ศักยภาพมวลรวมที่ (น่า) จะเกิดขึ้น หากผ่าน “สมรสเท่าเทียม” สำเร็จ

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
เดชรัต สุขกำเนิด

เป็นที่น่ายินดีอีกครั้ง ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) พ.ศ. … หรือที่มีชื่อเล่นว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ถูกเสนอโดย ส.ส.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และคณะ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 212 เสียง ต่อคะแนนไม่เห็นด้วย 180 เสียง (งดออกเสียง 12 เสียง) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เป็นผลให้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมนี้ เข้าสู่วาระพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย เพื่อแปรญัตติร่างดังกล่าวก่อนจะเข้าสู่วาระ 2 ต่อไป

ภาพจาก Facebook: Chana La


แม้ว่า นี่จะเป็นก้าวแรกเท่านั้นสำหรับการคืนสิทธิขั้นพื้นฐานอย่าง สิทธิในการสมรสและการมีครอบครัวให้กับพี่น้องกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งตามที่ Think Forward Center เคยได้นำเสนอข้อมูลไปก่อนหน้านี้ว่า จนถึงขณะนี้ มี 29 ประเทศ (หรือเขตปกครอง) ทั่วโลกที่อนุญาตให้มีการสมรสระหว่างเพศเดียวกันได้ โดยมีประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรก ที่มีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เมื่อปี ค.ศ. 2000 ก่อนจะค่อยๆ ขยายตัวไปทีละประเทศ โดยชาติล่าสุดที่ประกาศอนุญาตให้มีการสมรสเท่าเทียมคือ ไต้หวัน ที่ประกาศไปเมื่อปี ค.ศ. 2019 และส่งผลให้ไต้หวันเป็นชาติแรกในทวีปเอเชียที่รับรองการสมรสแบบเท่าเทียม 

แต่วันนี้ Think Forward Center จะมานำเสนอศักยภาพมวลรวมทั้งประเทศที่อาจจะเกิดขึ้น หาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมประกาศใช้เป็นกฎหมายสำเร็จว่า สังคมจะได้รับผลดีที่ส่งผลต่อศักยภาพของประเทศในอนาคตในด้านใดบ้าง


แล้วสมรสเท่าเทียมมีผลเสียอะไรต่อสังคมหรือไม่?

จากผลการสำรวจของ Pew Research Center (ปี ค.ศ. 2019) ที่ได้เก็บสถิติข้อมูลเกี่ยวกับการยอมรับการแต่งงานในเพศเดียวกันของคนอเมริกัน พบว่า อัตราการยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ 39 ในช่วงปี ค.ศ. 2009 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 55 ในช่วงปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นปีที่มีการอนุญาตให้มีการสมรสแบบเท่าเทียม และเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 61 ในปี ค.ศ. 2019 ในขณะที่อัตราการไม่ยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกันก็ลดลงจากร้อยละ 54 ในปี ค.ศ. 2009 เหลือเพียงร้อยละ 31 เท่านั้น ในปี ค.ศ. 2019

ส่วนประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศแรกที่อนุญาตให้มีการสมรสแบบเท่าเทียม ก็พบว่า อัตราการไม่ยอมรับคู่สมรสเพศเดียวกันจากเดิมที่เคยอยู่ร้อยละ 13 ในปี ค.ศ. 1990 ได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 8 ในปี ค.ศ. 2008 (หรือหลังจากประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม 8 ปี) หรือในกรณีของเดนมาร์กที่มีอัตราการไม่ยอมรับเหลือประมาณร้อยละ 12 ในปี ค.ศ. 2008 (จากเดิมร้อยละ 36 ในปี ค.ศ. 1990)

ตัวเลขข้างต้นทั้งหมดจึงสะท้อนให้เห็นว่า การแต่งงานของเพศเดียวกัน ไม่ได้สร้างผลเสียที่สำคัญในสังคมอย่างที่บางฝ่ายเคยได้กังวลกัน


ปลดล็อกสมรสเท่าเทียม และผลดีต่อสุขภาพกาย

ภาพจาก Facebook: Chana La


จากผลการสำรวจของรายงาน Effects of Access to Legal Same-Sex Marriage on Marriage and Health: Evidence From BRFSS โดยสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Bureau of Economic Research) ระบุว่า ภายหลังปลดล็อกกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลโดยนัยสำคัญในทางสถิติต่อการเข้าถึงสิทธิประกันสุขภาพ การเข้าถึงการดูแล และการใช้ประโยชน์ในการตรวจสุขภาพของคู่รักเพศเดียวกันที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย จากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 12 อย่างไรก็ดี ตัวเลขเหล่านี้กลับแตกต่างเพียงเล็กน้อยกับการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิง

รวมถึง ในแง่ของความเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ก็ได้จัดทำรายงานที่มีชื่อว่า “Forsaking All Others? The Effects of “Gay Marriage” on Risky Sex” และปรากฏผลลัพธ์ว่า การปลดล็อกสมรสเท่าเทียมมีส่วนทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างโรคซิฟิลิสประมาณร้อยละ 26-29 จากประมาณร้อยละ 45 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา (ปี 2005) และแม้ว่าจะไม่พบตัวเลขที่อาจเป็นนัยสำคัญทางสถิติต่อการติดเชื้ออื่นๆ เช่น โรคหนองใน และโรค HIV แต่ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า โรคซิฟิลิสที่มักมีโอกาสเกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันนั้นลดลง เมื่อเทียบกับช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ขณะที่ ผลลัพธ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ บทความ “Sexual and reproductive health in the Netherlands” โดย Expatica ภายหลังการปลดล็อกสมรสเท่าเทียม ประชากรกลุ่มคู่สมรสเพศเดียวกันสามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล การมีประกันสังคม และการตรวจสุขภาพประจำปีได้เช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ อีกทั้งยังมีศูนย์บริการและทรัพยากรหลายแห่งเพื่อรองรับชุมชนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+) ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม

โดยเนเธอร์แลนด์ มีองค์กรชื่อว่า COC Netherlands เป็นองค์กรที่ทำงานในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในประเทศ โดยจะคอยสนับสนุนสิทธิที่เท่าเทียมกันและการยอมรับทางสังคมของชุมชน ต่อ LGBTIQ+ ในเนเธอร์แลนด์และทั่วโลก อีกทั้งยังให้ข้อมูล คำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และความสัมพันธ์สำหรับเยาวชน LGBTIQ+


ปลดล็อกสมรสเท่าเทียม และผลดีต่อสุขภาพจิต

ภาพจาก https://www.cbsnews.com/


มีข้อมูลว่า การอนุญาตให้สมรสเท่าเทียมในสหรัฐอเมริกา ยังมีผลสำคัญต่อการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ ซึ่งต้องใช้ความยินยอมของคู่สมรส การสมรสเท่าเทียมจึงมีผลให้คู่สมรสเพศเดียวกันเข้าถึงหลักประกันและบริการที่ดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ผลการศึกษาของ สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ยืนยันว่า การยอมรับในการแต่งงานของคู่สมรสเพศเดียวกัน มีผลอย่างมากต่อการยอมรับในทางสังคม โดยจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคู่สมรสเพศเดียวกัน และเป็นผลให้ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ยืนยาวขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับคู่ชีวิตเพศเดียวกันเมื่อครั้งยังไม่สามารถสมรสกันตามกฎหมายได้

ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข รัฐแมสซาชูเซตส์ ยังระบุว่า การยอมรับกฎหมายสมรสเท่าเทียมส่งผลให้ร้อยละ 72 ของคู่สมรสเพศเดียวกันรู้สึกมีความกระตือรือร้นที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคู่สมรสของตนมากขึ้น และร้อยละ 70 รู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากชุมชนมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 93 ของเด็กที่มีพ่อแม่เพศเดียวกันเผยว่า พวกเขารู้สึกมีความสุขมากขึ้น เมื่อกฎหมายและสังคมยอมรับพ่อแม่ของพวกเขา

สอดคล้องกับ ผลการศึกษาภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าของคู่ชีวิต/คู่สมรสในเนเธอร์แลนด์ก่อนและหลังมีการให้สิทธิสมรสแบบเท่าเทียม พบว่า ก่อนมีการสมรสแบบเท่าเทียม ภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าของคู่ชีวิต/คู่สมรสเพศเดียวกันสูงกว่าคู่ชีวิตต่างเพศมาก แต่ภายหลังจากการปลดล็อกการสมรสเท่าเทียม (ในปี ค.ศ. 2000) แล้ว ภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าของคู่ชีวิต/คู่สมรสเพศเดียวกันลดลง จนอยู่ในระดับเดียวกันกับคู่ชีวิต/คู่สมรสต่างเพศกัน

และทางเศรษฐกิจ ผลการศึกษาของ สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ก็ยืนยันว่า เมื่อกฎหมายและสังคมยอมรับในการแต่งงานของคู่สมรสเพศเดียวกันแล้ว ยังให้เกิดผลดีแก่คู่รักเพศเดียวกันทั้งในเรื่องการหางาน การทำงาน การสร้างความมั่นคงทางการเงิน การเข้าถึงสวัสดิการ การทำธุรกรรมต่างๆ มากขึ้น จากเดิมที่เป็นข้อจำกัดในทางกฎหมาย 

โดยผลการสำรวจของ Pew Research Center เผยว่า ภายหลังการปลดล็อกให้สมรสอย่างเท่าเทียมแล้ว คู่สมรสเพศเดียวกันนั้นให้ความสำคัญกับการแต่งงาน เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางกฎหมายมากกว่าคู่สมรสต่างเพศ (ร้อยละ 46 ต่อ ร้อยละ 23) และให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการเงินมากกว่าคู่สมรสต่างเพศ (ร้อยละ 35 ต่อ ร้อยละ 26) ในทางตรงกันข้าม คู่สมรสต่างเพศจะแต่งงานด้วยเหตุผลหลักด้านการมีบุตรมากกว่าคู่สมรสเพศเดียวกัน (ร้อยละ 49 ต่อ ร้อยละ 28) และให้ความสำคัญกับเหตุผลด้านพิธีกรรมทางศาสนามากกว่าคู่สมรสเพศเดียวกัน (ร้อยละ 30 ต่อ ร้อยละ 17)


ผลดีและศักยภาพที่จะเกิดขึ้น หากปลดล็อกสมรสเท่าเทียมในไทย

ภาพจาก https://www.gaystarnews.com/


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าประชาชนเข้าถึงสิทธิได้มากขึ้น เศรษฐกิจที่ดีขึ้นก็มักจะตามมาด้วยเสมอ การปลดล็อก สมรสเท่าเทียม นอกจากจะเป็นผลดีกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจะมีสิทธิในการมีครอบครัวและมีสินทรัพย์/ธุรกรรมร่วมกัน เช่น สามารถกู้ซื้อบ้านด้วยกัน ทำประกันชีวิต หรือในเรื่องการลดหย่อนภาษี รวมไปถึงการรับบุตรบุญธรรม อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะมีผลในการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และสวัสดิการแล้ว

การปลดล็อกให้ประชาชนทุกกลุ่มได้สิทธิสมรสอย่างเท่าเทียม จะนำพามาซึ่งประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมให้เฟื่องฟูขึ้น รวมถึงก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ และการร่วมหุ้นลงทุนกับต่างประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากความไว้วางใจว่า ประเทศไทยได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิและตัวตนของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง โดย Think Forward Center ขอสรุปศักยภาพมวลรวมของประเทศไทยที่อาจเกิดขึ้น หากผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ดังนี้

  1. สุขภาวะทางกายและใจที่ดีขึ้นของคู่รักเพศเดียวกัน การประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นด่านแรกในการยกระดับค่านิยมและความคิดมวลรวมของประชาชน เป็นผลให้ประชาชนมีทัศนคติต่อคู่รักที่เป็นบุคคลหลากหลายทางเพศที่ดีขึ้น ส่งผลให้คู่รักที่เป็นบุคคลหลากหลายทางเพศถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศในชีวิตประจำวัน ในการธุรกรรมกับสถานที่ราชการ หน่วยงานองค์กร สถานพยาบาลลดลง และเป็นผลบวกทางสภาพจิตใจ เนื่องจากความเครียดกังวลที่ลดลง
  2. อัตราการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ลดลง แม้สถิติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศจะปรากฏให้เห็นว่าการปลดล็อกสมรสเท่าเทียม จะทำให้อัตราการติดต่อของโรคซิฟิลิสลดลงเพียงโรคเดียว แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีในแง่ของพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจลดลงไปพร้อมกันหากกฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศใช้
  3. สถานะทางการเงินที่ดีขึ้นของคู่รักเพศเดียวกัน เมื่อคู่รักเพศเดียวกันมีการจดทะเบียนเป็นคู่สมรส เท่ากับบุคคลสองคนได้กลายเป็นบุคคลคนเดียวกันอย่างถูกต้องตามนิตินัย ซึ่งจะเป็นผลให้สถานะทางการเงินของคู่รักดียิ่งขึ้น เนื่องจากสินทรัพย์ในส่วนของสินสมรสของคนสองคนจะถูกนำมาผนวกรวมกัน และสามารถเกิดเป็นอำนาจในทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น 
  4. การต่อยอดทางธุรกิจของคู่รักเพศเดียวกัน สืบเนื่องจากอำนาจในทางการเงินที่เพิ่มขึ้นของคู่สมรสเพศเดียวกัน ส่งผลให้เกิดการติดต่อทำธุรกรรมเพื่อการต่อยอดทางธุรกิจ/อสังหาริมทรัพย์สำหรับทำธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นผลให้เกิดธุรกิจและสินค้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมาในท้องตลาด ทำให้ตลาดสินค้าต่างๆ ความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงยังเป็นสินค้าที่คำนึงถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมากขึ้น และทำให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้
  5. สถิติเด็กเด็กกำพร้าในประเทศที่จะลดลงจากการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม การปลดล็อกสมรสเท่าเทียมยังผลให้คู่สมรสที่เป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศรับผู้เยาว์มาเป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ผ่านการส่งเอกสารเพื่อขอความประสงค์รับเลี้ยงบุตรบุญธรรมและได้รับการประเมินโดยคณะกรรมการซึ่งเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ก่อนจะรับเด็กไปอุปการะได้ ซึ่งการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมได้ของคู่สมรสเพศเดียวกันจะส่งผลให้จำนวนเด็กเล็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าทั้งของภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศลดลงได้
  6. เกิดธุรกิจและการจ้างงานด้านการให้คำปรึกษาและการวางแผนครอบครัวสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน เมื่อประชากรสัดส่วนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศหันมาจดทะเบียนสมรสและสร้างครอบครัวมากขึ้นแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การเกิดและเติบโตของธุรกิจการให้คำปรึกษาและการวางแผนครอบครัวสำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่เพิ่มมากขึ้น นำมาสู่การจ้างงานบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสายงานดังกล่าว ยังผลให้มีการผลิตบุคลากรที่มีความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวออกสู่ท้องตลาดมากขึ้นด้วย 
  7. ผลดีต่อธุรกิจจัดหาคู่ ร้านอาหาร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การปลดล็อกสมรสเท่าเทียม ทำให้ประชากรในสัดส่วนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ กล้าออกมาใช้ชีวิตเพื่อตามหาความรักที่เหมาะสมกับตัวเองอีกครั้ง การนัดเดตที่จะเกิดขึ้นของกลุ่มคนเหล่านี้จะสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจจัดหาคู่นัดเดตผ่านแอปพลิเคชัน ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ขนมหวาน โรงภาพยนตร์ หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในการเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ดูใจของคู่รักได้มากขึ้น
  8. ผลดีต่อธุรกิจเช่า/ออกแบบชุดวิวาห์ ธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพวิวาห์ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจการจัดงานอีเวนต์ เมื่อประชากรกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมีความต้องการที่จะแต่งงานมากขึ้น เท่ากับว่าธุรกิจเช่า/ออกแบบชุดวิวาห์ ธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพวิวาห์ ธุรกิจโรงแรมและห้องประชุม และธุรกิจออกแบบการจัดงานอีเวนต์ จะได้รับเม็ดเงินและกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น และรวมถึงธุรกิจสถานที่จัดทำเรือนหอฮันนีมูนเช่นกัน
  9. โอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับมหภาคที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการปลดล็อกให้สมรสเท่าเทียมแล้ว ในทางเศรษฐกิจระดับมหภาคก็อาจเจริญเติบโตขึ้น เนื่องจากก่อนหน้ามี 7 ประเทศ (ได้แก่ อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ชิลี แคนาดา และโปรตุเกส) เคยได้ตั้งข้อสังเกตในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ Universal Periodic Review (UPR) ครั้งที่ 3/2564 เกี่ยวกับปัญหาการเลือกปฏิบัติและการได้รับสิทธิที่ไม่เท่าเทียมของประชากรกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศฝรั่งเศส ที่ได้กล่าวถึงปัญหาในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 และเรียกร้องให้ประเทศไทยคืนสิทธิสมรสเท่าเทียมให้กับประชากรกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ) และเมื่อปัญหานี้ถูกแก้ไขแล้ว นอกจากจะได้คำชมจากประเทศเหล่านี้ ก็อาจนำมาซึ่งการเปิดโอกาสในทางเศรษฐกิจที่จะเซ็นสัญญาร่วมลงทุน ส่งออกสินค้าไทยไปยังต่างประเทศ หรือนำพานักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านี้เข้ามาได้ได้มากขึ้นด้วย


ทั้งหมดนี้คือโอกาสในทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลจากการคืนสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ได้มีสิทธิที่จะรักและอยู่กินฉันคู่สมรสกับคนของตน ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับคำพูดของ ส.ส.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ที่เคยกล่าวในการอภิปรายสภาประเด็นเดียวกันนี้ว่า 

ภาพจาก Facebook: Chana La

“หากรัฐมองเห็นโอกาสตรงนี้ รัฐจะเห็นเม็ดเงินที่สะพัด ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ในเมื่อเวลาคนสามารถสร้างครอบครัวด้วยกันได้ เขาจะลงทุนกับสิ่งที่เขารัก ไม่ว่าจะบ้าน รถ ความรัก ที่จะลงทุนด้วยกัน ถ้ารัฐเคารพสิทธิมนุษยชน จะสามารถปลดล็อคในเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมกัน และเรื่องเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ”

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล




เอกสารอ้างอิง

American Psychological Association. Are same-sex marriages different from heterosexual marriages? https://www.apa.org/topics/marriage/same-sex-marriage 

David Tuller, 2017, “The Health Effects Of Legalizing Same-Sex Marriage” ใน Health Affairs https://www.healthaffairs.org/doi/10.1377/hlthaff.2017.0502 

Pew Research Center, 2019. 5 facts about same-sex marriage, https://www.pewresearch.org/fact-tank/2019/06/24/same-sex-marriage/

Olivia Willis, 2017. Same-sex marriage debate putting kids at risk, not same-sex parents, experts warn in ABC Health & Well-being, https://www.abc.net.au/news/health/2017-10-23/marriage-debate-puts-kids-at-risk/9075384

National Bureau of Economic Research, 2005. Forsaking All Others? The Effects of “Gay Marriage” on Risky Sex, https://www.nber.org/system/files/working_papers/w11327/w11327.pdf 

National Bureau of Economic Research, 2018. Effects of Access to Legal Same-Sex Marriage on Marriage and Health: Evidence From BRFSS, https://www.nber.org/system/files/working_papers/w24651/w24651.pdf 

Expatica, 2022. Sexual and reproductive health in the Netherlands, https://www.expatica.com/nl/healthcare/healthcare-services/sexual-health-netherlands-167441/ 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า