ฝุ่นและงบฝุ่น: ดีขึ้นแต่ยังไม่พอ

นุชประภา โมกข์ศาสตร์


ฝุ่นและงบฝุ่น: ดีขึ้นแต่ยังไม่พอ

รายงานการวิเคราะห์งบประมาณด้านการจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2566


การรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในช่วง พ.ศ. 2562-2564 ที่ผ่านมาทำให้สถานการณ์ฝุ่นละอองและฝุ่น PM 2.5 ในปี 2565 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งในจังหวัดต่างๆ มีแนวโน้มลดลง ข้อมูลด้านจำนวนจุดความร้อนในปี 2562 และปี 2563 ประเทศไทยพบจุดความร้อนจำนวน 205,373 จุดและ 205,288 จุด ต่อมาปี 2564 พบจุดความร้อน 101,869 จุด ซึ่งลดลงจากปี 2562-2563 ค่อนข้างมาก ขณะที่จุดความร้อนของปี 2565 อยู่ที่ 31,082 จุด (นับตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 15 มีนาคม) 


สาเหตุที่ประเทศไทยมีจุดความร้อนลดลง เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตรวจวัดจุดความร้อนและการเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลในด้านพื้นที่ที่เคยมีจุดความร้อนและพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า ความถี่ในการเผาไหม้ ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลต่างๆ ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำไปวางแผน เพื่อป้องกันสถานการณ์ภัยพิบัติไฟป่าได้อย่างทันท่วงที 

ปัจจัยต่อมาคือ ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มอาสาสมัครและภาคประชาชน ที่มีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวังไฟป่า มีการรณรงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการทำเกษตรปลอดเผา รวมทั้งปรากฎการณ์ลานีญาในปี 2564-2565 ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกมากกว่าปกติ ทำให้ความชื้นจากน้ำฝนช่วยลดจำนวนจุดความร้อนและลดการลุกไหม้ในพื้นที่เปราะบางและพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการเผาไหม้

แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการในการรณรงค์เรื่องการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม แต่ปัญหาฝุ่น PM2.5 และมลพิษในอากาศยังคงเป็นปัญหาที่ส่งกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยหากวัดตามดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 (PM2.5 Air Quality Index) ผลกระทบที่เกิดจากการสูดดมฝุ่น PM2.5  ในปี 2563 พบว่า คนกรุงเทพสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ทั้งหมด 1,270.07 มวน และในปี 2564 การสูดดมฝุ่นพิษเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1,261.05 มวน ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าปริมาณฝุ่นของปี 2564 ดีขึ้นกว่า 2563 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และแสดงให้เห็นว่าคุณภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 


พื้นที่เกษตรกรรมที่มีการเผา

นอกจากจุดความร้อนและการเกิดไฟป่าแล้ว การเผาในพื้นที่เกษตรกรรมก็เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควัน ทั้งนี้ผลสำรวจพบว่า พื้นที่เกษตรกรรมที่มีการเผาพื้นที่เสี่ยงสูงพบใน 844 อำเภอหรือ 5,487 ตำบลทั่วประเทศ จากข้อมูลใน พ.ศ. 2558 พบว่ามีพื้นที่เผารวมทั้งสิ้น 18,005,297 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 25.4 ของพื้นที่ทั้งหมด 

สาเหตุสำคัญของการเผาเกิดจากเกษตรกรรายย่อย ไม่มีทุนมากพอที่จะจ้างรถไถเพื่อเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกเหมือนเกษตรกรรายใหญ่ (หรือ จ้างรถตัดอ้อยในการเก็บเกี่ยว) ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกใช้การเผาในการเร่งรอบการผลิต (หรือเพื่อความสะดวกในการเก็บเกี่ยว) โดยมีการเผาในพื้นที่ข้าวนาปรังร้อยละ 57 การเผาในไร่อ้อยโรงงานร้อยละ 47 การเผาในพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 35 และการเผาในพื้นที่ข้าวนาปีร้อยละ 29 


งบประมาณในการลดการเผาและแก้ปัญหาฝุ่นละออง

ในปี 2564 มีการจัดสรรงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม 16,143 ล้านบาท ปี 2565 งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมลดลง 8,533.8 ล้านบาท (ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงค่อนข้างมากและน้อยที่สุดในรอบ 5 ปี)  และในปี 2566 งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็น 10,226.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.03 ของงบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท (เพิ่มจากปี 2565 ประมาณ 1,865 ล้าน) แต่ก็ยังน้อยกว่างบประมาณที่เคยได้รับในปี 2564


งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษปี 2565

ในส่วนของการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษปี 2565 ที่ผ่านมามีการดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่

  • งบสนับสนุนการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยฯ 15 จังหวัด ได้งบประมาณ 7.4 ล้านบาท
  • งบจัดการมลพิษทางอากาศ 4 แห่งและงบตรวจสอบ/ตรวจจับยานพาหนะ 7.6 ล้านบาท
  • งบสำหรับอาสาสมัครและประชาชนในการจัดการไฟป่าและหมอกควันของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 10 ล้านบาท
  • งบหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 40.8 ล้านบาท
  • งบควบคุมไฟป่าของกรมป่าไม้ 307.7 ล้านบาท
  • งบในการเพิ่มสถานีตรวจวัดและเครื่องมือวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กของกรมควบคุมมลพิษอีก 24.5 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมความร่วมมือการแก้ปัญหาหมอกควันในอาเซียน 8.2 ล้านบาท

รวมแล้ว งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและหมอกควันในปี 2565 เท่ากับ 406.2 ล้านบาท


งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษปี 2566 

ในส่วนของการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษ ปี 2566 มีแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่

  • งบส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตร 9.72 ล้านบาท
  • งบเฝ้าระวังการเผาซากพืช วัชพืช และวัสดุทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน 7.09 ล้านบาท 
  • งบส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 22 ล้านบาท
  • งบป้องกันและแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและเสียงของกรมควบคุมมลพิษ 77.6 ล้านบาทข (ซึ่งมีการจัดสรรเพื่อแก้ปัญหาอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าเพียง 1.292 ล้านบาท)
  • งบบังคับใช้กฎหมายกับยานพาหนะ 1.11 ล้านบาท
  • งบส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการป้องกันการเผาในที่โล่งไฟป่าและหมอกควันของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 7 ล้านบาท /งบแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน 6.29 ล้านบาท
  • การเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามตรวจสอบรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศของประเทศไทย 15 ล้านบาท 
  • งบควบคุมไฟป่าของกรมป่าไม้ 341.15 ล้านบาท

รวมแล้วงบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันทั้งหมดในปี 2566 ประมาณ 410.65 ล้านบาท ซึ่งแทบจะไม่แตกต่างจากปีก่อนเลย

เมื่อนำงบประมาณเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองในอากาศ ระหว่างงบปี 2565 (จำนวน 406.2 ล้านบาท) และปี 2566  (จำนวน 410.65 ล้านบาท) มาเปรียบเทียบกับจำนวนพื้นที่เสี่ยง (เปราะบาง) ต่อการเผาไหม้ในพื้นที่การใช้ประโยชน์ในที่ดิน ทั้งพื้นที่ปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ปี 2563/64 ในเขตพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ที่มีประมาณ 926,678 ไร่ และพื้นที่เฝ้าระวัง ได้แก่ พื้นที่เป้าหมายตามแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 จำนวน 5.64 ล้านไร่ (จากพื้นที่การเกษตรรวมจำนวน 10,506,992 ไร่)  งบประมาณที่จัดสรรเพียง 400 ล้านบาท/ปี ยังมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับขนาดของพื้นที่เกิดปัญหา ความเสียหายและผลกระทบจากการเผาไหม้โดยรวม 

นอกจากนี้ ในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีงบประมาณที่จ่ายให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิต 2563/2564 จำนวน 5,933 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและ PM 2.5 จากการเผาไร่อ้อย โดยธกส. จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารแก่เกษตรกรที่ปลูกอ้อยที่ตัดอ้อยคุณภาพ (หรือลดการเผา) ส่งโรงงานประมาณ 300,000 ราย ในอัตรา 120 บาท/ตัน มาตรการนี้ตั้งเป้าหมายในการลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ ฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 ไม่เกินร้อยละ 10 ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกินร้อยละ 5 และฤดูการผลิตปี 2566/2567 กำหนดเป้าหมายจำนวนอ้อยไฟไหม้เป็นศูนย์ 

แนวทางนี้ ภาครัฐได้สร้างแรงจูงใจด้วยมาตรการส่งเสริมให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ การกำหนดโทษปรับโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้เกินเกณฑ์ที่กำหนด การจัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้ชาวไร่อ้อยยืมใช้ฟรี จำนวน 176 เครื่อง การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร รถตัดอ้อย และเครื่องจักรกลอื่นๆ มาใช้ในไร่อ้อย และการหักเงินชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยไฟไหม้ในอัตราตันละ 30 บาท ซึ่งมาตรการต่างๆ นี้สร้างแรงจูงใจในการลดการเผาในพื้นที่ปลูกอ้อยได้ค่อนข้างดีในช่วงปี 2564 และ 2565

แต่ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ได้จ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว สูงถึง 53,871.8 ล้านบาท (สูงกว่าโครงการชดเชยการตัดอ้อยสดถึง 9 เท่า) แต่กลับไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขการลด/ห้ามการเผาในการเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวรอบใหม่ ทำให้การเผาในพื้นที่นายังไม่ลดลง และส่งผลกระทบต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ต่างๆ ในวงกว้าง


ดังนั้น Think Forward Center จึงเห็นว่า การกำหนดมาตรการและการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ ยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง Think Forward Center จึงมีข้อเสนอให้ภาครัฐเพิ่มเติมมาตรการและงบประมาณดำเนินการ ดังนี้ 

  • สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด เพื่อให้การดำเนินมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางการบริหาร เป็นไปอย่างสอดคล้องกันและมีประสิทธิภาพในการดำเนินการมากขึ้น เช่น การบังคับใช้กฎหมายในการกำหนดเขตห้ามเผา ในบริเวณแหล่งชุมชน โรงเรียน และแหล่งที่พักอาศัย
  • ควรพัฒนาให้ระบบมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยสอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก และการพัฒนาระบบเตือนภัยด้านคุณภาพอากาศให้ทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเผาเศษวัสดุ พื้นที่ที่เกิดไฟป่า และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กสูง
  • รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำเศษวัสดุเหลือใช้ไปใช้ประโยชน์ อาทิ ตอซัง ฟางข้าว ใบอ้อย  เพื่อให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือทิ้งมาแปลงเป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือผลิตเป็นอาหารสัตว์ การแปลงใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับโรงงานน้ำตาล รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมในการนำเศษวัสดุไปแปรรูปอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า
  • ควรมีการจัดสรรงบประมาณไปยังพื้นที่เกษตรในส่วนอื่นๆ ที่เหลือนอกจากพื้นที่ปลูกอ้อย โดยเฉพาะพื้นที่การปลูกข้าวและข้าวโพด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรลดการเผา และควรติดตามประเมินผลเชิงนโยบาย เกี่ยวกับสถิติคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ และจำนวนพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการเผาในแต่ละปี เพื่อวางแผนปรับปรุง/กำหนดมาตรการเพิ่มเติมสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป
  • รัฐควรจัดสรรงบประมาณในการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา/เฝ้าระวังหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง เพื่อลดการเผาไหม้และจุดความร้อน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและชุมชน เพื่อให้มีพื้นที่ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน




เอกสารอ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ. 2565. เกษตรรณรงค์หยุดเผาต่อเนื่องปี 64 จุด Hotspot ลดลง 51.71%. https://www.bangkokbiznews.com/business/988837 

เอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เล่มที่ 4 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี.

เอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เล่มที่ 6 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี.

เอกสารงบประมาณฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เล่มที่ 14 รัฐวิสาหกิจ. สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี.

เอกสารงบประมาณฉบับที่ 4 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566. งบประมาณรายจ่ายจำแนกตามโครงสร้างแผนงานตามยุทธศาสตร์. สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี.

เอกสารงบประมาณฉบับที่ 6 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566. ผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564. สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี.

เดชรัต สุขกำเนิด. 2565. ฝุ่นควันและความสิ้นหวังในงบประมาณ 65. https://think.moveforwardparty.org/article/1100/ 

 วาสิฐี ภักดีลุน. 2564. การจัดการและลดการเผาในพื้นที่เกษตร (2). กรุงเทพธุรกิจ.https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/126943

นสพ.กสิกร. แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2563/2564. https://www.doa.go.th/ksp/attachment.php?aid=2959

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ.2565. สถิติจุดความร้อนย้อนหลัง 5 ปี. https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=5688&lang=TH

MRG Online. 2564. รัฐบาลส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ลดฝุ่น PM 2.5 อนุมัติงบช่วยเหลือผ่านโครงการ 6.8 พันล้าน. https://mgronline.com/politics/detail/9640000045132

TEI. 2564. การจัดการและลดการเผาในพื้นที่เกษตรของประเทศไทย. https://tei.or.th/th/blog_detail.php?blog_id=70 

The Standard. 2565. เปิดข้อมูล ปี 2564 คนกรุงเทพฯ ‘สูดฝุ่นพิษ PM2.5’ เท่ากับ ‘การสูบบุหรี่’ 1,261 มวน. https://thestandard.co/key-messages-bkk-and-pm2-5/

Thai PBS. 2563. ไทยสูญงบแก้ปัญหาฝุ่นปีละเท่าไหร่?. https://news.thaipbs.or.th/content/298697

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า