มาตรการชดเชยเยียวยาประชาชนที่ควรได้เห็นภายใน 120 วันก่อนเปิดประเทศ

ดูเรื่องนี้



โดย เดชรัต สุขกำเนิด


เมือวันก่อนนายกรัฐมนตรีประกาศจะเปิดประเทศภายใน 120 วันโดยมิได้นำเสนอแผนดำเนินการที่ชัดเจน Think Forward Center เห็นว่า การจะเปิดประเทศเช่นนั้น จำเป็นต้องมีแผนการจัดหาและการจัดสรรวัคซีนที่ชัดเจน โปร่งใส เป็นธรรม และเชื่อถือได้ รวมถึงมีแผนการป้องกันการแพร่ระบาดที่รอบคอบ รัดกุม และทันการณ์

นอกจากนี้ Think Forward Center เห็นว่า ปัญหาเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ในระลอกที่สาม ยังคงมีสะสมอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานที่เพิ่มขึ้นเกือบ 50% (จากตัวเลขก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19) หรือการที่รายได้ครัวเรือนลดลงอย่างมาก รวมถึงภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ต้องปิดกิจการในช่วงเวลาที่ผ่านมา และอาจต้องปิดตัวเพิ่มขึ้นในระหว่าง 120 วันนี้

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา Think Forward Center ได้นำเสนอรายงานการสร้างงานที่มีคุณค่าในสถานการณ์โควิด-19 โดยมีมาตรการที่รัฐบาลควรดำเนินการหลายมาตรการ แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่เป็นรูปธรรม 

เพราะฉะนั้น Think Forward Center เห็นว่า ในช่วง 120 วันนี้ นอกจากเรื่องการจัดหาและการจัดสรรวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแล้ว สิ่งที่สังคมไทยควรได้เห็นมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือเยียวยา และเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ ที่เป็นรูปธรรม ดังที่ได้ระบุไว้ในเอกสาร (ดาวน์โหลดเอกสารเพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้)


ก่อนเปิดประเทศ ต้องมีมาตรการเฉพาะหน้าเยียวยาประชาชน

มาตรการสำคัญ ที่ Think Forward Center เสนอให้ทำ ในช่วงระยะเวลาที่ยากลำบากก่อนจะถึงเปิดประเทศ ที่จะคืนความปกติกลับสู่เศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน ประกอบด้วย

การพยายามคง (หรือเพิ่ม) ระดับการจ้างงานไว้ให้ได้ โดยการพยุงการจ้างงาน โดยรัฐบาลจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อช่วยคงการจ้างงาน ในอัตรา 30% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 3,500 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน และจะช่วยสนับสนุนเงินเพื่อคงการจ้างงานไม่เกิน 100 คน/สถานประกอบการ เพื่อช่วยให้สถานประกอบการขนาดเล็ก/และขนาดกลางให้ยังคงการจ้างงานไว้ได้ ก่อนที่สถานการณ์จะคลี่คลายจนเป็นปกติ

 มาตรการเยียวยาผลกระทบ สำหรับผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคน จำนวน 3,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น การเป็หนี้สินเพิ่ม หรือการขายหรือจำนำทรัพย์สิน

 การปรับเพิ่มสวัสดิการของประชาชนในงบประมาณประจำปี 2565 โดยเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นอย่างน้อย 1,000 บาท/เดือน เป็นแบบถาวร และ ปรับระบบเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี 600 บาท/เดือน ให้เป็นแบบถ้วนหน้า 

 แผนการฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ให้พร้อมสำหรับการท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย โดยมีวงเงินงบประมาณให้แต่ละจังหวัดนำไปใช้ในการเตรียมการ ประมาณ 10% ของ GPP ที่ได้รับผลกระทบในช่วงปี 2563 (วงเงินประมาณ 77,276 ล้านบาท)  

 กลไกทางการเงินที่จะเอื้อต่อการฟื้นตัว และการกลับเข้าลงทุนในธุรกิจ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้สินเดิม การเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในระยะเริ่มเติม เพื่อให้ธุรกิจที่ต้องหยุดดำเนินการไปสามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งโดยเร็วที่สุด

 การปรับโครงสร้างหนี้สินและการแก้ไขปัญหาหนี้สินการเกษตร การดูแลกลไกราคาสินค้าเกษตรที่เป็นธรรม และการป้องกันภัยพิบัติที่มีผลกระทบต่อภาคการเกษตร เพื่อให้ภาคการเกษตรยังเป็นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงในการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจในภาคชนบท

 การพัฒนาเศรษฐกิจในภาคการดูแลเฉพาะบุคคล (หรือ Care-giving sector) ทั้งการดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้พิการ การดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค จนถึงการดูแลเด็กและเด็กเล็ก เพราะภาคการดูแลเฉพาะบุคคลเป็นภาคที่กำลังมีความต้องการกำลังคนเพิ่มมากขึ้น และสามารถรองรับแรงงานที่เหลืออยู่ในระบบได้จำนวนมาก


หลังเปิดประเทศแล้วเราจะไปต่ออย่างไร

ส่วนในระยะยาว Think Forward Center เห็นว่า การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถเอื้อโอกาสในการทำงานให้กับแรงงานที่ว่างงานจำนวนมากได้ เพราะฉะนั้น สังคมไทยควรได้เห็นนโยบายการพัฒนาภาคเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้มีความเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะ ฐานเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้แก

  • (ก) ฐานเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มความต้องการสูง เช่น การดูแลเฉพาะบุคคล การขนส่ง
  • (ข) ฐานเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการแข่งขัน เช่น ภาคเกษตรและอาหาร และ
  • (ค) ฐานเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมในแง่อื่นๆ ประกอบกันไปด้วย เช่น ภาคเกษตรและอาหาร ภาคเศรษฐกิจสีเขียว 

ขณะเดียวกัน Think Forward Center ก็คาดการณ์ว่า การเติบโตของภาคเศรษฐกิจเหล่านี้จำนวนมากจะมีลักษณะการจ้างงานที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น การจ้างงานแบบยืดหยุ่น หรือการจ้างงาน (หรือตกลงทำงาน) ผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งอาจจะไม่ครอบคลุมในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น สังคมไทยจึงควรทำการศึกษาและมีข้อเสนอในการผลักดันให้เกิดการคุ้มครองคนทำงานในทุกรูปแบบของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้การฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น เป็นการฟื้นตัวและเติบโตที่ทั่วถึง เป็นธรรม และเปี่ยมคุณค่าอย่างแท้จริง

ติดตามบทความที่น่าสนใจของ Think Forward Center ได้ที่ https://think.moveforwardparty.org/

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า