การทำนาแบบไม่เผาฟาง: ทำได้ แต่อย่าทำแบบไฟไหม้ฟาง

เดชรัต สุขกำเนิด


การเผาในพื้นที่โล่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 และการเผาในพื้นที่เกษตรก็เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญด้วยเช่นกัน บทความนี้จึงทำการสำรวจการปฏิบัติการจริงในการทำนาแบบไม่เผาฟางในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาเชิงพื้นที่และเชิงนโยบายต่อไป


การเผาในพื้นที่เกษตร

การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากระหว่างปี 2553 – 2562 โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมจุดความร้อนและการใช้ที่ดินของเจน ชาญณรงค์ และคณะ (2564) พบว่า จากพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก 9,726,247 ไร่ เป็นพื้นที่ป่า 6,337,501 ไร่ (65.16%) ภาคเกษตร 3,145,414 ไร่ (32.34%) หรือประมาณหนึ่งในสามของการเผาทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นการเผาประเภทอื่นในที่โล่ง 

เมื่อแยกย่อยมาสู่พื้นที่เผาวัสดุการเกษตร จะพบว่า พื้นที่นาข้าวเป็นพื้นที่ที่มีการเผามากที่สุด (21.74%)  ตามมาด้วยไร่ข้าวโพด (6.05%) พื้นที่เกษตรอื่นๆ (2.83%) และไร่อ้อย (1.71%)(อ้างใน TDRI, 2567)


ผลกระทบของการเผาฟางข้าว

ศรินยา ประทีปชนะชัย และคณะ (2567) ได้ทำการวิจัยพบว่า ปริมาณฝุ่นละอองเชิงมวล PM2.5 ในบรรยากาศของการเผาตอซังและฟางข้าว ซึ่งถูกปล่อยทิ้งไว้ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีปริมาณความชื้นแตกต่างกัน ในช่วงระยะเวลา 0, 10, 20 และ 30 วัน พบว่าการเผาตอซังและฟางข้าวที่ปล่อยทิ้งไว้ในพื้นที่เพาะปลูกเป็นระยะเวลานานทำให้ปริมาณความชื้นลดลงเหลือร้อยละ 80.8, 46.8, 24.5 และ 12.7 (ความชื้นมาตรฐานเปียก) ส่งผลให้เกิดปริมาณฝุ่นละอองเชิงมวล PM2.5 ในบรรยากาศมีปริมาณลดลง เท่ากับ 35, 30, 24 และ 21 กรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ กล่าวโดยย่อคือ ยิ่งรีบเผาฟางเปียกยิ่งมี PM2.5 มากขึ้น

ทั้งนี้ ในการวิจัยเดียวกันพบว่า อัตราการปลดปล่อยฝุ่นละอองเชิงมวล PM2.5 มีค่าเท่ากับ 5.4 กรัมต่อกิโลกรัมของตอซังและฟางข้าว ฉะนั้น หากการทำนา 1 ไร่ มีฟางและตอซังเหลือประมาณ 650 กิโลกรัม การเผานาหนึ่งไร่อาจทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ได้ 3,510 กรัมต่อไร่ หรือประมาณ 3 กิโลครึ่งต่อไร่

ในภาพรวมของประเทศ ประเทศไทยมีฟางเหลือจากการทำนาประมาณ 30 ล้านต้น/ปี มีการนำไปใช้ประโยชน์ประมาณ 6.4 ล้านตัน/ปี เหลือที่ไม่ได้ประโยชน์ซึ่งส่วนหนึ่งจะถูกเผาอีกประมาณ 23.6 ล้านตัน/ปี (กรมส่งเสริมการเกษตร อ้างใน อิชย์อาณิคม์ และชลธิชา, 2567)


ปัญหาของการทำนาแบบไม่เผาฟาง

การสำรวจการทำนาของ Think Forward Center เริ่มต้นที่ อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง พี่น้องชาวนาในอำเภอสามโก้ บอกว่า ที่ชาวนาจำเป็นต้องเผาฟางมาจาก 2 เงื่อนไขหลักๆ คือ หนึ่ง (และสำคัญที่สุด) ผู้บริการไถนาไม่อยากไถนาที่มีฟางข้าว เพราะฟางข้าวทำให้ไถนายากและใช้เวลาไถนานกว่า ถ้าให้ไถนาแบบมีฟางข้าว ค่าจ้างไถนาจะเพิ่มขึ้นจาก 200 บาท/ไร่ เป็น 280 บาท/ไร่ และ สอง ถ้าจะต้องหมักฟางข้าวให้ยุ่ยก่อนจะทำให้ทำนารอบถัดไปช้าไป 15 วัน


ทางออกของการทำนาแบบไม่เผาฟาง

ต่อมาที่ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ผมได้เจอกับพี่บุญฤทธิ์ หอมจันทร์ ชาวนามืออาชีพที่ทำนาแบบเปียกสลับแห้งและลดโลกร้อน (รายละเอียดดูใน https://think.moveforwardparty.org/article/environment-and-resources/4451/) พบว่า ในกลุ่มของพี่บุญฤทธิ์ ชาวนาส่วนใหญ่ไม่เผาฟาง เพราะมีการใช้ พด. 2 (จุลินทรีย์เร่งการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ) ราดและหมักไว้ก่อน เพื่อย่นระยะเวลาลงเหลือ 7 วัน จากนั้น จึงทำการไถนาปั่นฟาง

พี่บุญฤทธิ์บอกว่า ในตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จะทำการไถแบบไถขวางแนวฟาง ทำให้ไถได้ไม่ยากนัก และมีทีมบริการไถนาหรือทีมวัยรุ่นสนั่นทุ่ง ซึ่งเป็นทีมรับจ้างไถนาโดยไม่ต้องเผาฟาง ทำงานได้เร็วปกติ และที่สำคัญพี่บุญฤทธิ์บอกว่า รับจ้างไถนาที่มีฟางในราคาปกติที่ 200 บาท/ไร่ (ภาพที่ 1 และ 2)



จากนั้น ทีมงานมาสำรวจกันที่พี่พิชิต เกียรติสมพร ชาวนาตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี  พี่พิชิตบอกว่า ทางกลุ่มชาวนาจะมีรถแทรกเตอร์สำหรับบริการไถนาโดยไม่ต้องเผาฟางในราคาสมาชิกกลุ่ม 180 บาท/ไร่ ไม่ใช่สมาชิก 200 บาท/ไร่ เพียงแต่ขอให้ผู้ที่จะไถกลบฟางข้าวและตอซังต้องสั่งให้รถเกี่ยวนวดข้าว ทำการเกี่ยวแบบกระจายฟางด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการไถนา (ภาพที่ 3)



แต่หากชาวนารายใดไม่ได้สั่งให้กระจายฟางเอาไว้ พี่พิชิตบอกว่า ก็จะต้องติดต่อคนรวบรวมฟางให้มารวบรวมฟางไป (ขายให้ฟาร์มปศุสัตว์) โดยชาวนาจะได้เงินประมาณ 80-100 บาท/ไร่ ส่วนฟางที่ได้จะขายได้ในราคาประมาณ 15-25 บาท/ก้อนในเขตภาคกลาง และราคาจะแพงขึ้นในช่วงหน้าแล้ง และหากต้องส่งไปในพื้นที่ไกลๆ เช่นภาคใต้ ราคาอาจขึ้นได้ถึงเกือบ 100 บาท/ก้อน

สุดท้ายมาปิดท้ายกันที่คุณแอน (วลี ชาวบ้านกร่าง) โรงงานภาณุลักษณ์การเกษตร อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่เป็นผู้ออกแบบและผลิตเครื่องอัดฟางเป็นก้อนได้หลายขนาด (ราคาคร่าวๆ ประมาณ 4-7 หมื่นบาทแล้วแต่ขนาด) ซึ่งนอกจากฟางแล้ว เครื่องนี้ยังใช้อัดเปลือกข้าวโพดและอื่นๆ ได้อีก (ภาพที่ 4)



แต่คุณแอนบอกว่า ในภาคกลาง นิยมใช้เครื่องรวบรวมและอัดก้อนฟางอัตโนมัติของบริษัทใหญ่ (ราคาประมาณ 4.5 แสนบาท) ส่วนเครื่องของคุณแอนมักนิยมใช้ในภาคเหนือ อีสาน และ สปป. ลาว นอกจากเครื่องอัดฟางแล้ว คุณแอนยังทำเครื่องสับและอัดใบไม้ให้ออกมาเป็นเชื้อเพลิงอัดเม็ดสำหรับใช้ส่งโรงไฟฟ้าชีวมวลได้อีกด้วย น่าสนใจมากๆ สำหรับผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรรายย่อยท่านนี้

อย่างไรก็ดี ทั้งพี่บุญฤทธิ์ พี่พิชิต และคุณแอน พูดตรงกันว่า อยากให้ชาวนาไถฝังกลบตอซังและฟางข้าวก่อนเป็นทางเลือกแรก เพราะจะเป็นการปรับปรุงดินสำหรับรอบถัดไป คุณแอนบอกว่า เครื่องอัดฟางที่คุณแอนขายเน้นสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงปศุสัตว์ และต้องการจะเก็บฟาง (หรืออื่นๆ) เอาไว้ในช่วงที่ไม่มีฟาง

ทั้งนี้ โดยปกติแล้วฟางข้าวมีปริมาณธาตุอาหารหลักของพืช ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เฉลี่ย 0.51, 0.14 และ 1.55 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณธาตุอาหารรองของพืชได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์ เฉลี่ย 0.47, 0.25, และ 0.17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุจะปรับเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ประหยัดต้นทุนการซื้อปุ๋ย เป็นวงจรการปรับปรุงบำรุงดินที่สำคัญอีกทางหนึ่ง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2567)


วิธีทำน้ำหมัก พด. 2

ช่วงก่อนที่จะเกี่ยวข้าว 7-10 วัน ให้ทำน้ำหมัก พด. 2 ทำง่าย ๆ โดยการใช้กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม ผสมกับรำหยาบ 15 กิโลกรัม ใส่ถังหมักพลาสติกความจุ 100 ลิตร แล้วเติมน้ำสะอาดลงในถังหมักพลาสติก ให้ได้ปริมาณ 100 ลิตร จากนั้นใส่เชื้อจุลินทรีย์ พด. 2 (ขอได้จากสถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่ง) ซึ่งบรรจุอยู่ในซอง 1-2 ซอง ลงในถังหมัก ใช้ไม้คนให้เข้ากันดีแล้วปิดฝาถังหมัก หมักทิ้งไว้ในที่ร่มประมาณ 7-10 วัน เพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อจุลินทรีย์น้ำหมัก จะใช้การได้โดยสังเกตจากการเปิดฝาถังหมักจะพบว่ามีเส้นใยเชื้อราจำนวนมาก

ซึ่งก็พอดีเกี่ยวข้าวเสร็จ หากชาวนารีบเตรียมแปลงก็ให้เอาน้ำหมักที่ใช้การได้แล้วนี้ เทใส่ในนาพร้อมกับการเอาน้ำเข้านาที่เกี่ยวแล้ว ในอัตราการใช้น้ำหมัก 10 ลิตร ต่อไร่ น้ำที่ไหลเข้านาจะกระจายน้ำหมักที่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายฟางข้าวได้ดีไปทั่วแปลงนา ให้แช่น้ำหมักฟางและตอซังข้าวในระดับท่วมตอซังข้าว โดยแช่หมักนานประมาณ 10-14 วัน ฟางและตอซังข้าวจะเปื่อย สามารถไถพรวนดินตีหมักฟางข้าวได้อย่างสบาย ๆ ด้วย (สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา, 2564) และเมื่อทำต่อเนื่องก็จะสามารถลดเวลาในการหมักฟางลงมาเหลือเพียง 7 วันอย่างที่พี่บุญฤทธิ์กล่าวไว้

สรุปและข้อเสนอเชิงนโยบาย

กล่าวโดยสรุป การทำนาแบบไม่เผา ทำได้โดย (ก) ให้รถเกี่ยวนวดข้าวกระจายฟาง (ข) ใช้ พด.2 ช่วยย่อยสลายฟาง (ค) ปรับเทคนิคในการไถนาปั่นฟาง และ (ง) เก็บรวบรวมฟางมาใช้ประโยชน์ แต่สิ่งที่ยังต้องรอคือ เวลาในการย่อยฟาง อย่างน้อย 7 วัน (กรณีใช้ พด2) ถึง 15 วัน ซึ่งไม่ใช่เงื่อนไขข้อจำกัดนักสำหรับการทำนา 2 รอบต่อปี (ไม่ใช่ 3 รอบต่อปี หรือ 2 รอบครึ่งต่อปี) 

เพราะฉะนั้น ในเชิงนโยบาย รัฐบาลอาจให้เงินสนับสนุนเล็กน้อย พร้อมกับเงื่อนไขในการทำนาแบบไม่เผาฟาง หรือสนับสนุนผู้ประกอบการรถเกี่ยวนวดข้าวให้ติดชุดอุปกรณ์กระจายฟาง ก็จะช่วยลดเงื่อนไขในการเผาได้ ซึ่งเมื่อทำแล้วจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรเองด้วย เพียงแต่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนและดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ใช่การรณรงค์แบบไฟไหม้ฟาง




เอกสารอ้างอิง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2567. กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน จับมือบางจาก และบีบีจีไอ สนับสนุนเกษตรกรไทยลดการเผาตอซังและฟางข้าว เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ด้วยจุลินทรีย์ https://www.moac.go.th/news-preview-462791792917 

ศรินยา ประทีปชนะชัย ยุทธณรงค์ จงจันทร์ ธนธัช มั่นมงคล, 2567. ผลกระทบของการเผาตอซังและฟางข้าวต่อปริมาณฝุ่นละอองเชิงมวล PM2.5 ในบรรยากาศ : กรณีศึกษาของชุมชนบ้านชหนองขอน ตำบลเมืองใหม่ อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา https://ojs.lib.buu.ac.th/index.php/science/article/view/9307 

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา, 2564. วิธีทำปุ๋ยอินทรีย์จาก “ฟางข้าว” หมักไม่นาน ลดต้นทุนได้จริง https://www.opsmoac.go.th/chachoengsao-local_wisdom-preview-431591791818 

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ และชลธิชา จันแปงเงิน, 2567. แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร. https://think.moveforwardparty.org/article/agriculture/4243/ 

TDRI, 2567. ปัญหาฝุ่น PM2.5: แนวทางป้องกัน-ลดเผาในที่โล่ง และร่างพ.ร.บ.งบฯ 67. https://tdri.or.th/2024/03/pm2-5-solution-annual-appropriations-bill/ 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า