มาตรการเยียวยา ถั่วจะสุกหรืองาจะไหม้


โดย เดชรัต สุขกำเนิด

หลังจากที่ ศบค. ได้ประกาศมาตราการเสมือนล็อคดาวน์รอบใหม่มาเมื่อวันศุกร์ เมื่อวานนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยานายจ้างและลูกจ้างออกมาหลายมาตรการ

  1. สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมและใน 9 หมวดกิจการที่กำหนด ลูกจ้างจะได้ 50 % ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 7,500 บาท และรัฐบาลจะบวกให้อีก 2,500 บาท/ราย รวมแล้วไม่เกิน 10,000 บาท/ราย เป็นเวลา 1 เดือน โดยใช้เงินจากกองทุนประกันสังคม ส่วนนายจ้างจะได้รับความช่วยเหลือ 3,000 บาท/ลูกจ้างหนึ่งราย แต่ไม่เกิน 200 ราย/สถานประกอบการ
  2. สำหรับแรงงานที่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม รัฐบาลก็ให้นายจ้างพาเข้าระบบภายในเดือนกรกฎาคม เพื่อรับสิทธิประโยชน์ข้อ 1. แต่ส่วนนี้รัฐบาลจะใช้เงินกู้ในการจ่าย (เพราะยังไม่เข้าเงื่อนไขของกองทุนประกันสังคม)
  3. ส่วนผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 39 และ 40 จะได้รับความช่วยเหลือ 5,000 บาท (สำหรับ 1 เดือน)
  4. ผู้ที่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ก็ให้สมัครเข้าระบบประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 ภายในเดือนกรกฎาคม เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน โดยจะใช้เงินกู้เช่นกัน


2 ข้อกังวล

แม้ว่าตัวเลขเงินช่วยเหลือดังกล่าวจะถือว่า เป็นการช่วยเหลือที่ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับรอบก่อน ๆ (เช่น 3,500 บาท/เดือน) แต่ยังมีข้อน่ากังวลใจอย่างต่ำ 2 ข้อ

ประการแรก คือ ความทั่วถึง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามให้เงินช่วยเหลือมากขึ้น และให้ทั้งกับนายจ้างและลูกจ้าง แต่ก็ยังจำกัดเฉพาะ 9 หมวดกิจการเท่านั้น ตัวอย่างของกิจการที่ไม่เข้าอยู่ใน 9 หมวดกิจการนี้คือ โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลาย ซึ่งแม้จะไม่ได้มีคำสั่งให้ปิดดำเนินการ แต่โรงงานหลายแห่งก็จำเป็นต้องลดหรือหยุดดำเนินการ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค (เช่น การลดรอบการทำงานหรือลดสายการผลิต เพื่อลดจำนวนคนงานในการรักษาระยะห่าง หรือการกักตัว) ซึ่งก็จะไม่เข้าข่ายใน 9 กิจการที่ได้รับความช่วยเหลือที่กล่าวถึงข้างต้น

ขณะเดียวกัน ความช่วยเหลือที่รัฐบาลจะมีให้นั้น รัฐบาลก็ไปผูกเงื่อนไขว่าจะต้องเข้าระบบประกันสังคม ถ้าทางมองในทางบวก ก็ถือเป็นโอกาสอันดีในการชวนให้พี่น้องได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่ถ้ามองในทางลบ นายจ้างหรือลูกจ้างจำนวนหนึ่งก็อาจจะลังเลใจในการเข้าร่วมกับระบบประกันสังคม หากยังไม่เข้าใจประโยชน์ของระบบประกันสังคมในระยะยาว และหากยังไม่มั่นใจในอนาคตการดำเนินกิจการของตนเอง

ประการที่สอง ได้แก่ ความเร่งด่วนของการช่วยเหลือ ซึ่งการผูกความช่วยเหลือไว้กับการเข้าระบบประกันสังคมก็อาจนำมาซึ่งปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการ จากประสบการณ์ในการช่วยเหลือครั้งที่ผ่านมา (ปิดแคมป์คนงานและร้านอาหาร) กว่าที่เงินช่วยเหลือสำหรับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมอยู่แล้วจะออกมา ก็ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนนับจากวันที่สั่งปิดแคมป์คนงาน แต่ในคราวนี้ยังจะต้องรอให้นายจ้าง/ลูกจ้างสมัครเข้าระบบประกันสังคมเสียก่อน จึงยิ่งต้องใช้เวลายาวนานขึ้นกว่าที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจริง ๆ

ในกรณีของการใช้แหล่งงบประมาณจากเงินกู้ ไม่มีความจำเป็นต้องผูกเงื่อนไขการเข้าระบบประกันสังคมให้การเยียวยาล่าช้าออกไป

เพราะฉะนั้น แม้ว่า การผูกมาตรการช่วยเหลือทั้งหมดไว้กับระบบประกันสังคมอาจจะดูเป็นกุศโลบายที่ดี แต่ในสถานการณ์เร่งด่วนฉุกเฉิน เงื่อนไขดังกล่าวก็อาจส่งผลเสียต่อผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน ทั้งในแง่ของความไม่ทั่วถึงและความล่าช้าได้ เข้าทำนอง “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” เสียแล้ว


การเยียวยาที่เร่งด่วนและทั่วถึง

ดูเหมือนว่า  “ความเร่งด่วน” ของความช่วยเหลือ คือสิ่งที่รัฐบาลยังเข้าใจไม่ตรงกับพี่น้องประชาชน สำหรับประชาชนที่เผชิญความยากลำบากมาต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี การได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากการล็อคดาวน์เข้ามาอีก ก็แทบจะไม่มี “กันชนทางการเงิน” เหลือแล้ว (หมายถึง สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องในการนำมาใช้จ่ายในช่วงที่ขาดรายได้) เพราะฉะนั้นความล่าช้าแม้เพียงสองสัปดาห์หรือหนึ่งเดือนก็เป็นความทุกข์ยิ่งใหญ่ของพี่น้องเช่นกัน

เช่นเดียวกับเรื่องการลดค่าเทอมที่รัฐบาลยังไม่สรุปเสียที (รวมถึงเมื่อวานนี้) ทั้งที่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่ยังไม่ทันเปิดเทอม ความล่าช้าในความช่วยเหลือก็เท่ากับว่า ปล่อยให้ผู้ปกครองต้องเผชิญความยากลำบากในการหาค่าใช้จ่ายไปก่อนล่วงหน้าแล้ว

“ความทั่วถึง” ของความช่วยเหลือก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลเข้าใจไม่ตรงกันกับสิ่งที่พี่น้องประชาชนเผชิญอยู่ ในมุมมองของรัฐบาล รัฐบาลสามารถกำหนด “ขอบเขต” ของผลกระทบ และความช่วยเหลือได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มันไม่ได้หมายเฉพาะลูกจ้าง (นายจ้าง) ที่ต้องหยุดงานในช่วงล็อคดาวน์นี้ แต่ยังรวมถึงผู้ที่ตกงานตั้งแต่การระบาดระลอกแรก และระลอกที่สองแล้ว ซึ่งก็อาจไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐบาลในครั้งนี้


ผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน

เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบก็เช่นกัน เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และได้รับผลกระทบไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ เด็กและเยาวชนที่ต้องหลุดออกนอกระบบโรงเรียน ซึ่งก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการลดค่าเทอมของรัฐบาล (ถ้ามี) แน่นอนว่าการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่อยู่ในระบบไม่ให้หลุดออกไปนอกระบบเป็นสิ่งที่ดี และควรรีบกระทำอย่างยิ่ง แต่การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกนอกระบบไปแล้ว ก็เป็นเรื่องเร่งด่วนมาก ๆ เช่นกัน

เพราะฉะนั้น ภายใต้สถานการณ์ที่เร่งด่วนและความทุกข์ยากแพร่กระจายไปทั่ว การให้ความช่วยเหลือแบบ “ถ้วนหน้า” น่าจะดำเนินการได้อย่างกว้างขวาง และรวดเร็วมากกว่า โดยไม่มีใครตกหล่น



ข้อเสนอของเรา

Think Forward Center เห็นว่า ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ การให้ความช่วยเหลือแบบถ้วนหน้าที่เป็นเงินสดแก่ 10 จังหวัดนี้ ทั้งในส่วนของ

(ก) การพยุงการจ้างงาน หรือการให้เงินผ่านนายจ้าง (50% แต่ไม่เกิน 7,500 บาท) ทุกกิจการที่อยู่ในพื้นที่ล็อคดาวน์
(ข) การเยียวยาแบบถ้วนหน้า (3,000 บาท/คน) และ
(ค) การให้เงินอุดหนุนแก่เด็กและเยาวชนทุกคน (1,500 บาท/คน)

ซึ่งครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทุกคน และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วกว่ามากมาตรการทั้งสามส่วนนี้จะใช้งบประมาณรวมกัน 58,855 ล้านบาท สำหรับกรุงเทพและปริมณฑล และ 11,519 ล้านบาท สำหรับ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้


ความรวดเร็วและความทั่วถึงของความช่วยเหลือจะเป็นหัวใจสำคัญในการพยุงพี่น้องประชาชนจากความทุกข์ยากครั้งนี้ และหากทำได้ก็จะพยุงความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนที่มีต่อกลไกของรัฐไปด้วยในตัว จะทำให้พี่น้องเข้าร่วมกองทุนประกันสังคมด้วยความเต็มใจ ดีกว่าที่จะตั้งเป็นเงื่อนไขเอาไว้ และอาจทำให้พี่น้องส่วนหนึ่งไม่ทราบเข้าถึงความช่วยเหลือที่จำเป็นเร่งด่วน



บทความล่าสุด

งบ 67: สิ่งที่พอจัดการได้กับงบโรงเรียนขนาดเล็ก

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร

ห้ามนำเข้าสินค้า จากพื้นที่ที่มีการเผา นโยบายที่ปรากฏอยู่ในร่าง พรบ.ฝุ่นพิษ ฉบับก้าวไกล

คุยกับ “นิติพล ผิวเหมาะ” ทางออกที่เป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันของ “คนกับสัตว์”

จาก “ตัวเงินตัวทอง” และ “ลิง” สู่ “นกปรอดหัวโขน” และ “ช้างป่า” ว่าด้วยปัญหาที่ผ่านมาระหว่าง “คนกับสัตว์”

“ถ้าคุณให้ทุนมา จะมีนักมานุษยวิทยาที่พร้อมนั่งสังเกตลิง”: รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ว่าด้วย ‘คนกับสัตว์’ ที่ไม่รู้ใจ แต่ใช้ชีวิตร่วมกันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า