส่งเราได้ก็ดี เราก็คงอยู่กัน 2 ตายายได้สบาย ไม่ต้องรบกวนลูกให้มารับมาส่งไปโรงพยาบาลอีกแล้ว



ผู้สูงอายุต่างจังหวัด: 700 บาทต่อเดือน ที่อาจกลายเป็นค่าเหมารถไปโรงพยาบาล

“ความลำบากของผู้สูงอายุต่างจังหวัดในเวลานี้คือ แค่คิดจะเดินทางไปหาหมอ หรือทำธุระข้างนอก ก็เสียตังค์มากกว่า 200 บาทต่อรอบแล้ว”

นี่คือความลำบากที่ มาเรียมบี สวนดัด แม่ค้าแผงเนื้อสดวัย 65 ปี จากเมืองชลบุรี สะท้อนให้เราฟัง ภายหลังจากที่เราได้สอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในต่างจังหวัด

จริงอยู่ว่า ชีวิตของ ป้ามาเรียมบี จะยังดีกว่าหลายผู้สูงอายุ เพราะเธอยังมีสามีวัย 63 ปี ที่แข็งแรงและขับขี่ยานพาหนะไปไหนมาไหนให้เธอได้ แต่ตั้งแต่สามีของป้ามาเรียมบีประสบอุบัติเหตุ น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตาขวาจนเกิดอาการตาอักเสบและมองเห็นได้ไม่ชัดดังเดิม ก็ยิ่งทำให้ชีวิตของสองสามีภรรยาคู่นี้เริ่มลำบากมากขึ้น

“ทีนี้ พอจะไปไหนมาไหนตอนนี้ก็ยากลำบากขึ้น ครั้นจะไปพึ่งพาลูกๆ ลูกๆ ก็มีงานการต้องไปทำ”

เราเลยสอบถามกับป้ามาเรียมบีว่า จะดีกว่าหรือไม่ หากมีการปรับเบี้ยผู้สูงอายุขึ้นเป็น 3,000 บาท/เดือน พร้อมกับมีระบบดูแลผู้สูงอายุในท้องถิ่น ที่คอยให้การช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุในบ้านเรา หากต้องการออกไปทำธุระข้างนอก?

ป้ามาเรียมบี บอกกับเราว่า เธอยินดีอย่างมาก หากประเทศไทยจะปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเดิม 600 บาท ขึ้นมาเป็น 3,000 บาท แม้ว่าเงินจำนวนนี้ จะถูกแบ่งออกไป 200 บาท เพื่อพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการให้สามารถรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตได้

“ถ้าพูดกันตรงๆ 3,000 บาทตรงนี้ หากเราอยู่ด้วยกันสองคนตายาย ได้เงิน 6,000 บาท ใช้ชีวิตสมถะ มีบ้านอยู่ จ่ายค่าน้ำไฟรวมกัน 1,000 บาท เจียดเงินซื้อกับข้าวรายวัน เท่านี้ก็อยู่ได้สบายแล้ว”

ป้ามาเรียมบี มองว่า เบี้ยผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือ ไปรับ-ไปส่งโรงพยาบาล หรือมีผู้ดูแลหากเกิดป่วยติดบ้านติดบ้านเตียง แต่กระนั้นตนก็อยากวอนไปยังรัฐบาลว่า รัฐบาลควรต้องมีการตรึงราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อไปมากกว่านี้

แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ยังเป็นห่วงเรื่องค่ากินค่าอยู่ในปัจจุบัน ที่สินค้าอุปโภคบริโภคแทบจะทุกรายการมีราคาพุ่งสูงขึ้นมาก จากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น 5.7% (อัปเดตเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565)[1] และทำให้ผู้คนไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่หรือเมืองน้อยในประเทศนี้อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหวมากขึ้น

“ตั้งแต่เกิดมา 65 ปี เรายังไม่เคยเห็น ราคาน้ำมันปาล์ม 1 กิโลกรัม สำหรับทำกับข้าวจะราคาสูงถึง 90 บาท”




ป้ามาเรียมบี ที่แต่เดิมเธอคือครอบครัวชนชั้นกลาง ที่แบกรับลูกและหลานในบ้านรวมกัน 10 ชีวิต อย่างอยู่ได้สบายมาก แต่ในวันนี้กลับรู้สึกท้อและกังวลอย่างมากว่าจะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว แม้ลูกและหลานบางส่วนจะออกไปทำงานนอกบ้าน และดูแลตัวเองได้แล้วก็ตาม

“ทุกวันนี้เรียกได้ว่า แพงทุกหย่อมหญ้า สินค้าทุกอย่างทยอยขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน หลังจากราคาน้ำมันปาล์มพุ่งขึ้น เนื้อสัตว์ ผัก ปลา ลูกชิ้นก็สูงขึ้นตาม ไม่เว้นแม้แต่เกลือสำหรับทำกับข้าว ไม่เว้นแม้แต่ค่าน้ำ ค่าไฟ”

เสียงสะท้อนที่แสนเจ็บปวดของ ป้ามาเรียมบี กำลังบอกเราว่า ทุกวันนี้ไม่ว่าจะคนจน คนพอมีพอกิน คนชนชั้นกลางหลายบ้านก็เริ่มไม่ไหวกับข้าวของที่แพงขึ้น น้ำไฟที่แพงขึ้นและยังไม่มีท่าทีว่าราคาสิ่งดำรงชีพขั้นพื้นฐานเหล่านี้จะลดลงในเร็ววันนี้



ปัญหาหลักๆ ในขณะนี้ จึงหนีไม่พ้น การต้องออกแบบสวัสดิการสังคมอย่างไรเพื่อรองรับผู้สูงอายุที่กำลังจะมีเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน ทั้งในแง่ความมั่นคงทางการเงิน สุขภาพและการใช้ชีวิต ซึ่ง Think Forward Center เคยมีข้อเสนอถึงเรื่อง การออกแบบระบบสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ดังนี้

  1. การสร้างความมั่นคงให้กับผู้สูงอายุ
    1. เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ Think Forward Center ได้ทำการประเมินความมั่นคงทางการเงินหาก มีการปรับมูลค่าเบี้ยสวัสดิการผู้สูงอายุจากเดิม 600 บาท/เดือน ให้สูงขึ้นเป็น 1,000 บาท 2,000 บาท และ 3,000 บาท/เดือน ซึ่งทำให้้เห็นว่า จะทำให้มีผู้สูงอายุที่หลุดจากความไม่มั่นคงทางการเงินร้อยละ 2.8, 11.3 และ 19.7 ตามลำดับ
    2. การสร้างหลักประกันสำหรับการใช้บริการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะต้องการการพึ่งพิง โดยการขอเก็บออมเบี้ยผู้สูงอายุ 200 บาท/เดือน เพื่อนำมารวมกันเป็นกองกลางในการพัฒนาระบบการบริการการพึ่งพิงดูแลผู้สูงอายุ
  2. การสร้างระบบบริการเพื่อดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง ในด้านการสร้างบริการรัฐสามารถดำเนินนโยบายได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมระบบชุมชน การดำเนินการเองหรือการส่งเสริมให้มีภาคเอกชนเข้ามาให้บริการในราคาที่จับต้องได้
  3. อุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงเป็นรากฐานการผลิตสินค้าเพื่อดูแลผู้สูงอายุเพื่อส่งออก เพราะการลงทุนในอุตสาหกรรมต้องยกระดับมาตรฐานการดูแลด้วย การปรับเปลี่ยนเครื่องมือเครื่องใช้้และเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นแบบอารยสถาปัตย์ (Universal design) เพื่อลดอุบัติเหตุและอำนวยความสะดวกในการใช้งาน อาทิ ราวจับกันล้ม กระเบื้องกันลื่น เตียงอัจฉริยะ เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว สุขภัณฑ์ รางระบายน้ำ ซึ่งช่วยให้ที่อยู่อาศัยเหมาะกับสภาวะร่างกายของผู้สูงอายุุ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ไทยก็สามารถพัฒนาสินค้าเพื่อการดูแลผู้สูงอายุอื่นๆ เช่น รถเข็น แผ่นรองกันเปื้อน ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ชุดอุปกรณ์วัดความดันและเบาหวาน อุปกรณ์ตรวจวัดชีพ (Wearable device) รองเท้าเพื่อสุขภาพ หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เทคโนโลยีสมาร์ทโฮม สั่งการเครื่องใช้ในบ้าน ตลอดจนอาหารที่รับประทานง่ายและให้พลังงานแบบที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เป็นการสร้างขีดความสามารถในการผลิตของเรา ก่อนที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นจะให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้





เชิงอรรถ

[1] ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ตลาดผวาเงินเฟ้อพุ่ง 5.7% เอเชีย พลัส แนะ 3 กลุ่มหุ้นรับมือผันผวน https://www.reic.or.th/News/RealEstate/455468

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า