ต้องก้าวไกล การเมืองไทยก้าวหน้า เปิดนโยบายเพื่อการเมืองไทยเป็นของทุกคน

Think Forward Center

ปฏิรูปกองทัพ ให้เป็น “ทหารของประชาชน”

ถอยหลังออกมาแล้วมองปัญหาประเทศนี้ในภาพกว้าง เราจะเห็นตรงกันว่า ถ้าไม่มีการรัฐประหาร เศรษฐกิจก็จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ถ้าไม่มีการเกณฑ์ทหาร คนหนุ่มก็จะมีเวลา 2 ปีที่จะไล่ตามความฝัน และศักยภาพของเขาจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ

ถ้าทรัพยากรงบประมาณของประเทศนี้จัดสรรอย่างถูกที่ถูกทาง ไม่กระจุกตัวอยู่ในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จัดสรรโดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เศรษฐกิจปากท้องของพี่น้องประชาชนจะดีมากขึ้นขนาดไหน

แม้ว่าเราจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ถ้าเราใช้นโยบายจัดซื้อแบบชดเชย (offset policy) ที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนในประเทศ ก็จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศในระยะยาว

สำหรับพรรคก้าวไกล การปฏิรูปกองทัพ คือการพัฒนาเศรษฐกิจ การปฏิรูปกองทัพกับการแก้ไขปากท้องที่น้องประชาชนคือเรื่องเดียวกัน



5 นโยบายปฏิรูปกองทัพ ให้เป็น “ทหารของประชาชน”

  1. กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ยุติทหารแทรกแซงการเมือง “นายพลเกษียณ ภายใน 7 ปี ห้ามเป็นรัฐมนตรี”
  2. ยุบ กอ.รมน. ยกเลิกกฎอัยการศึกชายแดนใต้
  3. ลดขนาดกองทัพ ลดนายพล ยกเลิกเกณฑ์ทหาร
  4. เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย ตัดสิทธิพิเศษนายพล
  5. คืนที่ดินกองทัพให้ประชาชน คืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาล




พอกันทีกับ 16 ปี ที่บ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพ ถึงเวลา “คืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชน”

16 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549 กระบวนการทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนรุกคืบแผ่ขยายอย่างเป็นระบบ

การเข้ามาแทรกแซงของอำนาจเถื่อนผ่านการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง นำมาสู่การออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่และกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน นำไปสู่การกดขี่ประชาชนไม่ให้รับรู้ ตั้งคำถาม และแสดงออกใดๆ

ถ้าใครฝ่าฝืนก็จะถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจาก ม.116 (ข้อหายุยงปลุกปั่น) ที่โทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี และ ม.112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ที่โทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี 

แค่ชู 3 นิ้วต่อหน้านายกรัฐมนตรี ก็อาจถูกตำรวจจับ คนที่ออกมาชุมนุมถูกสาดกระสุนยาง สาดแก๊สน้ำตาใส่ ผู้เห็นต่างบางคนถูกมือมืดดักตีหัวทำร้ายร่างกาย โดยหาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้

.กระบวนการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้แผ่ขยายไปยังสถาบันของรัฐ และฝังรากลึกในวิธีคิดของเจ้าหน้าที่รัฐมาอย่างยาวนาน นี่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะตรากฎหมายฉบับหนึ่งแล้วจบเพราะมีการทำซ้ำมาอย่างยาวนาน และไม่ใช่เรื่องที่ทำแล้วเห็นผลในทันที แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะไม่ทำ



นโยบายสิทธิเสรีภาพ “คืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชน”

  1. เห็นต่างไม่ติดคุก แก้กฎหมาย 112 116 พ.ร.บ.คอม
  2. ศาลโปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นของประชาชน
  3. ลงนาม ICC ศาลอาญาระหว่างประเทศ
  4. นิรโทษกรรมคดีการเมือง




สร้างสังคมที่ “คนเท่ากัน”

คำว่า “คนเท่ากัน” ในนิยามของพรรคก้าวไกล เราหมายความถึงการที่ทุกคนเกิดและเติบโตในสังคมที่มีโอกาสอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ ไม่ถูกจำกัดด้วยเพศ ศาสนา หรือความบกพร่องทางร่างกายใดๆ

ในฐานะแม่คนหนึ่ง ทุกครั้งที่ดิฉันมองลงไปในตาของลูก และเห็นลูกค่อยๆ เติบโตมาในประเทศนี้ ดิฉันรู้ดีว่าไม่ว่าจะบ่มเพาะลูกอย่างไร เลี้ยงลูกด้วยความรักความห่วงใยมากเพียงไหน หากสังคมไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง นโยบายและกฎหมายยังไม่มีการปรับปรุง ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ลูกมีชีวิตที่ดี การสร้างลูกและสร้างสังคมที่ดีไปด้วยจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด

ดิฉันวาดหวังว่าทุกคนในสังคม จะใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้อย่างมีความสุข มีอิสระ มีความหวัง มีความฝัน เติบโตในประเทศที่คนเท่ากัน เพื่อลูกๆ เพื่อเด็กอีกหลายคนที่จะเกิดมา ไม่ว่าเขาจะเป็นเพศอะไร ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาไหน ไม่ว่าเขาจะมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์หรือไม่ก็ตาม พวกเขาทุกคนต้องสามารถใช้ชีวิตในประเทศนี้ได้อย่างมีสิทธิเสรีภาพ และมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันทุกคน

‘ทนายแจม’ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์
ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขตสายไหม พรรคก้าวไกล

5 นโยบาย สร้างสังคมที่ “คนเท่ากัน”

  1. รับรองทุกเพศสภาพ คำนำหน้าตามสมัครใจ
  2. ตำรวจหญิงทุกสถานี
  3. สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้
  4. พระเลือกตั้งได้
  5. รัฐจ้างงานคนพิการ 20,000 คน


เปลี่ยนรัฐบาลไม่พอ ต้องเปลี่ยนประเทศ 
🔥ต้องก้าวไกล ให้การเมืองไทยก้าวหน้า 🔥



1. นายพลเกษียณไม่เกิน 7 ปี ห้ามเป็นรัฐมนตรี

การทำให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพอย่างแท้จริง กองทัพต้องหยุดเข้ามาแทรกแซงการเมืองโดยสิ้นเชิง ต้องเป็นทหารมืออาชีพ ที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน และปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ความเห็นชอบจากตัวแทนของประชาชน ซึ่งคือรัฐบาลพลเรือนเท่านั้น โดยการ:

1. แจกใบแดงนายพล ให้ห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นเวลา 7 ปี หลังออกจากราชการ เพื่อให้ไม่มีการแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพ หรือโดยนายพลเกษียณที่ยังคงมีสายสัมพันธ์ในกองทัพ

2. เปลี่ยนจากระบบบังคับบัญชา เป็นระบบเสนาธิการร่วม ที่มีรัฐมนตรีกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชา เพื่อให้การตัดสินใจต่างๆของเหล่าทัพยึดโยงกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นการลดโอกาสการก่อรัฐประหารด้วย

3. ยกเลิกอำนาจพิเศษของกองทัพที่อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือนที่มาจากเสียงของประชาชน อย่างเช่น สภากลาโหม ที่มีอำนาจเหนือรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายทางการทหาร

2. ยุบ กอ.รมน. ยกเลิกกฎอัยการศึกชายแดนใต้

เพื่อให้ได้รัฐบาลพลเรือนที่อยู่เหนือกองทัพอย่างแท้จริง และเพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ของสันติภาพที่เป็นจริงในทุกพื้นที่ เราจำเป็นต้องเอากิจการที่ไม่ใช่การรบหรือการปกป้องดินแดนออกจากมือกองทัพ เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ ที่ไม่ควรถูกผูกขาดโดยกองทัพ พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้

  1. ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพราะแม้จะเป็นหน่วยงานใต้สำนักนายกรัฐมนตรี แต่โครงสร้างภายในทั้งหมด ล้วนมาจากคนในกองทัพ ถูกใช้เป็นมือไม้ของกองทัพในการสั่งการหน่วยงานรัฐอื่นๆ (เช่น มหาดไทย ศึกษาธิการ สาธารณสุข) จนกลายเป็นสร้าง “รัฐซ้อนรัฐ” ขึ้นมายัดเยียดและขยายนิยามความมั่นคงแบบทหาร มาใช้จัดการความมั่นคงภายใน และเปลี่ยนประชาชนที่เห็นต่างให้กลายเป็นศัตรู
  2. ยุติการใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายสถานการณ์รุนแรงได้จริง เนื่องจากการใช้กฎอัยการศึกมายาวนานกว่า 18 ปี ที่ทำให้พื้นที่ 3 จังหวัดตกอยู่ใน “สภาวะยกเว้น” ทำให้ทหารมีอำนาจเต็ม ทำอะไรก็ได้ เป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อย่างร้ายกาจ (เช่น การประกาศเคอร์ฟิว-ห้ามประชาชนออกนอกบ้าน ทหารบุกตรวจค้นบ้านเรือนโดยไม่ต้องมีหมายศาล) – นอกจากนั้น ยังจำเป็นต้องปรับปรุงกฎอัยการศึกทั้งเนื้อหาและขอบเขตการใช้งาน ให้เป็นไปโดยจำกัดเฉพาะยามศึกสงคราม และไม่ให้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ทั้งหมดนี้จะเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับกระบวนการสันติภาพที่นำโดยพลเรือน และเป็นการเปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการสร้างสันติภาพที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมและแสวงหาฉันทามติร่วมกันได้

3. ลดขนาดกองทัพ ลดนายพล ยกเลิกเกณฑ์ทหาร

ที่ผ่านมา กองทัพไม่เคยชี้แจงถึงเหตุผล-ความจำเป็นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ว่าเพราะอะไรถึงต้องมีอัตรากำลังพลที่มากมาย

พรรคก้าวไกล จะลดขนาดของกองทัพลง โดยการลดกำลังพลในภาพรวมลง 30-40% ซึ่งหมายถึงการลดจำนวนนายพลเหลือ 400 นาย และ ลดจำนวนทหารกองประจำการ เพื่อให้ตอบโจทย์ทางการทหารยุคใหม่ ที่ไม่ได้เน้นการใช้ทหารราบเข้ารบกันอีกต่อไป แต่เป็นการต่อสู้ระยะไกล ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่กำลังคน

พร้อมกันนี้ จะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด โดยสร้างแรงจูงใจผ่านสวัสดิการและความก้าวหน้าทางอาชีพที่ดี

ทั้งหมดเพื่อให้ได้กองทัพที่ทันสมัย เป็นมืออาชีพ และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าภาษีพี่น้องประชาชน 

4. เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย ตัดสิทธิพิเศษนายพล

พรรคก้าวไกลจะเพิ่มความคุ้มครองแก่ทหารชั้นผู้น้อยใน 3 ด้านคือ สิทธิมนุษยชน สวัสดิการ และความก้าวหน้าทางอาชีพ เพื่อให้ทหารชั้นผู้น้อยของกองทัพไทย ปลอดภัย มั่นคง มีอนาคต

1. ปลอดภัย จากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีกลไกการร้องทุกข์และร้องเรียนผู้บังคับบัญชาที่มีกระบวนการที่เป็นธรรมและปลอดภัยต่อตัวผู้ร้อง รวมถึงมีการแก้ พ.ร.บ.วินัยทหาร ที่ให้อำนาจล้นเกินแก่ผู้บังคับบัญชาในการธำรงวินัย

2. มั่นคง โดยมีรายได้ที่เหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพ โอนตรง-โอนครบ-ไม่มีหัก-ไม่มีทอน มีประกันชีวิต เมื่อพิการหรือเสียชีวิตต้องมีทุนให้กับครอบครัวในการประกอบอาชีพ และมีทุนการศึกษาแก่ทายาทจนกว่าจะมีเงินได้กลับมาเลี้ยงครอบครัว

3. มีอนาคต โดยการทลายระบบเส้นสาย การเลื่อนขั้น-โยกย้ายต้องเป็น merit system เน้นที่ผลงานมากกว่าอายุงาน ในกรณีพลทหารหรือชั้นประทวน ต้องเพิ่มโอกาสไต่เต้าสู่นายทหารชั้นสัญญาบัตรได้

ในส่วนของนายพล เราต้องตัดงบประมาณที่ใช้ไปกับสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ได้มาจากการเอาตำแหน่งนายพลไปเทียบเท่าอธิบดี จนเป็นสะพานไปสู่การมีสิทธิเรื่องรถประจำตำแหน่ง และเข้ารับตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ เหนือข้าราชการพลเรือน

5. คืนที่ดินกองทัพให้ประชาชน คืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาล

ในส่วนของที่ดิน จากที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศ 12.5 ล้านไร่ กลาโหมถือครองที่ดินมากถึง 6.25 ล้านไร่ หรือครึ่งหนึ่งของที่ราชพัสดุทั้งหมด ซึ่งเต็มไปด้วยคำถามว่าถูกใช้ไปอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจะโอนการถือครองที่ดินเหล่านี้ โดยเฉพาะค่ายทหารที่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่น้อยลงจากการลดขนาดกองทัพ กลับมาเป็นของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อให้การจัดสรรที่ดินเป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ดินค่ายทหารขนาดใหญ่ที่มักอยู่ใจกลางเมือง

ในส่วนธุรกิจกองทัพ ที่เกิดจากการใช้ประโยชน์บนที่ดินราชพัสดุที่กองทัพถือครองอยู่ (ไม่ว่าจะเป็นสนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ ฯลฯ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากคลื่นวิทยุ ซึ่งก็เป็นสาธารณสมบัติเช่นกัน) พรรคก้าวไกลจะโอนถ่ายธุรกิจกองทัพทั้งหมดมาให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแลแทน ในขณะที่สวัสดิการกำลังพล ที่กองทัพอ้างเสมอว่านำมาจากการใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุ ก็ให้ไปขอผ่านสำนักงบประมาณ ผ่านสภาผู้แทนราษฎร เหมือนกระทรวงอื่นๆ

6. เห็นต่างไม่ติดคุก แก้กฎหมาย 112 116 พ.ร.บ.คอม

พรรคก้าวไกลพร้อมผลักดัน “ชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพฯ” เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบัน อาทิ

1. การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยลดโทษเหลือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับในกรณีพระมหากษัตริย์ และจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทในกรณีอื่น และย้ายออกจากหมวดความมั่นคงให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ โดยมีสำนักพระราชวังเป็นผู้แจ้งความเท่านั้น รวมถึงการมีบทบัญญัติคุ้มครองไม่ให้ใช้กฎหมายดังกล่าวแก่กรณีวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต

2. การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 116 ไม่ให้เอาผิดกับผู้ใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือติชมโดยสุจริต

3. การแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ตามเจตนารมณ์ควรเป็นกฎหมายป้องกันการแฮ็กข้อมูล การปลอมแปลงหรือหลอกหลวงในระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในความเป็นจริงกลับเขียนขึ้นเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองจากการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ เช่น เปิดโอกาสให้อัยการและศาล พิจารณาเพื่อยกฟ้องและสั่งจ่ายชดเชย ป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเล่นงานคนตัวเล็กตัวน้อยที่มาขัดผลประโยชน์ตัวเองได้

7. ศาลโปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นของประชาชน

พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการปฏิรูปศาล เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ แต่ต้องไม่ตัดขาดจากประชาชน โดยจะยึดโยงกับประชาชนผ่านกลไกดังต่อไปนี้

  1. การรับรองผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร (โดยอาจกำหนดเกณฑ์ให้สูงกว่าแค่เกินกึ่งหนึ่ง เพื่อให้ไม่ถูกควบคุมได้โดยรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาฯ)
  2. “คณะผู้ตรวจการศาล” ที่ยึดโยงกับรัฐสภา สำหรับการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่และงบประมาณของศาล
  3. การมีกลไกให้ประชาชนทบทวนการทำงานของศาล และริเริ่มกระบวนการร้องเรียนถอดถอนผู้พิพากษาและตุลาการได้ในบางกรณี
  4. การกำหนดให้ผู้พิพากษาและตุลาการ ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเพื่อให้เกิดความโปร่งใส


8. ลงนาม ICC ศาลอาญาระหว่างประเทศ

พรรคก้าวไกลเสนอให้ประเทศไทยเข้าให้สัตยาบันใน “ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่มักเกิดขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการรัฐประหาร ที่ผู้มีอำนาจกระทำต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่กลับลอยนวลพ้นผิด โดยหากกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนจะมีสิทธิร้องขอความเป็นธรรมต่อสังคมโลก เพื่อใช้การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เป็นกลไกเสริมในการเอาผิดรัฐที่กระทำอาชญากรรมต่อประชาชน

นอกจากนี้พรรคก้าวไกลเสนอให้ประเทศไทยทำคำประกาศฝ่ายเดียวแสดงเจตจำนงเพื่อยอมรับเขตอำนาจของ ICC ในการพิจารณาคดีก่อนวันให้สัตยาบัน ตามช่องทางของธรรมนูญกรุงโรม มาตรา 12 (3) เพื่อให้พิจารณากรณีที่สังคมมองว่าอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในอดีต

9. นิรโทษกรรมคดีการเมือง

เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายวิกฤติทางการเมืองไทยที่เรื้อรังมายาวนาน และ คืนความยุติธรรมให้ประชาชน ที่ถูกปราบปรามอย่างกว้างขวางจากการการบิดเบือนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่การยึดอำนาจโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557 พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนทุกคน ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วยการบิดเบือนกฎหมายของผู้มีอำนาจ นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผบ.ทบ. ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร โดยไม่มีผลรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้อำนาจภายใต้บังคับบัญชาของคณะผู้ก่อการ โดยเกณฑ์การพิจารณาผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ต้องกระทำโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับนิรโทษกรรม มีสิทธิที่จะเลือกไม่รับการนิรโทษกรรมได้

นอกจากนั้นแล้ว ในเมื่อความอยุติธรรมได้ปรากฏในสังคมของเราก่อนหน้านั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้คณะกรรมการพิจารณาขยายการคืนความยุติธรรมไปก่อนหน้าปี 57 และกำหนดเกณฑ์สำหรับการกลั่นกรองคดีดังกล่าวด้วย เพื่อเดินหน้าประเทศโดยไม่ละเลยการคืนความยุติธรรมในอดีต

10. รับรองทุกเพศสภาพ คำนำหน้าตามสมัครใจ

นอกจากการผลักดันกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” (ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา) พรรคก้าวไกล ต้องการเดินหน้าต่อในการสร้างสังคมที่คนเท่ากัน รองรับความหลากหลาย ยืนยันหลักการสิทธิมนุษยชนในการนิยามอัตลักษณ์ตัวตนทางเพศของคนทุกคน ด้วยการ

  1. ปรับโครงสร้างรัฐและกฎหมายให้รับรองทุกเพศสภาพ เพื่อเป็นรากฐานในการออกแบบนโยบายในทุกมิติ
  2. คุ้มครองสิทธิของประชาชนในเลือกระบุสถานะทางเพศ (Gender Status) เลือกใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจ และใช้คำนำหน้านามที่ตรงกับเพศสภาพหรือการแสดงออกทางเพศของแต่ละคน (ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนที่นิยามตนเองนอกเหนือจากระบบสองเพศ หรือ Non-Binary ด้วย)
  3. ออกกฎหมายที่ขจัดการเลือกปฏิบัติในสังคม เพื่อให้ทุกๆ เพศมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน


11. ตำรวจหญิงทุกสถานี

สถิติจากกระทรวงยุติธรรม พบว่าไม่ต่ำกว่า 75% ของผู้หญิงไทยที่เคยถูกคุกคามทางเพศ เลือกที่จะไม่แจ้งความ โดยส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ให้คือเพราะความ “ไม่สบายใจ” เนื่องจากผู้เสียหายมีความสะดวกใจกับพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิงมากกว่า แต่สถานีตำรวจจำนวนมากกลับไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงผู้หญิง ที่จะเป็นผู้ดำเนินคดีได้

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพนักงานสอบสวนทั้งหมด 11,607 คน แบ่งเป็นพนักงานสอบสวนหญิง 763 คน หรือ 7% เมื่อเทียบกับจำนวนสถานีตำรวจทั่วประเทศ 1,482 แห่ง เห็นได้ชัดเจนว่าจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงไม่เพียงพอกับสถานีตำรวจทุกแห่งด้วยซ้ำ

พรรคก้าวไกล เสนอนโยบายให้เพิ่มจำนวนตำรวจหญิง และมีตำรวจหญิงประจำทุกสถานีตำรวจ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยและตำรวจได้อำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม ซึ่งต้องมาควบคู่กับการจัดการอบรมให้ตำรวจทุกคน (ไม่ว่าเพศใด) ที่รับผิดชอบคดีคุกคามทางเพศ ให้ดำเนินการด้วยวิธีการและบรรยากาศที่สนับสนุนให้เหยื่อรู้สึกปลอดภัยในการให้ข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม

12. สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้

“สถาบันครอบครัว” เป็นปราการด่านแรกของการแก้ปัญหาสังคมแทบทุกเรื่องในปัจจุบัน ตั้งแต่ปัญหายาเสพติด ปัญหาเรื่องสุขภาพจิต และปัญหาความรุนแรงต่างๆ

แต่รัฐกลับละเลยความสำคัญในการสร้างครอบครัวของประชาชน และผลักภาระทุกอย่างกลับมาที่ประชาชน

การยกระดับสิทธิลาคลอดและลาเลี้ยงบุตร ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และแบ่งกันได้ระหว่างพ่อ-แม่ จึงเป็นสิ่งที่นานาอารยประเทศต่างเห็นถึงความสำคัญ เพราะนับเป็นการสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเป็นการทำให้หน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงบุตร ไม่ได้เป็นหน้าที่ของแม่เท่านั้น แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งพ่อและแม่

พรรคก้าวไกลจึงพร้อมผลักดันนโยบาย “สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้” โดยนอกจากจะเป็นการขยายสิทธิเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ที่ 98 วันแล้ว ใน 180 วันนี้ พ่อแม่ยังสามารถแบ่งกันได้ตามความสะดวกหรือใช้ร่วมกันได้ เช่น แม่ลา 5 เดือน พ่อสามารถใช้อีก 1 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่และร่วมกันดูแลลูกในช่วง 1 เดือนแรก

13. พระเลือกตั้งได้

พรรคก้าวไกลเรายืนยัน ว่าพระสงฆ์คือประชาชนคนหนึ่ง ที่ควรมีสิทธิทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับประชาชนทุกคน

ปัจจุบัน กระทรวงกลาโหม กำหนดให้พระสงฆ์ซึ่งเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา มีหน้าที่ต้องไปเกณฑ์ทหารในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง แต่กระทรวงมหาดไทย กลับปฏิเสธสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของพระสงฆ์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

เช่นเดียวกัน ประเทศไทยให้สิทธิเลือกตั้งกับนักบวชทุกศาสนา แต่ไม่ได้ให้กับพระสงฆ์หรือนักบวชศาสนาพุทธ

พรรคก้าวไกล จึงต้องการคืนสิทธิเลือกตั้งให้กับพระและนักบวชในศาสนาพุทธ เพื่อยืนยันสิทธิของพระสงฆ์ในฐานะประชาชน และเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันของทุกศาสนา โดยรับประกันให้พระหรือนักบวชคนใดที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็สามารถเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิได้ โดยไม่มีผลกระทบใดๆ ตามมา

14. รัฐต้องจ้างงานคนพิการ 20,000 คน

พรรคก้าวไกลเราเข้าใจถึงความท้าทายของกลุ่มคนพิการที่ใช้ชีวิตในประเทศนี้ แต่เราเข้าใจว่าสิ่งที่คนพิการต้องการนั้น ไม่ใช่ความเห็นใจหรือความสงสาร แต่พวกเขาต้องการการสนับสนุนของรัฐ ให้เขาได้ใช้ชีวิตเช่นคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว และเพื่อทำตามความฝัน

ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น คือรัฐออกนโยบายส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในภาคเอกชน แต่รัฐกลับไม่สามารถทำให้เห็นเป็นแบบอย่างได้ เพราะในขณะที่ภาคเอกชนสามารถจ้างงานคนพิการได้ 56% ของเป้าหมายที่รัฐวางไว้ แต่หากนำเกณฑ์เดียวกันมาใช้กำหนดเป้าหมายการจ้างงานคนพิการโดยหน่วยงานรัฐ รัฐกลับทำได้เพียง 13% ของเป้าหมาย

ก้าวไกลพร้อมผลักดันนโยบายที่จะกำหนดให้ “รัฐต้องจ้างงานคนพิการ 20,000 ตำแหน่ง” ซึ่งเทียบเท่ากับการนำเกณฑ์ที่รัฐกำหนดให้เอกชน มาบังคับใช้กับตนเอง เพื่อปลดล็อกให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับทุกคน และเพื่อให้รัฐเข้าใจคนพิการได้ดีมากขึ้นในทุกครั้งที่จะดำเนินนโยบายหรือกำหนดวิธีปฏิบัติต่างๆ

15. รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นต้นตอของปัญหา เพราะมีที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือการแก้ปัญหาที่ต้นตอและเป็นจุดเริ่มต้นของทางออก โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องเป็น “ประชาธิปไตยเต็มใบ” และต้อง “ขีดเขียนโดยประชาชน”

1. “ประชาธิปไตยเต็มใบ” คือทำได้อย่างน้อย 3 อย่าง หรือ 3 ป.

– 1.1. ปิดช่องรัฐประหาร เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกได้ง่าย (เช่น เพิ่มสิทธิต่อต้านรัฐประหาร ห้ามศาลรับรองรัฐประหาร เพิ่มกลไกให้ดำเนินคดีกับผู้ก่อรัฐประหาร)

– 1.2. ปกป้องเสียงของประชาชน โดยการรื้อกลไกที่ถูกใช้ในการสืบทอดอำนาจ (เช่น วุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ และ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ล้วนยึดโยงกับ คสช.)

– 1.3. ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อให้อำนาจในการกำหนดอนาคตของทุกพื้นที่ทุกจังหวัด อยู่ในมือของประชาชนผู้เกิด-ผู้อาศัย-ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่ ไม่ใช่ส่วนกลาง

2. “ขีดเขียนโดยประชาชน” คือรัฐธรรมนูญต้องร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากเลือกตั้ง 100% และมีอำนาจพิจารณาแก้ไขทั้งฉบับ ทุกหมวดทุกมาตรา เพื่อโอบรับความฝันของทุกคนในประเทศอย่างแท้จริง

16. เลือกตั้งได้ตามที่อยู่จริง

การเลือกตั้งท้องถิ่น มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และ สำคัญต่อการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งของประชาธิปไตย

แต่ปัจจุบัน ประชาชนจำนวนมากถูกจำกัดสิทธิ เพราะกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เปิดให้มีการเลือกล่วงหน้า-นอกเขต-นอกราชอาณาจักร

พรรคก้าวไกลจะคุ้มครองสิทธินี้ให้ประชาชน ผ่านการ

  1. ทำให้ประชาชนสามารถเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ทั้งล่วงหน้า-นอกเขต-นอกราชอาณาจักร เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป
  2. จัดให้มีระบบที่เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเสียงตามพื้นที่ที่ตนเองอาศัยหรือทำงานอยู่จริงได้ แทนพื้นที่ที่ถูกระบุในที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า