เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center
เนื่องจาก ภาคเกษตรกรรมปัจจุบันมีการแข่งขันที่เข้มข้น ทั้งจากต่างประเทศ และจากทุนรายใหญ่ในประเทศ ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติด้านการเกษตรกลับทรุดโทรมลง พร้อมๆ กับหนี้สินของคนรุ่นพ่อแม่ที่รอส่งต่อมายังเกษตรกรรุ่นใหม่ การเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่จึงไม่ใช่เรื่องเล่าโรแมนติกแต่อย่างใด แต่เป็นการเผชิญหน้ากับความเสี่ยงและข้อจำกัดนานาประการ
นโยบายการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่จึงไม่สามารถทำเพียงการรณรงค์/ประชาสัมพันธ์/สร้างเครือข่ายได้อีกต่อไป แต่จะต้องมีกรอบนโยบายที่พร้อมสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ในทุกๆด้านที่เกษตรกรรุ่นใหม่จะต้องเผชิญ (และอาจเผชิญแตกต่างกัน) ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงที่ดิน การมีทักษะแรงงาน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง
บทความนี้จะนำเสนอแนวทางการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ใน 2 ระดับคือ (ก) ในระดับปัจเจก หรือการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่แต่ละราย ให้สามารถเข้าสู่ภาคเกษตร แข่งขัน และดำรงอยู่ได้ และ (ข) การพัฒนาเครือข่าย Young Smart Farmers หรือ YSF ในระดับจังหวัด เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินการของส่วนแรก

แนวทางการสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่แต่ละราย
แน่นอนว่า เงื่อนไขในการเข้าสู่ภาคการเกษตรของเกษตรกร/คนรุ่นใหม่แต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันไป แต่เพื่อให้มองเห็นการทำงานร่วมกันในเชิงนโยบาย บทความนี้ขอแบ่งกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่แยกเป็น 4 ลักษณะด้วยกัน ซึ่งการสนับสนุนในเชิงนโยบายต้องให้สอดคล้องและเหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่มีทักษะการเกษตร และมีทรัพย์สินการเกษตรจากรุ่นพ่อแม่อยู่แล้ว (โดยเฉพาะที่ดิน) กลุ่มนี้มีความพร้อมในการสานต่อการเกษตรมากที่สุด แต่สิ่งที่จะช่วยให้เกษตรรุ่นใหม่กลุ่มนี้ เดินหน้าต่อไปได้เร็วขึ้น ประกอบด้วย (ก) การได้รับคำแนะนำและการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร/สินค้าเกษตรแปรรูปฟรี (ข) การได้รับการประกันสินเชื่อเพื่อการเกษตรและธุรกิจต่อเนื่อง และสนับสนุนเงินร่วมลงทุน (และการรวมกลุ่ม) สำหรับธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแปรรูปสินค้าเกษตรในพื้นที่และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (ค) การจ้างงานของภาครัฐในการให้บริการทางเทคโนโลยีกับเกษตรกรในพื้นที่ เช่น สัตวบาล/สัตว์แพทย์ การตรวจวิเคราะห์ดิน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล/ปัญญาประดิษฐ์ในการเกษตร การรวบรวมวัสดุเพื่อลดการเผาในพื้นที่เกษตร และอื่นๆ โดยจะถือเป็นรายได้เสริมสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่อีกทางหนึ่งด้วย
- กลุ่มที่มีทักษะการเกษตร แต่ไม่มีทรัพย์สินการเกษตร (โดยเฉพาะที่ดิน) กลุ่มนี้ต้องการมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกลุ่มแรก (ข้อ ก. ถึง ค.) คือ การเข้าถึงที่ดินเพื่อการเกษตร โดยจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ (ง) การจัดหาแปลงเพาะปลูกขนาดเล็กที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมเพื่อการเริ่มต้นฟรีในระยะเวลา 1-3 ปีแรก (จ) การสนับสนุนการเช่าที่ดินการเกษตรระยะยาวจากเกษตรกรผู้สูงอายุและผู้ที่มีที่ดินรกร้างว่างเปล่า (หลังจากผ่านการทดลองในช่วง 3 ปีแรก) รวมถึงการเช่าซื้อที่ดินของรัฐที่หมดสัมปทาน (ที่ให้เอกชนเช่าใช้ประโยชน์มานานแล้ว) และ (ฉ) การสนับสนุนทุนและเทคโนโลยี ให้สามารถเป็นผู้รับจ้างในการให้บริการทางการเกษตรแบบมืออาชีพกับเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลง เช่น การติดตั้งระบบน้ำและระบบโซลาร์เซลล์ การบริการเครื่องจักรกล/โดรนการเกษตร การผลิตอาหารหยาบ/อาหารผสมสำหรับเกษตรกรในพื้นที่
- กลุ่มที่ไม่มีทักษะการเกษตรมาก่อน แต่มีทรัพย์สินการเกษตรจากรุ่นพ่อแม่ และสนใจหรือจำเป็นต้องมาทำการเกษตร ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับ (ช) การสนับสนุนการฝึกอบรมในภาคการเกษตร เช่น คูปองฝึกทักษะการเกษตร 5,000 บาท/คน/ปี รวมกับมาตรการอื่นๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น แต่หากคนรุ่นใหม่รายใดที่ไม่สนใจในอาชีพเกษตร เราจะสนับสนุนให้ (ซ) มีการร่วมลงทุนในการเกษตรที่มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เช่น การปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่า และการปรับปรุงพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวเชิงเกษตร/เชิงนิเวศ เพื่อเป็นรายได้เสริมหรือ passive income ในระยะยาว รวมถึง การให้เช่าที่ดินเพื่อการเกษตรระยะยาวสำหรับกลุ่มที่ 2 (หรือกลุ่มที่มีทักษะ แต่ไม่มีทรัพย์สิน)
- กลุ่มที่ไม่มีทักษะ และไม่มีทรัพย์สิน (สุทธิ) ตรงกันข้ามกลับมีหนี้สินคงค้างจากรุ่นพ่อแม่ ซึ่งอาจจะกลายเป็น “หนี้สินข้ามรุ่น” เพราะฉะนั้น จะต้องมี (ฌ) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ให้เกษตรกรผู้สูงอายุ (รุ่นพ่อแม่) โดยเริ่มจากอายุ 70 ปีขึ้นไปก่อน (แล้วจึงเขยิบมา 60 ปีขึ้นไป) โดยจะมีมาตรการลดเงินต้น (หรือ hair cut) สำหรับเกษตรกรที่ชำระหนี้มาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ หรือมาตรการบริหารทรัพย์สิน เช่น การเช่าใช้พื้นที่ระยะยาว (ไม่เกินครึ่งหนึ่งของที่ดินที่มีอยู่) โดยรัฐบาลจะชำระหนี้ที่เหลืออยู่ให้ก่อน พร้อมๆ กับการวิเคราะห์มาตรการสนับสนุนที่เหมาะสมจากเกษตรกรรุ่นใหม่ใน 3 กลุ่มแรก

รูปแบบธุรกิจ (หรือ Business Models) สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่
การสานต่อหรือการเข้าสู่กิจการเกษตรและธุรกิจการเกษตร ของเกษตรกรรุ่นใหม่ ในประเทศทำได้หลายรูปแบบ ตามความสนใจและเงื่อนไขที่แตกต่างกันของเกษตรกรรุ่นใหม่แต่ละคน โดยเบื้องต้น เราอาจแบ่งรูปแบบธุรกิจสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็น 8 รูปแบบ ดังนี้
- การสืบทอดการทำฟาร์มต่อจากพ่อแม่โดยตรง และดำเนินกิจกรรมหลักต่อจากพ่อแม่ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการบางส่วนในภายหลัง เกษตรกรรุ่นใหม่ในกลุ่มนี้ อาจไม่มีปัญหาในเชิงทักษะความชำนาญ และทรัพย์สินในการดำเนินการ (เพราะได้รับสืบทอดจากพ่อแม่) แต่ก็ต้องทำความเข้าใจในรูปแบบการบริหารจัดการฟาร์มกับพ่อแม่ให้ได้
- การสืบทอดที่ดินของพ่อแม่ (อาจเป็นบางส่วน) แต่เปลี่ยนมาดำเนินการในกิจการอื่นๆ ของตนเอง ซึ่งไม่ใช่กิจการเดิมของพ่อแม่ ซึ่งอาจเกิดจากความสนใจ ความชำนาญ หรือโอกาสในการทำกำไรในช่วงนั้นๆ เกษตรกรกลุ่มนี้ แม้จะเข้าถึงที่ดินได้ แต่อาจจำเป็นต้องมีเงินลงทุน และความชำนาญเพิ่มเติมสำหรับกิจการใหม่
- การรับภารกิจด้านการตลาด (รวมถึง การแปรรูป) จากพ่อแม่ แต่ยังไม่ได้เข้าไปทำกิจกรรมด้านการผลิตพืชผลการเกษตรโดยตรง เพราะอาจยังไม่มีเวลา ไม่มีความชำนาญ หรือพ่อแม่ยังต้องการทำกิจกรรมการเกษตรต่อไป รูปแบบธุรกิจแบบนี้ เกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก หากเกษตรกรมีทักษะในการบริหารจัดการการตลาด และสามารถดำเนินการควบคู่กับการทำงานประจำหรืองานอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย
- การเริ่มต้นทำการเกษตรด้วยตนเอง โดยไม่ได้อาศัยทรัพย์สินของพ่อแม่ รูปแบบนี้ อาจเกิดขึ้นจากความรัก/ความสนใจด้านการเกษตรเฉพาะบุคคล เช่น การทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง การเพาะเลี้ยงไม้ประดับ แต่รูปแบบธุรกิจแบบนี้จะมีข้อจำกัดในแง่เงินลงทุน (เช่น ที่ดิน) จึงมักเกิดขึ้นในกรณีผลผลิตมีมูลค่าสูง หรือไม่จำเป็นต้องใช้ที่ดินมากนัก หรือเกษตรกรรุ่นใหม่มาจากผู้ที่มีความพร้อมด้านเงินทุน (ซึ่งคงมีไม่มากนัก)
- การทำหน้าที่ด้านการตลาดและการแปรรูปให้กับเกษตรกร โดยไม่ได้ใช้ฐานการผลิตจากพ่อแม่เป็นหลักเหมือนในข้อ 3 แล้ว ซึ่งรูปแบบธุรกิจลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจาก (ก) การขยายจากฟาร์มของพ่อแม่ตามข้อ 4 มาสู่ฟาร์มอื่นๆในบริเวณนั้น หรืออาจมาจาก (ข) ความตั้งใจในการทำธุรกิจลักษณะนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น เช่น การรวบรวมและแปรรูปกาแฟ โกโก้ และช็อคโกแลต การดำเนินธุรกิจในรูปแบบนี้นอกจากจะอาศัยความรู้ความชำนาญอย่างมาก ยังต้องอาศัยทักษะทางสังคมในการทำงานร่วมกับเกษตรกร และต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
- การทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและร้านอาหาร ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้อาจขยายมาจากรูปแบบที่ 3 (รับช่วงเฉพาะการตลาดมาจากพ่อแม่) หรืออาจตั้งใจทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยว/ร้านอาหาร/ที่พักเป็นหลักมาตั้งแต่ต้น ซึ่งก็จะคล้ายรูปแบบที่ 5 เพียงแต่ว่า การดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยว/ร้านอาหาร/ที่พัก จำเป็นต้องทักษะด้านการบริการเพิ่มเติม และจำเป็นต้องมีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม หรือมีรูปแบบการให้บริการ/ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ด้วย
- การให้บริการทางการเกษตร โดยเฉพาะการรับจ้างทำกิจกรรมทางการเกษตร เช่น เครื่องดำนา โดรน การเก็บเกี่ยว การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร การวิเคราะห์ข้อมูล เกษตรกรรุ่นใหม่กลุ่มนี้ อาจไม่จำเป็นต้องทำการเกษตรเองโดยตรง แต่มีทักษะ และเครื่องมือเฉพาะในการให้บริการกับเกษตรกรภายในพื้นที่ ดังนั้น นอกเหนือจากทักษะความชำนาญแล้ว เกษตรกรรุ่นใหม่กลุ่มนี้ จำเป็นต้องมีเงินทุนสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จำเป็นด้วย
- การให้บริการด้านการเกษตรเฉพาะด้าน (คล้ายรูปแบบที่ 7) แต่มีการเปิดให้บริการสาธารณะ (หรือบริการประชาชน) เสริมด้วย เช่น เปิดร้านสัตวแพทย์ แต่ทำหน้าที่เป็นสัตว์แพทย์อาสาภายในชุมชนด้วย หรือรับจ้างและให้คำแนะนำในการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าด้วย ซึ่งรูปแบบธุรกิจนี้ยังเกิดขึ้นน้อยในประเทศไทย เพราะรัฐบาล/หน่วยราชการยังไม่นิยมการจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการเป็นรายชิ้นงาน แต่มักนิยมจ้างพนักงาน/ข้าราชการประจำมากกว่า

รูปแบบการทำงานด้านการส่งเสริมการเกษตร
ก่อนที่จะกล่าวถึง แนวทางการพัฒนาศักยภาพของเครือข่าย Young Smart Farmers ของกล่าวถึงรูปแบบการทำงานส่งเสริมการเกษตร ในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบหลักๆ ได้แก่
- ดำเนินการผ่านเจ้าหน้าที่ภาครัฐส่วนกลางโดยตรง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรม
- ดำเนินการผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล จัดทำโครงการส่งเสริมการเกษตรขึ้นมา แล้วให้ชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ อปท. เป็นผู้ดำเนินการ
- ดำเนินการผ่านอาสาสมัครของภาครัฐโดยตรง เช่น หมอดินอาสา อาสาสมัครกรมชลประทาน ส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนรายกิจกรรม ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันทั่วประเทศ เช่น การวิเคราะห์ค่าดิน บางครั้ง การดำเนินการรูปแบบนี้ อาจเกี่ยวพันกับการดำเนินการในรูปแบบแรก เพราะหน่วยงานของรัฐเป็นผู้กำหนด/จัดสรรงบประมาณให้อาสาสมัครดำเนินการ
- ดำเนินการผ่านเครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น Young Smart Farmers ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น โดยการสนับสนุนจะเป็นลักษณะกิจกรรมพื้นฐานของเครือข่ายมากกว่า เช่น การประชุม/ฝึกอบรมประจำปี ส่วนเครือข่าย YSF แต่ละจังหวัดจะไปดำเนินการอื่นใดก็แล้วแต่เครือข่าย และโดยส่วนใหญ่เครือข่าย YSF จะเป็นผู้ระดม/แบ่งปันทุนในการจัดกิจกรรมนั้นๆ ขึ้นมา
ข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับการทำงานด้านส่งเสริมการเกษตรในประเทศไทย
- งบประมาณด้านการส่งเสริมการเกษตรไม่ใช่งบประมาณส่วนใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้การทำงานด้านการส่งเสริมการเกษตรจึงมีขอบเขตและมีเป้าหมายที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเกษตรกรและสถานการณ์ปัญหาที่เผชิญอยู่
- งบประมาณด้านการส่งเสริมการเกษตรขององค์การบริหารส่วนจังหวัดค่อนข้างน้อยและแตกต่างหลากหลายกันตามแต่นโยบายของ อบจ. ในแต่ละจังหวัด ทำให้การส่งเสริมการเกษตรผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่น อบจ. ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ ส่วนงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลยังไม่มีตัวเลขที่รวบรวมเป็นระบบที่ชัดเจน
- การดำเนินงานด้านส่งเสริมการเกษตรในประเทศไทยส่วนใหญ่ดำเนินการผ่านรูปแบบแรก คือการดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือดำเนินการในรูปแบบรูปแบบที่สามคือ การดำเนินการผ่านอาสาสมัครของหน่วยงานภาครัฐ จากการดำเนินการของอาสาสมัครก็ยังเป็นงบประมาณที่ไม่มากนักเทียบกับสถานการณ์ปัญหาที่มีอยู่ และยังไม่สามารถที่จะริเริ่มแนวทางการดำเนินนโยบายใหม่ใหม่ได้ด้วยตนเอง
- งบประมาณสำหรับการทำงานด้านส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบเครือข่ายเช่น Young Smart Farmer มีจำนวนน้อยมาก กล่าวคือ ในงบประมาณปี 2568 เครือข่าย YSF ได้รับงบประมาณ 8.68 ล้านบาท (สำหรับ YSF จำนวน 2,250 ราย) หรือเฉลี่ยประมาณ 112,000 บาท/จังหวัด ทำให้การทำงานของเครือข่าย Young Smart Farmer จึงมีลักษณะเป็นเครือข่ายหลวมหลวมที่ไม่สามารถจะมีทรัพยากรในการบริหารจัดการเครือข่ายและส่งเสริมการเกษตรได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง ทั้งๆ ที่ภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ในการดำเนินงานด้านส่งเสริมการเกษตรแบบใหม่ๆ ทั่วถึง และในรูปแบบที่ไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐในระยะยาวได้อย่างดี ทั้งยังเป็นรูปแบบที่สอดคล้องและเสริมหนุนการใช้กลไกตลาดอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นของพี่น้องเกษตรกรไปด้วยในตัว

แนวทางการพัฒนาศักยภาพของเครือข่าย Young Smart Farmers ในระดับจังหวัด
Thnik Forward Center เสนอรูปแบบและแนวทางในการเพิ่มบทบาทของเครือข่าย Young Smart Farmers อาจแบ่งได้เป็น 5 ด้าน ได้แก่
- ให้ YSF ในแต่ละจังหวัดสามารถมีงบประมาณที่เพียงพอในการบริหารจัดการโครงการสร้าง/สนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ภายในจังหวัด และช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนธุรกิจ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนเช่น ธกส. และธนาคารพาณิชย์ได้ รวมถึงอาจทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการปรับโครงสร้างหนี้แก่พี่น้องเกษตรกรอีกด้วย โดยได้รับงบประมาณเป็นรายปี และมีการกำหนดเป้าหมายที่สอดคล้องกับศักยภาพของ YSFและสถานการณ์ในแต่ละจังหวัด
- ให้ YSFแต่ละจังหวัด มีงบประมาณสำหรับสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด ทั้งในจังหวัด นอกจังหวัด และตลาดต่างประเทศ เพื่อช่วยขยายตลาดให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ และเกษตรกรทั่วไปในจังหวัด โดยมีการกำหนดเป้าหมายเป็นรายปี และทำงานต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี เพื่อช่วยยกระดับพี่น้องเกษตรกรให้เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดได้อย่างจริงจัง
- สนับสนุนให้ YSF ในแต่ละจังหวัด สามารถเป็นหน่วยงานตรวจรับรองมาตรฐาน เช่น GAP, GMP, เกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มจากจังหวัดที่มีความพร้อม เพื่อลดปัญหาคอขวด ความล่าช้า และการสวมสิทธิ์ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างครบวงจร รวมถึง ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ระบบรับรองแบรนด์มาตรฐานประจำจังหวัด (ตามนโยบายของบาง อบจ.) และยังช่วยพัฒนาคุณภาพของสินค้าเกษตร/เกษตรแปรรูปในจังหวัดในระยะยาวด้วย
- สนับสนุนให้ YSF ในแต่ละจังหวัด สามารถทำหน้าที่เป็นพื้นที่/จุดเชื่อมต่อข้อมูลดิจิทัลด้านการเกษตรภายในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ค่าดิน (ทำงานร่วมกับหมอดินอาสา) ข้อมูลแหล่งน้ำ และสถานการณ์น้ำภายในจังหวัด ข้อมูลด้านราคา รวมถึงสามารถให้คำแนะนำกับเกษตรกรในการเข้าถึงข้อมูลและใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ดีขึ้น
- ให้ YSF ทำหน้าที่ตัวกลางในการระดมความคิดเห็นในการกำหนดโจทย์วิจัยด้านการเกษตร ประจำจังหวัด ร่วมกับ สกสว. เพื่อให้การพัฒนางานวิจัยให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกรรุ่นใหม่ และเกษตรกรทั่วไปภายในจังหวัด มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน การเป็นตัวเชื่อมโยงให้เกิดการนำผลงานวิจัยต่างๆ ไปใช้ประโยชน์จริงๆ ในพื้นที่ด้วย
ส่วนการพัฒนาอื่นๆ เช่น การมีส่วนร่วมในการพิจารณางบประมาณในแผนบูรณาการระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด การมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ/พื้นที่เรียนรู้ด้านการเกษตรภายในจังหวัด หรือ การจัดฝึกอบรมด้านอื่นๆ ตามสถานการณ์ ให้เป็นกิจกรรมพื้นฐานของเครือข่าย YSF ในแต่ละจังหวัด โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณพื้นฐานที่เพียงพอในการดำเนินการ
นอกจากงบประมาณของภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว เครือข่าย YSF ยังสามารถระดมทุนและทรัพยากรจากองค์กรอื่นๆ ภายในจังหวัด โดยเฉพาะภาคเอกชน และชุมชนหรือภาคประชาสังคม ได้ด้วย
หากหน่วยงานของรัฐส่วนกลาง และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ยังไม่มั่นใจในการดำเนินการของเครือข่าย YSF สามารถทดลองดำเนินการได้ โดยเริ่มต้นร่วมกับเครือข่าย YSF ในบางจังหวัด ในกรอบเวลาและกระบวนการที่สามารถเรียนรู้และปรับตัวในการบริหารจัดการร่วมกันได้ (adaptive management framework) เช่นระยะเวลา 2-3 ปี