งบประกันรายได้เกษตรกรอยู่ตรงไหนในระบบงบประมาณ เมื่ออดีตไล่ล่าอนาคต: แล้วเราจะสู้กลับได้อย่างไร?

เดชรัต สุขกำเนิด


ในงาน Hackathon ร่างงบประมาณรายจ่าย ปี 2566 ของพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2565 มีคำถามถามเข้ามาเยอะมากเลยว่า “งบประมาณที่ใช้ในการประกันรายได้เกษตรกร” อยู่ตรงไหนในระบบงบประมาณ?


สาเหตุที่มีคนสงสัยในงบประมาณส่วนนี้กันมาก เพราะสังคมไทยทราบว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก น่าจะไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท เลยอยากทราบว่า งบประมาณที่จะใช้ในการประกันรายได้เกษตรกรในปีหน้า (ปีงบประมาณ 2566) แต่กลับหาในเอกสารร่างงบประมาณไม่พบเลย พบแต่งบประมาณประกันรายได้เกษตรกรในปีก่อนๆ

เอ๊ะ!! ยังไง?

ใช่แล้วครับ งบประมาณในการประกันรายได้เกษตรกรในปีที่ไม่ถึง (ปี 2566) จะไม่อยู่ในเล่มงบประมาณรายจ่ายที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังจะพิจารณา (หรือแปลว่า สส. จะไม่ได้พิจารณางบฯ ส่วนนี้) แต่รัฐบาล (โดยคณะรัฐมนตรี) จะไปอนุมัติงบประมาณนี้ในภายหลัง และใช้วิธีการกู้เงิน ธกส. เพื่อนำมาใช้จ่ายตามนโยบายของตน

แล้วรัฐบาลจึงค่อยมาตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้ที่ตนเองก่อไว้ (และสภาฯ ไม่ได้พิจารณาด้วยเลย) ในปีงบประมาณต่อๆ ไป

ทั้งนี้ การจำนำข้าวในรัฐบาลก่อนหน้านี้ ก็ใช้วิธีการตั้งงบประมาณแบบนี้เช่นกัน

อ้าว!! แล้วภาระหนี้ที่ต้องจ่าย มันมากน้อยเพียงใด?

ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2566 มีงบประมาณในการชำระคืนเงินในส่วนของโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกร ตั้งแต่ปี 2562/63 จนถึงปี 2564/65 ไว้เท่ากับ 14,003.22 ล้านบาท โดยงบนี้จะชำระหนี้ให้ ธกส. แยกเป็น 3 ส่วนคือ ต้นเงิน ต้นทุนเงิน (หรือดอกเบี้ยที่ไปกู้มา) และค่าบริหารโครงการ ของแต่ละนโยบาย

ขณะเดียวกัน ในร่างงบประมาณฉบับ 2566 นี้ ก็ยังมีงบที่ชำระคืนเงินในส่วนของจำนำข้าว ตั้งแต่ปี 2551/52 (ย้ำว่า พิมพ์ไม่ผิด งบเมื่อ 13-14 ปีก่อน) จนถึงปี 2556/57 อีก 34,172.72 ล้านบาท และมีงบที่ต้องชำระคืนในโครงการช่วยเหลือเกษตรกรอื่นๆ (เช่น ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว) อีก 30,209 ล้านบาท

รวมแล้วงบประมาณในปี 2566 จะต้องใช้ไปในชำระหนี้ในส่วนของนโยบายเกษตรของรัฐบาลต่างๆ ที่ผ่านมาประมาณ 78,385 ล้านบาท เลยทีเดียว

แล้ว โครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณเท่าไร?

ถ้าดูจากเอกสารประกอบกับร่างงบประมาณพบว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรในปี 2564/65 มีค่าใช้จ่ายประมาณ 105,815 ล้านบาท (แยกเป็นข้าว 87,532 ล้านบาท ยาง 9,784 ล้านบาท มันสำปะหลัง 6,675 ล้านบาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1,825 ล้านบาท) และยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวอีกประมาณ 35,401.9 ล้านบาท รวมแล้วค่าใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายของเกษตรกรในปีที่ผ่านมาเท่ากับ 141,218 ล้านบาท


ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่มากกว่างบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 เท่ากับ 109,853 ล้านบาท เสียอีก

แล้วหนี้สะสมนี้จะหมดเมื่อไร?

จริงๆ แล้ว ยังไม่มีใครทราบแผนการชำระหนี้ของรัฐบาล (และ ธกส. ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่) ว่า รัฐบาลจะชำระหนี้เหล่านี้หมดเมื่อใด

แต่ถ้าพิจารณาจากตัวเลขเงินที่ใช้ไปปีละประมาณ 140,000 ล้านบาท แต่ตั้งงบชำระหนี้ปีละไม่ถึง 80,000 ล้านบาท ก็แปลว่า หนี้ก้อนนี้ก็จะยิ่งพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ แบบดินพอกหางหมู

แล้วดินพอกหางหมูตอนนี้ใหญ่เท่าไรแล้ว?

ถ้าเริ่มพิจารณาจากข้อมูลงบการเงินของ ธกส. ในหมวดลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมนโยบายรัฐ ได้เพิ่มขึ้นจาก 307,901.2 ล้านบาทในปี 2562 มาเป็น 555,151.5 ล้านบาท ในเดือนธันวาคม 2564 ก็แปลว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หนี้ของรัฐบาลนี้ก่อขึ้นและยังคงอยู่ (เฉพาะในหมวดนี้) ก็มากกว่า 247,250 ล้านบาท แล้วครับ

และเมื่อรวมภาระหนี้ทุกหมวดที่รัฐบาลมีต่อธกส. ทั้งหมดในปลายปี 2564 ก็เท่ากับ 887,831 ล้านบาท หรือเกือบ 9 แสนล้านบาท หรือเท่ากับ 7 เท่าของงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับในปีงบประมาณ 2566 กันเลยทีเดียว

แล้วทำแบบนี้ มีผลเสียอย่างไร?

การดำเนินงบประมาณแบบนี้จึงมีผลเสียสำคัญ 3 ประการคือ

หนึ่ง ขาดการตรวจสอบจากผู้แทนราษฏรในระบบงบประมาณ เพราะรัฐบาลไปตั้งงบประมาณเอาเองในภายหลัง ซึ่งอาจเรียกได้ว่า “เป็นการเสียวินัยทางการคลัง” อย่างหนึ่ง

สอง การตั้งงบประมาณดังกล่าวกลับกลายมาเป็น “ภาระการคลังในอนาคต” ที่ทำให้รัฐบาลและรัฐสภาต้องมาตั้งงบประมาณชดเชยในอนาคต โดยภาระการชดเชยหนี้ ดังกล่าวอาจยืดยาวนับเป็น 10 ปี

และสาม ภาระการคลังในอนาคต ก็จะกลายเป็นตัวจำกัด “ขีดความสามารถทางการคลัง” หรือ Fiscal space ในการพัฒนาการเกษตร โดยจะเห็นว่า ในขณะที่งบประมาณในการชำระหนี้ (ที่ก่อในอดีต) ในปี 2566 เท่ากับ 78,384 ล้านบาท ซึ่งมากกว่างบประมาณกรมชลประทานทั้งปีงบประมาณ (77,533 ล้านบาท) เสียอีก

ยิ่งถ้านำงบประมาณในการชำระหนี้ 78,384 ล้านบาท มาเทียบกับงบประมาณด้านการเกษตร ที่ไม่รวมเรื่องชลประทานและฝนหลวง) และเงินเดือนของบุคลากร ซึ่งได้รับรวมทุกกรม รวมถึงหน่วยงานนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เช่น กรมการค้าภายใน หรือสถาบันการศึกษา) เท่ากับ 9,211 ล้านบาท

เราก็จะเห็นว่า งบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในการส่งเสริมการเกษตร การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาตลาดภายใน ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร การทำเกษตรกรรมยั่งยืน ฯลฯ รวมแล้ว น้อยกว่างบชำระหนี้ที่ผูกพันมาจากอดีตถึง 8.5 เท่า

และนี่คงเป็นคำอธิบายที่ดีว่า ทำไมภาคเกษตรกรรมของไทยถึงกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อยๆ โดยที่รัฐบาลก็แก้ไขอะไรได้จำกัด เพราะขีดความสามารถทางการคลังของรัฐบาลในการพัฒนาการเกษตร หดหายไปกับภาระหนี้ที่รัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลก่อนได้ก่อและผูกพันเอาไว้

แล้วจะไม่ช่วยเหลือเกษตรกรหรือ?

Think Forward Center เห็นว่า การช่วยเหลือเกษตรกรเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก แต่ควรช่วยเหลือผ่านระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ที่จ่ายเงินให้กับประชาชนแต่ละรายโดยตรงตามช่วงวัย (เช่น 0-6 ปี 1,200 บาท/เดือน 7-22 ปี 800 บาท/เดือน และ 60 ปี ขึ้นไป 3,000 บาท/เดือน) เพราะจะทำให้เกษตรกร (ในฐานะประชาชน) ได้รับเงินโดยตรง โดยไม่ต้องไปเสี่ยงกับราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น จนอาจจะกลายเป็นหนี้สินที่พอกพูนขึ้นไปอีก

ส่วนงบประมาณที่รัฐบาลเคยใช้ในการอุดหนุนภาคเกษตร เช่น การประกันรายได้ การจำนำข้าว ประมาณ 150,000 ล้านบาท/ปี ควรนำมาใช้ในการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาภาคการเกษตรมากกว่า เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ 4 ล้านไร่ ในงบประมาณ 25,000 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร 25,000 ล้านบาท

หรือนำมาใช้ในการพัฒนาการเกษตร (เช่น การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมการเกษตร ฯลฯ ไม่รวมงบชลประทานและงบเงินเดือนของบุคลากร) จากปัจจุบันที่ได้รับ 9,211 ล้านบาท ให้เพิ่มขึ้นเป็น 23,000 ล้านบาท เพื่อให้สามารถฟื้นฟูและเพิ่มพูนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตรของประเทศ และการช่วยในการสร้างมูลค่าของสินค้าเกษตรอย่างแท้จริงมากกว่า

Think Forward Center จะนำรายละเอียดของการพัฒนางบประมาณการเกษตรฉบับก้าวไกลมาให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในโอกาสอันไม่นานนี้

บทความล่าสุด

งบ 67: สิ่งที่พอจัดการได้กับงบโรงเรียนขนาดเล็ก

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร

ห้ามนำเข้าสินค้า จากพื้นที่ที่มีการเผา นโยบายที่ปรากฏอยู่ในร่าง พรบ.ฝุ่นพิษ ฉบับก้าวไกล

คุยกับ “นิติพล ผิวเหมาะ” ทางออกที่เป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันของ “คนกับสัตว์”

จาก “ตัวเงินตัวทอง” และ “ลิง” สู่ “นกปรอดหัวโขน” และ “ช้างป่า” ว่าด้วยปัญหาที่ผ่านมาระหว่าง “คนกับสัตว์”

“ถ้าคุณให้ทุนมา จะมีนักมานุษยวิทยาที่พร้อมนั่งสังเกตลิง”: รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ว่าด้วย ‘คนกับสัตว์’ ที่ไม่รู้ใจ แต่ใช้ชีวิตร่วมกันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า