ในการประชุมคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 การนำเสนอโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 หรือที่รู้จักกันในนาม “โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนพี่น้องชาวนาเข้าร่วมชี้แจงและรับฟัง
ที่ผ่านมา โครงการนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และคำถามจากเกษตรกรในหลายประเด็น คณะกรรมาธิการจึงได้ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและความเหมาะสมของโครงการนี้อย่างละเอียด
แม้ว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิตและช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิต อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการฯ ยังมีข้อกังขาว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้จริงหรือไม่
“โครงการนี้ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นโครงการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรหรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกันแน่”
“ถ้าหากเป็นความต้องการในการเพิ่มประสิทธิภาพ ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่เกษตรกรไม่ได้ต้องการ” สส ณรงเดช อุฬางกุร รองประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์กล่าว ในขณะที่กรมการข้าว ให้คำตอบว่า “โครงการนี้เป็นการลดต้นทุนปุ๋ย” ซึ่งหมายความว่าการลดค่าปุ๋ยเป็นการลดค่าใช้จ่าย ไม่ใช่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
แต่หากโครงการนี้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ก็นับว่าเป็นวิธีช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบที่แปลกใหม่ โดยปกติโครงการอื่นๆ จะเป็นการสนับสนุนเกษตรกรไปซื้อปัจจัยการผลิตที่เฟมาะแต่สม แต่ในโครงการนี้ เกษตรกรจะต้องมีเงินในบัญชีธกส ก่อน และจ่ายเงินไปก่อน ถึงจะได้รับการลดค่าปุ๋ย ซึ่งในความเห็นของคณะกรรมการมีความเป็นห่วงเพราะว่าเกษตรกรเป็นกลุ่มคนที่มีเงินติดบัญชีน้อย จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
ยิ่งไปกว่านั้น การล็อกสูตรปุ๋ยไว้ 14 สูตร ในแอพสำหรับการซื้อปุ๋ยในโครงการนี้ และมิได้ให้เกษตรกรเลือกยีห้อปุ๋ยด้วยตนเอง ก็ทำให้เกิดคำถามว่า
“แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นปุ๋ยที่ชาวนาต้องการและให้ความเชื่อมั่น”
คณะกรรมาธิการฯ ยังได้ตั้งคำถามเพิ่มเติมว่า การเลือกปุ๋ยที่จะเข้าร่วมโครงการมีเกณฑ์การคัดเลือกอย่างไร และมีการรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรผู้ใช้งานจริงหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการและปัญหาของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง
“คำถามคือ กรมการข้าวไม่มีวิธีอื่นแล้วหรือ?”
คณะกรรมการมีความเห็นว่าการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยโครงการนี้ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ทำไมกรมการข้าวไม่มีการสนับสนุนการวิจัยการพัฒนาพันธุ์ข้าว แม้จะมีการวิจัยในเรื่องพันธุ์ข้าว แต่ก็เป็นพันธุ์ข้าวแบบเดิม กรมการข้าวควรมีวิธีหรือโครงการที่มีประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรมากกว่านี้
ในการประชุมครั้งต่อไป สิ่งที่คณะกรรมาธิการต้องการคำตอบจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ บทบาทและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่ดำเนินโครงการนี้คืออะไรกันแน่ โดยเฉพาะบทบาทของกรมการข้าว ทั้งที่โครงการในลักษณะนี้เป็นโครงการของ ธ.ก.ส. และกรมการข้าวควรให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนมากกว่า
นอกจากนี้ ส.ส. ณรงเดช อุฬางกุร ยังตั้งคำถามถึงกรมการข้าวคือ กรมการข้าวใช้กฎหมายหรืออำนาจใดในการนำมาพิจารณาเอกชนที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ รวมถึงอยากถามว่า กรมการข้าวอาศัยอำนาจหน้าที่ใดในการควบคุมราคาปุ๋ยที่จะเข้าร่วมโครงการเนื่องจากปุ๋ยเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์
สรุป
การประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความกังวลและข้อกังขาอย่างชัดเจนเกี่ยวกับโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 คณะกรรมาธิการได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความเหมาะสมของโครงการนี้ โดยเห็นว่าการลดต้นทุนปุ๋ยไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกร อีกทั้งยังวิจารณ์ว่าการดำเนินการโครงการนี้อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดและไม่ยั่งยืน
การประชุมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินโครงการโดยไม่คำนึงถึงความต้องการและความเหมาะสมของเกษตรกรอาจเป็นการเสียโอกาสและการช่วยเหลืออื่นที่มีประโยชน์มากกว่า คณะกรรมาธิการเรียกร้องให้กรมการข้าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบและประเมินผลโครงการอย่างละเอียดและต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการนี้จะไม่เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราว แต่เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยเหลือเกษตรกรได้ในระยะยาว