ระวัง !!! ปีนี้ราคาข้าวตกต่ำ เมื่อข้าวไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

โดย เดชรัต สุขกำเนิด


In Focus

  • ราคาข้าวสารส่งออกของไทยลดลงอย่างรวดเร็วมาก โดยราคาส่งออกข้าวหอมมะลิลดลงร้อยละ 6 ราคาส่งออกข้าวขาวลดลงร้อยละ 8 และราคาข้าวนึ่งลดลงร้อยละ 7.5 ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ของเดือนมิถุนายน 2564
  • ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ลดลงอย่างมาก โดยส่งออกได้เพียง 1.8 ล้านต้น จากที่เคยส่งออกได้ 4.5 ล้านตัน ของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2560 และ 2.6 ล้านตันของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 (-60% จากปี 2560 และ -30% จากปี 2563)
  • ในกรณีของข้าวสารเจ้าขาว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักของไทย ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 เราส่งออกข้าวสารเจ้าขาวได้เพียง 0.6 ล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับหนึ่งในสี่ของปริมาณที่เราเคยส่งออกได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 เท่านั้น
  • สถานการณ์ในตลาดข้าวโลกดังกล่าวได้เริ่มกดดันให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาข้าวเปลือกเจ้าในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน 2564 ลดลงไป 3.4% จากเดือนก่อน และลดลงไป 9.3% จากเดือนมีนาคม 2564 ส่วนราคาข้าวเปลือกหอมมะลิลดลงไป 6.1% จากเดือนก่อน และลดลงไป 9.2% จากเดือนมีนาคม 2564 หรือลดลงไป 1,087 บาท/ตันแล้วในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือน
  • นอกจากนี้ ยังมีข้าวที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อการชะลอการขายข้าวกับ ธ.ก.ส. (หรือ โครงการจำนำยุ้งฉาง) ที่รอการระบายสู่ตลาดอีกประมาณ 1.1 ล้านตัน หากมีการระบายในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็จะกดราคาข้าวเปลือกให้ต่ำลง แต่ถ้าไม่ระบายข้าวออกมาก็จะทำให้ยุ้งฉางที่จะใช้ชะลอการขายข้าวในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว (ในอีก 4 เดือนข้างหน้า) ก็จะมีจำนวนจำกัด และอาจมีผลให้ราคาข้าวในฤดูกาลใหม่ตกต่ำได้
  • หากในระยะ 4 เดือนนี้ รัฐบาลไม่สามารถเตรียมการแก้ไขปัญหานี้ และราคาข้าวช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวตกต่ำลงเหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2559 กดดันให้กำลังซื้อของเกษตรกร และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ได้รับผลกระทบ และส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หลังสถานการณ์โควิด-19 ได้
  • ในระยะสั้น รัฐบาลควร (ก) ประสานกับผู้ส่งออกในการเร่งหาทางส่งออกข้าวในตลาดต่าง ๆ รวมถึงการเจรจาเพื่อใช้ข้าวเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนกับสินค้านำเข้า (ข) กำหนดมาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในการชะลอการขายข้าวในช่วงต้นฤดู และ (ค) การกระตุ้นตลาดภายในประเทศในช่วงที่ข้าวใหม่ออกสู่ตลาด รวมถึงการเตรียมแนวทางในการแปรรูปข้าวจำนวนมาก
  • ในระยะยาว ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต จากข้าวที่มีผลผลิตปริมาณมากแต่คุณภาพและราคาด้อยกว่า มาสู่การผลิตข้าวที่มีคุณภาพดีและตลาดมีความต้องการ แต่รัฐบาลต้องมีมาตรการส่งเสริมการตลาด และดูแลราคาข้าวเหล่านี้ จนสามารถสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรได้





ท่ามกลางความยากลำบากของสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยยังมีความโชคดีอยู่บ้าง ที่ยังไม่เจอกับสถานการณ์ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำมาซ้ำเติม โดยเฉพาะราคาข้าว ซึ่งเป็นสินค้าหลักของประเทศ


ราคาข้าวส่งออกลดฮวบ

แต่ความโชคดีดังกล่าวอาจกำลังจะหมดลงไป เมื่อสัญญาณราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นมา และลดอย่างรวดเร็วมากในเดือนมิถุนายน 2564 โดยราคาส่งออกข้าวหอมมะลิชนิดพิเศษลดลงถึงร้อยละ 6 จากราคา 816 เหรียญสหรัฐ/ตัน ในวันที่ 2 มิถุนายน เหลือ 767 เหรียญสหรัฐ/ตัน ในวันที่ 23 มิถุนายน 2564 เช่นเดียวกับราคาส่งออกข้าวสารเจ้าก็ลดลงไปประมาณร้อยละ 8 และราคาส่งออกข้าวนึ่งก็ลดลงไปร้อยละ 7.5 ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ (2-23 มิถุนายน 2564) เช่นกัน


ปริมาณส่งออกลดลงด้วย

ปัญหาหนึ่งที่ข้าวไทยประสบมาตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาคือ ปริมาณการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-พฤษภาคม 2564) นี้ ปริมาณการส่งออกข้าวยิ่งต่ำลงไปเป็นอย่างมาก โดยปริมาณการส่งออกข้าวโดยรวมของไทยในช่วง 5 เดือนแรกในปี 2564 ส่งออกได้เพียง 1.78 ล้านตัน ลดลงถึงร้อยละ 31 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

และหากเทียบกับปี 2561 ที่มีการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกถึง 4.5 ล้านตัน ปริมาณการส่งออกใน 5 เดือนแรกของปี 2564 นี้ก็ลดลงถึงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564


ทั้งนี้ การส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มลดลงในทุกผลิตภัณฑ์สำคัญ ทั้งข้าวสารเจ้า ข้าวหอมมะลิ และข้าวนึ่ง โดยตลาดข้าวส่งออกที่ส่งออกได้ลดลงเป็นอย่างมากคือ ข้าวสารเจ้าขาว ลดลงจาก 2.31 ล้านตันใน 5 เดือนแรกของปี 2561 เหลือ 0.95 ล้านตัน ใน 5 เดือนแรกของปี 2563 และ 0.59 ล้านตัน ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 นี้

หรือกล่าวได้ว่า ในปี 2564 ไทยส่งออกข้าวสารขาวได้เพียง 1 ใน 4 ของที่เคยส่งได้ในปี 2560 เท่านั้น


สาเหตุที่การส่งออกลดลง

ในเบื้องต้น เหตุผลที่การส่งออกข้าวตกต่ำลงอย่างมากน่าจะมาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ

  1. อุปสงค์ข้าวในตลาดโลกชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปี 2563 ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งสินค้า
  2. สต็อกข้าวรวมโลกเพิ่มสูงขึ้นจาก 150 ล้านตันในปี 2560 ขึ้นมาเป็น 180 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่ประเทศผู้ผลิตหลักบางประเทศอาจระบายข้าวในสต็อกออกมาอีก และ
  3. ราคาข้าวของไทยแพงกว่าคู่แข่งขัน เช่น เวียดนาม และอินเดีย


สถานการณ์ในตลาดข้าวโลกดังกล่าวได้เริ่มกดดันให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ ทั้งราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ และราคาข้าวเปลือกเจ้า เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 โดยราคาข้าวเปลือกเจ้าในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน 2564 ลดลงไป 3.4% จากเดือนก่อน และลดลงไป 9.3% จากเดือนมีนาคม 2564 (หรือลดลงไป 865 บาท/ตัน) เช่นเดียวกับราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน ก็ลดลงไป 6.1% จากเดือนก่อน และลดลงไป 9.2% จากเดือนมีนาคม 2564 หรือลดลงไป 1,087 บาท/ตันแล้วในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือน


เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลหรือผู้ประกอบการส่งออกข้าวยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขในการส่งออกหรือระบายข้าวในรูปแบบอื่น ๆ แรงกดดันจากผลผลิตข้าวที่กำลังจะออกมาในฤดูกาลใหม่นี้ อาจส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำลงมาก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปลายปี 2559

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ยังมีข้าวที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อการชะลอการขายข้าวกับ ธ.ก.ส. (หรือ โครงการจำนำยุ้งฉาง) อีกประมาณ 1.1 ล้านตัน (จากข้าวที่ร่วมโครงการทั้งหมด 1.8 ล้านตันในฤดูกาลเพาะปลูกก่อน) ซึ่งหากมีการระบายข้าวส่วนนี้ออกมาสู่ตลาดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หรือใกล้ฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่กำลังจะมาถึง ก็อาจทำให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ลดต่ำลงอีก

ในทางกลับกัน หากเกษตรกรไม่ระบายข้าวส่วนนี้ออกมา จะมีผลให้ปริมาณยุ้งฉาง ที่รับจำนำข้าวในรอบการผลิตใหม่ที่จะถึง ลดต่ำลงไปด้วย (เพราะยังมีข้าวจากรอบก่อนเหลืออยู่ในยุ้งฉาง) และกลไกการชะลอการขายข้าวในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวก็จะทำได้จำกัด ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกของฤดูกาลที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในอีก 4 เดือนข้าวหน้า ตกต่ำลงได้


ระเบิดเวลาที่รออยู่

หากในระยะ 4 เดือนนี้ รัฐบาลไม่สามารถเตรียมการแก้ไขปัญหานี้ และหากราคาข้าวช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวตกต่ำลงเหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2559 ก็จะกดดันกำลังซื้อของเกษตรกร และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้รับผลกระทบ และส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หลังสถานการณ์โควิด-19 ได้

ในระยะสั้น ก่อนที่เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ในอีก 4 เดือนข้างหน้า รัฐบาลควรดำเนินการ 3 ข้อ

  1. ประสานกับผู้ส่งออกเร่งหาทางส่งออกข้าวในตลาดต่าง ๆ รวมถึงการเจรจาเพื่อใช้ข้าวเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนกับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างรัฐบาล
  2. กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในการชะลอการขายข้าวในช่วงต้นฤดู ที่จะดูดซับข้าวในช่วงต้นฤดูอย่างน้อย ประมาณ 3-5 ล้านตัน และ
  3. การกระตุ้นตลาดภายในประเทศในช่วงที่ข้าวใหม่ออกสู่ตลาด (พฤศจิกายน 2564 – มกราคม 2565) รวมถึงการเตรียมแนวทางในการแปรรูปข้าวจำนวนมาก เพื่อเก็บไว้ขาย/ใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น ๆ ในช่วงเวลาต่อไป


ในระยะยาว ด้วยโครงสร้างการแข่งขันในตลาดข้าวโลกที่เปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต จากข้าวที่มีผลผลิตปริมาณมากแต่คุณภาพและราคาด้อยกว่า มาสู่การผลิตข้าวที่มีคุณภาพดีและตลาดมีความต้องการ เช่น ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ข้าวอินทรีย์ และข้าวสายพันธุ์เฉพาะท้องถิ่น แต่รัฐบาลต้องช่วยส่งเสริมการตลาด และดูแลราคาข้าวเหล่านี้ ให้จูงใจ และสามารถสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรได้ มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า