นุชประภา โมกข์ศาสตร์
เดชรัต สุขกำเนิด
สถานการณ์ปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทย
ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีหนี้มากขึ้น เร็วขึ้น (ครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30 ปี เป็นหนี้) และนานขึ้น (ร้อยละ 20 ของคนหลังเกษียณยังเป็นหนี้) ยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีลูกหนี้ที่เคยชำระหนี้ได้ตามปกติกว่า 2.1 ล้านคน กลายเป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาในการผ่อนชำระ ในขณะที่สถิติคดีเกี่ยวกับหนี้สินในปี 2562 มีถึง 1.86 ล้านคดี เป็นคดีแพ่ง 1.25 ล้านคดี โดยคดีที่มีมากที่สุดเป็นคดีสินเชื่อส่วนบุคคล รองลงมาคือบัตรเครดิต การกู้ยืม กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาและเช่าซื้อรถ ตามลำดับ
Think Forward Center ร่วมกับพรรคก้าวไกลได้จัดเวทีเรื่อง “การแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูสถานะการเงินของลูกหนี้บุคคล” เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาโดยได้มีการพูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินในหลายด้านด้วยกัน และหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือ ประสบการณ์การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งนำเสนอโดย ดร. ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่ง Think Forward Center เห็นว่า น่าสนใจและเป็นประโยชน์จึงขอนำมาเล่าในบทความนี้
สถานการณ์หนี้สินของครู
ปัจจุบัน ครูทั่วประเทศไทย ที่เป็นหนี้มีทั้งหมด 900,000 คน แยกเป็นครูที่ยังอยู่ในราชการ 400,000 คน และครูเกษียณอายุราชการแล้ว 500,000 คน ยอดหนี้ครูรวมกันทั้งประเทศเกือบ 1.4 ล้านล้านบาท แยกเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 890,000 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 390,000 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 61,000 ล้านบาท และธนาคารกรุงไทย 63,000 ล้านบาท
เนื่องจากครูเป็นข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการจากกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงมีสินเชื่อเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่ง โดยเป็นสินเชื่อที่ชำระคืนโดยการหักเงินเดือนของข้าราชการ ทำให้สถาบันการเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ล้วนมีความต้องการที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับครู เพราะเป็นสินเชื่อที่มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้ค่อนข้างต่ำ รวมทั้งเป็นสินเชื่อที่หน่วยงานต้นสังกัด (หมายถึง กระทรวงศึกษาธิการ) ทำหน้าที่จัดเก็บและนำส่งให้เจ้าหนี้โดยตรง จนทำให้ข้าราชการครูเป็นกลุ่มลูกค้าที่ถูกหักเงินหน้าซองกลุ่มใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของประเทศไทย
ภาพจาก Nationtv.tv
เมื่อการหักเงินหน้าซองเป็นไปโดยไม่มีเพดานกำหนด ผลกระทบที่ตามมาก็คือ ครูจำนวนมากที่มีเงินเดือนเหลือหลังหักชำระหนี้น้อยมากจนไม่เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และกลายเป็นปัญหาต่อคุณภาพชีวิตของครู รวมถึง อาจเกิดปัญหาหนี้นอกระบบ หนี้เสีย และการบังคับคดีตามมา
แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู
ดร. ขจร ธนะแพสย์ เริ่มต้นด้วยการเล่าให้ฟังว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกับเจ้าหนี้ (ทั้งหลาย) และลูกหนี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ไม่ใช่ “Zero-sum game” หรือมีคนได้และมีคนเสีย แต่การแก้ไขปัญหาหนี้สินเป็นความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ เจ้าหนี้ก็จะได้เงินคืน ส่วนลูกหนี้ก็สามารถที่จะมีการชำระคืนหนี้ได้ และยังรักษาคุณภาพชีวิตของลูกหนี้ไว้ได้
1. เพดานการชำระหนี้คือ การต่อลมหายใจของครู
เมื่อเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เข้าใจตรงกันแล้ว ดร. ขจรบอกว่า ขั้นตอนต่อไปคือ การกำหนดเพดานการชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ทุกราย (รวมกัน) ไว้ที่ร้อยละ 70 ของเงินเดือนแต่ละเดือน ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินเหลือใช้อย่างน้อยร้อยละ 30 ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต ดร. ขจร ย้ำว่า ขั้นตอนนี้มีความสำคัญ เพราะที่ผ่านมา เจ้าหนี้มักต้องการที่จะให้ลูกหนี้ชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมากกว่ารายได้ที่เหลือใช้ในแต่ละเดือน จนส่งผลให้ลูกหนี้มีเงินในการดำรงชีวิตไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากเจ้าหนี้รายใหม่ๆ ต่อไปเรื่อยๆ
2. นายจ้างคือ ผู้มีอำนาจต่อรอง
เมื่อกำหนดเพดานการชำระคืนเจ้าหนี้ทุกรายแล้ว ดร.ขจร บอกว่า กระทรวงศึกษาธิการในฐานะนายจ้างของข้าราชการครูทั่วประเทศ ต้องเข้ามาช่วยครูแก้ปัญหาหนี้สิน เพราะกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้จ่ายและเป็นผู้หักเงินเดือนครูปีละ 400,000 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการจึงมีอำนาจต่อรองที่จะเข้ามาเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยหนี้กับเจ้าหนี้ (ไม่ว่าสถาบันการเงินหรือสหกรณ์ออมทรัพย์) ให้กับข้าราชการครูเพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดำรงชีวิต และเจ้าหนี้ทุกรายจะได้รับหนี้คืนตามเพดานการชำระหนี้ของลูกหนี้
ภาพจาก Nationtv.tv
3. อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมคือ หนทางการแก้ปัญหา
จากนั้น จะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมสำหรับการชำระคืนเจ้าหนี้ทุกรายตามเพดานการชำระหนี้ที่ได้กล่าวไป เพื่อให้ครูเหลือรายได้ที่เหลือในการดำเนินชีวิต (residual income) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือนหลังจากชำระหนี้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ครูมีเงินเดือน 30,000 บาท ต้องเหลือพื้นที่เงินเดือนในการดำรงชีวิต 9,000 บาท ซึ่งแปลว่า เจ้าหนี้ทุกรายจะได้รับการชำระหนี้รวมกัน 21,000 บาท/เดือน เพราะฉะนั้น ก็จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยให้เหลือร้อยละ 4 โดยตัวกลาง/ผู้ไกล่เกลี่ย (เช่น กระทรวงศึกษาธิการ) สามารถเจรจาเพื่อขอลดภาระดอกเบี้ยลง แลกกับการปรับระยะเวลาผ่อนให้นานขึ้น เช่น จากเดิมที่ดอกเบี้ยร้อยละ 6.5 ระยะเวลาผ่อน 15 ปี สามารถเจรจาของลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 4 พร้อมทั้งปรับระยะเวลาผ่อนจาก 15 ปี เป็น 30 ปี ยิ่งลดดอกเบี้ยลงมากเท่าใด และ/หรือยิ่งยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปเท่าใด ภาระการชำระหนี้ของครูก็ยิ่งลดลงเท่านั้น
4. การตัดชำระหนี้กับลำดับที่ต้องจัดใหม่
นอกจากการเจรจาปรับลดดอกเบี้ยและยืดระยะเวลาการชำระหนี้แล้ว ดร. ขจร บอกว่า การจัดลำดับการตัดชำระหนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะที่ผ่านมา บางสถาบันการเงินจะตัดเฉพาะดอกเบี้ยก่อน ทำให้ยอดเงินต้นของครูไม่ลดลง หรือสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งจะตัดค่าหุ้นหรือค่าธรรมเนียมก่อน ทำให้เงินต้นของครูไม่ลดลงเช่นกัน ดร. ขจร ย้ำว่า เพื่อความเป็นธรรม การจัดลำดับการตัดชำระหนี้ควรเป็นดังนี้ 1) เงินต้น 2) ดอกเบี้ยตามสัญญา 3) เงินค่าหุ้นสหกรณ์ 4) ค่าธรรมเนียม และ5) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งการตัดชำระหนี้ในลำดับแบบนี้จะทำให้เงินต้นของลูกหนี้ลดลง และหมดไปได้
5. การใช้เงินออมตัดยอดหนี้ลง
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งความเป็นไปได้ในการลดหนี้ของครู คือ การลดยอดหนี้ให้น้อยลงด้วยการนำเงิน กบข. ของข้าราชการครูแต่ละราย มาหักลดยอดหนี้ของตนได้ ซึ่งข้าราชการบางรายอาจมีเงินเก็บสมทนใน กบข. เป็นแสนบาท ก็สามารถนำเงินสะสมของตนมาตัดลดยอดหนี้ของตนได้ แม้ว่าจะทำให้เงินสะสมในยามเกษียณลดลง แต่ก็อาจคุ้มค่าถ้าสามารถลดภาระดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายในอนาคตได้
6. กฎหมายต้องให้โอกาสลูกหนี้
ดร. ขจรแสดงความเห็นว่า การแก้ไขข้อกฎหมายบางส่วนก็มีความสำคัญ เช่น เดิมกฎหมายเขียนไว้ว่า ข้าราชการที่ล้มละลายต้องได้รับโทษทางวินัยคือให้ออกจากราชการ ซึ่งอาจไม่เป็นธรรมต่อข้าราชการที่มีปัญหาหนี้สินและมีการผิดนัดชำระหนี้เพียงบางส่วน และอาจทำให้การดำเนินชีวิต และการดำเนินภารกิจทางราชการ (ซึ่งลูกหนี้ผู้นั้นอาจจะทำภารกิจได้ดี) ต้องหยุดชะงักไปด้วย
ส่วนการเสนอปรับปรุงข้อกฎหมายล้มละลาย ที่ ส.ส. วรภพ วิริยะโรจน์ พรรคก้าวไกล นำเสนอก็มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูสถานะการเงินของลูกหนี้เช่นกัน เพราะร่างการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จะทำให้เกิดขั้นตอนตามกฎหมายแบ่งเป็น 2 ส่วนที่ชัดเจน ขั้นตอนแรก คือ การฟื้นฟูสถานะทางการเงินของลูกหนี้ และในขั้นตอนนี้ ลูกหนี้จะได้รับสิทธิที่จะไม่ถูกฟ้องล้มละลาย และได้รับโอกาสในการปรับโครงสร้างหนี้และการผ่อนชำระหนี้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น ส่วนเจ้าหนี้ก็จะได้รับการชำระหนี้คืนในที่สุด และหากขั้นตอนนี้ไม่ประสบความสำเร็จ จึงค่อยเข้าสู่ขั้นตอนที่สองหรือกระบวนการล้มละลายตามกฎหมายเดิม
ภาพจาก finance-monthly.com
ความรอบรู้ทางการเงินคือพื้นฐานที่สำคัญ
สุดท้าย การสร้างความรอบรู้และภูมิคุ้มกันทางการเงิน (financial literacy) ให้กับข้าราชการและบุคคลทั่วไป เพื่อให้รู้เท่าทันภาระการเป็นหนี้ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน เพราะจะช่วยป้องกันการเป็นหนี้สินเช่นที่ผ่านมา และหน่วยงานที่เป็นนายจ้าง (เช่น กระทรวงศึกษาธิการ) ก็ควรจัดตั้ง ศูนย์บริการแก้ไขปัญหาหนี้ (One Stop Service) เพื่อเป็นหน่วยงานในการรับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาให้กับข้าราชการ (และ/หรือพนักงานต่างๆ) โดยควรมีผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการเงินและกฎหมาย มาช่วยให้คำแนะนำ เจรจา และคอยดูแล