SMEs ก้าวไกล – พัฒนา SMEs ไทยให้แข็งแกร่งอย่างทั่วถึงได้อย่างไร?

วรภพ วิริยะโรจน์

In Focus


  • SMEs เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญในทางระบบเศรษฐกิจ ถ้ามีมากก็เท่ากับระบบเศรษฐกิจนั้นมีการแข่งขันสูง เกิดการพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองผู้บริโภคมากขึ้น และในทางหนึ่งก็เป็นกลไกในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเข้าสู่ตลาดได้โดยไม่ถูกปิดกั้น
  • แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 3.1 ล้านราย ขณะที่ GDP ของประเทศ กลับมีสัดส่วน SMEs เพียง 34% และในจำนวนนี้มีเพียง 1.4% ที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง สะท้อนว่า SMEs ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
  • วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เสนอว่า หากรัฐบาลต้องการสนับสนุน SMEs จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องคำนึงถึงสิ่งที่ SMEs ต้องการ ประกอบด้วย (ก) แต้มต่อเพื่อให้ SMEs ลดความเสียเปรียบในการแข่งขันกับทุนใหญ่ (ข) สร้างโอกาสทางการตลาดให้กับ SMEs ได้ลองตลาดกับผู้ซื้อใหม่ๆ (ค) เติมทุน สำหรับให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนสำหรับทุนหมุนเวียนและขยายกิจการ (ง) ลดจ่าย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งภาระค่าเช่า ค่าแรง และภาษี ให้กับ SMEs และ (จ) สร้างการรวมกลุ่ม ของ SMEs ให้มีตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงสะท้อนความต้องการถ่วงดุลกับกลุ่มทุนใหญ่ เพื่อป้องกันการออกนโยบายภาครัฐที่เอื้อให้เกิดการกีดกันและผูกขาดกับทุนใหญ่

SMEs ถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ เพราะโดยธรรมชาติยิ่งระบบเศรษฐกิจไหนมี SMEs จำนวนมาก ย่อมหมายถึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง และการแข่งขันนี้จะทำให้เกิด นวัตกรรม สินค้าและบริการใหม่ๆ ทำให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเลือกสินค้า/บริการที่ดีที่สุดได้ และเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจภาพใหญ่ที่จะเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูงต่อไปจากการแข่งขันของ SMEs และ อีกความสำคัญของ SMEs คือ เป็นกำลังสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำภายในสังคม เพราะถ้าสังคมไหนมี SMEs มากขึ้น ย่อมหมายถึงสังคมนั้นมีช่องทางและโอกาสให้ผู้คนสามารถสร้างกิจการและเติบโตขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางได้มากขึ้น ซึ่งดีกว่าการเติบโตโดยกลุ่มทุนใหญ่ที่จะทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

ดังนั้น นโยบาย เศรษฐกิจ SMEs จึงควรเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลไทย ในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อจากนี้ไปที่จะต้องแข่งขันกับตลาดโลกด้วยนวัตกรรมมากขึ้น และต้องสร้างโอกาสให้กับ SMEs เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสในการสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมา



ข้อจำกัดของ SMEs ไทย

เมื่อดูข้อมูลของประเทศไทยพบว่า  SMEs มีสัดส่วนเพียง 34% ของ GDP ประเทศไทย สะท้อนว่าเศรษฐกิจประเทศไทยขับเคลื่อนโดยกลุ่มทุนใหญ่มากกว่า SMEs ถึงเกือบ 2 เท่า ทั้งๆที่ประเทศไทยมี SMEs ทั้งหมด 3.1 ล้านราย และถ้าไปดูสัดส่วนข้างใน SMEs ตามขนาด ย่อม/เล็ก/กลาง จะพบว่าเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางได้เพียง 1.4% จากจำนวน SMEs ทั้งหมด สะท้อนว่า SMEs จำนวนมากไม่ได้รับการสนับสนุน จนสามารถเติบโตก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างนวัตกรรมและแข่งขันในตลาดโลกได้ 

ในทางตรงกันข้าม ถ้ามาดูในด้านการจ้างงานก็จะพบว่า SMEs มีการจ้างงานถึง 12.7 ล้านคน ซึ่งสะท้อนว่า SMEs เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของลูกจ้างและครอบครัวอีกมากกว่า 12 ล้านชีวิต และถ้า SMEs เติบโตก้าวหน้าขึ้นไป ย่อมหมายถึง เงินตอบแทนของลูกจ้าง ทั้งเงินเดือน ค่าล่วงเวลา และโบนัสของลูกจ้างก็จะได้เพิ่มมากขึ้นจากการเติบโตของ SMEs อีกด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณานโยบายและงบประมาณการพัฒนาของ SMEs ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน กลับพบว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์สำหรับ SMEs ในร่างงบประมาณ ปี 2566 เพียง 2,721 ล้านบาท และเต็มไปด้วยโครงการย่อยๆ ถึง 65 โครงการ ที่ช่วย SMEs ได้ไม่ทั่วถึง และไม่เป็นรูปธรรม


นโยบายการพัฒนา SMEs ฉบับก้าวไกล

พรรคก้าวไกล นำโดย วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และทีมงานที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจ SMEs มายาวนาน ต่างวิเคราะห์ว่า สิ่งที่ SMEs ต้องการ ประกอบด้วย (ก) แต้มต่อเพื่อให้ SMEs ลดความเสียเปรียบในการแข่งขันกับทุนใหญ่ (ข) สร้างโอกาสทางการตลาดให้กับ SMEs ได้ลองตลาดกับผู้ซื้อใหม่ๆ หรือเรียกว่า เติมตลาด (ค) เติมทุน สำหรับให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนสำหรับทุนหมุนเวียนและขยายกิจการ (ง) ลดจ่าย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งภาระค่าเช่า ค่าแรง และภาษี ให้กับ SMEs และ (จ) สร้างการรวมกลุ่ม ของ SMEs ให้มีตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงสะท้อนความต้องการถ่วงดุลกับกลุ่มทุนใหญ่เพื่อป้องกันการออกนโยบายภาครัฐที่เอื้อให้เกิดการกีดกันและผูกขาดกับทุนใหญ่ ซึ่งสามารถขยายให้เข้าใจง่ายขึ้นตามเนื้อหาต่อไปนี้


1. แต้มต่อ

SMEs ต้องการแต้มต่อ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ได้ จากขนาดและทรัพยากรของ SMEs ที่น้อยกว่ากลุ่มทุนใหญ่

  • หวย SMEs สำหรับธุรกิจ B2C ที่ขายสินค้าหรือให้บริการแก่ผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภค ซื้อสินค้า/บริการของ SMEs ผ่าน แอพฯ เป๋าตัง ทุกๆ 500 บาท จะได้รับ สลากกินแบ่งรัฐบาล 1 ใบ โดยจำกัดไว้ที่คนละ 2 ใบต่อ เดือน (หรือ 1 ใบต่องวดสลาก) จะเป็นการสร้างแต้มต่อให้กับ SMEs ในการแข่งขันกับห้างร้านของทุนใหญ่ และต้องมีนโยบายจูงใจให้ SMEs เข้าร่วมโครงการนี้เช่นกัน ด้วยการกำหนดว่า ทุกๆ ยอดขาย 5,000 บาท ผ่านแอพฯ เป๋าตัง SMEs จะได้รับ สลากกินแบ่งรัฐบาล 1 ใบ โดยจำกัดไว้ที่คนละ 2 ใบต่อ เดือน (หรือ 1 ใบต่องวดสลาก) เหมือนกับผู้ซื้อ , รายได้จากการขายผ่านแอพฯ เป๋าตัง SMEs จะสามารถหักค่าใช้จ่ายเหมา สำหรับภาษีบุคคลได้เพิ่มขึ้นเป็น 90% จากเดิมที่หักค่าใช้จ่ายเหมาได้เพียง 60% และ สามารถนำยอดขายผ่าน แอพฯ เป๋าตัง กู้สินเชื่อในระบบกับธนาคารออมสินได้แน่นอน สูงสุด 3 เท่าของยอดขายต่อเดือน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและสำหรับขยายกิจการต่อไปได้ 
  • ซื้อ SMEs เพิ่ม หักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ถ้าเป็นธุรกิจ B2B ที่ขายสินค้าให้กับธุรกิจ ถ้าบริษัทไหนซื้อสินค้า/บริการ SMEs เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า จะสามารถนำส่วนเพิ่มไปหักค่าใช้จ่ายทางภาษีนิติบุคคลได้ 1.5 เท่า ถ้าเป็น SMEs ซื้อ SMEs กันเอง จะสามารถนำส่วนเพิ่มจากปีก่อนหน้าไปหักค่าใช้จ่ายทางภาษีนิติบุคคลได้ 2 เท่า ทำให้ทุกธุรกิจหันมาซื้อสินค้า/บริการจาก SMEs มากขึ้น สนับสนุนให้เกิดบริการ Outsource งานให้กับธุรกิจ SMEs มากขึ้นด้วย จูงใจไม่ให้กลุ่มทุนใหญ่ขยายกิจการลงมากินรวบในห่วงโซ่อุปทาน 


2. เติมตลาด

SMEs ต้องการโอกาสในการเข้าถึงตลาด โดยเฉพาะจาก นักท่องเที่ยวต่างชาติ และ ผู้เสียภาษีบุคคล ที่มีกำลังซื้อและสามารถเป็นลูกค้าหลักในอนาคตต่อไปได้ หรือ โอกาสในการวางขายใน ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เพื่อทดลองตลาดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

  • เคาน์เตอร์สินค้าตัวอย่าง SMEs ทุกสนามบินนานาชาติ SMEs ยินดีที่จะให้สินค้าตัวอย่างกับนักท่องเที่ยวต่างชาติฟรีอยู่แล้ว ดังนั้นภาครัฐควรตั้งจัด พื้นที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาเลือกรับสินค้าตัวอย่าง SMEs ได้ฟรี ทั้งขาเข้าและขาออกทุกสนามบินนานาชาติ เพราะถ้านักท่องเที่ยวต่างชาติถูกใจ ย่อมหมายถึง โอกาสของยอดขายที่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวจากตลาดต่างประเทศ และ หมายถึงโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาซื้อซ้ำผ่าน อีคอมเมิซ เมื่อกลับไปยังประเทศตัวเองได้ (Cross-border Ecommerce Platform ของเอกชน)
  • เครดิตจากภาษีบุคคล 1,000 บาท สำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์/OTOP/สหกรณ์เกษตร ถ้าผู้เสียภาษีบุคคล ที่เป็นคนมีกำลังซื้อมากอยู่แล้ว มีเครดิต 1,000 บาท สำหรับเลือกซื้อสินค้า OTOP หรือสินค้าเกษตรจากสหกรณ์เกษตร หรือสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่าง เพลง ภาพยนตร์ เกม ศิลปะไทย จะทำให้เกิดโอกาสที่ผู้เสียภาษีบุคคล จะหันมาสนใจและเลือกซื้อสินค้าพรีเมียมเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเครดิต 1,000 บาทที่ได้รับไป และกลายมาเป็นลูกค้าหลักที่สนับสนุนให้สินค้า/บริการที่ภาครัฐต้องการสนับสนุนเติบโตต่อไปได้
  • ชั้นวางสินค้า SMEs ใน ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ถ้า Modern Trade มี ชั้นวางสินค้า SMEs ที่เปิดโอกาสให้สินค้า SMEs ได้มีโอกาสมาทดลองวางขายได้ 3 เดือน ก็จะช่วยให้สินค้า SMEs มีโอกาสเข้าถึงตลาดใหญ่ได้เร็วขึ้น ถ้าสินค้า SMEs ขายดี Modern Trade ย่อมจะนำมาวางขายในชั้นวางสินค้าหลักต่อไป เป็นโอกาสในการเติบโตของสินค้า SMEs ที่มีคุณภาพได้เร็วขึ้นมาก ถ้าภาครัฐกำหนดสัดส่วนชั้นวางสินค้า SMEs ในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น 1% ของพื้นที่ขาย ก็จะจูงใจให้ Modern Trade ต้องหาสินค้า SMEs ใหม่ๆ มาทดลองวางขาย โดยไม่ตั้งค่าแรกเข้าไว้สูงเกินจนไม่มีสินค้า SMEs มาวางขายได้ และทำให้เกิดการแข่งขันจากสินค้าใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคได้เลือกลองซื้อได้ง่ายขึ้นด้วย


3. เติมทุน

SMEs ต้องการโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ทั้งสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและเงินทุนขยายกิจการ โดยไม่ติดกับดักของหนี้นอกระบบ

  • เพิ่มงบอุดหนุนให้ บสย. ค้ำประกันความเสี่ยงให้ SMEs 90,000 ล้านบาทต่อปี สถาบันการเงินจะกล้าปล่อยกู้ให้ SMEs รายย่อย มากขึ้นถ้า มี บสย. มาช่วยค้ำประกันความเสี่ยงให้ SMEs เพราะถ้า SMEs เป็นหนี้เสีย บสย.จะช่วยชดเชยให้กับสถาบันการเงิน ดังนั้นถ้าภาครัฐจัดงบอุดหนุนให้ บสย. มากขึ้น ย่อมหมายถึง บสย.จะสามารถค้ำประกันความเสี่ยงให้ SMEs ได้สูงขึ้น และหมายถึง โอกาสที่ SMEs จะได้รับการอนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงินมากขึ้นด้วย เช่น วงเงิน 1 แสนบาท 300,000 รายต่อปี, วงเงิน 1 ล้านบาท 30,000 รายต่อปี, วงเงิน 10 ล้านบาท 3,000 รายต่อปี ซึ่งย่อมหมายถึง SMEs ทุกรายจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน ในทุกช่วงของการเติบโตของกิจการ และต้องขยายให้ บสย.ค้ำประกันความเสี่ยงให้มากกว่าแค่ธนาคาร แต่รวมถึงผู้ประกอบการสินเชื่อ หรือ Non-Bank รายอื่นๆ ทั้งหมดด้วย เพื่อเป็นการแข่งขันและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs
  • ปลดล็อค FinTech เพิ่มการแข่งขันธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมการเงินโดยเฉพาะธนาคารเป็นอุตสาหกรรม “ผูกขาด” เพราะไม่เพิ่มใบอนุญาตให้ผู้เล่นรายใหม่มาหลายสิบปี และ FinTech ไม่ว่าจะเป็น Virtual Bank (ธนาคารที่ไม่ต้องมีสาขา) สินเชื่อดิจิทัล Crowdfunding หรือ Peer-to-peer Lending ทั้งหมดยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายจำนวนมากที่ปิดกั้นไม่ให้ FinTech ได้มีโอกาสเข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถ้าภาครัฐปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายเพื่อเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจการเงิน ย่อมหมายถึงการแข่งขันของบริการและการเพิ่มขึ้นของโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs ด้วย รวมถึงมาตรการสนับสนุนอื่นๆ เช่น รายการ SMEs Crowdfunding รายสัปดาห์ ที่ให้โอกาส SMEs ได้มาระดมทุนหรือกู้ยืมจากประชาชนทั่วไปที่ต้องการสนับสนุนในกิจการของ SMEs โดยที่มี บสย. ช่วยค้ำประกันความเสี่ยงให้ได้ด้วย หรือรายการ Startup Pitching ประจำเดือน ที่เปิดโอกาสให้ Startup เข้าถึง VC, Angel Investor ได้มากขึ้น


4. ลดจ่าย

SMEs ต้องการให้ภาครัฐช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งภาระค่าเช่าร้าน ค่าแรง และภาษีนิติบุคคลที่ควรเปลี่ยนเป็นขั้นบันไดตามอัตราก้าวหน้า และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของ SMEs มากขึ้น

  • คนละครึ่งค่าเช่าร้าน สูงสุด 1,000 บาท/เดือน ค่าเช่าร้าน/แผงขาย เป็นต้นทุนสำคัญของ SMEs ถ้าภาครัฐช่วยลดภาระค่าเช่าร้านของ SMEs ลงได้ ก็จะทำให้ SMEs มีต้นทุนลดลงและแข่งขันได้ดีขึ้น
  • ค่าแรง SMEs หักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ถ้าภาครัฐต้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างจากสภาวะเงินเฟ้อ ก็ควรที่จะให้ SMEs สามารถนำค่าแรงมาหักค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 1.5 เท่า เพื่อแบ่งเบาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงสำหรับ SMEs และเป็นการจูงใจให้นายจ้างนำลูกจ้างเข้าระบบประกันสังคมเพื่อสิทธิของลูกจ้างอย่างถูกต้องต่อไปด้วย
  • เปลี่ยน VAT เป็น Tech สูงสุด 10,000 บาท ถ้า SMEs ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายไปกลับมาเป็น Tech ที่นำมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ SMEs เช่น ระบบ Software ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลของกิจการต่อได้ อย่างเช่น POS/ ERP SMEs ก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจได้มากขึ้น และเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับภาคธุรกิจต่อไปด้วย 
  • ลดภาษีนิติบุคคลสำหรับ SMEs ปัจจุบันช่วงภาษีของ SMEs ที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีนิติบุคคลนั้นน้อยเกินไปที่จะทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันกับทุนใหญ่ได้ ควรจะต้องปรับช่วงภาษีนิติบุคคลให้เป็นอัตราก้าวหน้ามากขึ้น และเพิ่มเพื่อจูงใจให้ SMEs หันมาจดนิติบุคคลที่ตรวจสอบได้ง่ายกว่ามากขึ้นด้วย


5. รวมกลุ่

SMEs ต้องการกลไกในการรวมกลุ่มเพื่อสะท้อนความคิดเห็นหรือเสนอแนะนโยบายกับหน่วยงานภาครัฐได้เหมือนกับที่กลุ่มทุนใหญ่มีกลไกการรวมกลุ่มอย่าง สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย จึงควรเพิ่ม สภา SMEs และ สมาคม SMEs ทุกจังหวัด ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกในการเสนอแนะนโยบายและสามารถถูกเสนอเป็นกรรมการที่ภาครัฐต้องการความเห็นจากเอกชน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้ยินเสียงและข้อเสนอของ SMEs มากขึ้น ซึ่งนิยามของ SMEs จะต้องกำหนดให้สามารถป้องกันไม่ให้กลุ่มทุนแตกบริษัทออกมาเป็นบริษัทย่อยๆ เพื่อมารับสิทธิประโยชน์ของ SMEs ได้



ทั้งหมดนี้ คือข้อเสนอนโยบายเศรษฐกิจ SMEs ที่พรรคก้าวไกลต้องการนำเสนอ โดยมีเป้าหมายคือเพิ่มสัดส่วน SMEs ต่อ GDP ให้ถึงเป้าหมาย 50% ได้ภายใน 10 ปี ซึ่งเป็นระดับเดียวกับประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่ SMEs เป็นกลไกหลักในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และแข่งขันกับตลาดโลกได้มากขึ้น 



อ้างอิง

https://sme.go.th/upload/mod_download/download-20220110153118.pdf

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า