วิกฤตการณ์การปิดร้านอาหาร: เจ็บ จน แต่ไม่จบ


โดย เดชรัต สุขกำเนิด



In Focus

ธุรกิจร้านอาหารในเขตกรุงเทพและปริมณฑล สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 315,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น “ครึ่งหนึ่ง” ของธุรกิจร้านอาหารทั้งประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การปิดร้านอาหารในพื้นที่ 6 จังหวัด
กระทบแรงงานเกือบ 500,000 คน
ความเสียหายโดยตรง 11,300 ล้านบาท/ เดือน
มาตรการเยียวยารัฐบาล ช่วยบรรเทาได้เพียงแค่ 1 ใน 4

ความเสียหายทางเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่อง 20,102 ล้านบาท/ เดือน สาขาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ
เกษตร ความต้องการสินค้าลดลง 5,035 ล้านบาท
อุตสาหกรรมอาหาร ความต้องการสินค้าลดลง 4,688 ล้านบาท
อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ความต้องการสินค้าลดลง 1,842 ล้านบาท
ไฟฟ้า น้ำประปา และเชื้อเพลิง ความต้องการสินค้าลดลง 2,102 ล้านบาท

รัฐบาลควรเปิดตัวเลขการติดเชื้อจากร้านอาหาร และหามาตรการให้ร้านอาหารกลับมาดำเนินธุรกิจได้โดยเร็ว ภายใต้มาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างเข้มงวด

ถ้ายังคงปิดร้านอาหาร ต้องคงมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมแรงงาน ผู้ประกอบการ รวมทั้งต้องมีสินเชื่อไร้ดอกเบี้ย สำหรับพยุงธุรกิจและฟื้นฟูกิจการตน





ร้านอาหารถือเป็นสาขาทางเศรษฐกิจที่สำหรับประเทศไทย เพราะนอกจากจะเกี่ยวพันกับ การเข้าถึงอาหารของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคในเขตเมือง การจ้างงานให้กับแรงงานจำนวนมาก และยังเกี่ยวพันกับการสร้างอุปสงค์ไปยังสาขาอื่น ๆ โดยเฉพาะสาขาการเกษตรและการแปรรูปอาหาร



ผลกระทบจากสถานการณ์ที่ผ่านมา

ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต้นเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เราจะพบว่าร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนักมาอย่างต่อเนื่อง โดยหากเราพิจารณาจาก Google Mobility Trend ของร้านอาหาร (ซึ่งรวมอยู่ในดัชนีการเคลื่อนไหวเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปกติของหมวดร้านค้าปลีกและนันทนาการ) พบว่า ในช่วงการระบาดและการล็อกดาวน์แรก อัตราความเคลื่อนไหวลดลงไปต่ำสุดเหลือเพียง 50% ของภาวะปกติ และอยู่ในระดับต่ำยาวนานประมาณ 4 เดือน (มีนาคม-กรกฎาคม 2563)



จากนั้น เมื่อคลายการล็อกดาวน์ระลอกแรกลง อัตราการเคลื่อนไหวของผู้คนก็ดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังต่ำกว่าปกติประมาณ 10% ก่อนที่จะพบการแพร่ระบาดระลอกที่สอง ซึ่งทำให้อัตราการเคลื่อนไหวลดลงไปอีก (ลดลง 20% จากภาวะปกติ) จนกระทั่ง เมื่อการระบาดระลอกที่สองผ่านไป ร้านอาหารจึงมีช่วงเวลาที่ความเคลื่อนไหวของผู้เดินทางไปที่ร้านอาหารเท่ากับ/มากกว่าภาวะปกติอยู่เพียงสั้นๆ เท่านั้นคือ 1 เดือนเศษในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 ก่อนที่จะประสบปัญหาการระบาดระลอกที่สามขึ้นมาอีก

ธุรกิจร้านอาหารจึงอยู่กับสถานการณ์ที่ยากลำบากมาตลอด 15 เดือน ทั้งในแง่ของรายได้ และสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ยิ่งมีคำสั่งล่าสุดให้ปิดร้านอาหารเป็นเวลา 1 เดือน โดยไม่มีสัญญาณเตือน ยิ่งส่งผลกระทบต่อร้านอาหารอย่างหนัก



ขนาดของผลกระทบระลอกใหม่

ธุรกิจร้านอาหารในเขตกรุงเทพและปริมณฑล มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประมาณ 315,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมของธุรกิจร้านอาหารทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น การปิดร้านอาหารใน 6 จังหวัดจึงอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารมากกว่าที่คาดคิดไว้



ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การปิดร้านอาหารในพื้นที่ 6 จังหวัดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมีผลกระทบกับธุรกิจร้านอาหารมากถึง 84,635 ราย ซึ่งมีแรงงานมากถึงจำนวน 444,572 คน หรือเกือบครึ่งล้านคน และคาดว่า มูลค่าความเสียหายของการปิดธุรกิจร้านอาหารในระยะเวลาหนึ่งเดือนจะประมาณ 11,300 ล้านบาท

(หมายเหตุ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ มูลค่าความเสียหาย โดยกำหนดให้ยอดขายอาหารในร้านลดลง 35-45% และยอดขายที่ส่งตามบ้านเพิ่มขึ้น 10-15%)

แต่มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการปิดร้านอาหารจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะร้านอาหาร เพราะการดำเนินธุรกิจร้านอาหารจะมีส่วนเชื่อมโยงไปยังต้นน้ำ หรือผู้ผลิตและจัดส่งวัตถุดิบอาหารและปัจจัยการผลิต/บริการอื่น ๆ จำนวนมาก



ผลกระทบที่ต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตอื่น

ถ้าคำนวณจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตหรือ Input-Output Table ปี 2015 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะพบว่า รายได้ทุกหนึ่งบาทที่เกิดขึ้นจากธุรกิจร้านอาหาร จะสร้างความต้องการสินค้า/บริการในสาขาการผลิตอื่น ๆ ประมาณ 1.78 บาท

นั่นหมายความว่า หากรายได้ของธุรกิจร้านอาหารหายไปประมาณ 11,300 ล้านบาทในระยะเวลา 1 เดือน ความต้องการสินค้าสำหรับสาขาอื่น ๆ จะหายไปถึงประมาณ 20,102 ล้านบาท/เดือน

ทั้งนี้ สาขาที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นสาขาเกษตรที่จะมีอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าลดลงถึง 5,035 ล้านบาท แยกเป็นสาขาพืช 3,089 ล้านบาท สาขาปศุสัตว์ 969 ล้านบาท สาขาประมง 927 ล้านบาท และสาขาป่าไม้ประมาณ 50 ล้านบาท



ทั้งนี้ ถ้าเจาะหมวดสินค้าย่อยลงไปอีก ก็จะพบว่า หมวดสินค้าเกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลงมากที่สุดคือ สัตว์ทะเล 757 ล้านบาท ผัก 714 ล้านบาท ผลไม้ 503 ล้านบาท ข้าว 448 ล้านบาท ถั่วต่างๆ 445 ล้านบาท ไก่ 353 ล้านบาท หมู 290 ล้านบาท และวัว-ควายประมาณ 258 ล้านบาท

สาขาที่ได้รับผลกระทบรองลงมาจากสาขาเกษตร คือ อุตสาหกรรมอาหาร โดยจะได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าที่หายไป 4,688 ล้านบาท โดยสาขาย่อยหลักที่จะได้รับผลกระทบคือ การแปรรูปเนื้อสัตว์ 1,318 ล้านบาท การแปรรูปน้ำมันพืชและสัตว์ 528 ล้านบาท การสีข้าว 516 ล้านบาท การแปรรูปสัตว์น้ำ 333 ล้านบาท การแปรรูปชา/กาแฟ 248 ล้านบาท

อีกสาขาหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลงตามไปด้วยคือ สาขาเครื่องดื่ม ที่จะได้รับผลกระทบถึง 1,842 ล้านบาท กล่าวเฉพาะ 3 สาขา (ภาคเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม) ก็จะมีความต้องการสินค้าที่ลดลงรวมกันถึง 11,565 ล้านบาท

ภาคส่วนอื่นที่จะได้รับผลกระทบสำคัญเช่น ภาคไฟฟ้า น้ำประปา และเชื้อเพลิง (เช่น แก๊สหุงต้ม) จะมีความต้องการสินค้าลดลง 2,102 ล้านบาท และภาคเคมีภัณฑ์ (เช่น ปุ๋ยหรือสารเคมีการเกษตร) จะมีความต้องการสินค้าลดลง 1,591 ล้านบาท




ทั้งนี้ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า ผลกระทบจากความต้องการสินค้าที่ลดลง 20,102 ล้านบาท จะกระทบกับผู้คนจำนวนมากน้อยเพียงใด

กล่าวได้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปิดร้านอาหารในพื้นที่เป็นหัวใจของสาขาร้านอาหาร จึงทอดยาวไปแบบลูกโซ่ และหากร้านอาหารในเขตกรุงเทพและปริมณฑลไม่กลับมาเปิดใหม่โดยเร็ว ผลกระทบดังกล่าวก็จะยิ่งยาวนานมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรในระยะต่อมาได้



ข้อเสนอแนะ

หากรัฐบาล และ/หรือ ศบค. ไม่ได้แสดงตัวเลขที่บ่งชี้ว่าร้านอาหารเป็นต้นเหตุให้เกิดการระบาดในภาพรวม รัฐบาลก็ควรทบทวนมาตรการดังกล่าว และให้ร้านอาหารสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้โดยเร็ว ภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด โดยหากพบการแพร่ระบาดแบบวงกว้างในพื้นที่จำเพาะใด ให้ปิดเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ดังกล่าว มิใช่ปิดไปทั้งหมด 6 จังหวัดเช่นที่ผ่านมา



ถ้าหากรัฐบาลยังคงมาตรการการปิดร้านอาหารต่อไป ภาครัฐก็ควรมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากมาตรการที่ออกมา เพราะมาตรการความช่วยเหลือที่ออกมานั้นครอบคลุมกับรายได้ของผู้ประกอบการที่หายไปเพียงบางส่วน และครอบคลุมแรงงานเพียงบางส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมเท่านั้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่า ความช่วยเหลือที่รัฐบาลออกมาคิดเป็นมูลค่าจริงประมาณ 2,800-3,000 ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับประมาณหนึ่งในสี่ของมูลค่าความเสียหายในสาขาร้านอาหารเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อสาขาอื่น ๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างบน

นอกจากมาตรการชดเชยเยียวยาแล้ว การเสริมสภาพคล่องของธุรกิจร้านอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะเปิดให้ร้านอาหารกลับมาขายได้ แต่การขาดทุนในช่วงเวลาที่ผ่านมา บวกกับกำลังซื้อของลูกค้าที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ อาจกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ร้านอาหารไม่สามารถกลับมาเปิดดำเนินการ ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการเสริมสภาพคล่อง เช่น มีสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยระยะเวลามากกว่า 1 ปี ให้กับร้านอาหาร ดังเช่นประเทศเดนมาร์ก ที่มีมาตรการให้ร้านอาหารยืมเงินภาษีที่ตนได้ชำระไปแล้วในช่วง 2 ปีก่อน กลับมาหมุนเวียนและฟื้นฟูกิจการได้โดยปลอดดอกเบี้ย เป็นต้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า