สวัสดิการ: เค้กชิ้นใหญ่ ของใครกันแน่ (ข้าราชการ หรือประชาชน) – บทวิเคราะห์งบประมาณสวัสดิการข้าราชการและสวัสดิการประชาชน

เดชรัต สุขกำเนิด


ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีผู้กล่าวในเชิงเปรียบเทียบว่า “การเรียกร้องเรื่องสวัสดิการของประชาชน ก็เหมือนเป็นความพยายามในการแบ่งเค้ก (หรือแย่งเค้ก) ชิ้นใหญ่” ซึ่งผู้นั้นเห็นว่า “สังคมเราน่าจะสนใจกับการเพิ่มขนาดของก้อนเค้กมากกว่าการแบ่งเค้ก”

บทความนี้ จะพามาวิเคราะห์ตัวเลขงบประมาณสวัสดิการของข้าราชการ VS สวัสดิการประชาชน ว่าใครกันแน่ ที่กำลังจะขยายชิ้นเค้กของตนให้ใหญ่ขึ้นทุกที และสังคมไทยควรทำอย่างไรกับการแบ่งเค้กแบบที่เป็นอยู่ในสังคมไทย


สวัสดิการข้าราชการ VS สวัสดิการประชาชน

ถ้าเราจะเปรียบเทียบระหว่างสวัสดิการข้าราชการ VS สวัสดิการประชาชน ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่แสดงในภาพ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 จนถึง 2565 แสดงให้เห็นว่า ข้าราชการ (ประมาณ 2.8 ล้านคน) ได้รับสวัสดิการมากกว่าประชาชน (อีก 60 กว่าล้านคน) มาโดยตลอด

ล่าสุด ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2566 เราจะพบว่า สวัสดิการของข้าราชการเพิ่มขึ้นเป็น 479,470 ล้านบาท โดยงบประมาณบำนาญข้าราชการเป็นงบก้อนที่ใหญ่ที่สุด คือ 322,790 ล้านบาท (ไม่รวมเงินสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการอีก 75,980 ล้านบาท) และงบค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ 76,000 ล้านบาท

ส่วนงบประมาณสวัสดิการของประชาชน ในปีงบประมาณ 2566 กลับได้รับงบประมาณเพียง 351,372.3 ล้านบาท โดยแยกเป็นงบหลักๆ ได้แก่ งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 142,297 ล้านบาท ตามมาด้วยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 87,570 ล้านบาท เงินสมทบกองทุนประกันสังคม 48,515 ล้านบาท เบี้ยยังชีพผู้พิการ 20,338 ล้านบาทเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี 16,321 ล้านบาท

ถ้าเราจะเทียบกับงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด 3,185,000 ล้านบาท เราจะพบว่า งบประมาณสวัสดิการของข้าราชการ คิดเป็นร้อยละ 15.1 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด ในขณะที่งบสวัสดิการของประชาชนกลับมีส่วนแบ่งเพียง 11.0% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด


ยิ่งหากพิจารณาเป็นแนวโน้มระยะยาว เราจะพบว่า ส่วนแบ่งของงบประมาณสวัสดิการของข้าราชการกลับใหญ่ขึ้นทุกที โดยย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว ในปี 2556 งบสวัสดิการของข้าราชการคิดเป็นร้อยละ 9.8 ของงบประมาณทั้งหมด และขยายมาเป็นร้อยละ 12.0 ในปี 2561 และเพิ่มมาเป็นร้อยละ 15.1 ในปีล่าสุด

เพราะฉะนั้น คำว่า “เค้กก้อนใหญ่” (และใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ) จึงน่าจะหมายถึง “สวัสดิการข้าราชการ” มากกว่า สวัสดิการของประชาชน


แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร?

ยิ่งเมื่อสังคมไทยของเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งแปลว่า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น หลายคนจึงกังวลว่า ภาระงบประมาณสวัสดิการของประชาชนจะมากขึ้นและกลายเป็นภาระของรัฐบาล

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 สภาผู้แทนราษฎรได้รับรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ที่เสนอให้เพิ่มเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ ให้สูงกว่าเส้นความยากจน (ประมาณ 3,000 บาท/เดือน) และยกระดับให้เป็นระบบบำนาญประชาชน

แต่ผลการวิเคราะห์ของ ดร. ทีปกรณ์ จิร์ฐิติกุลชัย และคณะ พบว่า ในปี 2573 (อีก 8 ปีข้างหน้า) งบประมาณด้านบำนาญ (หรือเบี้ยยังชีพ) ของผู้สูงอายุทั้งประเทศ ถ้าได้รับสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ในอัตรา 3,000 บาท/เดือน จะเท่ากับ 616,273 ล้านบาท/ปี ซึ่งก็ยังน้อยกว่างบประมาณบำนาญข้าราชการ (รวมทั้งบำนาญ กบข. และอื่นๆ ของข้าราชการ/ลูกจ้างภาครัฐ) ที่จะต้องใช้งบประมาณ 699,612 ล้านบาท/ปี หรือเกือบ 7 แสนล้านบาท ในปีเดียวกัน

และเมื่อพิจารณาไปจนถึงปี 2578 และ 2583 ข้อสรุปก็ยังเป็นเช่นเดิม ก็คือ ภาระบำนาญข้าราชการ (จำนวนน่าจะประมาณล้านคนนิดๆ) ก็ยังสูงกว่าสวัสดิการของประชาชนทั้งประเทศ (ในปี 2583 น่าจะประมาณ 20 ล้านคน) อยู่ดี โดยงบประมาณบำนาญข้าราชการในปี 2583 จะเท่ากับ 1,188,904 ล้านบาท/ปี ส่วนสวัสดิการบำนาญประชาชน (หรือเบี้ยยังชีพ) จะเท่ากับ 738,362 ล้านบาท/ปี เท่านั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อมองไปในอนาคต (จนกระทั่งถึง ปี 2583) เค้กก้อนใหญ่ก็ยังเป็นของสวัสดิการข้าราชการอยู่เช่นเดิม


ความท้าทายที่แท้จริง

แน่นอนว่า พี่น้องข้าราชการจะอธิบายว่า สวัสดิการข้าราชการ ก็คือ “เงื่อนไข” หรือ “แรงจูงใจ” สำคัญที่ทำให้คนมาเป็นข้าราชการ ซึ่งในสังคมที่สวัสดิการของประชาชนมีจำกัดมากแบบสังคมไทย ก็ไม่น่าแปลกใจที่สวัสดิการที่ดีกว่าประชาชนทั่วไป จะเป็นแรงจูงใจที่ดีสำหรับข้าราชการ (ส่วนหนึ่ง)

และเช่นกัน Think Forward Center ไม่ปฏิเสธว่า “การทำให้เค้กก้อนใหญ่ขึ้น” เป็นเรื่องสำคัญ แต่ขณะเดียวกัน การทำให้ “การแบ่งเค้กที่เป็นธรรม” และ “การทำให้เค้กก้อนใหญ่ขึ้น” ล้วนเป็น “ภารกิจ” ของข้าราชการ (ซึ่งเป็นผู้คนส่วนน้อยที่ครอบครองเค้กสวัสดิการส่วนใหญ่) จำเป็นต้องตอบด้วยเช่นกัน

ดังนั้น Think Forward Center จึงเสนอว่า รัฐบาลควรปรับเพิ่มงบประมาณสวัสดิการของประชาชนให้เท่ากับ (หรือมากกว่า) สวัสดิการของข้าราชการ ภายในระยะ 5 ปี (หรือภายในปีงบประมาณ 2570) โดยควรเริ่มต้นจากที่

  • ระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่ตกหล่น
  • เพิ่มเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ (3,000 บาท/เดือน) และยกระดับให้เป็นระบบบำนาญแห่งชาติโดยเร็วที่สุด
  • เงินอุดหนุนเด็กเล็ก (600 บาท/เดือน) แบบถ้วนหน้า และควรยกระดับให้มีงบสนับสนุนเพิ่มขึ้น (เช่น 1,000-1,200 บาท/เดือน) และขยายการให้สวัสดิการสู่เด็กโตและเยาวชนในอนาคต
  • เพิ่มงบประมาณสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้สามารถให้บริการประชาชนได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น
  • เพิ่มสิทธิประโยชน์ของแรงงาน/คนทำงาน และเงินสมทบในกองทุนประกันสังคม เพื่อให้ครอบคลุมแรงงาน/คนทำงานแบบถ้วนหน้าโดยเร็วที่สุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า