Think Forward Center
ในวันที่ 30 เมษายน 2565 นี้ Think Forward Center ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล กำลังจะครบรอบ 1 ปี ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับฟังข้อเสนอ ศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนาแนวนโยบายต่างๆ Think Forward Center ได้ร่วมออกแบบและเสนอแนวนโยบายที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประชาชนในทุกกลุ่มคน
และเพื่อขยายภาพให้ชัดเจนขึ้น Think Forward Center ขอสรุปแนวนโยบายทั้งหมดที่เคยถูกเสนอโดย Think Forward Center และพูดคุยกับทีมถึงวิสัยทัศน์ของ Think Forward Center ในอีก 1 ปีหลังจากนี้ว่า Think Forward Center ที่ทุกคนอยากให้เป็นต่อจากนี้มีหน้าตาเป็นเช่นไร?
1 ปีกับการเดินหน้าออกแบบนโยบายเพื่อประชาชน
ตลอด 1 ปีมานี้ Think Forward Center ได้ทำการรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ร่วมวิเคราะห์ และออกแบบนโยบายเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
1) การจัดเสวนาวิชาการร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้นๆ
อาทิ ประเด็นแรงงาน ประเด็นการศึกษา ประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับวิกฤตการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
2) การจัดกิจกรรม workshop การออกแบบนโยบาย
อาทิเช่น การจัดงาน Policy Crafting Workshop เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และการจัดกิจกรรม Brainstorming Workshop ในประเด็น Soft Power กับระบบการศึกษาไทย เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เป็นต้น
3) การจัดกิจกรรมอบรมนโยบายว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ทุกภูมิภาค ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 ที่ผ่านมา
จากการจัดกิจกรรมอบรม สอบถามความคิดเห็น และเปิดพื้นที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นผลให้ Think Forward Center สามารถจัดทำแนวนโยบายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ดังนี้
1. นโยบายสวัสดิการถ้วนหน้าทุกกลุ่มวัย
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://think.moveforwardparty.org/paper/19 )
เป็นที่ทราบกันว่า ปัจจุบันนี้ ประชาชนชาวไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการจากรัฐไปเพียง 324,763.8 ล้านบาท (หรือคิดเป็นเพียง 10.5% จากงบประมาณทั้งหมด) ซึ่งตัวเลขนี้คือ งบประมาณที่ถูกปรับลดลงมาจาก 360,352.0 ล้านบาท ของงบประมาณในปี 2564 (หรือคิดเป็น 11% จากงบประมาณทั้งหมด) และเท่ากับว่างบประมาณสวัสดิการของประชาชนในปีนี้ ถูกปรับลดลงไปกว่า 0.5% จากงบประมาณปีที่ผ่านมา
ขณะที่งบประมาณที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็นหมวดงบประมาณสวัสดิการข้าราชการซึ่งรวมถึง (ก) บำเหน็จ/บำนาญ (ข) เงินสมทบ/เงินชดเชยข้าราชการ (ค) เงินสมทบลูกจ้างประจำ (ง) ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ (รวมถึงครอบครัวของข้าราชการ) และ (จ) เงินช่วยเหลือข้าราชการ กลับเพิ่มขึ้น 2.5% จาก 452,354.6 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 เป็น 463,865.0 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 (หรือคิดเป็น 15% ของงบประมาณทั้งหมด) สวนทางกับงบประมาณโดยรวมทั้งประเทศที่ลดลงร้อยละ 5.7%
เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าเปรียบงบประมาณประเทศทั้งหมดเป็นเงิน 100 บาท ข้าราชการและครอบครัวที่มีอยู่ประมาณ 5 ล้านคนทั่วประเทศจะได้สวัสดิการอยู่ที่ประมาณ 15 บาท (ซึ่งเพิ่มเติมจากส่วนของเงินเดือนข้าราชการที่มีอยู่ก่อนแล้ว 25 บาท) ส่วนประชาชน 60 ล้านคนที่เหลือจะได้รับสวัสดิการไปเพียง 10.50 บาท เท่านั้น
Think Forward Center เสนอให้รัฐต้องมีการปรับงบประมาณสวัสดิการ เพื่อกระจายไปตามกลุ่มวัยอย่างถ้วนหน้าโดย
- ปรับเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี 600 บาท/คน/เดือน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 และจะทยอยเพิ่มจำนวนขึ้นจนถึง 1,200 บาท/คน/เดือน ในปี 2570
- เพิ่มงบประมาณสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก 7-14 ปี และเยาวชน 15 – 19 ปี 600 บาท/คน/เดือน ในปีงบประมาณ 2566 และ2567 ตามลำดับ และจะเพิ่มงบประมาณสนับสนุนขึ้นตามลำดับ
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะทยอยเพิ่มขึ้นจาก 1,000 บาท/คน/เดือน ในปีงบประมาณ 2565 และเพิ่มขึ้นปีละ 500 บาท/คน/เดือน จนถึง 3,000 บาท/คน/เดือน ในปีงบประมาณ 2569
- งบประมาณสนับสนุนกองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 7 และร้อยละ 5 ต่อปี ตามลำดับ เพื่อขยายการบริการ/สิทธิประโยชน์สำหรับประชาชนต่อไป
2. นโยบายระบบหลักประกันดูแลผู้สูงอายุระยะยาว
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://think.moveforwardparty.org/article/2302 )
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ด้วยสัดส่วนของผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอยู่ 11.6 ล้านคน (หรือคิดเป็นร้อยละ 17.6) จากประชากรทั้งสิ้น 66.2 ล้านคน และในจำนวนนี้ มีผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 50 ไม่มีความมั่นคงทางการเงิน และอีกร้อยละ 17 อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทางการเงิน หมายความว่า กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้สูงอายุไม่สามารถรองรับภาระค่าใช้จ่ายหากมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งต้องมีเงินรองรับประมาณ 120,000 บาท หรือหากอยู่ในภาวะติดเตียงก็ต้องใช้จำนวนเงินถึง 230,000 บาท
Think Forward Center เห็นว่า ผู้สูงอายุไทยมีความจำเป็นต้องการการพึ่งพาดูแลและความมั่นคงทางการเงิน จึงเสนอทางเลือกผ่านการตั้งกองทุนที่มีชื่อว่า “กองทุนหลักประกันผู้สูงอายุระยะยาว” โดยกองทุนนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำการเก็บเงิน 200 บาท/เดือน จากเงินบำนาญ 3,000 บาท ของประชาชน หากคำนวณจากผู้สูงอายุจำนวน 11.6 ล้านคน จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ มีงบประมาณสำหรับสร้างหลักประกันผู้สูงอายุสำหรับ ราว 2,320 ล้านบาท/เดือน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุให้เป็นระบบเศรษฐกิจด้านการดูแลผู้สูงอายุ (elderly care economy) เพื่อสร้างการจ้างงานในท้องถิ่นและสร้างรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนำงบประมาณในส่วนนี้มาสร้างระบบสาธารณะสุข ด้วยการแบ่งระบบการดูแลผู้สูงอายุเป็น 4 ระบบย่อย คือ 1. ระบบศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 2. ระบบดูแลผู้สูงอายุชุมชน 3. ระบบดูแลผู้สูงอายุแบบแพลตฟอร์ม และ 4. ลูกหลานดูแลผู้สูงอายุด้วยตัวเอง
3. นโยบายผ้าอนามัยที่ทุกคนเข้าถึงได้
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://think.moveforwardparty.org/article/2217 )
การมีประจำเดือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จะมีประจำเดือนทุก 28 วัน ทำให้ผู้หญิงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้น จนพบว่ามีผู้หญิงจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล ประสบกับความขาดแคลนผ้าอนามัย หรือ “Period Poverty”
หากระยะเวลาการมีประจำเดือนของผู้หญิงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ปี ผู้หญิงจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าอนามัยประมาณ 84,000 บาท ตลอดช่วงชีวิต ดังนั้นการส่งเสริมให้ผ้าอนามัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเพศหญิงจึงเป็นสิ่งที่รัฐควรเข้ามาจัดการและดูแล
เพื่อยุติภาวะขาดแคลนผ้าอนามัยและทำให้ผู้หญิงเข้าถึงสวัสดิการผ้าอนามัยในภาวะที่มีประจำเดือนมากขึ้น Think Forward Center เสนอว่า
- รัฐควรยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัย (รวมถึงผลิตภัณฑ์อนามัยเจริญพันธุ์) ในประเทศไทย
- รัฐควรแจกคูปองเงินสด/สิทธิแลกซื้อให้ครอบคลุมต้นทุนการเสียค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยขั้นต่ำในแต่ละเดือนให้กับผู้หญิงทุกคนอย่างทั่วถึง (โดยขั้นต่ำสำหรับค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยจะอยู่ที่ 100 – 200 บาท/คน/เดือน)
- รัฐควรจัดสรรผ้าอนามัย 3-5% จากบริษัทผู้ผลิต เพื่อกระจายไปยังสถานที่ที่ตลาดไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าถึงได้น้อย เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงเรียน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล ตู้หยอดเหรียญผ้าอนามัยในหมู่บ้าน เป็นต้น
- รัฐควรมีแนวทางในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยเจริญพันธุ์ของทุกช่วงวัย เพื่อพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์อย่างต่อเนื่อง
4. นโยบายที่อยู่อาศัยราคาประหยัด
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://think.moveforwardparty.org/article/2127 )
บ้านหรือที่พักอาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิต แต่ครัวเรือนจำนวนไม่น้อยกว่า 4.1 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ (หรือประมาณร้อยละ 18.8) ยังไม่มีที่พักอาศัยเป็นของตนเอง และถ้าเป็นในเขตเมืองพบว่า ครัวเรือนในเมืองประมาณร้อยละ 31.3 ไม่มีที่พักอาศัยเป็นของตนเองเช่นกัน
นับตั้งแต่ปี 2556 ดัชนีราคาที่พักอาศัย เพิ่มเร็วกว่าดัชนีค่าจ้างแรงงาน สะท้อนให้เห็นว่า การมีที่พักอาศัยเป็นของตนเองมีแนวโน้มทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้ที่ทำงานเป็นพนักงาน/ลูกจ้างทั่วไป
Think Forward Center เห็นว่า หากรัฐสามารถสร้าง “ทางเลือก” ด้านที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงที่พักในราคาประหยัดได้มากขึ้น ซึ่ง Think Forward Center เสนอนโยบายด้านการเข้าถึงที่พักอาศัยเพื่อทุกคนที่แบ่งได้ 3 ลักษณะ ได้แก่
(ก) บ้านเช่าสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยหรือครัวเรือนที่พักอาศัยเป็นชุมชน และศูนย์คนไร้บ้าน โดยรัฐจัดหาที่พักสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและคนไร้บ้านได้เช่าพักอาศัยในอัตรา 1,000-3,000 บาท/เดือน
(ข) บ้านที่ซื้อเป็นของตนเอง ทำได้โดยการที่ภาครัฐเข้ามาเป็นผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยและเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาโครงการรายใหม่เข้ามาร่วมดำเนินการออกแบบที่พักอาศัยให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาที่พักอาศัยให้ได้ 400,000 หน่วย ในเวลา 5 ปี แยกเป็นในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 100,000 หน่วย ในพื้นที่ปริมณฑลจำนวน 100,000 หน่วย และในจังหวัดอื่น ๆ อีกประมาณ 200,000 หน่วย และกำหนดให้ราคาบ้าน/ที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ล้านบาท ผู้ซื้อสามารถผ่อนจ่ายไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2-3 ต่อปี ตลอดอายุโครงการ
(ค) บ้านเช่าสำหรับคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง Think Forward Center เสนอให้ราคาบ้านเช่าสำหรับคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางอยู่ที่ 3,000 – 8,000 บาท/เดือน โดยภาครัฐสามารถเช่าที่ดินในกรุงเทพมหานคร เช่น สำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่ราชพัสดุ รวมทั้งที่ดินแปลงอื่นๆที่เจ้าของที่ดินต้องการปล่อยเช่า โดยเงินลงทุนมาจากการระดมทุนผ่านพันธบัตรของรัฐบาลแบบค้ำประกันผลตอบแทนจากการลงทุน
5. นโยบายปัญหาหนี้สินเกษตรกร
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://think.moveforwardparty.org/article/2039 )
แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการพักชำระหนี้ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่รายได้ของเกษตรกรไทยยังลดลง 27% และหนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึง 22% หรือเพิ่มขึ้นจาก 221,490 บาท/ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 269,159 บาท/ครัวเรือน ในปี พ.ศ. 2564
ในจำนวนหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ มีเกษตรกรลูกหนี้ถึงร้อยละ 41 ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำ รวมถึงเป็นเกษตรกรลูกหนี้ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) อีกเกือบ 1.4 ล้านราย และในจำนวนลูกหนี้ที่เป็นผู้สูงอายุนี้ มีเกือบ 180,000 ราย ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หรือ NPL)
หนี้สินของเกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้น จะมีผลกระทบต่อ (ก) การจำกัดอำนาจซื้อของครัวเรือน (ข) การจำกัดทางเลือกในการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างการผลิตของเกษตรกร (ค) การส่งต่อหนี้สินไปยังคนรุ่นลูกหลาน และ ง) การขยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้กว้างขึ้นอีกในระยะยาว
Think Forward Center เสนอให้รัฐบาลควรตั้งเป้าหมายในการปรับโครงสร้างหนี้ ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย และการรับซื้อหนี้สินของเกษตรกรมาปรับโครงสร้างหนี้ให้ครอบคลุม (ก) เกษตรกรที่ศักยภาพการชำระหนี้ต่ำ 2 ล้านราย และ (ข) เกษตรกรผู้สูงอายุ 1.4 ล้านราย (เกษตรกร 2 กลุ่มนี้อาจทับซ้อนกันบางส่วน) โดยให้มีแผนดำเนินการที่ชัดเจนภายในระยะเวลา 2 ปี ผ่านการสนับสนุนงบประมาณในการรับซื้อหนี้ของกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรให้เพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยให้ครอบคลุมเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ ไม่น้อยกว่า 100,000 ราย หรือต้องมีงบประมาณสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2566-2570
6. นโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กและเยาวชน
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://think.moveforwardparty.org/article/1861 )
ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนที่อยู่ในครัวเรือนยากจนประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำหลายประการ เช่น เด็กในกลุ่มนี้เพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่ได้อยู่กับทั้งพ่อและแม่ และมีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น ที่ที่บ้านมีหนังสือตั้งแต่ 3 เล่มขึ้นไป มีเพียงร้อยละ 28 เท่านั้นที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต และมีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่มีคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ เด็กในครัวเรือนกลุ่มนี้เกือบร้อยละ 70 ต้องเผชิญประสบการณ์การใช้ความรุนแรงในการเลี้ยงดู
ความจำกัดของโอกาสและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อความสำเร็จในการศึกษาระดับมัธยม เด็กในครัวเรือนยากจนเพียง 4 ใน 10 คนที่สำเร็จมัธยมปลาย และมีเพียงประมาณ 1 ใน 10 เท่านั้น ที่ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เพราะภาระค่าใช้จ่ายในระดับอุดมศึกษาเมื่อเทียบกับรายได้ของครัวเรือนกลายเป็นกำแพงสำคัญ
Think Forward Center เสนอให้ดำเนินนโยบาย 4 ด้านในการแก้ปัญหานี้ ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้า สำหรับเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ 0-22 ปี 2) การพัฒนาโอกาสในการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา โดยระบบการร่วมลงทุนทางการศึกษาแทนการกู้ยืมเพื่อการศึกษา 3) การจัดตั้งและการพัฒนากองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ และ 4) การพัฒนาความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อลดความจำเป็นในการอพยพออกนอกพื้นที่ของแรงงานในชนบท
7. นโยบายแก้ไขปัญหาข้อพิพาทด้านที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชน
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://think.moveforwardparty.org/article/1632 )
ปัญหาข้อพิพาทด้านที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบกับประชาชนมากกว่า 1 ล้านคน และเป็นปัญหาใหญ่ในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ประชาชนที่อาศัยและทำมาหากินในพื้นที่พิพาทส่วนมากก็เป็นกลุ่มคนยากจนและชาติพันธุ์ ทำให้พวกเขาไม่มีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน กลายเป็นรากของปัญหาในการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย
การไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยสมบูรณ์เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา การที่ประชาชนไม่สามารถใช้ที่ดินเหล่านั้นเสมือนเป็นสินทรัพย์ของตนเอง เป็นผลเสียต่อแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาพื้นที่เพื่อผลตอบแทนในระยะยาว ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และไม่สามารถโอนสิทธิหรือขายที่ดินเพื่อย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าได้
เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ Think Forward Center จึงเสนอแนวนโยบายในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ดังนี้
- การเร่งรัดการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของประชาชนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- เมื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินของประชาชนเรียบร้อยแล้ว ให้รีบดำเนินการจัดสรรพื้นที่ (พร้อมออกโฉนด) ให้กับประชาชน ตามสิทธิเดิมที่ประชาชนพึงมี และเป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถแลกเปลี่ยนได้
- รัฐบาลควรพัฒนาหลักการสิทธิในที่ดินที่รัฐบาลจะยอมรับ/จัดสรรให้ เช่น หลักการสิทธิชุมชนในการถือครองที่ดิน และร่วมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนต่าง ๆ ที่จะช่วยให้การใช้สิทธิในที่ดินของประชาชน มีความมั่นคงและสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้เพิ่มมากขึ้นและยั่งยืนยิ่งขึ้น
- ทบทวนการใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุ และที่ดินประเภทอื่นของหน่วยงานรัฐซึ่งไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จริง หรือมิได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่า หรือเคยปล่อยให้เอกชนรายใหญ่เข้ามาใช้ประโยชน์ และคืนที่ดินเหล่านั้นให้กับกรมธนารักษ์ เพื่อนำมาใช้ในการอนุรักษ์ และ/หรือจัดสรรให้กับประชาชนที่ยังขาดแคลนที่ดินทำกินต่อไป
- พัฒนาโครงสร้างเชิงสถาบัน โดยปรับให้คณะกรรมการนโยบายที่ดิน ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลการดำเนินนโยบายตามแนวทางทั้ง 4 ข้อข้างต้นอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการกำกับดูแลการใช้งบประมาณของกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน และแก้ไขข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่าง ๆ รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่จะเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน เช่น ธนาคารที่ดิน
8. นโยบายการสร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://think.moveforwardparty.org/article/1632 )
ปัญหาเรื่องการว่างงาน และการทำงานต่ำระดับที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากทั้งวิกฤตการณ์โควิด -19 และปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นมานานก่อนวิกฤตโควิด-19 แนวทางการแก้ไขปัญหาการว่างงานและการทำงานต่ำระดับจึงต้องดำเนินมาตรการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ในระยะสั้น การรักษาระดับการจ้างงานและการเยียวยาอย่างถ้วนหน้าจะเป็นมาตรการสำคัญในการช่วยลดผลกระทบทางลบจากสถานการณ์โควิด -19 สำหรับภาครัวเรือนและเศรษฐกิจส่วนรวมขณะเดียวกันก็จะเป็นฐานสำคัญสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่จะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 นี้
ส่วนมาตรการระยะยาว รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการสร้างงานทั้งในภาคเศรษฐกิจที่เคยเข้มแข็งอยู่เดิม (เช่น การท่องเที่ยว การส่งออก) และเร่งการสร้างงานในภาคเศรษฐกิจใหม่ ๆ ขึ้น โดยมีเป้าหมายสำหรับเศรษฐกิจใหม่อยู่ที่หนึ่งล้านตำแหน่งงาน และขณะเดียวกัน ก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการคุ้มครองแรงงานในลักษณะของการจ้างงานแบบใหม่ ๆ ที่เป็นแบบยืดหยุ่นมากขึ้นพร้อมกันกับการวางรากฐานระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงาน/คนทำงานทุกคนมีพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในอนาคต
1 ปีกับแนวทางการแก้ไขปัญหาและสร้างความยั่งยืนให้ประชาชน
ขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับกลุ่มคนแบบจำเพาะ ก็เป็นปัญหาที่ Think Forward Center มิได้นิ่งนอนใจ และคอยเดินหน้ารับฟังปัญหาจากประชาชน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อเสนอมาพัฒนาแก้ไขปัญหา จนเกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความยั่งยืนให้พี่น้องประชาชนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ผ่านการจัดทำบทความในเว็บไซต์ดังนี้
1. การลดการเกณฑ์ทหาร: หนทางในการลดงบประมาณรายจ่ายบุคลากรกระทรวงกลาโหม
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://think.moveforwardparty.org/article/1183 )
ในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 งบประมาณในหลายหมวดหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการถูกปรับลดลงโดยรวมกว่า 5.7% จากปีก่อน แต่งบประมาณหมวดหนึ่งที่จมไม่ลงคือ งบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นจาก 103,293.6 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 ขึ้นเป็น 105,034 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 (เพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อน)
ข้อมูลของ World Bank เผยว่า กองทัพไทยของเรามีอัตรากำลังพลต่อกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น จาก 0.95% ของกำลังแรงงาน ในปี 2533 มาเป็น 1.17% ของกำลังแรงงาน ในปี 2561 (หรือเพิ่มขึ้น 23% โดยเปรียบเทียบ) ในเวลาเดียวกัน ภาพรวมของทั้งโลกมีอัตรากำลังพลต่อแรงงานลดลงจาก 1.11% มาเป็น 0.81% ดังนั้นการจะแก้ปัญหา
Think Forward Center เห็นว่า การลดงบประมาณสำหรับทหารเกณฑ์ จะนำไปสู่การยกเลิกการเกณฑ์ทหารในอนาคต จะเป็นแนวทางระยะยาวที่ช่วยลดงบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกองทัพ และลดอัตรากำลังพลของกองทัพต่อกำลังแรงงานลงได้ ทั้งยังจะช่วยให้กองทัพหันไปเน้นการสร้าง/พัฒนากำลังพลที่มาจากความสมัครใจ
ข้อพิสูจน์จากหลายประเทศพบว่า ทหารที่เข้ามาทำงานโดยสมัครใจจะอยู่ในกองทัพยาวนานขึ้น และมีคุณภาพประสิทธิผลในการทำงานตามภารกิจได้มากขึ้น อันเป็นผลให้ต้นทุนโดยรวมของกองทัพลดลง แม้ว่าจะต้องจ่ายค่าตอบแทนที่สูงกว่าทหารเกณฑ์ก็ตาม
2. การสนับสนุน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เพื่อปลดล็อกการผูกขาดการผลิตสุราและเบียร์
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://think.moveforwardparty.org/article/1980 )
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้มีการเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ… (หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า) ซึ่งจะมีผลให้สุราพื้นบ้าน สุราคราฟท์ เบียร์คราฟท์ และอื่นๆ สามารถผลิต ลงทุน พัฒนาและต่อยอดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และแม้ท้ายที่สุดการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.นี้จะมีมติให้คณะรัฐมนตรีไปพิจารณาร่างก่อนเป็นเวลา 60 วัน ด้วยมติ 207 เสียง ต่อ 195 เสียง
Think Forward Center เห็นว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อลดการผูกขาดดังกล่าวจะทำให้เกิดศักยภาพที่สำคัญ 7 ประการด้วยกัน คือ
- เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ได้มากมายหลายชนิด ทั้งข้าว อ้อย มัน ข้าวโพด มะพร้าว ตาล จาก ฯลฯ โดยรวมแล้วจะเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเหล่านี้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท/ปี
- สร้างงานและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท/ปี
- เสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว ให้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ และมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น
- เกิดการวิจัยและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมได้อีกมาก ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ข้าวและผลผลิตการเกษตร การหมัก การเก็บรักษา ไปจนถึงการตลาด
- ลดการนำเข้าสุราและเบียร์ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกสุราและเบียร์ ทำให้เพิ่มดุลการค้าให้กับประเทศไทยได้มากกว่า 3,500 ล้านบาท/ปี
- เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตการเกษตรของชุมชน ด้วยการเก็บรักษาไว้ในรูปของสุราพื้นบ้าน จึงช่วยเพิ่มทางเลือกในการจัดการ และอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกรและชุมชน
- กากจากกระบวนการหมักสุราและเบียร์ของชุมชน ยังสามารถนำมาใช้ในการลดต้นทุนอาหารสัตว์ของชุมชน และ/หรือการหมักก๊าซชีวภาพ ได้อีกทางหนึ่งด้วย
3. การสนับสนุน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อปลดล็อกระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น
(อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://progressivemovement.in.th/article/progressive/local-politics/7000 )
การรวมศูนย์อำนาจ มีผลให้อำนาจในการตัดสินใจตามกฎหมาย และการบริหารจัดการทรัพยากรในทางเศรษฐกิจเป็นของรัฐบาลส่วนกลาง ขณะที่เศรษฐกิจมีส่วนสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดคุณภาพชีวิตของประชาชน และควรเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น ในฐานะหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดและประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงได้
Think Forward Center เห็นว่า การจะสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละท้องถิ่น อาจต้องคำนึงองค์ประกอบ 3 มิติ/ลักษณะด้วยกัน คือ
- มิติ/ลักษณะของเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการผลิตและการขายสินค้าและบริการในท้องถิ่น (market economy) กล่าวคือ ท้องถิ่นต้องสามารถกำหนด และเข้ามามีอำนาจ บทบาท ในการบริหารจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นเศรษฐกิจในระบบตลาดอย่างครบถ้วน รอบด้าน และสมบูรณ์มากขึ้นกว่าเดิม
- มิติ/ลักษณะของเศรษฐกิจที่เน้นการดูแลกัน (care economy) กล่าวคือ ท้องถิ่นต้องสามารถจัดสรรบทบาท ทรัพยากร และความเชี่ยวชาญของบุคคลได้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างและพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เน้นการดูแลซึ่งกันและกันให้รอบด้านมากขึ้น จนสามารถรักษาและเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น ไปพร้อมๆ กับการเพิ่มการจ้างงานภายในท้องถิ่น
- มิติ/ลักษณะของเศรษฐกิจที่มาจากฐานทรัพยากรและระบบนิเวศในท้องถิ่น (natural base economy) กล่าวคือ ท้องถิ่นจึงน่าจะเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการพัฒนา “เศรษฐกิจสีเขียว” ซึ่งจะทำให้การรักษาและการเพิ่มพูนคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศวัฒนธรรม เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงาน และการลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ให้มากที่สุด
Think Forward Center เชื่อว่า นโยบายการกระจายอำนาจและการสร้างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้ ต้องลดอำนาจส่วนกลาง และเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่น ในทุกๆ มิติของการจัดการบริหารเศรษฐกิจได้
4. การสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture Economy) ผ่านการสร้างความเข้มแข็งให้อำนาจละมุน (Soft Power)
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
1. คุยกับ “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” ในวันที่ Infrastructure based อาจเป็นคำตอบในการสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ https://think.moveforwardparty.org/article/2178/
2. คุยกับ “ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” เมื่อระบบการศึกษาที่ตีกรอบ คือตัวการที่ทำให้ไม่เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ https://think.moveforwardparty.org/article/2245
3. คุยกับ “จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์” ถอดบทเรียน Korean Wave เพื่อสร้างเม็ดเงินจาก Soft Power https://think.moveforwardparty.org/article/2336
ปัจจุบันเมื่อเศรษฐกิจแบบไทยแลนด์ 3.0 หรือการสร้างเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมหนักเดินทางมาถึงทางตัน การผลักดันเศรษฐกิจแบบไทยแลนด์ 4.0 หรือ การสร้างเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมงานวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture Works) อาจเป็นคำตอบในการหาช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืนให้กับประเทศไทยได้ แต่การจะสร้างระบบเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ให้เข้มแข็งได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสรรค์ผลงานอย่างไรให้ตอบสนองต่อความต้องการของนานาอารยะประเทศ ดังนั้นการสร้างอำนาจละมุน หรือ Soft Power เพื่อสร้างสังคมที่กล้าคิดนอกกรอบและสร้างสรรค์ผลงานที่สดใหม่ขึ้นมาได้
โดย Think Forward Center ได้รับข้อเสนอจากสมาชิกสมาผู้แทนราษฎร พรคก้าวไกล ที่เคยทำงานในประเด็นขับเคลื่อนการสร้าง Soft Power เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์จำเป็นจะต้อง
- กำจัดแนวคิด “การแช่แข็งทางวัฒนธรรม” ในระบบราชการ และเปลี่ยนเป็นมุมมองว่า การสร้างเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ต้องดึงจุดเด่นทางวัฒนธรรมมา “ปรับแต่ง” และสร้างเป็นจุดขายที่ดึงดูดชาวต่างชาติให้มาบริโภควัฒนธรรมไทยได้
- สร้าง Infrastructure based ทางวัฒนธรรม ผ่านการพัฒนาและต่อยอดองค์การมหาชนอย่าง CEA และ OKMD ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้อย่างครบครันทุกอำเภอและจังหวัดในชื่อ “Creative Forward Center”
- ต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา เลิกการศึกษาที่สอนให้ผู้คนรังเกียจ/เหยียดคนที่มีความคิด ความเชื่อ การดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากคนอื่นในสังคม รวมถึงการเพิ่มคำว่า “สิทธิมนุษยชน” ในสารบบของโรงเรียน รวมถึงยกเลิกระบบอำนาจนิยม ที่จะเกี่ยวเนื่องไปกับการกำหนดยูนิฟอร์มและทรงผมของเด็ก ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของเด็ก
- รัฐต้องเปลี่ยนจุดยืนเป็นผู้สนับสนุน Project based โดยส่งเสริมให้นายทุนสามารถเข้ามาริเริ่มทำธุรกิจสร้างสรรค์ในราย Project based โดยอาจร่วมมือกับรายย่อยแต่มีศักยภาพเฉพาะด้านมาร่วมทำ เพื่อเพิ่มโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ
อนาคตของ Think Forward Center
“การจัดทำนโยบายเพื่ออนาคตหลังจากนี้ อาจไม่ได้มีหน้าตาหรือลักษณะที่เจาะจงและตายตัวเหมือนในอดีต แต่นโยบายสาธารณะต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป”
นุชประภา โมกข์ศาสตร์ นักวิจัยนโยบาย Think Forward Center เห็นว่า เนื่องจาก Think Forward Center จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์นโยบาย ที่ทำการศึกษาประเด็นด้านนโยบายสาธารณะด้วยมุมมองที่มาจากเสียงของประชาชนที่บอกเล่าปัญหา เพื่อรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง รวมทั้งความต้องการต่างๆ อย่างรอบด้าน
ดังนั้น แนวนโยบายที่ Think Forward Center รวบรวมและนำเสนอจึงไม่ได้มาจากความคิดเห็นของนักวิจัย แต่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้เราสามารถสร้างและพัฒนานโยบายที่หลากหลายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม และให้ภาครัฐสามารถนําแนวนโยบายที่เราได้นําเสนอ ไปปรับใช้ในการกําหนดทิศทางการพัฒนาให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต คุณภาพสังคม และคุณภาพของพลเมืองในสังคมอย่างเต็มที่
ขณะที่ อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ นักสื่อสารนโยบาย Think Forward Center เห็นว่า นอกจากการทำให้แนวนโยบายของ Think Forward Center ยึดโยงกับความต้องการและการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญแล้ว การพัฒนาแผนงานสื่อสารทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเชื่อในศักยภาพการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่จุดที่ดีกว่าของพรรคก้าวไกลก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
“การจัดทำแผนงานสื่อสารให้มีความหลากหลายในเนื้อหาและช่องทางการเผยแพร่ รวมถึงเข้าใจผู้รับสารในทุกช่วงวัย จึงเป็นทางออกที่สำคัญในการเข้าถึงผู้คน และสร้างนโยบายที่เข้าถึงต้นตอปัญหาของทุกบริบทพื้นที่ได้”
อิชย์อาณิคม์ จึงกล่าวต่อว่า การพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ในช่องทางที่หลากหลาย เช่น ผ่านทาง Podcast และ YouTube หรือแม้แต่การจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์นโยบายที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงและเมื่ออ่านก็เข้าใจได้จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้านี้ รวมถึงการทำงานสื่อสารร่วมกับผู้คนจากหลากหลายเพศ ช่วงวัย ท้องถิ่นและวิชาชีพก็จะยิ่งทำให้ช่องว่างทางความไม่เข้าใจที่เคยถูกทำให้กว้างนั้นแคบลงมาได้
สุดท้าย เดชรัต สุขกำเนิด ในฐานะ ผู้อำนวยการ Think Forward Center จึงสรุปแนวทางในปีถัดไป (พฤษภาคม 2565-เมษายน 2566) ซึ่งเป็นปีที่คาดว่า จะเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งใหญ่ ดังนั้นแนวทางการทำงานของ Think Forward Center จึงจำเป็นจะต้องเร่งเพิ่มกระบวนการพัฒนานโยบายที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
- การจัดเวทีระดม/แลกเปลี่ยนความคิดเห็นรายพื้นที่ รายประเด็นทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งช่องทางแบบออนไลน์ และการจัดเวทีในพื้นที่จริง
- การพัฒนาสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของบทความในเพจ Think Forward Center การทำ Podcast และช่อง YouTube
- การร่วมพัฒนานโยบายรายภูมิภาค รายจังหวัด และรายกลุ่มจังหวัด ร่วมกับทีมคณะทำงานประจำจังหวัดของพรรคก้าวไกล และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกลในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงการออกแบบการสื่อสารนโยบายเพื่อลดช่องว่างทางความไม่เข้าใจให้แคบลง
- การจัดทำสรุปแนวนโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า และการเป็นรัฐบาลในช่วงเวลาต่อไป
- การได้รับมอบหมายจากพรรคก้าวไกลให้เข้าร่วมเวทีชี้แจง และนำเสนอนโยบายต่างๆ ซึ่งจะจัดขึ้น เพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง