เดชรัต สุขกำเนิด
Q1: ทำไมต้องเปลี่ยน สปก. เป็นโฉนด?
A1: เนื่องจาก สปก. เป็นเอกสารการถือครอง ที่ไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ ทำให้เกษตรกรที่ถือครองที่ดิน สปก. ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพราะที่ดิน สปก. ไม่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้ ยกเว้นกับ ธกส. แต่ก็ให้สินเชื่อได้เพียง 50% ของราคาประเมิน เกษตรกรที่ถือครองที่ดิน สปก. จึงมีข้อจำกัดในการลงทุน ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการเกษตรลดลงกว่าที่ควรจะเป็น หรือจำเป็นต้องไปกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ข้อกำหนดของ สปก. ที่ให้ใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรเท่านั้น ยังทำให้เกษตรกรยังไม่สามารถต่อยอดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การเปิดร้านค้า การเปิดฟาร์มสเตย์ ในพื้นที่ สปก. ของตนเองได้ รวมถึง การถ่ายโอนพื้นที่ดังกล่าวก็จะต้องถ่ายโอนให้กับทายาท “ที่ทำการเกษตร” เท่านั้น ทำให้ทายาทที่สำเร็จการศึกษาและมีอาชีพอื่นๆ ด้วยก็ไม่สามารถรับสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวได้ แม้ว่า พ่อแม่จะทุ่มเทลงทุนพัฒนาที่ดินแปลงนั้นมาเป็นเวลานับสิบๆปีแล้วก็ตาม
ซ้ำร้ายในหลายพื้นที่ยังมีการเรียกคืนที่ดิน สปก. เพราะรัฐบาลอ้างว่า มีการประกาศเขตพื้นที่ป่าทับกับที่ดิน สปก. ซึ่งเกษตรกรทำกินมาแล้วหลายสิบปี เอกสาร สปก. กลายเป็นเศษกระดาษ และเกษตรกรที่ถือที่ดิน สปก. ก็กลายเป็นผู้บุกรุกที่ดินของรัฐไป
เพราะฉะนั้น พี่น้องประชาชนที่ถือครองที่ดิน สปก. จึงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยน สปก. เป็นโฉนดที่ดิน เพราะการเปลี่ยน สปก. เป็นโฉนดที่ดินจะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถพัฒนาที่ดินของตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงมีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หรือเป็นปลายทางหลักของการปฏิรูปที่ดินนั่นเอง
Q2: ที่ดิน สปก. ห้ามทำการซื้อขาย แต่ทำไมที่ผ่านมา จึงมีการซื้อขายที่ดิน สปก. อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
A2: การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน (ดูคำตอบที่ 1) บวกกับราคาพืชผลที่ไม่ค่อยดี ทำให้การเกษตรเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงมาก เมื่อเกษตรกรที่ได้รับ สปก. ขาดทุนต่อเนื่อง เป็นหนี้สิน (ส่วนหนึ่งเป็นหนี้นอกระบบเพราะเข้าถึงเงินทุนได้จำกัด) และจำเป็นต้องชำระคืนหนี้สิน ทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรต้องทำก็คือ การขายที่ดิน สปก. นั่นเอง
นอกจากนี้ ในบางกรณีเกษตรกรจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานครอบครัว หรือมีการแตกครอบครัวขึ้นใหม่ เกษตรกรก็มีความจำเป็นต้องขายและซื้อที่ดิน สปก. ด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมา ผู้ซื้อที่ดิน สปก. มีทั้งที่เป็นเกษตรกรภายในพื้นที่ มีทั้งชนชั้นกลางทั่วไป (เช่น ข้าราชการ) และมีบางส่วนที่เป็นนายทุนมารวบรวมที่ดิน สปก. เป็นผืนใหญ่ ทั้งนี้เพราะ การที่ สปก. ไม่เปิดให้มีการซื้อขายกันตามปกติ ทำให้ที่ดิน สปก. จะมีราคาที่ต่ำกว่าราคาโฉนดทั่วไป และเอื้ออำนวยให้นายทุน ซึ่งมีทุนมากมายอยู่แล้ว สามารถซื้อและรวบรวมที่ดิน สปก. ได้เป็นจำนวนมาก
การป้องกันการซื้อ/ขายที่ดิน สปก. โดยไม่มีการสนับสนุนเกษตรกรในด้านอื่นๆ (ทั้งเงินทุน การตลาด) จึงกลับกลายเป็นกลไกในการทำให้ที่ดิน สปก. หลุดมือจากเกษตรกรในราคาที่ถูก เพราะเกษตรกรไม่มีทางเลือกใดๆ นั่นเอง
Q3: ใครได้รับสิทธิในการเปลี่ยนที่ดิน สปก. เป็นโฉนดบ้าง?
A3: เกษตรกรที่ถือเอกสารสิทธิ์ สปก. อยู่แล้ว และยังใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้น ต่อเนื่องมา 10 ปีขึ้นไป จะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดิน ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยได้รับสิทธิ์ตามเอกสารสิทธิ์ที่ตนถืออยู่ แต่จะยังไม่ซื้อขายที่ดินดังกล่าวได้ในระยะเวลา 5 ปีจากวันที่ได้รับโฉนด หากในกรณีที่มีความจำเป็นในการกู้ยืม (การจำนอง) หรือจำเป็นจะต้องขายที่ดินที่ได้รับโฉนดนั้นก่อนเวลา 5 ปี ให้ดำเนินการผ่านธนาคารที่ดิน (ที่จะจัดตั้งขึ้น) โดยธนาคารที่ดินจะคิดราคาที่ดินตามราคาประเมินของที่ดินที่มีโฉนด
ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้เป็นผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน สปก. (หรือเป็นผู้ซื้อ/เปลี่ยนมือที่ดิน สปก. นั้น) เกษตรกรจะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดิน หาก (ก) เกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำการเกษตรต่อเนื่องมา 10 ปีขึ้นไป และ (ข) มีเอกสารหรือพยานการทำข้อตกลง/การยินยอมจากผู้ที่มีชื่อในเอกสารสิทธิ์ สปก. รวมถึง (ค) เกษตรกรผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท เกษตรกรดังกล่าวจะสามารถเปลี่ยน สปก. เป็นโฉนดได้ไม่เกิน 50 ไร่
Q4: ทำไมต้องมีเกณฑ์ข้อกำหนดเรื่อง เกษตรกรที่จะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนดต้องมีทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท?
A4: ก่อนอื่น ต้องอธิบายก่อนว่า เกณฑ์ข้อกำหนดเรื่อง ทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท จะใช้สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้มีชื่อในเอกสาร สปก. (หรือกรณีชื่อไม่ตรงปก) เท่านั้น ส่วนเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ในที่ดิน สปก. อยู่แล้ว (หรือกรณีชื่อตรงปก) จะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนดโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องทรัพย์สิน
เพราะฉะนั้น เกณฑ์ข้อกำหนดเรื่อง ทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท จึงเป็นเกณฑ์ข้อกำหนดที่ใช้ในการคัดกรองผู้ที่จะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินให้เป็นเกษตรกร โดยกันนายทุนหรือผู้ที่มีทรัพย์สินจำนวนมากออกไป
Q5: เกณฑ์ตัวเลข 10 ล้านบาท เป็นเกณฑ์ที่สูงเกินไปหรือไม่? และเป็นไปได้หรือไม่ ที่นายทุนที่ถือครองที่ดิน สปก. จะมีการถ่ายโอนทรัพย์สินให้ลูกหลาน เพื่อให้ตนมีทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท
A5: คนทั่วไปอาจมองว่า เกณฑ์ทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท เป็นเกณฑ์ที่สูงสำหรับเกษตรกร แต่จากการสำรวจพื้นที่ของ Think Forward Center พบว่า เกษตรกรจำนวนหนึ่งที่ทำอาชีพปศุสัตว์ (เช่น โคนม ฟาร์มหมู โคเนื้อ ปศุสัตว์สวยงาม) ทำไม้ผล (เช่น ทุเรียน) และมีเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมี “ทรัพย์สินดำเนินการ” เช่น อาคาร เครื่องจักร ปศุสัตว์เอง มูลค่าหลายล้านบาทอยู่แล้ว และเราไม่ควรตัดสิทธิ์ในการได้รับโฉนดที่ดินสำหรับพี่น้องเกษตรกรกลุ่มนี้ (ด้วยการลดเกณฑ์ทรัพย์สินให้ต่ำลงมา เช่น 5 ล้านบาท) เพราะจริงๆ แล้ว เกษตรกรกลุ่มนี้ถือเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในแนวทางของการปฏิรูปที่ดินนั่นเอง
ส่วนนายทุนโดยทั่วไปที่ครอบครองที่ดิน สปก. นับเป็นพันๆ ไร่อยู่แล้ว ก็จะมีทรัพย์สินโดยรวม (รวมถึง หุ้น ที่ดิน และทรัพย์สินอื่นๆ) เกินกว่า 10 ล้านบาทอยู่แล้ว จึงไม่สามารถขอรับการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินตามนโยบายนี้ได้ ส่วนข้อกังวลที่ว่า นายทุนจะผ่องถ่ายทรัพย์สินที่มีไปให้ลูกหลานหรือนอมินี เพื่อให้มีทรัพย์สินต่ำกว่า 10 ล้านบาท ประเด็นนี้สามารถตรวจสอบและป้องกันได้ โดยการตรวจสอบการโอนทรัพย์สินสำคัญของผู้นั้น เช่น ที่ดิน หรือหุ้น ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง โดยหากพบการโอนที่ดินและทรัพย์สินอื่นๆ ในลักษณะที่ผิดปกติ นายทุนผู้นั้นก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ในการเปลี่ยนสปก. เป็นโฉนดที่ดินได้
Q6: การเปลี่ยน สปก. เป็นโฉนดที่ดินจะยิ่งทำให้ที่ดินหลุดมือจากเกษตรกรหรือไม่?
A6: ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การเปลี่ยน สปก. เป็นโฉนดที่ดินจะเป็นการช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถพัฒนาการเกษตรของตนได้อย่างเต็มศักยภาพ เช่น สามารถเพิ่มโรงงานแปรรูป และการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ การเปลี่ยน สปก. เป็นโฉนดที่ดินจึงเป็นการเพิ่มรายได้สำหรับเกษตรกร และช่วยให้เกษตรกรสามารถดำเนินอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืนและมีอนาคต
ในทางตรงกันข้าม การจำกัดสิทธิ์ในที่ดิน สปก. จะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ไม่สามารถเพิ่มศักยภาพ/รายได้การเกษตรของตนได้ และมีแนวโน้มที่จะต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น และจะนำไปสู่ความจำเป็นในการจะต้องขายที่ดิน สปก. แถมยังต้องขายในราคาต่ำ ซึ่งกล่าวในมุมกลับก็คือ การเอื้อให้นายทุนสามารถรวบรวมที่ดิน สปก. เป็นผืนใหญ่ได้โดยง่าย
ทั้งนี้ ต้องเข้าใจด้วยว่า เกษตรกรกับนายทุนมีความแตกต่างกันในเรื่องการเข้าถึงทุน เพราะนายทุนมีเงินทุนของตนเองจำนวนมาก การใช้เอกสารสิทธิ์ที่ดินในการเข้าถึงแหล่งทุนจึงเป็นเรื่องรองสำหรับนายทุน เพราะฉะนั้น นายทุนจึงไม่ประสบปัญหาในการรวบรวมที่ดิน สปก. เป็นผืนใหญ่ แล้วใช้เงินลงทุนของตนเอง ในการทำการเกษตรหรือกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่นั้น ต่างจากเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้เอกสารสิทธิ์เช่น โฉนดที่ดิน ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน