งบพัฒนาแหล่งน้ำ ทำไมต้องกระจายไม่ใช่กระจุก: บทวิเคราะห์เชิงนโยบายในการปลดล็อกแหล่งน้ำสำหรับเกษตรกร

เดชรัต สุขกำเนิด


เป็นที่ทราบกันดีว่า ทรัพยากรน้ำเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะการลดความยากจนของพี่น้องเกษตรกร และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตรของประเทศไทย 

แต่ก็เป็นที่ทราบเช่นเดียวกันว่า พื้นที่ชลประทานของประเทศไทยเรายังมีน้อยมาก จากพื้นที่การเกษตรของไทยทั้งหมดประมาณ 150 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ชลประทานเพียง 34 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 23% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ซึ่งไม่ถึง 1 ใน 4 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ

และหากมองไปในอนาคต โดยพิจารณาจากแผนพัฒนาระบบชลประทานและการพัฒนาพื้นที่น้ำบาดาล ของหน่วยราชการต่างๆ โดยเฉพาะกรมชลประทาน จนถึง ปี พ.ศ. 2580 (หรืออีก 15 ปีข้างหน้า) พบว่า ประเทศไทยเราจะมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีก 21 ล้านไร่ ทำให้พื้นที่ชลประทานทั้งหมดจะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 62 ล้านไร่ (หรือเพียงประมาณ 40% ของพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ)

นั่นแปลว่า แม้ว่าจะรอไปจนถึงอีก 15 ปีข้างหน้า พื้นที่เกษตรน้ำฝนของไทยจะยังเหลืออีก 88 ล้านไร่ หรือเกือบ 60% ของพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ ก็ยังต้องเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานต่อไป


เพราะฉะนั้น ปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล จึงได้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565  ให้เห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับทิศทางการพัฒนาแหล่งน้ำเสียใหม่ โดยเฉพาะสำหรับพื้นที่เกษตรเขตน้ำฝน 88 ล้านไร่ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำในชุมชน/ในไร่นาของตนเองให้ได้


Think Forward Center จึงขอนำแนวคิดดังกล่าวมาขยายผลเป็นบทความนี้ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นและแนวทางการดำเนินการร่วมกันต่อไป


งบประมาณแหล่งน้ำในปีงบประมาณ 2566

ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2566 สามารถแบ่งงบประมาณในการพัฒนาแหล่งน้ำเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นพื้นที่ชลประทาน (ของกรมชลประทาน) และส่วนที่อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน 

ในส่วนของกรมชลประทาน กรมชลประทานได้รับงบประมาณสำหรับการเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ ในปี 2566  จำนวน 28,572.97 ล้านบาท (ไม่รวมการบริหารและการปรับปรุงระบบชลประทานเดิม) สามารถได้ปริมาตรน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้น 136.69 ล้าน ลบ.ม. และได้พื้นที่ชลประทานขึ้น 226,268 ไร่ หรือเท่ากับว่า การลงทุนดังกล่าวมีต้นทุนต่อหน่วยประมาณ 126,279.32 บาท/ไร่ หรือ 209.03 บาท/ลูกบาศก์เมตร

ส่วนพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานนั้น มีหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณ 3 หน่วยงาน ได้แก่

  • กรมพัฒนาที่ดิน ได้รับงบประมาณ 731.13 ล้านบาท ได้รับแหล่งน้ำในไร่นาเพิ่มขึ้น 82,000 ไร่ ต้นทุนต่อหน่วยประมาณ 8,916.2 บาท/ไร่
  • กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รับงบประมาณ 876.89 ล้านบาท ได้รับแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น 31,800 ไร่ น้ำต้นทุน 27.35 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น ต้นทุนต่อหน่วย 27,575 บาท/ไร่ หรือ 32.06 บาท/ลูกบาศก์เมตร
  • กรมทรัพยากรน้ำ ได้รับงบประมาณ 1,007.05 ล้านบาท ได้รับแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น 42,797 ไร่ น้ำต้นทุน 16.4 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นต้นทุนต่อหน่วย 23,530 บาท/ไร่ หรือ 61.41 บาท/ลูกบาศก์เมตร

เพราะฉะนั้น ในภาพรวมแล้ว การพัฒนาพื้นที่การเกษตรเขตน้ำฝนได้รับงบประมาณรวมกัน 2,615 ล้านบาท (หรือเท่ากับ 9.1% ของงบในส่วนกรมชลประทาน) ทำให้พื้นที่เกษตรเขตน้ำฝนจะได้รับงบประมาณ 156,597 ไร่ หรือเท่ากับ 0.14% ของพื้นที่เกษตรน้ำฝนทั่วประเทศ 

เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลจะยังคงลงทุนในอัตรานี้ต่อไป ก็คงต้องใช้เวลาประมาณ 715 ปี เราจึงจะมีพื้นที่แหล่งน้ำครอบคลุมพื้นที่เกษตรน้ำฝนทั่วประเทศ


ทิศทางการพัฒนาแหล่งน้ำในอนาคต

ถ้าสังเกตงบประมาณในปี 2566 จะเห็นว่า ต้นทุนต่อหน่วยในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝนนั้น คิดเป็นต้นทุนประมาณ 10,000-30,000 บาท/ไร่ ซึ่งต่ำกว่าการพัฒนาพื้นที่ชลประทานแบบเต็มรูปแบบของกรมชลประทานมาก 

แน่นอนว่า เราไม่ควรนำต้นทุนต่อหน่วยของทั้งสองส่วนมาเปรียบเทียบกันโดยตรง เพราะพื้นที่ชลประทานเต็มรูปแบบย่อมสามารถกักเก็บและจัดการน้ำต้นทุนได้ดีกว่า แต่ขณะเดียวกัน ต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่าของการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ก็เป็นตัวบ่งชี้อย่างดีว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะลงในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทานได้อีกมากทีเดียว ถ้ารัฐบาลมีแผนการลงทุนที่ดีกว่าและมากกว่านี้


Think Forward Center เสนอให้รัฐบาลหันมาเน้นการลงทุนในระบบชลประทานชุมชน และระบบชลประทานในไร่นา โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน (ซึ่งอยู่นอกแผนงานของกรมชลประทาน) โดยจัดสรรหรือกระจายงบประมาณผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผ่านการปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ และกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างๆ

ทั้งนี้ รูปแบบที่เหมาะสมของระบบชลประทานในชุมชนและในไร่นา ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น (รวมถึงคณะกรรมการลุ่มน้ำ) สามารถพิจารณา และตัดสินใจได้เอง โดยหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะจัดวงเงินงบประมาณสนับสนุนในอัตราประมาณ 25,000 บาท ต่อปริมาณน้ำ 1,000 ลบ.ม. (หรือเทียบเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนรายปีที่ 2.75 บาท/ลบ.ม./ปี) 

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนการลงทุน 25,000 บาท ต่อปริมาณน้ำ 1,000 ลบ.ม. ดังกล่าวอาจจำเป็นต้องมีการปรับเพิ่มเติมสำหรับพื้นที่เกษตร/พื้นที่ป่าชุมชนในพื้นที่สูง ซึ่งอาจจะใช้งบประมาณในการลงทุนที่สูงกว่านี้ ซึ่ง Think Forward Center กำลังศึกษาแบบจำลองการลงทุนในระบบชลประทานที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่สูงอยู่ในขณะนี้


การลงทุนเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำในอนาคต

ในภาพรวม Think Forward Center เสนอให้รัฐบาลตั้งวงเงินงบประมาณเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำนอกพื้นที่ชลประทานทั้งประเทศไว้ 25,000 ล้านบาท/ปี เพื่อให้มีเกษตรกรได้มีระบบชลประทานเพิ่มขึ้นประมาณ 400,000 ราย/ปี สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น 1,000 ล้านลบ.ม. /ปี ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรประมาณ 4 ล้านไร่/ปี 

ทั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถลงทุนในระบบนี้ได้ ก็จะครอบคลุมพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานทั้งหมด (ที่อยู่นอกแผนของกรมชลประทาน) จำนวน 88 ล้านไร่ ภายในเวลา 22 ปี ซึ่งจะเป็นระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับแผนพัฒนาระบบชลประทานและการพัฒนาพื้นที่น้ำบาดาล ของหน่วยราชการต่างๆ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ชลประทานทั้งหมดของประเทศครอบคลุมประมาณ 62 ล้านไร่ในอีก 15 ปีข้างหน้าพอดี 

หากเป็นไปตามนี้ ภายในเวลา 22 ปีนี้ (หรือในปี พ.ศ. 2588) พื้นที่การเกษตรทั้ง 150 ล้านไร่ของไทยจะสามารถมีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรมได้ทั้งหมด แยกเป็น 40% เป็นพื้นที่ชลประทาน อีก 60% เป็นพื้นที่ที่มระบบชลประทานชุมชน และชมชนในไร่นา ซึ่งทั้งหมดก็จะเป็นการปลดล็อกสาเหตุของความยากจนที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งสำหรับเกษตรกรไทยได้เลย


ส่วนอีก 2 สาเหตุของความยากจน คือ ปลดล็อกหนี้สินเกษตรกร และปลดล็อกที่ดินทำกิน สามารถอ่านได้ที่ 

ปลดล็อกหนี้สินเกษตรกร


ปลดล็อกที่ดินทำกิน: กรณีที่ดินทำกินทับป่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า