บันไดขั้นแรกของไทยสู่ระบบรัฐสวัสดิการ ฉบับ ส.ส. ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
เดชรัต สุขกำเนิด


“ไม่มีอะไรที่ทำให้คนเข้าสู่ระบบการเสียภาษีได้ดี
เท่ากับการจัดทำสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ”


ตามที่ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ว่า การออกแบบประเทศไทยใหม่ ต้องเริ่มจากการออกแบบงบประมาณใหม่ ด้วยการกระจายสวัสดิการให้ถ้วนหน้า ไม่ใช่การสงเคราะห์ให้กับประชาชน 


ส.ส. ปกรณ์วุฒิ ย้ำว่า แม้ว่าการเพิ่ม GDP ประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่อีกสิ่งที่สำคัญเหมือนกันคือการลดปัญหาการเหลื่อมล้ำ ซึ่งการทำสวัสดิการให้ดี ความเหลื่อมล้ำจะลดลง และปัญหาสังคมก็จะลดลง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำควบคู่ไปกับการทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น คือการสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชน


อะไรคือปัญหาของเราตอนนี้?

ปัญหาสำคัญที่ ส.ส. ปกรณ์วุฒิ ย้ำก็คือว่า ในขณะที่คนไทยเสียภาษีเฉลี่ยเดือนละ 2,417 บาท/คน แต่เราได้รับสวัสดิการกลับมาเพียง 563 บาท/คน/เดือน หรือเทียบเท่ากับร้อยละ 23.25 ของภาษีที่คนไทยเสียไป ขณะเดียวกัน ที่คนสวีเดน ซึ่งเรามักจะบอกว่า เขาต้องเสียภาษีมาก แต่จริงแล้ว คนสวีเดนได้รับสวัสดิการกลับมาจากรัฐเทียบเท่ากับ 49.24% ของเงินภาษีที่เขาเสียไป เพราะฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ชาวสวีเดนจะสนับสนุนระบบรัฐสวัสดิการและยอมจ่ายภาษีในอัตราที่สูง


ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2566 เราพบว่า สวัสดิการของข้าราชการเพิ่มขึ้นเป็น 479,470 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินของบุคลากรภาครัฐแล้ว ค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรภาครัฐก็กลายเป็น 39.6% ของงบประมาณจากรายจ่ายทั้งหมดแล้ว ในขณะที่ งบประมาณสวัสดิการของประชาชน ในปีงบประมาณ 2566 กลับได้รับงบประมาณเพียง 351,372.3 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งเพียง 11.0% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดเท่านั้น


ข้อเสนอระบบสวัสดิการถ้วนหน้า 

ส.ส. ปกรณ์วุฒิจึงเสนอให้จัดสรรงบประมาณในเรื่องของสวัสดิการถ้วนหน้าแก่คนทุกวัย 

  • เงินอุดหนุนเด็กอายุ 0-6 ปี จำนวน 1,200 บาท/เดือน และเงินอุดหนุนเด็กอายุ 7-22 ปี จำนวน 800 บาท/เดือน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Think Forward Center เคยได้เสนอแนวทางให้ https://think.moveforwardparty.org/article/1861/ )
  • เงินบำนาญสำหรับผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 3,000 บาท/เดือน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Think Forward Center เคยได้เสนอที่ https://think.moveforwardparty.org/paper/silvereconomy/ )
  • และระบบหลักประกันในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียงระยะยาว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Think Forward Center เคยได้เสนอที่ https://think.moveforwardparty.org/article/2302/ )
  • เพิ่มเบี้ยอุดหนุนผู้พิการเป็น 3,000 บาท/เดือน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Think Forward Center เคยได้เสนอที่ https://think.moveforwardparty.org/article/1812/ )
  • ปฏิรูปประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานนอกระบบ 



Think Forward Center ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ ส.ส. ปกรณ์วุฒินำเสนอพบว่า ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าจะลดความยากจนในอนาคตลง จากปัจจุบันที่สัดส่วนความยากจนของครัวเรือนไทยเท่ากับร้อยละ 6.07 ให้เหลือร้อยละ 2.25 ในปี พ.ศ. 2570 และจะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของครัวเรือน หรือความแตกต่างของรายได้ระหว่าง กลุ่มครัวเรือน 10% ที่รวยที่สุด (หรือ D10) กับกลุ่มครัวเรือน 10% ที่จนที่สุด หรือ D1) ลดลงจากที่ D10 กับ D1 เคยมีรายได้แตกต่างกัน 11.42 เท่าในปัจจุบัน ให้เหลือความแตกต่าง 7.84 เท่าในปี พ.ศ. 2570 

นอกจากนี้ การพัฒนาระบบหลักประกันในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียงระยะยาว ยังมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 300,000 ตำแหน่งงานอีกด้วย


การแก้ปัญหาช้างป่วยด้วยการลดระบบราชการ

ขณะเดียวกัน ส.ส. ปกรณ์วุฒิ ก็ย้ำว่า รัฐบาลต้องทำให้งบประมาณบุคลากรข้าราชการที่ใหญ่เทอะทะนี้ ลดลงให้ โดยผ่านการทำแผนเกษียณก่อนกำหนด (หรือ Early Retire) แบบสมัครใจ และต้องมีแผนระยะยาวในการลดจำนวนและงบประมาณข้าราชการ และรัฐบาลต้องกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น ทำให้ข้าราชการไปสังกัดท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อให้ได้ทำงานใกล้ชิดประชาชน และทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหมดนี้ รัฐบาลสามารถเริ่มได้จากคณะกรรมการข้าราชพลเรือน (ก.พ.) ทำตามแผนลดงบประมาณบุคลากรภาครัฐให้ได้ ซึ่งจะช่วยรัฐบาลลดงบประมาณไปได้ถึง 3 แสนล้านบาท


การเพิ่มเติมรายได้ของรัฐ

ในแง่การหารายได้ของภาครัฐ ส.ส. ปกรณ์วุฒิ เสนอว่า รัฐบาลควรปรับโครงสร้างการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ จากเดิมลดหย่อนได้ 60,000 บาท เป็น 120,000 บาท (คำนวณจาก ค่าแรงขั้นต่ำ x 360 วัน) และปรับลดเพดานลดหย่อนภาษีจากกองทุน+ประกัน จากเดิม 600,000 บาท เป็น 240,000 บาท (คำนวณจาก ค่าแรงขั้นต่ำ x 360 วัน x 2) รวมถึง ปรับอัตราการลดหย่อนภาษีทุกฐานรายได้ให้อยู่ที่ 15% เท่านั้น เพื่อลดความได้เปรียบของผู้ที่มีรายได้สูง (ซึ่งปัจจุบันสามารถหักลดหย่อนในอัตราที่สูงกว่านี้) ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้ 20,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องปรับแก้กฎหมายเพื่ออุดช่องโหว่การหลบเลี่ยง และเก็บภาษีที่ดินแบบรวมแปลง ซึ่งเป็นการนำมูลค่าของที่ดินทุกแปลงของเจ้าของแต่ละรายมารวมกัน แล้วจึงเก็บภาษีที่ดินรวมแปลงจากผู้ที่มูลค่าที่ดินรวมแปลงกันมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (เช่น 100 ล้านบาท) คาดว่า จะมีผู้ที่เข้าข่ายเสียภาษีที่ดินแบบรวมแปลงไม่ถึง 1% ของประชาชนทั้งประเทศ แต่จะช่วยให้รัฐจัดเก็บรายได้เพิ่มเติม 100,000 ล้านบาท


สรุป

ภาพสุดท้ายที่ ส.ส. ปกรณ์วุฒิ อยากเห็นคือ ระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ ไปพร้อมกันกับระบบสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดย ส.ส. ปกรณ์วุฒิกล่าวปิดการอภิปรายว่า พรรคก้าวไกลตั้งใจจะยกระดับสวัสดิการของประชาชนที่เทียบกับ GDP ให้เพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 2.4% ของ GDP ให้กลายเป็น 4.8% ของ GDP ภายในเวลา 4 ปี (หรือภายในปี 2570) 

แม้ว่าสัดส่วน 4.8% ดังกล่าวจะยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศรัฐสวัสดิการ แต่ก็ถือเป็นบันไดก้าวแรก ที่จะทำให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนก้าวไปด้วยกันอย่างมั่นคง เพราะคำที่ ส.ส. ปกรณ์วุฒิ กล่าวไว้ว่า “ไม่มีอะไรที่ทำให้คนเข้าสู่ระบบการเสียภาษีได้ดีเท่ากับการจัดทำสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า