แนวทางการสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

เดชรัต สุขกำเนิด


แม้ว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศวัฒนธรรมการเกษตร มาเป็นเวลาช้านาน แต่ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่าร้อยละ 70 กลายเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นหลัก ทำให้ความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อยู่ในภาวะสั่นคลอนเป็นอย่างเดียว การผลิตอาหารหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าว เนื้อสัตว์ และอาหาร ในพื้นที่สามจังหวัดก็ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในพื้นที่ ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน บ่งชี้ว่า พื้นที่นาในสามจังหวัดกว่า 78,000 ไร่ กลับถูกปล่อยทิ้งให้เป็นนาร้าง

ในบทความนี้ Think Forward Center ขอนำเสนอความไม่สอดคล้องลงตัวทั้งในการผลิต (รวมถึงการจัดสรรทรัพยากร) และการตลาดในพื้นที่สามจังหวัด จนกลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้


การผลิตอาหารที่ไม่เพียงพอ

สำรับอาหารท้องถิ่นของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


หากเรานำปริมาณผลผลิตอาหารที่สำคัญของสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ข้าวสาร เนื้อสัตว์ และไข่ไก่/ไข่เป็ด (เท่าที่มีข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) มาเทียบกับจำนวนประชากรแต่ละคนในพื้นที่สามจังหวัด และเทียบกับความต้องการบริโภคโดยเฉลี่ยต่อคนในภาพรวมทั้งประเทศ เราจะพบว่า ปริมาณการผลิตอาหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีปริมาณน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการโดยเฉลี่ย โดย:

  • ปริมาณผลผลิตข้าวสารในสามจังหวัดชายแดนใต้มีเพียง 20.7 กก./คน/ปี เทียบกับความต้องการบริโภคข้าวสารโดยเฉลี่ยทั้งประเทศ 195.4 กก./คน/ปี หรือผลผลิตในสามจังหวัดชายแดนใต้มีเพียงประมาณ 10.6% ของความต้องการบริโภคข้าวสารโดยเฉลี่ย
  • ปริมาณผลผลิตเนื้อสัตว์ในสามจังหวัดชายแดนใต้มีเพียง 7.0 กก./คน/ปี (ไม่รวมปลาและสัตว์น้ำ) เทียบกับความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉลี่ยทั้งประเทศ 54.7 กก./คน/ปี (ไม่รวมปลาและสัตว์น้ำเช่นกัน)หรือผลผลิตในสามจังหวัดชายแดนใต้มีเพียงประมาณ 12.8% ของความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉลี่ย
  • ปริมาณผลผลิตไข่ไก่/ไข่เป็ดในสามจังหวัดชายแดนใต้มีเพียง 14.9 ฟอง/คน/ปี เทียบกับความต้องการบริโภคไข่โดยเฉลี่ยทั้งประเทศ 267.3 ฟอง/คน/ปี หรือผลผลิตในสามจังหวัดชายแดนใต้มีเพียงประมาณ 5.6% ของความต้องการบริโภคไข่ไก่ไข่เป็ดโดยเฉลี่ย

กล่าวโดยย่อ พื้นที่การเกษตรของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถผลิตอาหารได้เพียงประมาณร้อยละ 10 ของความต้องการโดยเฉลี่ย ยกเว้นผลไม้ และสัตว์น้ำที่มีการผลิตเกินความต้องการและส่งขายไปยังภายนอกพื้นที่


ภาระค่าใช้จ่ายทางด้านอาหารเพิ่มมากขึ้น

การพึ่งพิงอาหารจากภายนอกพื้นที่ในสัดส่วนที่สูงมาก ทำให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้สุ่มเสี่ยงต่อภาระค่าใช้จ่ายทางอาหารที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของครัวเรือนในสามจังหวัดชายแดนใต้ในแต่ละปี สูงถึง 43,286 ล้านบาท และเมื่อประเทศไทยประสบปัญหาเงินเฟ้อด้านอาหารในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านอาหารในพื้นที่สามจังหวัดก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

จากการคำนวณข้อมูลค่าใช้จ่ายของครัวเรือนด้านอาหารของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และดัชนีผู้บริโภคกระทรวงพาณิชย์ที่ผ่านมาในปี 2565 พบว่า ในปี 2565 ครัวเรือนในสามจังหวัดมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.5-9.9 หรือประมาณ 535-642 บาท/ครัวเรือน/เดือน และแม้ว่า ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา แรงงานแต่ละคนได้ค่ารับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.8 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 330 บาท/คน/เดือน ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าค่าใช้จ่ายด้านอาหารที่เพิ่มขึ้น 


ดังนั้น การพึ่งพาอาหารจากภายนอก และเงินเฟ้อทางอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมกระทบต่อภาระค่าครองชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดในระยะยาวแน่นอน


ผลกระทบจากการผลิตการเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่

ความอ่อนแอของระบบการผลิตอาหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มาจากการเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรเพื่อการผลิตอาหาร มาเป็นเพื่อการผลิตพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยางพารา เนื่องจากปัจจุบัน เนื้อที่การเกษตรของสามจังหวัดภาคใต้ร้อยละ 71 ใช้ในการปลูกยางพาราเป็นหลัก ยิ่งในกรณีพื้นที่จังหวัดยะลา สัดส่วนของพื้นที่การเกษตรที่ใช้ในการปลูกยางพาราสูงถึงร้อยละ 86 ทำให้สัดส่วนพื้นที่การเกษตรที่ใช้เพื่อการผลิตอาหารลดลงอย่างมาก เช่น พื้นที่การเกษตรที่ใช้เพื่อการปลูกข้าว (ทั้งนาปีและนาปรัง) ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเหลือสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 5 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดเท่านั้น


ในขณะที่พื้นที่กว่า 70% ของพื้นที่การเกษตรได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่สวนยางพารา แต่การทำสวนยางในพื้นที่สามจังหวัดประสบกับปัญหาราคายางตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2554 ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตรของสามจังหวัดภาคใต้ยังมีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่องตลอดทั้งทศวรรษ และส่งผลให้รายได้มวลรวมต่อหัวของพี่น้องในสามจังหวัดลดลงจากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 55.5 ของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของทั้งประเทศ ในปี 2554 เหลือเพียงร้อยละ 33.2 (หรือไม่ถึงหนึ่งในสาม) ของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของทั้งประเทศ ในปี 2563 นั่นเอง


ปัญหาพื้นที่นาร้างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่ปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงทางอาหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ยังมีความซับซ้อนมากกว่านั้น เพราะขณะที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มีพื้นที่ปลูกข้าวเพียงร้อยละ 5 ของพื้นที่การเกษตร และสามารถผลิตข้าวเพียงประมาณร้อยละ 10 ของความต้องการโดยเฉลี่ยแล้ว พื้นที่สามจังหวัดกลับมีพื้นที่นาร้างมากถึง 78,000 ไร่ หรือเกือบร้อยละ 20 ของพื้นที่นาที่มีในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยจังหวัดที่มีพื้นที่นาร้างมากที่สุดคือ จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีพื้นที่นาร้างเกือบ 50,000 ไร่ (หรือประมาณ 23% ของพื้นที่นาในจังหวัดปัตตานี)

จากการพูดคุยกับเครือข่ายขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารสามจังหวัดภาคใต้ ที่นราธิวาส เมื่อวันที่ 4-5 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า การปล่อยที่นาให้ทิ้งร้างว่างเปล่า (ในขณะที่ยังมีการผลิตข้าวไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่) เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุสำคัญ ได้แก่

  • ระบบการจัดการน้ำที่กระจุกตัวอยู่กับกรมชลประทาน ซึ่งยังจัดการน้ำไม่สอดคล้องกับวิถีการปลูกข้าวและความแปรปรวนของสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ (และในแต่ละปี) ขณะเดียวกัน การถ่ายโอนภารกิจเรื่องการจัดการน้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่มีการถ่ายโอนงบประมาณมาให้ท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชาวนาในพื้นที่ได้
  • ต้นทุนการเพาะปลูกข้าวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมี และค่าน้ำมันในการสูบน้ำและการเตรียมดิน ในขณะที่ระบบสินเชื่อในพื้นที่สามจังหวัดยังมีข้อติดขัดหลายประการ ทั้งปัญหาเกษตรกรขาดเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน และพี่น้องเกษตรกรต้องการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนที่ไม่ได้ใช้ระบบดอกเบี้ย ซึ่งมีจำกัด และบางครั้งมีค่าใช้จ่ายจริงที่สูงกว่าระบบดอกเบี้ยเสียอีก
  • ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของพื้นที่สามจังหวัดอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ คือประมาณ 400-600 กก./ไร่เท่านั้น ประกอบกับพี่น้องเกษตรกรมีพื้นที่การเกษตรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (โดยเฉลี่ยน้อยกว่า 10 ไร่) และหลายครั้ง ประสบปัญหาในการจัดการน้ำ ทำให้ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการทำนาจึงอยู่ในระดับที่ต่ำ และไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ
  • ราคาข้าวในพื้นที่ตกต่ำ ช่องทางการจำหน่ายและแปรรูปข้าวในพื้นที่ยังมีจำกัด และไม่มีการทำการตลาดข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ โดยเฉพาะการส่งเสริมการตลาดเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของข้าวพันธุ์พื้นเมือง ทำให้ผลตอบแทนที่ชาวนาในพื้นที่ได้รับจึงอยู่ในระดับที่ต่ำ
  • สืบเนื่องจากราคาข้าวและผลตอบแทนในพื้นที่ที่ตกต่ำ ทำให้พี่น้องชาวนาจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในวัยแรงงานต้องย้ายไปทำงานในประเทศมาเลเซียเพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ส่งผลให้กำลังแรงงานไม่เพียงพอ และครัวเรือนชาวนาต้องปล่อยที่นาให้ร้างในที่สุด


ปัจจุบัน (ในช่วงปี 2565) เครือข่ายขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารสามจังหวัดภาคใต้ ได้ทดลองฟื้นฟูนาร้างให้กลับมาเป็นนาข้าวได้ประมาณ 150 ไร่ แต่ยังต้องพยายามแก้ไขปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องการจัดการน้ำ และการตลาดข้าวพันธุ์พื้นเมือง


แนวทางการสร้างความมั่นคงทางอาหารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

แนวทางการสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ แนวทางในเชิงพื้นที่ และแนวทางสนับสนุนในภาพรวม

แนวทางในเชิงพื้นที่ การสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ควรเร่งพัฒนาพื้นที่ใน 6 ลักษณะ ดังนี้

  1. พื้นที่นาร้าง 78,000 ไร่ ควรเร่งหาแนวทางหรือรูปแบบในการลงทุนพื้นที่นาร้างให้กลับมาใช้ประโยชน์ในการผลิตข้าวและอาหารอื่นๆ โดยรัฐบาลมีการให้หลักประกันในการลงทุน (เช่น หลักประกันทางด้านการตลาดและราคา) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร
  2. พื้นที่นาที่ยังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ต้องเร่งคัดเลือก/ปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว ฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดิน และระบนิเวศการเกษตร และการประยุกต์ใช้ความรู้/เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของพื้นที่นาข้าวให้เพิ่มขึ้น รวมถึงการสนับสนุนการปลูกพืชอาหารหลังนา เพื่อเพิ่มรายได้สำหรับเกษตรกร และเพื่อการปรับปรุงดิน
  3. พื้นที่สวนยางพาราและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่กว่า 80% ของพื้นที่การเกษตรในสามจังหวัด ต้องส่งเสริมการปลูกพืช/เลี้ยงสัตว์ร่วมกับยาง โดยเฉพาะการปลูกผักพื้นบ้าน การเลี้ยงแพะ เป็ด/ไก่ และไม้ยืนต้นมูลค่าสูง ในพื้นที่สวนยาง (หรือสวนปาล์มน้ำมัน) เพื่อเป็นทางเลือกของรายได้สำหรับเกษตรกร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  4. พื้นที่การเลี้ยงปศุสัตว์ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในพื้นที่ และเป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับเกษตรกร โดยรัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนในการเข้าถึงแหล่งอาหารสัตว์ที่สำคัญซึ่งไม่มี/มีจำกัดในพื้นที่ (เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด) เพื่อมิให้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงเกินไป ขณะเดียวกัน ต้องพยายามใช้ประโยชน์จากการเลี้ยงสัตว์ให้ครบวงจร ทั้งในด้านการเกษตรชีวภาพ และการพัฒนาพลังงานชีวภาพในชุมชน
  5. พื้นที่ป่าชุมชน/สวนผสมผสาน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผลไม้ ผักพื้นบ้าน และสมุนไพรที่สำคัญสำหรับชุมชนในสามจังหวัด พร้อมๆ กับการเป็นพื้นฐานสำคัญทางระบบนิเวศวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายเขา และการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้อีกด้วย
  6. พื้นที่เกษตรในชุมชน/ในเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใกล้แหล่งบริโภคเช่น เมือง หรือชุมชน จึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการทำธุรกรรม และยังเป็นแหล่งสร้างงานสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ด้วย เช่น กลุ่มเกษตรกรที่เพาะและแปรรูปเห็ดในพื้นที่อำเภอบันนังสตาร์ เป็นต้น



หากมีการดำเนินการอย่างจริงจังใน 6 พื้นที่/รูปแบบนี้ จะทำให้ความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เพิ่มมากขึ้น โดยควรมีการกำหนดเป้าหมายเบื้องต้น ภายในปี 2570 ไว้ดังนี้

  • การเพิ่มผลผลิตข้าว (ข้าวสาร) ต่อประชากรจาก 20.66 เป็น 31.50 กก./คน/ปี หรือการเพิ่มผลผลิตข้าวสารรวมจาก 71,201 ตัน/ปี เป็น 93,628 ตัน/ปี หรือเท่ากับ 16% ของความต้องการโดยเฉลี่ย เฉลี่ย (ปัจจุบันการผลิตอยู่ที่ 10.6% ของความต้องการโดยเฉลี่ย)
  • การเพิ่มผลิตเนื้อสัตว์ให้ได้ 21.01 กก./คน/ปี หรือเท่ากับ 38% ของความต้องการโดยเฉลี่ย (ปัจจุบันการผลิตอยู่ที่ 12.8% ของความต้องการโดยเฉลี่ย)
  • การเพิ่มผลผลิตไข่ไก่/ไข่เป็ดให้ได้ 45 ฟอง/คน/ปี หรือประมาณ 17% ของความต้องการโดยเฉลี่ย (ปัจจุบันการผลิตอยู่ที่ 5.6% ของความต้องการโดยเฉลี่ย)




แนวทางการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารโดยภาพรวม

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ทั้ง 6 พื้นที่เพิ่มขึ้น ในภาพรวม รัฐบาลควรมีนโยบายที่จำเป็น ดังนี้

  1. การเร่งพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินที่ทับซ้อนระหว่างราชการกับประชาชนโดยเร่งด่วน และเร่งออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงร่วมกับ อปท. ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการจัดทำเอกสารสิทธิ์และเอกสารทางราชการต่างๆ ให้ตรงกับข้อเท็จจริง เพื่อมิให้ประชาชนเสียสิทธิ์อันพึงได้ของตน และลดความเสี่ยงในการเกิดข้อพิพาททางกฎหมายอื่นๆ ด้วย
  2. การถ่ายโอนอำนาจ ภารกิจ และงบประมาณ ในการจัดการน้ำให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงองค์กรผู้ใช้น้ำในระดับชุมชน จะต้องมีความชัดเจนโดยเร่งด่วน พร้อมทั้งมีการหนุนเสริมองค์ความรู้ และประสบการณ์ในการจัดการน้ำให้กับ อปท. และกลุ่มองค์กรชุมชนในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ก็ควรมีกรอบงบประมาณในการลงทุนและการดำเนินการที่ชัดเจน เพื่อให้ อปท. สามารถวางแผนการลงทุน/ปรับปรุงแหล่งน้ำ/การจัดการน้ำในพื้นที่ให้ได้โดยเร็วที่สุด (เช่น งบประมาณในการลงทุน 25,000 บาท ต่อการได้น้ำต้นทุนมา 1,000 ลูกบาศก์เมตร)
  3. การลงทุนในการปรับปรุง/พัฒนาสายพันธุ์ข้าว พืชอาหาร/ปศุสัตว์ในท้องถิ่น และการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นหลักการ 4 ประการ (ก) การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและสุนทรียภาพในการบริโภค เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกท้องถิ่น (ข) การรับมือกับภาวะโลกรวน (หรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก) โดยเฉพาะภัยแล้ง น้ำท่วม และอุณหภูมิที่สูงขึ้น  (ค) ความสามารถในการพึ่งพิงปัจจัยการผลิตในท้องถิ่น และลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอก เช่น การปรับปรุงดิน การใช้ปุ๋ยสั่งตัด การใช้อาหารสัตว์ในท้องถิ่น เป็นต้น และ (ง) การผลิตแบบเกษตรอินทรีย์หรือวนเกษตร เพื่อตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยทางอาหารและการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
  4. การพัฒนาระบบสินเชื่อ/ระบบการลงทุน สำหรับการเกษตร การแปรรูป และการตลาด ที่ไม่ตั้งอยู่บนฐานการคิดคำนวณดอกเบี้ยที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม ขณะเดียวกันก็จะต้องมีความเป็นธรรม ไม่เป็นการเอาเปรียบพี่น้องเกษตรกรในทางอ้อม และสามารถดำเนินการได้ในวงกว้าง เช่น การใช้สหกรณ์การเกษตร และสถาบันการเงินชุมชน เป็นองค์กรนำในการดำเนินการ
  5. การพัฒนาระบบตลาดท้องถิ่น ที่จะช่วยให้เกิดความต้องการและการบริโภคสินค้าอาหารที่ผลิตขึ้นในพื้นที่ โดยระบบตลาดท้องถิ่นจะแบ่งออกเป็น (ก) ตลาดของภาครัฐ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เรือนจำ ฯลฯ (ข) ตลาดสำหรับภาคเอกชน เช่น การอนุญาตให้ผู้ประกอบการ (เช่น โรงแรม โรงงานแปรรูป) หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า หากมีการซื้อสินค้าอาหารที่ผลิตภายในพื้นที่ และ (ค) ตลาดสำหรับประชาชนทั่วไป เช่น การกำหนดให้ modern trade มีการเปิดพื้นที่บนชั้นวางสินค้าไม่ต่ำกว่า 5% สำหรับสินค้าอาหารที่ผลิตขึ้นภายในพื้นที่ เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลควรสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองมาตรฐานคุณภาพ (หรือคุณลักษณะทางโภชนาการ) ซึ่งจำเป็นต่อการเปิดตลาดทั้งภายในและภายนอกพื้นที่
  6. การพัฒนาตลาดพรีเมี่ยมนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การเปิด Patani Outlet และพิพิธภัณฑ์/ศูนย์การเรียนรู้อิสลามและมลายูศึกษา ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่อื่นๆ เพื่อช่วยเปิดตลาดสินค้าอาหารและสินค้าวัฒนธรรมสร้างสรรค์ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ และสร้างพื้นที่การรับรู้เรื่องระบบนิเวศวัฒนธรรมการเกษตร และอัตลักษณ์วัฒนธรรมมลายู ให้พี่น้องประชาชนไทยได้รู้จักและประทับใจด้วย


Think Forward Center เชื่อว่า หากมีการดำเนินโยบายอย่างจริงจัง พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะกลับมามีความมั่นคงทางอาหารได้อย่างเต็มที่ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี หรือภายในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้ความยากจนของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่สามจังหวัดลดลงและหมดไปด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า