การลดการเกณฑ์ทหาร: หนทางในการลดงบประมาณรายจ่ายบุคลากรกระทรวงกลาโหม

โดย เดชรัต สุขกำเนิด

In Focus

  • งบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นจาก 103,293.6 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 ขึ้นเป็น 105,034 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 หรือเพิ่มขึ้น 1.7% ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ลดลง 1.3% และ 6% จากปีก่อน
  • งบรายจ่ายบุคลากรของกองทัพกำลังเป็นภาระงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ โดยงบรายจ่ายบุคลากรของกองทัพมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 45.4% ของงบประมาณกลาโหม ในปี 2563 มาเป็น 51.7% ในปีงบประมาณ 2565
  • กองทัพไทยของเรามีอัตรากำลังพลต่อกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น จาก 0.95% ของกำลังแรงงาน ในปี 2533 มาเป็น 1.17% ของกำลังแรงงาน ในปี 2561 (หรือเพิ่มขึ้น 23% โดยเปรียบเทียบ) ในขณะที่ภาพรวมของทั้งโลกมีอัตรากำลังพลต่อแรงงานลดลงจาก 1.11% มาเป็น 0.81% ของกำลังแรงงาน ในช่วงเวลาเดียวกัน (หรือลดลง 27% โดยเปรียบเทียบ)
  • แต่ละปีประเทศไทยมีการเกณฑ์ทหารปีละประมาณ 100,000 คน และมีทหารกองประจำการ (หรือทหารเกณฑ์) ทั้งหมดในปี 2563 ประมาณ 134,618 คน ซึ่งจะใช้งบประมาณราว 16,000 ล้านบาท/ปี
  • การลดจำนวนทหารเกณฑ์จึงเป็นหนทางสำคัญในการลดงบบุคลากรของกองทัพลง โดยควรตั้งเป้าหมายเบื้องต้นอย่างน้อยลดงบประมาณทหารเกณฑ์ลงครึ่งหนึ่งหรือ 8,000 ล้านบาท หรือลดจำนวนทหารกองประจำการลง 65,000 คน
  • ในสถานการณ์โควิด-19 งบประมาณดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการจ้างงานผู้คนจำนวนเท่ากัน แต่ขยายเป็นการจ้างงานที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในแง่ของ (ก) เพศสภาพ (ข) อายุ (ค) สภาพร่างกาย และ (ง) ลักษณะ/สาขาการทำงาน โดยรัฐสามารถกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในสาขาที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น และสามารถเข้าสู่การประกอบอาชีพได้ในภายหลัง เช่น การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลส่วนบุคคล เป็นต้น


งบบุคลากรกลาโหมกำลังเป็นภาระงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในขณะที่งบประมาณหลายหมวดและหลายหน่วยงานจะถูกกดให้ลดลง ตามงบประมาณโดยรวมที่ลดลง 5.7% จากปีก่อน แต่หนึ่งในหมวดงบประมาณที่จมไม่ลง และกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นคือ งบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นจาก 103,293.6 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 ขึ้นเป็น 105,034 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 หรือเพิ่มขึ้น 1,741 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อน) 

ถ้าเปรียบเทียบกับงบประมาณรายจ่ายบุคลากรทั้งประเทศ เราจะพบว่า งบประมาณบุคลากรต่องบประมาณบุคลากรทั้งประเทศกำลังเพิ่มขึ้นจาก 13.2% ในปี 2564 ขึ้นมาเป็น 13.7% ในปี 2565 หรือกล่าวได้ว่า บุคลากรของกระทรวงกลาโหมกำลังกลายเป็นภาระงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับบุคลากรของรัฐทั้งประเทศ

บุคลากรของกระทรวงกลาโหมกำลังกลายเป็นภาระงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับบุคลากรของรัฐทั้งประเทศ

ถ้าเปรียบเทียบกับงบบุคลากรของกระทรวงที่ถูกปรับลด เราจะเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับงบรายจ่ายบุคลากรลดลงจาก 116,557.7 ล้านบาท ในปี 2564 เหลือ 115,008.3 ล้านบาท ในงบปี 2565 หรือลดลง 1,549.4 ล้านบาท (หรือลดลง 1.33%) และกระทรวงศึกษาธิการ งบรายจ่ายบุคลากรลดลงจาก 225,446.3 ล้านบาท ในปี 2564 เหลือ 211,889.3 ล้านบาทในงบปี 2565 หรือลดลงถึง 13,557 ล้านบาท (หรือลดลงถึง 6%) 

นับเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า ในยุควิกฤตโควิด-19 รัฐบาลพลังประชารัฐกลับเพิ่มความสำคัญของกำลังพลของกองทัพ มากกว่ากำลังคนในภาคสาธารณสุขและการศึกษา

ยิ่งไปกว่านั้น การเพิ่มขึ้นของกำลังพลและงบบุคลากรของกองทัพยังมีผลเสียต่องบประมาณของกระทรวงกลาโหมเองด้วย เพราะหากเทียบกับงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงกลาโหมเอง เราจะพบว่า งบรายจ่ายบุคลากรของกองทัพกำลังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 45.4% ของงบประมาณกลาโหม ในปี 2563 มาเป็น 51.7% ในปีงบประมาณ 2565 

นั่นแปลว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหมจะถูกแบ่งไปเป็นงบรายจ่ายบุคลากรมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งน่าจะสวนทางกับเทคโนโลยีในการป้องกันประเทศ ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่ากำลังพลแบบเดิม หรืออาจจะกล่าวได้ว่า งบประมาณที่จะนำมาลงทุนในกองทัพกลับหมดไปกับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของกองทัพที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา


การลดกำลังพลคือทิศทางหลักของกองทัพทั่วโลก 

เพื่อให้เห็นภาพแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในด้านกำลังพลของทั่วโลก จึงขอนำเสนอข้อมูลจาก Our World in Data เทียบเป็นอัตรากำลังพลของกองทัพต่อประชากร พบว่า กองทัพไทยมีอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้นจาก 0.45% ของประชากร ในปี 2528 เป็น 0.66% ของประชากร ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 45% โดยเปรียบเทียบ 

ในขณะที่ภาพรวมของโลกมีอัตรากำลังพลลดลงจาก 0.46% ของประชากรในปี 2528 (มากกว่าไทยในปีนั้นเล็กน้อย) มาเป็น 0.37% ของประชากร ในปี 2558 (น้อยกว่าไทยเกือบครึ่งหนึ่ง) หรือหากเทียบระหว่าง 2 ช่วงเวลา ภาพรวมของกองทัพทั้งโลกต่อประชากรลดลงถึง 19%

หากพิจารณาจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (Middle income countries) อัตรากำลังพลลดลงจาก 0.38% มาเป็น 0.34% ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลง 8% ส่วนประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper middle income countries) อัตรากำลังพลลดลงจาก 0.44% มาเป็น 0.38% ของประชากรในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลง 14% โดยเปรียบเทียบหรือหากเปรียบเทียบต่อกำลังแรงงานจากข้อมูลของ World Bank พบว่า กองทัพไทยของเรามีอัตรากำลังพลต่อกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น จาก 0.95% ของกำลังแรงงาน ในปี 2533 มาเป็น 1.17% ของกำลังแรงงาน ในปี 2561 (หรือเพิ่มขึ้น 23% โดยเปรียบเทียบ) ในขณะที่ภาพรวมของทั้งโลกลดลงจาก 1.11% (มากกว่าไทย) มาเป็น 0.81% (น้อยกว่าไทย) ของกำลังแรงงาน ในช่วงเวลาเดียวกัน (หรือลดลง 27% โดยเปรียบเทียบ)

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ที่มีอัตรากำลังพล 0.75% ของกำลังแรงงานในปี 2561 และ กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงที่มีอัตรากำลังพล 0.70% ของกำลังแรงงานในปีเดียวกัน) แล้วพบว่า ประเทศไทยมีอัตรากำลังพลต่อกำลังแรงงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งสองกลุ่มประเทศ (ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่) ถึง 56% และ 67% ตามลำดับ


การลดจำนวนทหารเกณฑ์คือหนึ่งในทางออก

แนวทางหนึ่งที่สามารถลดกำลังพลและลดรายจ่ายบุคลากรลงคือ การลดจำนวนทหารเกณฑ์ลง เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีการเกณฑ์ทหารปีละประมาณ 100,000 คน (ล่าสุดในปี 2564 มีการเกณฑ์ทหาร 97,558 คน/ปี) ขณะเดียวกัน ข้อมูลทหารกองประจำการ (หรือทหารเกณฑ์) ทั้งหมดในปี 2563 คือ 134,618 คน 

ทั้งนี้ พบว่า เมื่อทหารเกณฑ์แต่ละคนเริ่มเข้ารับราชการจะได้รับค่าตอบแทน 9,904 บาท/เดือน แบ่งเป็นเงินเดือน 1,630 บาท, เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พชค.) คนละ 5,394 บาท และเบี้ยเลี้ยงวันละ 96 บาท (2,880 บาท/เดือน) ทั้งนี้ไม่รวมถึง ทหารเกณฑ์ในหน่วยที่ปฏิบัติงานราชการสนามตามแนวชายแดน เช่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับเงินเพิ่มเติม ประกอบด้วย เบี้ยเลี้ยงสนามวันละ 104 บาท/คน (เดือนละ 3,120 บาท) ค่าเลี้ยงดูวันละ 6 บาท/คน ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มของเบี้ยเลี้ยง (เดือนละ 180 บาท) เบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท

หากนำตัวเลขขั้นต่ำ 9,904 บาท/เดือน มาคูณกับ 134,618 คน งบประมาณที่ต้องใช้สำหรับทหารกองประจำการสูงถึง 16,000 ล้านบาท/ปี 

หากนำตัวเลขขั้นต่ำ 9,904 บาท/เดือน มาคูณกับ 134,618 คน งบประมาณที่ต้องใช้สำหรับทหารกองประจำการสูงถึง 16,000 ล้านบาท/ปี

เพราะฉะนั้น การลดจำนวนทหารเกณฑ์จึงเป็นหนทางสำคัญในการลดงบบุคลากรของกองทัพลง โดยควรตั้งเป้าหมายเบื้องต้นอย่างน้อยลดงบประมาณทหารเกณฑ์ลงครึ่งหนึ่งหรือ 8,000 ล้านบาท หรือลดจำนวนทหารกองประจำการลง 65,000 คน 

ทั้งนี้ แม้ว่า หากมีการลดจำนวนทหารเกณฑ์หรือทหารกองประจำการลงครึ่งหนึ่งแล้ว อัตรากำลังพลต่อกำลังแรงงานของไทยก็จะเท่ากับประมาณ 1.0% ของกำลังแรงงาน ซึ่งก็ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (0.8%) อยู่ดี


ประโยชน์ของการลดจำนวนทหารเกณฑ์ 

นอกจากการลดจำนวนทหารเกณฑ์จะมีผลดีต่อการลดงบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกองทัพลงแล้ว การลดจำนวนทหารเกณฑ์ยังมีผลดีทางเศรษฐกิจอีกด้วย เพราะการเกณฑ์ทหารคือ การนำแรงงานออกจากสาขาการผลิตที่แรงงานผู้นั้นดำเนินการอยู่ (และน่าจะมีผลิตภาพการผลิตสูงกว่า) หรือเป็นการเสียโอกาสของรายได้ โดยผลการศึกษาจากประเทศพัฒนาแล้ว (หรือกลุ่มประเทศ OECD) พบว่า การเกณฑ์ทหารจะส่งผลกระทบทางลบต่อ GDP ได้มากถึง 1% ของ GDP

ขณะเดียวกัน การศึกษาของ Amara (2019) เรื่อง Revisiting the justification for an all-volunteer force ก็พบว่า ทหารที่เป็นทหารโดยสมัครใจจะมีประสิทธิผล มีคุณภาพ มีประสบการณ์สะสม มากกว่าทหารเกณฑ์ ทำให้เมื่อคำนวณต้นทุนโดยรวมแล้ว ไม่ใช่คำนวณเฉพาะเงินเดือน/ค่าตอบแทนบุคลากร การคัดเลือกทหารโดยสมัครใจจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าทหารเกณฑ์เสียอีก

ทั้งนี้ ในระยะสั้น อาจผู้โต้แย้งว่า งบประมาณ 8,000 ล้านบาท สำหรับทหารเกณฑ์ประมาณ 65,000 คนคือ การจ้างงานสำหรับประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงในช่วงสถานการณ์โควิด-19 Think Forward Center ขอเสนอให้รัฐบาลนำงบประมาณดังกล่าว ไปใช้ในการจ้างงานผู้คนจำนวนเท่ากัน (คือ 65,000 คน) โดยเป็นการจ้างงานที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในแง่ของ (ก) เพศสภาพ (ข) อายุ (ค) สภาพร่างกาย และ (ง) ลักษณะ/สาขาการทำงาน โดยอาจทำให้เกิดการจ้างงานในสาขาที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น และสามารถเข้าสู่การประกอบอาชีพได้ในภายหลัง เช่น การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลส่วนบุคคล เป็นต้น

Think Forward Center ขอเสนอให้รัฐบาลนำงบประมาณดังกล่าว ไปใช้ในการจ้างงานผู้คนจำนวนเท่ากัน (คือ 65,000 คน) โดยเป็นการจ้างงานที่เปิดกว้างมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในระยะยาว Think Forward Center เห็นว่า การลดงบประมาณสำหรับทหารเกณฑ์ซึ่งจะนำไปสู่การยกเลิกการเกณฑ์ทหารในอนาคต จะเป็นแนวทางระยะยาวที่ช่วยลดงบประมาณรายจ่ายบุคลากรของกองทัพ และลดอัตรากำลังพลของกองทัพต่อกำลังแรงงานลงได้ ทั้งยังจะช่วยให้กองทัพหันไปเน้นการสร้าง/พัฒนากำลังพลที่มาจากความสมัครใจ 

ข้อพิสูจน์จากหลายประเทศพบว่า ทหารที่เข้ามาทำงานโดยสมัครใจจะอยู่ในกองทัพยาวนานขึ้น และมีคุณภาพประสิทธิผลในการทำงานตามภารกิจได้มากขึ้น อันเป็นผลให้ต้นทุนโดยรวมของกองทัพลดลง แม้ว่าจะต้องจ่ายค่าตอบแทนที่สูงกว่าทหารเกณฑ์ก็ตาม

บทความล่าสุด

งบ 67: สิ่งที่พอจัดการได้กับงบโรงเรียนขนาดเล็ก

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร

ห้ามนำเข้าสินค้า จากพื้นที่ที่มีการเผา นโยบายที่ปรากฏอยู่ในร่าง พรบ.ฝุ่นพิษ ฉบับก้าวไกล

คุยกับ “นิติพล ผิวเหมาะ” ทางออกที่เป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันของ “คนกับสัตว์”

จาก “ตัวเงินตัวทอง” และ “ลิง” สู่ “นกปรอดหัวโขน” และ “ช้างป่า” ว่าด้วยปัญหาที่ผ่านมาระหว่าง “คนกับสัตว์”

“ถ้าคุณให้ทุนมา จะมีนักมานุษยวิทยาที่พร้อมนั่งสังเกตลิง”: รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ว่าด้วย ‘คนกับสัตว์’ ที่ไม่รู้ใจ แต่ใช้ชีวิตร่วมกันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า