โควิด-19 การล็อคดาวน์ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน

> ดาวน์โหลดบทความและภาพนำเสนอ

In Focus:

  • การระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และทุกครั้งมีการใช้มาตรการล็อคดาวน์ เพื่อจำกัดความเคลื่อนไหว ทั้งสองปัจจัยทำให้เกิดความชะงักงันในเศรษฐกิจปากท้องตามมา
  • การระบาดระลอก 3-4 นี้แม้ว่าจะไม่ได้มีมาตรการล็อคดาวน์ระดับประเทศ แต่ด้วยการระบาดรุนแรง ความเชื่อมั่นต่ำ และการปิดพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ก็สร้างผลกระทบในภาพรวม ที่หนักเกือบเท่ากับระลอกแรกแล้ว
  • ผลกระทบของโควิด-19 แม้จะเกิดในวงกว้างแต่ไม่ได้เท่ากันทุกพื้นที่ เมืองท่องเที่ยวในภาคใต้ ภาคเหนือ ด่านชายแดน และกรุงเทพปริมณฑล มีการเคลื่อนที่ลดลงมากเป็นพิเศษ และไม่สามารถฟื้นตัวได้ ในขณะที่บางพื้นที่ยังมีช่วงเวลาที่กลับมาเป็นปกติอยู่บ้าง
  • เศรษฐกิจในภาคบริการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากกว่าภาคอื่น เช่นเดียวกันกับสินค้าคงทนที่บริโภคในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อและความเชื่อมั่น โดยมีเพียงการส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ที่ฟื้นตัวกลับมาและมีมูลค่าส่งออกสูงกว่าช่วงก่อนโควิดได้แล้ว ตามการขยายตัวของโลก
  • อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดและการล็อคดาวน์ส่งผลต่อทุกพื้นที่และสาขาเศรษฐกิจ จนกระทบการจ้างงานในแทบทุกสาขา ไม่จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่หรือกิจการที่ถูกสั่งปิด เพราะเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงถึงกันผ่านห่วงโซ่อุปทาน จึงทำให้เกิดการผลกระทบข้างเคียง (spillover) เช่น การปิดร้านอาหารส่งผลกระทบต่อสินค้าเกี่ยวเนื่องราว 2 เท่า และการปิดตลาดค้าส่งก็กำลังทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลงมาก
  • ด้วยข้อจำกัดของข้อมูลในปัจจุบัน เราสามารถติดตามสถานการณ์ได้ด้วยข้อมูลเร็ว เช่น ดัชนีการเคลื่อนที่ของ Google และ Facebook เพื่อดูผลกระทบในรายสาขาและพื้นที่ (ระดับอำเภอ) ซึ่งเป็นข้อมูลรายวัน และมีความสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจในระดับสูง
  • รัฐต้องพัฒนาระบบข้อมูลให้ทันการณ์และละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลทะเบียนของรัฐ และยังสามารถทำให้ชุดข้อมูลอื่นมีความรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่ในรายละเอียดมากขึ้นได้ ทั้งนี้อาจร่วมมือเพื่อใช้ข้อมูลของเอกชนเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ด้วย
  • นโยบายช่วยเหลือจะต้องทันกับปัจจุบันและมุ่งสู่อนาคต โดยออกมาตรการอย่างครอบคลุม ทั้งการเยียวยาให้ตรงจุดตามขนาดผลกระทบ การเยียวยาแบบกว้างหรือถ้วนหน้าตามผลกระทบข้างเคียงในเศรษฐกิจ รัฐยังต้องคิดถึงการพยุงเพื่อจำกัดผลกระทบจากการระบาด และการปรับตัว/ฟื้นฟูธุรกิจไปตามทิศทางอนาคต




การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงและส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการระบาดในระลอกที่ 1 มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุด 143 คน ในการระบาดระลอกที่สองช่วงปลายปี 2563-ต้นปี 2564 จุดสูงสุดของการระบาดมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1,732 คน แต่ในการระบาดระลอกที่ 3 ที่เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 3 เดือนแล้ว มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดที่ 18,912 คนเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในหลายจังหวัดทั่วไทย แพทย์และนักวิเคราะห์หลายคนมองว่านี่ยังไม่ใช่จุดสูงสุดของการแพร่ระบาด แต่ยังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของระลอกการระบาดเท่านั้น

ทั้งนี้ การตรวจเชื้อของไทยยังต่ำมาก จนปัจจุบันมีอัตราการตรวจพบมากกว่า 20% ซึ่งมากกว่ามาตรฐานถึง 4 เท่า ซึ่งน่าจะมีผู้คนที่ติดเชื้อแต่ตกสำรวจ ไม่ได้อยู่ในระบบและไม่ได้รับการรักษาอีกมาก

การระบาดดังกล่าวได้สร้างผลกระทบเชิงสังคมและความลำบากในการใช้ชีวิตของคนไทยมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จากการไม่สามารถใช้ชีวิต ทำงาน เรียนหนังสือได้ตามปกติ การที่ตนเอง สมาชิกครอบครัวหรือคนรู้จักต้องเสี่ยงติดเชื้อ และการต้องสูญเสียคนใกล้ชิดไป ตั้งแต่มีการระบาดมา ประเทศไทยมีคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 (ตามการรายงานอย่างเป็นทางการ) มากถึง 4,990 คนจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 และตัวเลขการเสียชีวิตอันเกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 อาจสูงกว่านี้มาก เพราะประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดราว 15% กล่าวคือ มีผู้เสียชีวิตมากกว่าปกติเดือนละประมาณ 6,000 คนในการระบาดระลอกล่าสุด1


ผลกระทบต่อการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

เพื่อตอบโต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกครั้ง รัฐบาลได้ตัดสินใจออกมาตรการจำกัดการเดินทางและการสั่งปิดกิจการในพื้นที่ที่มีการระบาด ข้อมูลของมหาวิทยาลัย Oxford ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยใช้ยาแรงในการระบาดระลอกแรกแม้ว่าจะมีการระบาดไม่สูง หลังจากนั้นก็ยังคงมาตรการการจำกัดการเคลื่อนไหวอยู่ในระดับปานกลาง และเริ่มมีการปรับสูงขึ้นเล็กน้อยโดยเป็นการสั่งปิดในรายพื้นที่และกิจการในการระบาดระลอกที่ 2, 3 ,4 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีการจำกัดการเดินทางในช่วงการระบาดระลอกที่ 3-4 ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ก็มีมาตรการล็อคดาวน์ในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบมาก

มาตรการล็อคดาวน์ประกอบกับความเชื่อมั่นและกำลังซื้อภายในประเทศลดลง ทำให้การเคลื่อนไหวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ชุดข้อมูลการเคลื่อนที่ Google Mobility Trends และ Facebook Movement Range Maps แสดงภาพการเคลื่อนที่ของประชากรไทย และแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญในการระบาดแต่ละระลอก โดยการระบาดระลอกแรกนั้นการเคลื่อนไหวของคนไทยลดลงมากที่สุด โดยมีสาเหตุมาจากมาตรการล็อคดาวน์ แต่การระบาดในปัจจุบัน ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการออกจากบ้านจนกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าการเคลื่อนที่เฉลี่ยของประเทศลดลงอย่างรุนแรงทุกครั้งที่มีการระบาด โดยระลอกแรกมีการลดลงมากถึง 30% การระบาดระลอกที่ 2 เกิดขึ้นในพื้นที่สมุทรสาครเป็นหลัก แต่ก็เกิดการแพร่เชื้อไปตามห่วงโซ่อุปทานของอาหารทะเลไปในต่างจังหวัดบ้าง ในครั้งนี้ไม่ได้มีมาตรการจำกัดการเดินทางทั้งประเทศอย่างเข้มงวด จึงทำให้การเคลื่อนที่ลดลงราว 20% อย่างไรก็ตาม ในระลอกที่ 3 และ 4 นั้นส่งผลให้การเคลื่อนที่ลดลงมาก ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาทั้งที่ไม่ได้มีมาตรการใด ๆ ออกมาในช่วงนั้น (โดยเฉพาะการปล่อยให้คนเดินทางกลับช่วงสงกรานต์) และเมื่อเกิดการระบาดอย่างรวดเร็วในเดือนกรกฎาคม ก็ทำให้การเคลื่อนที่ลดลงไปจนเกือบเท่ากับการระบาดระลอกแรกแล้ว

ในเชิงพื้นที่ ความเคลื่อนไหวลดลงมากในจังหวัดท่องเที่ยว โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดเป็นภาคใต้ เมืองท่องเที่ยวภาคเหนือ ด่านชายแดน และกรุงเทพปริมณฑล ซึ่งได้รับผลกระทบที่รุนแรงในทุกระลอกของการระบาด และในอำเภอที่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวในช่วงที่พื้นที่อื่น ๆ มีการเคลื่อนไหวที่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงฐาน (กุมภาพันธ์ 2563) สำหรับการระบาดในระลอกที่ 3-4 แม้ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดและการล็อคดาวน์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ กรุงเทพและปริมณฑลเป็นหลัก แต่ก็ได้เกิดการลามกระทบในวงกว้างทั้งจากการป้องกันตนเองในแต่ละพื้นที่ และการที่ห่วงโซ่อุปทานเริ่มหยุดชะงักลง


ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้อง

การท่องเที่ยว

มาตรการปิดประเทศส่งผลกระทบต่อรายได้ของการท่องเที่ยวไทยอย่างมาก รายได้ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่เคยสูงถึงเดือนละ 200,000 ล้านบาท กลับมีมูลค่าเหลือเพียงประมาณเดือนละ 13,000 ล้านบาทในช่วงของการปิดประเทศและล็อคดาวน์ครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวได้กลับเพิ่มขึ้นมาเป็นระดับ 50,000 ล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงที่ประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น การระบาดระลอก 2 ได้ทำลายความเชื่อมั่นและการท่องเที่ยวลงอีกครั้ง จนมีมูลค่าเหลือประมาณ 30,000 ล้านบาท และเมื่อต้องเผชิญกับการระบาดระลอกที่ 3 และ 4 ที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ก็ได้ทำให้เม็ดเงินการท่องเที่ยวนั้นเหลือเพียงเดือนละ 4,000 ล้านบาทเท่านั้น

การปิดประเทศกระทบจังหวัดท่องเที่ยวหลักมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้ในระยะฟื้นตัวก็ยังมีรายได้ลดลงจากเวลาเดียวกันในช่วงปกติมากกว่า 80% พื้นที่เหล่านี้ยังมีสัดส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอยู่มากกว่าพื้นที่อื่น ผู้คนจำนวนมากที่ทำงานอยู่ในภาคดังกล่าวจึงต้องได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจตามไปด้วย


ภาคธุรกิจทั่วไป

การเคลื่อนที่ลดลงอย่างมากตามสถานีขนส่งมวลชน สวนสาธารณะ พื้นที่ร้านค้าปลีกและการนันทนาการ ตลอดจนสถานที่ทำงาน จากข้อมูล Google Mobility Trend อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนได้ย้ายเข้าไปสู่ภาคการค้าปลีกและร้านขายยา

สำหรับการบริโภคภายในประเทศนั้นยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเวลาปกติราว 5% โดยสินค้าประเภทไม่คงทนและกึ่งคงทนได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นและเป็นสินค้าที่มูลค่าต่อชิ้นไม่สูงนัก ในขณะที่สินค้าคงทนจะได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างมาก เพราะว่ากำลังซื้อลดลงและผู้คนที่ยังมีเงินก็ยังออมเงินไว้ตามความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจที่ต่ำ ทำให้การลงทุนซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ยังเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ผลกระทบจากมาตรการรับมือโควิด-19 ยังส่งผลกระทบรุนแรงมากที่สุดต่อกำลังซื้อในภาคบริการ ซึ่งลดลงไปราว 30% และไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เลย

ภายในภาคบริการ ผู้ประกอบการที่พักแรมและร้านอาหารเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยมูลค่าผลผลิตน้อยลงกว่า 90% จากที่เคยทำได้เดิม นอกจากนี้ ภาคการขนส่ง ค้าปลีกและค้าส่งก็ยังคงได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งจะกระทบภาคการผลิต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจแต่ละสาขานั้นมีความเชื่อมโยงต่อกัน

Think Forward Center เคยประเมินไว้ว่าการสั่งปิดร้านอาหารที่กรุงเทพและปริมณฑลในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้รายได้หายไป 11,300 ล้านบาท แต่จะกระทบกับความต้องการสินค้าในสาขาอื่นที่เกี่ยวเนื่องราว 20,102 ล้านบาท ในเดือนกรกฎาคม 2564 เริ่มมีการการปิดพื้นที่ตลาดค้าส่ง เช่น ตลาดไท การขนส่งสินค้าจากภาคใต้ก็มีปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างมาก และโกดังสินค้าของผู้ส่งของก็ต้องถูกปิดตัวลง จึงจะยิ่งส่งผลต่อมูลค่าเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกับภาคการเกษตรที่เริ่มต้องเผชิญปัญหาราคาตกต่ำอีกครั้ง

เราเห็นว่าราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้เริ่มปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในเดือนกรกฎาคม 2564 ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าว และผลไม้ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด มะพร้าว และเงาะ ซึ่งหากสถานการณ์ยังเลวร้ายต่อไปจนถึงช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็จะทำให้ราคาสินค้าต่ำลงไปอีก จนเป็นการซ้ำเติมกำลังซื้อและสถานการณ์หนี้ของชาวเกษตรกร

ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยจึงยังคงถูกพยุงไว้ด้วยภาคการส่งออกเหมือนเช่นเคย เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจใหญ่อย่างเช่นจีนฟื้นตัวกลับมาจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจปีก่อนหน้า ภาคการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะที่มีส่วนแบ่งสูง เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรแปรรูป เคมีภัณฑ์ เป็นต้น โดยภาคการส่งออกส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวจากช่วงถดถอยในปี 2563 และมีมูลค่าการส่งออกครึ่งปีแรกสูงกว่าเมื่อช่วงเดียวกันของปี 2562 ได้แล้ว

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีทั้งส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ เมื่อพิจารณาข้อมูลดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมแล้วจะพบว่าอุตสาหกรรมในภาพรวมเคยได้รับผลกระทบหนักในการระบาดระลอกแรก แต่หลังจากนั้นก็สามารถปรับตัวและสามารถประคองการผลิตอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงเวลาปกติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อแต่ละอุตสาหกรรมนั้นไม่ได้เท่ากัน โดยมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้จากสถานการณ์โควิด-19 โดยผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นผู้ที่สามารถรักษาการเติบโตได้ต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ผลิตยานยนต์และเครื่องจักร มีการเคลื่อนไหวตามระลอกของการระบาดในประเทศค่อนข้างชัดเจน ผู้ผลิตบางประเภท เช่น อาหารเครื่องดื่ม สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เป็นสาขาที่ได้รับผลกระทบตามการระบาด และยังไม่เคยฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้เลย

โดยสรุป ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อคดาวน์นั้นส่งผลแต่ละสาขาไม่เท่ากัน แต่ก็กินวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทบที่กว้างกว่ากิจการที่ถูกสั่งระงับตามความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในภาคการเกษตรที่ราคาสินค้าตกต่ำจากการหยุดชะงักของระบบโลจิสติกส์ และภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าสำหรับการบริโภคในประเทศ และสินค้าคงทนที่ต้องเกิดการลงทุนภายในประเทศ มาตรการล็อคดาวน์สำหรับการระบาดระลอกที่ 3-4 มีการสั่งปิดกิจการบางอย่างเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ก็มีการให้เงินเยียวยาสำหรับ 9 กิจการ ซึ่งจะพบว่าไม่สอดคล้องกับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามที่เห็นจากข้อมูล


ผลกระทบต่อการจ้างงาน

ผลกระทบจากโควิด-19 ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การมีงานทำของแรงงาน อัตราการว่างงานและอัตราการทำงานต่ำระดับ (น้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และพร้อมทำงานเพิ่ม) ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาของการแพร่ระบาด การว่างงานในความหมายกว้างมีมากถึง 3.8% ในช่วงของการระบาดระลอกแรกที่มีการล็อคดาวน์ที่รุนแรง ตัวเลขนี้ได้ลดกลับลงไปเล็กน้อยในช่วงระยะฟื้นตัว แต่เมื่อมีการระบาดระลอกที่ 2 ในช่วงปลายปี 2563 – ต้นปี 2564 อัตราการว่างงานก็กลับปรับตัวขึ้นสูงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มีความเร็วมากเพียงพอให้ติดตามภาวการณ์จ้างงานในช่วงการระบาดระลอกใหม่ได้

ดัชนีชี้วัดด้านแรงงานที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง คือ ตัวเลขในระบบประกันสังคม ซึ่งสะท้อนภาพงานที่มีมูลค่าเพิ่ม และผันผวนตามวัฏจักรเศรษฐกิจสูง ตัวเลขการจ้างงานในระบบของไทยทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจ้างงานลดลงไปราว 5% หลังจากการระบาดระลอกแรก ที่ยังเอกชนยังพยายามคงการจ้างงานไว้ แต่เมื่อต้องอยู่กับโควิดเป็นระยะยาว จึงมีการทยอยเลิกจ้างงานในระบบ โดยไม่เห็นสัญญาณบวกที่ชัดเจนในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว การจ้างงานในระบบปรับลดลงอีกครั้งในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2564 ที่มีการระบาดระลอกที่ 3-4 หากมาตรการพยุงการจ้างงานไม่ได้ผลจะทำให้ตัวเลขปรับลดลงอีกมากในอนาคต

การจ้างงานในระบบนั้นแย่ลงในทุกสาขาเศรษฐกิจสำคัญ แต่บางสาขาเช่น ที่พักแรมร้านอาหารและบันเทิงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างแรง การก่อสร้างมีการจ้างงานในระบบน้อยลงเรื่อย ๆ และเริ่มอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับการจ้างงานในภาคการขนส่งและการผลิต การจ้างงานที่ยังสามารถเติบโตได้นั้นเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการเป็นหลัก

นอกจากนี้ เรายังเห็นปรากฏการณ์แรงงานคืนถิ่นที่ค่อนข้างชัดเจน แม้จะเป็นการจ้างงานในระบบ โดยที่แรงงานที่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจและท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักมีอัตราการจ้างงานในระบบน้อยลง แต่ในขณะเดียวกัน ในพื้นที่จังหวัดรอง กลับมีแรงงานในระบบเพิ่มมากขึ้น โดยในปัจจุบัน พื้นที่ 5 อันดับที่การจ้างงานในระบบลดลงมากที่สุด คือ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี และตราด พื้นที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนแรงงานลดลงราว 2 แสนคน (5%) ซึ่งมากที่สุดในเชิงจำนวน ในขณะที่พื้นที่ที่มีแรงงานในระบบเพิ่มมากที่สุดได้แก่ นครพนม สกลนคร กำแพงเพชร หนองบัวลำภู และน่าน



การติดตามสถานการณ์ในอนาคต

การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการล็อคดาวน์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ข้อมูลสถิติทางการก็มีกรอบเวลาที่กว้าง และมีความล่าช้ากว่าช่วงเวลาจริงประมาณ 1 – 2 เดือน อาจทำให้เราไม่สามารถประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ เราเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่เท่ากันในแต่ละสาขาธุรกิจหรือพื้นที่ ซึ่งมีชุดข้อมูลให้ติดตามจำกัดมาก

จากการประเมินข้อมูลผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจจากที่เกิดขึ้นในระลอกก่อนหน้า และผลกระทบของการระบาดระลอก 3-4 ในเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจปากท้องและแรงงานกำลังจะมีขนาดที่เท่ากับเมื่อระลอกที่ 1 ซึ่งเศรษฐกิจลดลงอย่างรุนแรงถึง 12% ตัวเลขการฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 นั้นอาจจะไม่สามารถกลับมาเป็นบวกได้แรงพอที่จะชดเชยการติดลบในอดีตได้ แต่หากการระบาดจะรุนแรงยาวตลอดไตรมาส 3 ตามที่มีการคาดการณ์กัน อาจทำให้การเคลื่อนที่และกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวลงแรงเหมือนครั้งแรกแม้ไม่ได้ล็อคดาวน์แรงเท่า ขณะที่รัฐไม่ได้ใช้เงินเยียวยาได้มากและเร็วเหมือนคราวก่อน ก็จะทำให้ประเทศไทยเผชิญการหดตัวที่รุนแรงอีกครั้งหนึ่ง

จุดสำคัญที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดก็คือ การเกิดภาวะหยุดชะงักในด้านอุปทาน ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งที่ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ หรือหากเกิดการระบาดที่รุนแรงจนโรงงานผลิตสินค้าส่งออกได้รับผลกระทบไปด้วย ก็จะเป็นการดับเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายของประเทศไทย

ในอนาคต เราสามารถติดตามข้อมูลเร็วหลายตัวเพื่อประมาณการผลกระทบที่เกิดกับเศรษฐกิจได้ โดยเราสามารถใช้ราคาสินค้าต่าง ๆ เพื่อจับแนวโน้มทิศทางของเศรษฐกิจในรายสาขา ใช้ข้อมูล Facebook เพื่อดูผลกระทบรายพื้นที่ และยังสามารถใช้ชุดข้อมูลการเคลื่อนที่ของ Google เพื่อดูมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วย ซึ่งเป็นข้อมูลรายวันที่มีการอัพเดททุกวันโดยข้อมูลจะช้าไปเพียง 2 วันเท่านั้น ชุดข้อมูลของ Google ยังสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาวิกฤต มีค่าที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคภาคเอกชน (94%) รวมถึงอัตราการเติบโตของ GDP (89%) ในระดับที่สูงมาก ยังมีความสัมพันธ์ที่สูงต่อการจ้างงาน (73%) ทั้งนี้ ตลาดแรงงานจะปรับตัวช้ากว่าสถานการณ์เศรษฐกิจ เพราะยังมีความจำเป็นในการคงการจ้างงานไว้

สิ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้ คือการพัฒนาระบบสถิติข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้นและเร็วขึ้นได้ โดยเฉพาะข้อมูลการทะเบียนของรัฐ (Administrative data) อย่างเช่นฐานข้อมูลประกันสังคม สามารถสรุปยอดทุกสัปดาห์ออกมาเป็นตารางข้อมูล เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์แรงงานได้อย่างละเอียด รัฐยังสามารถนำเสนอข้อมูลประเภทอื่น ๆ ให้เร็วขึ้นได้อีก เช่น ภาวะหนี้, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, GDP, GPP (GDP รายจังหวัด), การใช้ไฟฟ้า, ข้อมูลการสำรวจภาวะสังคมและเศรษฐกิจของครัวเรือน และการสำรวจอื่น ๆ หรือรัฐอาจต้องร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อนำเสนอข้อมูลที่ทำให้เข้าใจภาพสถานการณ์ได้อย่างชัดเจนและทันการณ์มากยิ่งขึ้น เพราะนี่คือสถานการณ์ไม่ปกติ จึงไม่สามารถทำงานตามปกติได้

ที่สำคัญ เมื่อทราบข้อมูลแล้ว รัฐจะต้องดำเนินนโยบายไปตามข้อมูลของปัจจุบันและทิศทางอนาคต ไม่แก้ปัญหาแบบย้อนหลัง โดยจะต้องมีนโยบายที่เป็นการเยียวยาเฉพาะจุดตามผลกระทบ การช่วยเหลือในวงกว้างตามที่ได้เห็นข้อมูลผลกระทบข้างเคียง (spillover) ไปสู่ภาคส่วน/พื้นที่อื่น ๆ ในกรณีที่เห็นว่าผลกระทบอาจจะรุนแรงได้มากกว่านี้ เราเสนอว่าจะต้องมีมาตรการเพื่อพยุงเศรษฐกิจและการจ้างงาน เพื่อเป็นการลดขนาดของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และรัฐจะต้องคิดถึงมาตรการฟื้นฟู โดยเฉพาะการส่งสัญญาณและมาตรการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการปรับตัวตามภาพอนาคต ไม่ใช่เพื่อการกลับไปยืนจุดเดิมเท่านั้น

เอกสารดาวน์โหลด

 โควิด-19 การล็อคดาวน์ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน

ดาวน์โหลดเอกสาร

เอกสารดาวน์โหลด

 ภาพนำเสนอบทความ "โควิด-19 การล็อคดาวน์ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน"

ดาวน์โหลดเอกสาร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า