ราคาข้าวตกต่ำที่สุดในรอบ 14 ปี: ปัญหาการส่งออกและแนวทางการพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะของไทย

เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center

In Focus

  • สถานการณ์ราคาข้าวปีนี้ตกต่ำลงมาก ล่าสุด ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิลดลงเหลือ 9,658 บาท/ตัน และราคาข้าวเปลือกเจ้า 7,651 บาท/ตัน ถือเป็นราคาข้าวเปลือกที่ต่ำที่สุดในรอบ 14 ปี
  • ราคาข้าวที่ตกต่ำลงเกี่ยวพันกับปริมาณการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่อง เดิมเคยส่งออกได้มากถึง 11.7 ล้านตันในปี 2560 ลดลงอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็วตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เหลือเพียง 5.7 ล้านตันในปี 2563 และยังคงลดลงอีกร้อยละ 14 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 (เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563)
  • การส่งออกข้าวตลาดหลักของไทยลดลงแทบทุกชนิด เช่น ปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิ ที่เคยส่งออกได้ 2.3 ล้านตันในปี 2560 ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเหลือประมาณ 1.2 ล้านตันในปี 2564 ปริมาณการส่งออกข้าวขาว ซึ่งมีปริมาณส่งออกมากที่สุด ก็ลดลงเหลือเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของที่เคยส่งออกได้ในปี 2560
  • ในขณะที่ตลาดข้าวตลาดเฉพาะซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเริ่มต้นจากปริมาณการส่งออกที่ 26,000 ตันในปี 2560 เพิ่มขึ้นมาเป็น 35,000 ตันในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ +10.8%
  • ตลาดข้าวเฉพาะของไทยยังมีขนาดเล็กมาก สัดส่วนการส่งออกของข้าวตลาดเฉพาะคิดเป็นเพียง 0.8% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 และมีส่วนแบ่งในเชิงมูลค่าเพียงประมาณ 1.8% ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด
  • ข้าวตลาดเฉพาะที่มีปริมาณการส่งออกเกินกว่า 10,000 ตันต่อปี มีเพียง 2 ชนิดก็คือ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และข้าวเฉดสีทั่วไป ซึ่งข้าวทั้งสองชนิดนี้มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 95 ของข้าวตลาดเฉพาะทั้งหมด ดังนั้น การพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะตัวอื่น ๆ จึงอาจจะถือว่า ยังอยู่ในระยะแนะนำให้ตลาดรู้จัก ยังไม่เข้าสู่ระยะของการเติบโตอย่างแท้จริง
  • นอกจากข้าวสองชนิดดังกล่าว ข้าวตลาดเฉพาะที่มีศักยภาพ คือ ข้าวเฉดสีอินทรีย์และข้าวหอมไทยอินทรีย์ โดยในปี 2563 มีปริมาณการส่งออกเกือบ 1,500 ตัน และข้าวหอมไทยอินทรีย์มีปริมาณการส่งออกมากกว่า 800 ตัน ทั้งนี้ ข้าวทั้งสองชนิดนี้ มีมูลค่าต่อหน่วยในการส่งออกสูงถึง 64,827 และ 55,345 บาท/ตันตามลำดับ
  • รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมตลาดข้าวเฉพาะ เพราะมีแนวโน้มการตลาดที่ดี ปริมาณการเพาะปลูกยังไม่มาก และราคาส่งออกที่สูงกว่าข้าวตลาดหลัก โดยเข้ามามีส่วน (1) ประกันความเสี่ยงทางด้านการผลิต (เช่น การประกันภัยพืชผล) และ (2) ประกันความเสี่ยงในด้านการตลาด ด้วยการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสำหรับเอกชน หรือสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชนที่จะส่งออกตลาดโลก/ส่งมอบข้าวให้กับรัฐบาล
  • Think Forward Center เห็นว่าด้วยมาตรการข้างต้น จะช่วยพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะให้มีส่วนแบ่งในเชิงมูลค่าถึง 10% ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด (หรือมีปริมาณการส่งออกข้าวตลาดเฉพาะประมาณ 260,000 ตัน) ซึ่งจะทำให้เพิ่มมูลค่าของผลผลิตข้าวให้กับประเทศไทยได้เกือบ 10,000 ล้านบาท/ปี


สถานการณ์ราคาข้าวในปี 2564

สถานการณ์ราคาข้าวปีนี้ตกต่ำลงมาก จากข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรล่าสุด (สัปดาห์ที่ 4 เดือนตุลาคม 2564) พบว่า ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิลดลงเหลือ 9,658 บาท/ตัน ราคาข้าวเหนียวนาปี 7,257 บาท/ตัน และราคาข้าวเปลือกเจ้า 7,651 บาท/ตัน (ทั้งหมดเป็นราคาที่ความชื้น 15%) โดยหากเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและราคาข้าวเปลือกเจ้าปีนี้ ถือเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบ 14 ปี (นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550) ส่วนราคาข้าวเปลือกเหนียวในปีนี้ นับเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี (นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552)

ด้วยราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำลง รัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณสำหรับการจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาข้าวในโครงการประกันรายได้เกษตรกรมากถึง 89,306 ล้านบาท และภายใต้ข้อกำหนดของมาตรการประกันรายได้ การชดเชยส่วนต่างนั้น จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปริมาณข้าวทั้งหมดที่เกษตรกรขายได้เท่านั้น


ปัญหาการส่งออกข้าวของไทย

ราคาข้าวที่ตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์ครั้งนี้เกี่ยวพันกับปริมาณการส่งออกที่ลดลงรุนแรงตั้งแต่ปี 2562 จนต่อเนื่องถึงปัจจุบัน (ปี 2564) โดยปริมาณการส่งออกข้าวสารทั้งหมดของไทยลดลงจาก 11.7 ล้านตันในปี 2560 เหลือเพียง 5.7 ล้านตันในปี 2563 เท่ากับ -21.1% ต่อปี และยังคงลดลงต่อเนื่องในปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบในระยะ 8 เดือนแรกของปี โดยปริมาณการส่งออกข้าวสารทั้งหมดของไทยเท่ากับ 3.7 ล้านตันในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 ก่อนที่ลดลงเหลือเพียง 3.2 ล้านตัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 หรือลดลงเท่ากับ -14% เลยทีเดียว

ในมุมหนึ่ง การส่งออกข้าวที่ลดลงในปี 2563-2564 ย่อมเกี่ยวพันกับต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น และการขาดแคลนระวางสินค้าในบางช่วงเวลา แต่หากพิจารณาจากแนวโน้มการส่งออกข้าวแต่ละชนิด เราก็จะพบแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนหน้าสถานการณ์โควิด-19 แล้ว

Think Forward Center จึงขอนำเสนอข้อมูลและมุมมองที่ต่อปัญหาตลาดส่งออกข้าวของไทย และแนวทางการปรับตัวในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวทางการพัฒนาตลาดข้าวเฉพาะของไทยในอนาคต


ตลาดข้าวส่งออกของไทย

ถ้าหากพิจารณาจากตลาดส่งออกข้าวสารของไทย เราอาจแบ่งตลาดข้าวสารส่งออกตามชนิดของผลิตภัณฑ์เป็น 2 ตลาดด้วยกัน คือ ข้าวตลาดหลัก และข้าวตลาดเฉพาะ

ข้าวตลาดหลัก คือ ข้าวที่มีการส่งออกในปริมาณและมูลค่าสูงมาตั้งแต่เดิมแล้ว เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย (รวมข้าวหอมปทุมธานี และข้าวหอมมะลินอกพื้นที่) ข้าวขาว ข้าวเหนียว และข้าวนึ่ง ทั้งนี้ ในบางกรณีมีการแยกตลาดข้าวหลักออกเป็น 2 ส่วนย่อยอีก คือ ตลาดข้าวพรีเมี่ยม ซึ่งหมายถึงข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมไทย และตลาดข้าวทั่วไป ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหลือ

ข้าวตลาดเฉพาะ (หรือ niche market) คือผลิตภัณฑ์ข้าวใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น ข้าวอินทรีย์ (ทั้งข้าวหอมอินทรีย์ ข้าวเหนียวอินทรีย์ และข้าวขาวอินทรีย์) และข้าวเฉดสี (ทั้งข้าวเฉดสีอินทรีย์ และข้าวเฉดสีแบบธรรมดา) แต่ตลาดข้าวเฉพาะยังมีปริมาณและมูลค่าการส่งออกน้อยอยู่ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพิ่งเริ่มจำแนกและเก็บรวบรวมข้อมูลการส่งออกตลาดข้าวเฉพาะ ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา


การตกต่ำของตลาดส่งออกข้าวหลักของไทย

หากพิจารณาตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาจะพบว่า ปริมาณการส่งออกข้าวตลาดหลักมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างชัดเจน โดยอัตราการเติบโตในช่วงปี 2560-2563 เฉลี่ย -21.2% และยังคงติดลบต่อเนื่องในปี 2564 อีก -14.1% (ข้อมูล 8 เดือนแรกของปี) เท่ากับว่า ปริมาณการส่งออกข้าวในตลาดหลักของไทยในปี 2564 อาจต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของที่เคยส่งออกได้ในปี 2560 กล่าวคือ จากที่เคยส่งออกประมาณ 11.6 ล้านตันในปี 2560 เหลือเพียงประมาณ 5 ล้านตันในปี 2564 (ตัวเลขคาดหมาย)

มูลค่าการส่งออกข้าวตลาดหลักก็หดตัวลงเช่นกัน แม้ว่าจะหดตัวน้อยกว่าปริมาณการส่งออกก็ตาม (อัตราการเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2560-2563 เฉลี่ย -13.1%) แต่สถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกที่ตกต่ำลงในปี 2564 ทำให้มูลค่าการส่งออกข้าวตลาดหลักของไทยในช่วง 8 เดือนแรก ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง -24.4% ทำให้มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยลดลงจาก 180,000 ล้านบาท/ปี ในช่วงปี 2560-2561 เหลือเพียงประมาณ 87,000 ล้านบาท ในปี 2564 นี้ (ตัวเลขคาดหมาย)

ถ้าจำแนกย่อยลงไปอีก เราจะพบแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงหลายประการ ได้แก่

  • ปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิ ที่เคยส่งออกได้ 2.3 ล้านตันในปี 2560 ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเหลือประมาณ 1.2 ล้านตันในปี 2564 และมูลค่าการส่งออกก็ลดลงจาก 51,000 ล้านบาท เหลือเพียงประมาณ 29,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนหนึ่งเพราะประเทศคู่แข่งขัน เช่น กัมพูชา เวียดนาม ต่างพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมของตน เข้ามาแย่งตลาดข้าวหอมด้วยราคาที่ถูกกว่า
  • ปริมาณการส่งออกข้าวขาว (ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวที่ส่งออกในปริมาณมากที่สุด) ก็ลดลงจากที่เคยส่งได้ 5.1 ล้านตันในปี 2560 เหลือเพียงประมาณ 1.7 ล้านตัน ในปี 2564 หรือเพียง 1 ใน 3 ของที่เคยส่งออกได้ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะข้าวขาวของไทยเป็นข้าวพื้นแข็ง แต่ความต้องการตลาดในต่างประเทศเริ่มไปบริโภคข้าวพื้นนุ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศคู่แข่งขันก็หันไปผลิตข้าวพื้นนุ่มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
  • ปริมาณการส่งออกข้าวนึ่ง ลดลงจาก 3.3 ล้านตันในปี 2560 เหลือเพียงประมาณ 1.5 ล้านตันในปี 2564 และมูลค่าการส่งออกลดลงจาก 45,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 21,000 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน


ทั้งนี้ ตลาดข้าวหลักที่หดตัวลงน้อยที่สุด คือ ตลาดข้าวหอมไทย ซึ่งเคยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่เคยส่งออก 453,000 ตันในปี 2560 (คิดเป็นมูลค่า 6,500 ล้านบาท) เป็น 574,000 ตันในปี 2563 (คิดเป็นมูลค่า 12,500 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นในอัตรา +14.2% ในเชิงปริมาณ และ +25.3% ในเชิงมูลค่า ก่อนที่จะหดตัวตามตลาดโลกในปี 2564 โดยมีการส่งออกลดลง -36.0% ในเชิงปริมาณ ทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวหอมไทยในปี 2564 กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับเคยส่งออกในปี 2560

เพราะฉะนั้น ภาวการณ์ส่งออกข้าวของไทยมีการหดตัวตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 แล้ว โดยเฉพาะข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวหอมมะลิ ก่อนจะหดตัวรุนแรงมากขึ้นอีกจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะตลาดข้าวพรีเมี่ยม (ข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมไทย) จะได้รับผลกระทบในแง่ราคาและมูลค่าการส่งออกที่รุนแรงมาก ทำให้ตลาดที่มีแนวโน้มดีขึ้นเช่น ตลาดข้าวหอมไทยก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย


ตลาดข้าวเฉพาะ

ขณะที่ตลาดข้าวหลักของไทยหดตัวค่อนข้างรุนแรง ตลาดข้าวเฉพาะซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวใหม่มูลค่าเพิ่มสูงของไทยกลับมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเริ่มต้นจากปริมาณการส่งออกที่ 26,000 ตันในปี 2560 (ปีแรกที่มีการจำแนกข้อมูล) เพิ่มขึ้นมาเป็น 35,000 ตันในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราวปีละ +10.8% ก่อนที่ปริมาณการส่งออกลดลง -7.4% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 แต่ก็น่าจะส่งออกได้มากกว่า 32,000 ตันในปี 2564 นี้

ในแง่มูลค่า ตลาดข้าวเฉพาะของไทยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 1,100 ล้านบาท/ปี ในปี 2560 มาเป็น 1,750 ล้านบาทในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ +17.1% ต่อปี ก่อนที่จะมีมูลค่าการส่งออกลดลง -20.6% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ตามสถานการณ์ตลาดข้าวโลก และคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,400 ล้านบาท

แม้ว่าตลาดข้าวเฉพาะของไทยจะเติบโตค่อนข้างดีในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ตลาดข้าวเฉพาะของไทยยังมีขนาดเล็กมาก โดยในปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการจำแนกข้าวตลาดเฉพาะออกมา สัดส่วนการส่งออกของข้าวตลาดเฉพาะคิดเป็นเพียง 0.2% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด ก่อนที่จะขยับขึ้นมาเป็น 0.8% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 หรือยังไม่ถึง 1% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด

ส่วนในเชิงมูลค่า การส่งออกข้าวตลาดเฉพาะยังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 0.6% ของมูลค่าการส่งออกในปี 2560 มาเป็น 1.8% ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ทั้งนี้ การที่สัดส่วน (หรือส่วนแบ่ง) ในเชิงมูลค่าของข้าวตลาดเฉพาะเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าสัดส่วนในเชิงปริมาณ สะท้อนให้เห็นว่าราคาของข้าวในตลาดเฉพาะที่สูงกว่าข้าวในตลาดทั่วไป นั่นเอง

ที่ผ่านมา ข้าวตลาดเฉพาะมีมูลค่าต่อหน่วยสูงกว่าข้าวตลาดหลักอย่างชัดเจนมาก เช่น ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ข้าวหอมมะลิทั่วไปมีมูลค่าการส่งออกต่อหน่วย 25,830 บาท/ตัน ส่วนข้าวหอมมะลิอินทรีย์มีมูลค่าการส่งออกต่อหน่วย 44,686 บาท/ตัน คิดเป็น 1.73 เท่าของข้าวหอมมะลิไม่อินทรีย์ นอกจากนี้ ข้าวเฉดสีที่ไม่อินทรีย์มีมูลค่าการส่งออกต่อหน่วย 37,949 บาท/ตัน สูงกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไป และข้าวตลาดหลักอื่น ๆ อย่างมาก

ตารางมูลค่าการส่งออกต่อหน่วยของข้าวแต่ละสายพันธุ์ เฉลี่ยในปี 2564

ที่มา: คำนวณจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


โจทย์ในการพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะ

เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของการส่งออกข้าวตลาดเฉพาะของไทย เราจะพบโจทย์หรือความท้าทายที่สำคัญและน่าสนใจหลายประการ ได้แก่

  • ข้าวตลาดเฉพาะที่มีปริมาณการส่งออกเกินกว่า 10,000 ตันต่อปี มีเพียง 2 ชนิดก็คือ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และข้าวเฉดสีทั่วไป (ไม่ใช่ข้าวเฉดสีอินทรีย์) ซึ่งข้าวทั้งสองชนิดนี้มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 95 ของข้าวตลาดเฉพาะทั้งหมด ดังนั้น การพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะตัวอื่น ๆ จึงอาจจะถือว่ายังอยู่ในระยะแนะนำให้ตลาดรู้จัก ยังไม่เข้าสู่ระยะของการเติบโตอย่างแท้จริง
  • แม้ว่ามูลค่าต่อหน่วยของข้าวตลาดเฉพาะโดยเฉลี่ยจะสูงกว่าข้าวตลาดหลักประมาณ 2.3 เท่า (ตัวเลขปี 2564) แต่สัดส่วนความแตกต่างดังกล่าวเริ่มลดลงจากที่เคยสูงกว่า 2.8 เท่าในปี 2560 โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกต่อหน่วยของข้าวเฉดสี (ทั่วไป) มีแนวโน้มลดลงจาก 57,146 บาท/ตัน ในปี 2562 เหลือ 37,949 บาท/ตัน ในปี 2564 จึงเป็นสัญญาณเตือนว่า เราจำเป็นต้องมีแผนกลยุทธ์การตลาดและการควบคุมคุณภาพของข้าวตลาดเฉพาะในรายสินค้าด้วย
  • ข้าวตลาดเฉพาะที่มีศักยภาพ คือ ข้าวเฉดสีอินทรีย์และข้าวหอมไทยอินทรีย์ ซึ่งข้าวทั้งสองชนิดนี้ เริ่มมีปริมาณการส่งออกสม่ำเสมอมากขึ้น โดยข้าวสีอินทรีย์มีปริมาณการส่งออกในปี 2563 เกือบ 1,500 ตัน และข้าวหอมไทยอินทรีย์มีปริมาณการส่งออกมากกว่า 800 ตัน และข้าวทั้งสองชนิดนี้ มีมูลค่าต่อหน่วยในการส่งออกสูงถึง 64,827 บาท/ตัน และ 55,345 บาท/ตัน ในปี 2564 ตามลำดับ (ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งที่สินค้า 2 ชนิดนี้มูลค่าการส่งออกสูง เป็นเพราะยังมีปริมาณการส่งออกน้อยหรือยังหาสินค้ายากนั่นเอง) จึงน่าจะเป็นข้าวที่มีโอกาสขยายตัวทางด้านการตลาดได้ไม่ยากเกินไป
  • ข้าวตลาดเฉพาะอื่น ๆ ยังมีปริมาณการส่งออกไม่แน่นอน แม้ว่าข้าวบางชนิดจะมีความต้องการในการส่งออกเพิ่มขึ้นในบางปี เช่น ข้าวขาวอินทรีย์มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นจนมากกว่า 400 ตันในปี 2563 หรือข้าวนึ่งอินทรีย์ที่มีปริมาณการส่งออก 500 ตันในปี 2563 ก่อนที่จะลดลงในปีถัดมา ซึ่งอาจเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 จึงมีความน่าสนใจที่จะฟื้นฟูตลาดข้าวทั้งสองชนิดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง


ประเด็นในเชิงนโยบาย

จากการวิเคราะห์แนวโน้มในตลาดส่งออกข้าวไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า การพึ่งพาการส่งออกข้าวในตลาดหลักแบบเดิม คงจะไม่เพียงพอในการกระจายผลผลิตข้าวเปลือกที่ไทยผลิตได้อีกต่อไป อันจะส่งผลกดดันให้ราคาข้าวเปลือกยังคงอยู่ในภาวะตกต่ำต่อไปในปี 2565 และปีต่อ ๆ ไปได้ เพราะฉะนั้น การวางแผนกลยุทธ์การตลาดข้าวไทย และการกำหนดนโยบายในการสนับสนุนการวางแผนการตลาดข้าวไทยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ในเบื้องต้น Think Forward Center เห็นว่า แนวทางในการวางแผนกลยุทธ์การตลาดข้าวไทย มีประเด็นที่สำคัญดังนี้

  • การพัฒนากลยุทธ์การตลาดข้าวหอมไทย ทั้งแบบทั่วไปและแบบอินทรีย์ เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากมูลค่าการส่งออกต่อหน่วยสูงกว่าข้าวทั่วไปแล้ว ตลาดยังมีแนวโน้มความต้องการที่ดีอีกด้วย แต่ว่าจำเป็นต้องวางแผนการตลาดข้าวหอมไทยให้ดี เพื่อมิให้ไปซ้อนทับหรือแย่งชิงตลาดกันเอง กับข้าวหอมมะลิทั่วไป และข้าวหอมมะลิอินทรีย์
  • การปรับลดปริมาณการผลิตข้าวขาวน่าจะต้องทำโดยเร่งด่วนเช่นกัน เพราะแนวโน้มตลาดหดตัวมาก โดยจะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตและการส่งออกข้าวหอมไทย และข้าวตลาดเฉพาะบางชนิด เช่น ข้าวเฉดสี หรือปรับเป็นสายพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มแทน ส่วนข้าวหอมมะลิก็ต้องเน้นพัฒนาคุณภาพและการตลาดของข้าวหอมมะลิให้มีความโดดเด่นแตกต่าง เพื่อให้กลับมาส่งออกในปริมาณและมูลค่าต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19
  • รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมตลาดข้าวเฉพาะได้ เนื่องจากแนวโน้มการตลาดที่ดีขึ้นสำหรับข้าวตลาดเฉพาะหลาย ๆ ตัว ปริมาณการเพาะปลูกที่ยังไม่มากนัก และราคาส่งออกที่สูงกว่าข้าวตลาดหลัก โดยรัฐบาลควรเข้ามามีส่วนประกันความเสี่ยงทางด้านการผลิต (เช่น มาตรการประกันรายได้ หรือประกันภัยพืชผล) และการประกันความเสี่ยงในด้านการตลาด
  • สำหรับการประกันความเสี่ยงในด้านการตลาดสำหรับข้าวตลาดเฉพาะ รัฐบาลสามารถทำสัญญาซื้อล่วงหน้ากับภาคเอกชน ที่จะไปส่งเสริมและรับซื้อจากเกษตรกรอีกทอดหนึ่ง หากแนวโน้มของตลาดส่งออกดีกว่าที่ทำสัญญาไว้ เอกชนสามารถมาซื้อสัญญาซื้อขายนั้นกลับไปจากรัฐบาล (เพื่อไปขายสินค้าเองในตลาดโลก) แต่หากตลาดส่งออกเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม รัฐบาลสามารถรับมอบสินค้าเหล่านั้นจากเอกชนตามสัญญา เพื่อทำการตลาดภายในประเทศ ทั้งเพื่อการบริโภคและการแปรรูปได้ วิธีการประกันความเสี่ยงเช่นนี้ จะทำให้การเชิญชวนเกษตรกร และการวางแผนการลงทุนร่วมกับเกษตรกรดำเนินไปอย่างเป็นระบบ
  • การขยายการผลิตและการส่งออกข้าวตลาดเฉพาะ โดยผ่านการสนับสนุนเชิงรุกของรัฐบาล ควรดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่รีบขยายผลในปริมาณที่มากเกินไป โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี เพื่อให้สอดรับกับขีดความสามารถในการขยายการผลิต การจัดการห่วงโซ่อุปทาน และการขยายตลาดส่งออกในอนาคต
  • เป้าหมายในปี พ.ศ. 2570 Think Forward Center เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะตั้งเป้าหมายการพัฒนาข้าวตลาดเฉพาะให้มีส่วนแบ่งในเชิงมูลค่าถึง 10% ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด ซึ่งในเชิงปริมาณอาจมีสัดส่วนประมาณ 4.5% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด หรือเทียบเท่ากับปริมาณการส่งออกข้าวตลาดเฉพาะประมาณ 260,000 ตัน ซึ่งหากทำได้จะเพิ่มมูลค่าของผลผลิตข้าวให้กับประเทศไทยได้เกือบ 10,000 ล้านบาท/ปี

บทความล่าสุด

งบ 67: สิ่งที่พอจัดการได้กับงบโรงเรียนขนาดเล็ก

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร

ห้ามนำเข้าสินค้า จากพื้นที่ที่มีการเผา นโยบายที่ปรากฏอยู่ในร่าง พรบ.ฝุ่นพิษ ฉบับก้าวไกล

คุยกับ “นิติพล ผิวเหมาะ” ทางออกที่เป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันของ “คนกับสัตว์”

จาก “ตัวเงินตัวทอง” และ “ลิง” สู่ “นกปรอดหัวโขน” และ “ช้างป่า” ว่าด้วยปัญหาที่ผ่านมาระหว่าง “คนกับสัตว์”

“ถ้าคุณให้ทุนมา จะมีนักมานุษยวิทยาที่พร้อมนั่งสังเกตลิง”: รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ว่าด้วย ‘คนกับสัตว์’ ที่ไม่รู้ใจ แต่ใช้ชีวิตร่วมกันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า