8 นโยบายมะพร้าวก้าวไกล

เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center


มะพร้าวเป็นพืชที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมไทยมาอย่างยาวนาน ภูมิปัญญาของเราสามารถนำเอามะพร้าวมาใช้ได้แทบทุกส่วน ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยก็ยังคงเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นกะทิสำเร็จรูป น้ำมันมะพร้าวแบบต่างๆ หรือผลิตภัณฑ์เสริมคุณค่าทางโภชนาการต่างๆ จนมีคำกล่าวว่า “มะพร้าวคือ Super Food”


แต่เมื่อตัดภาพกลับมาที่ชาวสวนมะพร้าว เรากลับพบว่า ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยเติบโตอย่างมั่นคง แต่ราคามะพร้าวที่ชาวสวนได้รับกลับไม่มีความแน่นอน หลายครั้งที่ราคามะพร้าวกลับตกต่ำจนชาวสวนมะพร้าวไม่อาจดำรงอาชีพอยู่ได้ จนพื้นที่การปลูกมะพร้าวของไทยลดลงต่อเนื่อง สวนทางกลับการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าว และนำไปสู่การนำเข้ามะพร้าวผลและกะทิสำเร็จรูปแช่แข็งมาเป็นจำนวนมาก และกดดันให้ราคามะพร้าวที่ชาวสวนมะพร้าวได้รับลดต่ำลงไปอีก

กลไกตลาดมะพร้าวจึงเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะความจริงแล้ว ปริมาณมะพร้าวในประเทศยังมีน้อยกว่าความต้องการแปรรูปในประเทศ อีกทั้งความต้องการของผลิตภัณฑ์มะพร้าวในตลาดต่างประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น ราคามะพร้าวที่ตกต่ำจึงไม่ได้เกิดจากผลผลิตในประเทศล้นเกิน แต่เกิดขึ้นจากการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศในปริมาณที่มากเกินไปและในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม (หรือนำเข้ามาในช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศออกสู่ตลาดพอดี) นอกจากนี้ ชาวสวนมะพร้าวยังเผชิญปัญหาจากการระบาดของแมลงศัตรูพืช และกลไกการตลาดที่ไม่เป็นธรรมและขาดอำนาจต่อรองกับคนกลางและผู้แปรรูปอีกด้วย

ที่มา: Thairath.co.th


พรรคก้าวไกลเห็นว่า ด้วยเหตุที่มะพร้าวเป็นพืชที่คุณค่าทางโภชนาการสูง และมีคุณประโยชน์ในหลากหลายด้าน มะพร้าวจึงเป็นพืชที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงมาก แต่ด้วยการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการรักษาเสถียรภาพของราคามะพร้าว ส่งผลให้ราคามะพร้าวตกต่ำเป็นระยะ และทำให้อาชีพชาวสวนมะพร้าวกลับกลายเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงยั่งยืน สวนทางทิศทางของผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่กำลังเติบโตในตลาดโลก

พรรคก้าวไกลแน่วแน่ที่จะแก้ไขปัญหาของชาวสวนมะพร้าว และเพื่อให้อุตสาหกรรมมะพร้าวสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม พรรคก้าวไกลจึงเสนอมาตรการเชิงนโยบาย ทั้ง 8 ข้อ ดังต่อไปนี้


นโยบายมะพร้าวก้าวไกล

  1. ประกาศให้มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะตั้งเป้าหมายให้เกิดการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งในทางโภชนาการ สุขภาพ ความงาม หัตถกรรม สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว ตั้งเป้าหมายให้สามารถเพิ่มมูลค่าจากผลิตภัณฑ์มะพร้าวได้ 2 เท่า ภายในเวลา 4 ปี และมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 ราย
  2. สนับสนุนให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นศูนย์กลางของการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวในประเทศไทย โดยสนับสนุนงบประมาณผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เช่น อบจ. ประจวบคีรีขันธ์) ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนามะพร้าว ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทำหน้าที่
    • การพัฒนาสายพันธุ์มะพร้าว และเทคนิคการป้องกันโรค แมลงและศัตรูมะพร้าว (เช่น แตนเบียน) 
    • การพัฒนาเครื่องจักร/อุปกรณ์ในการทำสวนและการแปรรูปมะพร้าว 
    • การพยากรณ์ผลผลิตมะพร้าวในแต่ละเดือน (ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน)
    • การพัฒนาและกำหนดมาตรฐานคุณภาพการรับซื้อมะพร้าว และการแปรรูปมะพร้าว ที่เป็นธรรมสำหรับชาวสวนมะพร้าว
    • การพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวในรูปแบบต่างๆ และการสนับสนุนการแปรรูปมะพร้าวในพื้นที่
    • การพัฒนากลไกการตลาดมะพร้าวให้เป็นธรรม การเพิ่มอำนาจต่อรองของชาวสวนมะพร้าว และการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่
  3. กำหนดราคาเป้าหมายของมะพร้าว (ผลใหญ่) ที่ 15 บาท/ผล โดยใช้วิธีการกำหนดปริมาณ/ช่วงเวลานำเข้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าว ไม่ให้กระทบกระเทือนกับปริมาณมะพร้าวในประเทศที่ออกสู่ตลาด และการควบคุมและจำกัดจุด/สถานที่กะเทาะมะพร้าวนำเข้า เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อราคามะพร้าวในประเทศ
  4. จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายมะพร้าวแห่งชาติ (หรือ Coconut Board) แยกออกมาจากคณะกรรมการพืชน้ำมัน และให้ชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่ได้เลือกตั้งผู้แทนในคณะกรรมการนโยบายมะพร้าวได้โดยตรง โดยคณะกรรมการมะพร้าวฯ จะทำหน้าที่ 
    • การติดตามเฝ้าระวังราคามะพร้าว ให้มีเสถียรภาพ มีความเป็นธรรม และสามารถแข่งขันได้ 
    • กำหนดมาตรการนำเข้ามะพร้าวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคแมลง และมิให้มีผลกระทบกับราคามะพร้าวภายในประเทศ 
    • การป้องกันและปราบปรามมะพร้าวนำเข้าผิดกฎหมาย หรือมะพร้าวเถื่อนอย่างจริงจัง
    • เป็นตัวแทน หรือทีมมะพร้าวไทย (หรือ CocoThai) ในการเปิด/ขยายตลาดผลิตภัณฑ์มะพร้าวในประเทศต่างๆ ทั่วโลก 
  5. กำหนดมาตรฐานและฉลากผลิตภัณฑ์มะพร้าว “ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่ปลูกในประเทศไทย” หรือฉลาก Grown in Thailand เพื่อปกป้องตลาดกะทิของประเทศไทย (ในตลาดโลก) จากการนำกะทิสำเร็จรูป และกะทิสำเร็จรูปแช่แข็งจากต่างประเทศ มาขายในนามกะทิสำเร็จรูปของประเทศไทย (หรือ Made in Thailand) และจะช่วยลดความสับสนและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคกะทิของไทยทั่วโลกด้วย
  6. สนับสนุนงบประมาณในการป้องกันและควบคุมโรค แมลง การลดต้นทุนการผลิต และการรับรองมาตรฐานการผลิตของเกษตรกร ดังต่อไปนี้
    • สนับสนุนการปลูกทดแทนมะพร้าว โดย (ก) สนับสนุนสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยในระยะ 3-5 ปีแรก (ข) ประกันรายได้จากการปลูกพืช/เลี้ยงสัตว์แซมมะพร้าวในช่วง 5 ปีแรก (ไม่ต่ำกว่า 6,000 บาท/ไร่/ปี) (ค) สนับสนุนงบประมาณในการปลูกไม้ยืนต้นแซมมะพร้าว เพื่อเป็นทางเลือกของชาวสวนมะพร้าวการออมในระยะยาว (ในอัตรา 4,000 บาท/ไร่ ในช่วงเวลา 3 ปี
    • สนับสนุนแตนเบียน สนับสนุนงบประมาณผ่านศูนย์วิจัยมะพร้าว และกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ในการเพาะฟัก/เพาะเลี้ยงแตนเบียน และการควบคุมทางชีวภาพอื่นๆ
    • ประกันภัยพืชผลฟรี สนับสนุนงบประมาณในการทำประกันภัยพืชผลสำหรับชาวสวนมะพร้าว เพื่อชดเชยความสูญเสียที่เกิดจากภัยธรรมชาติ (วาตภัย ภัยแล้ง) และโรค/แมลงศัตรูพืช
    • พัฒนาแหล่งน้ำและระบบสูบน้ำ สนับสนุนงบประมาณผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาแหล่งน้ำ สนับสนุนงบประมาณผ่านกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ ในการพัฒนาระบบสูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์
    • ปุ๋ยซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง สนับสนุนการจำหน่ายปุ๋ยผสมผ่านกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ หรือผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่ โดยรัฐจะจัดหาแม่ปุ๋ยให้ และรัฐบาลก้าวไกลจะแถมปุ๋ยสั่งตัด หรือ ปุ๋ยผสมในสูตรที่สอดคล้องกับค่าความอุดมสมบูรณ์ของดินแต่ละแปลงและความต้องการของมะพร้าว ส่วนกรณีมะพร้าวอินทรีย์จะสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ผ่านกลุ่มเกษตรกรในอัตราที่เท่ากัน
    • ตรวจรับรองมาตรฐานฟรี สนับสนุนงบประมาณในการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐาน GMP สำหรับการแปรรูปมะพร้าว ฟรี เพื่อสนับสนุนการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์มะพร้าวทั่วประเทศ
  7. ส่งเสริมภูมิปัญญามะพร้าวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์มะพร้าว ผ่าน
    • การจัดการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญามะพร้าวในโรงเรียน/วิทยาลัย/มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในด้านโภชนาการ ด้านความความงาม ด้านหัตถกรรม ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ผ่านทางกลไกสำคัญ 2 กลไก คือ 
      • คูปองเปิดโลกสำหรับนักเรียน (1,000-2,000 บาท/ปี) และ
      • คูปองพัฒนาทักษะสำหรับวัยแรงงาน (5,000 บาท/ปี)
    • การประกวดนวัตกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มะพร้าวในทุกระดับ รวมถึงในระดับนานาชาติ
    • การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงอนุรักษ์ในสวนมะพร้าว การจัดงานมหกรรมมะพร้าวนานาชาติที่เสริมหนุนการท่องเที่ยวไปพร้อมๆกัน
    • สนับสนุนทุนตั้งตัวสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (100,000 บาท/ราย) โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์/บุคคลค้ำประกัน และทุนสร้างตัวสำหรับการขยายกิจการ (1,000,000 บาท/ราย)
    • การจัดทีมมะพร้าวไทย (CocoThai) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และขยายตลาดผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
    • พัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้เรื่องมะพร้าวของโลกอย่างแท้จริง
  8. พัฒนาระบบและมาตรฐานการซื้อขายมะพร้าวให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยเฉพาะการคัดคุณภาพ/ขนาดมะพร้าว และการกำหนดราคามะพร้าวลูกเล็ก ภายในเวลา 2 ปี รวมถึงการพัฒนาไปสู่ระบบการแบ่งปันผลตอบแทน และระบบการทำข้อตกลงราคาล่วงหน้า ระหว่างเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวกับผู้แปรรูปมะพร้าว โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ และช่วยประกันความเสี่ยงด้านราคาสำหรับผู้ประกอบการ ที่เลือกใช้ระบบการแบ่งปันผลตอบแทน และระบบการทำข้อตกลงราคาล่วงหน้า ในช่วงเวลา 4 ปีนี้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า