อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันการมีบัตรเครดิตอาจถือเป็นหนึ่งในค่านิยมหนึ่งที่เป็นตัวบ่งบอกว่า เป็นผู้ที่มีความมั่นคงทางการเงิน เนื่องจากบัตรเครดิตเป็นบัตรที่ธนาคารออกมาให้ลูกค้า เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามมูลค่าวงเงินที่ได้รับอนุมัติ โดยวงเงินที่ธนาคารอนุมัตินี้มาจากยอดรายรับ ยอดเงินฝาก หรือประวัติการใช้จ่ายและชำระหนี้
ภาพจาก www.visa.co.th
แม้บัตรเครดิต จะมีประโยชน์ในแง่ของสิทธิพิเศษจากร้านค้าหรือธนาคาร จากโปรโมชั่นต่างๆ มากมาย เช่น ส่วนลดร้านค้า โปรโมชันผ่อน 0% หรือแม้แต่การสะสมแต้ม เพื่อแลกรับเงินคืน หรือแลกไมล์สายการบิน เป็นต้น และถือเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้นิยมไม่พกเงินสด โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เงินสดอาจกลายเป็นหนึ่งในพาหะของการแพร่เชื้อโรคดังกล่าวได้
แต่เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ผู้ใช้บัตรเครดิตจะต้องชำระหนี้บัตรเครดิตในรอบเดือนที่ผ่านมาตามวันที่กำหนดชำระ หากชำระตามกำหนดทุกครั้ง/ทุกเดือน เมื่อต้องการขอสินเชื่อในอนาคตจะมีส่วนให้ผ่านการอนุมัติง่ายขึ้น เพราะการใช้จ่ายถูกบันทึกไว้ในระบบให้ตรวจสอบได้ แต่หากไม่ชำระตามวันเวลาที่กำหนดก็จะเกิดดอกเบี้ยสะสมรวมกับยอดหนี้เดิมได้ และเกิดเป็นปัญหาหนี้บัตรเครดิตตามมา 1
สถานการณ์หนี้ และหนี้บัตรเครดิตปัจจุบัน
จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนไทยเป็นหนี้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากหนี้มีสัดส่วนมากขึ้นจาก 45.2% (ปี 2562) เป็น 51.5% โดยจำนวนหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 205,679 บาท/ครัวเรือน (หรือเพิ่ม 25.4%) เมื่อเทียบกับหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยในปี 2562 ซึ่งมีจำนวนที่ 164,005 บาท/ครัวเรือน ขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในช่วงเวลาเดียวกันกลับขยายตัวต่ำ โดยเพิ่มขึ้นเพียง 5.1% เท่านั้น 2
สำหรับข้อมูลจากมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน เดือนมีนาคม ปี 2565 พบว่า สถิติบัญชีที่เป็นหนี้สินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 222,164 บัญชี และในจำนวนนี้พบว่า เป็นหนี้เสียจากบัตรเครดิตราว 1 ใน 3 และส่วนใหญ่เป็นของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี
เช่นเดียวกับบทความ “มองวิถีเมืองและชนบท กับบทบาทหญิงชายต่อหนี้ครัวเรือนไทย ผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร” โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ จากสรุปผลการศึกษาของ Chantarat et al. (2019) ที่ระบุว่า คนในเมืองมีสัดส่วนการเป็นหนี้มากกว่าคนชนบทในทุกช่วงอายุ ดังนั้นการมีหนี้เร็วตั้งแต่เด็กของคนไทยจึงสะท้อนบริบทของคนเมืองเป็นส่วนใหญ่ โดยจำนวนนี้พบว่า คนอายุน้อย (25–35 ปี) มีสัดส่วนของการมีหนี้ในระบบสูงที่สุด และสูงถึง 78% ในชุมชนเมือง เทียบกับ 29% ในชนบท และในจำนวนนี้เป็นผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 20% ของผู้กู้ทั้งในเมืองและชนบท 3
ปัญหาหนี้บัตรเครดิตเกิดจากอะไร?
โดยส่วนใหญ่พบว่า ปัญหาหนี้สินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมาจากพฤติกรรมการรายจ่ายที่มากกว่ารายรับของผู้กู้ โดยข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ พบว่า ผู้กู้ในเมือง (โดยเฉพาะผู้กู้วัยทำงานกว่า 75%) ที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนใหญ่จะมีหลายบัญชีและกู้ผ่านหลายสถาบันการเงิน (ประมาณ 60%) โดยส่วนมากเริ่มจาก ตอนเริ่มทำงานรายรับและรายจ่ายใกล้เคียงกันมาก จนเกิดปัญหาการใช้เงินเดือนชนเดือน ทำให้คนวัยทำงานส่วนใหญ่หันมาสมัครบัตรเครดิตเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ตนเองหรือสำหรับใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน แต่เมื่อเวลาผ่านสภาพคล่องทางการเงินยังไม่ดีขึ้น เป็นผลให้ต้องบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นและเริ่มจ่ายเพียงแค่ขั้นต่ำ (หรือดอกเบี้ย) ทำให้เงินต้นไม่ลดและเกิดเป็นปัญหากับดักหนี้สิน และเมื่อผู้กู้มีอายุมากขึ้น หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลก็จะมีเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นเช่นกัน
ขณะที่ผู้กู้ในชนบทจะมีหลายบัญชีเช่นกัน (ประมาณ 60%) แต่มักเลือกกู้จากสถาบันการเงินเดียว (โดยเฉลี่ย 72% ของผู้กู้วัยทำงาน และ 90% ของผู้กู้สูงอายุ) โดยจะใช้ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank) เป็นสัดส่วนสูงเนื่องจากเข้าถึงได้ง่าย แม้อัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่า หรือโปรโมชันจะน้อยกว่าก็ตาม ทำให้เมื่อมีอายุมากขึ้นจะมีเพียงสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจและสินเชื่อส่วนบุคคล และใช้เพียงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เป็นหลักเท่านั้น ปัญหานี้จึงสะท้อนอุปสรรคที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ และ non-bank ไม่สามารถมีแรงจูงใจที่จะแข่งขันกับ SFI หรือสถาบันการเงินนอกระบบที่กู้ง่ายกว่า ไม่ต้องยื่นเอกสาร และทำให้บรรยากาศการกู้ยืมเป็นลักษณะของการเกื้อกูลและความเป็นบุญคุณระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ โดยผู้กู้ในชนบทมักมองว่าดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน อาจคุ้มค่ากว่าการกู้ในระบบที่ดอกเบี้ยร้อยละ 25 ต่อปี (ซึ่งฟังแล้วดูสูงกว่ามากในวินาทีแรก)
แนวทางแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิต
ปัญหาหนี้บัตรเครดิต เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงการทำธุรกรรมในทุกๆ ประเทศ เนื่องจากการใช้บัตรเครดิตเปรียบได้กับการหยิบนำเงินในอนาคตมาใช้ ดังนั้นการหยิบบัตรเครดิตมาใช้โดยไม่ประเมินรายรับ-รายจ่ายและอุบัติเหตุทางการเงินอย่างถี่ถ้วน ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาหนี้บัตรเครดิตได้ ทำให้ในหลายประเทศต้องมีการออกแบบวิธีแก้หนี้บัตรเครดิตให้กับผู้เป็นหนี้ อาทิ
สหราชอาณาจักร
ภาพจาก securecdn.pymnts.com
ในประเทศสหราชอาราจักร (อังกฤษและเวลส์) มีองค์กรอิสระที่มีชื่อว่า Citizens Advice ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติงานและให้คำปรึกษาทางการเงิน สุขภาพ ที่อยู่อาศัย กฎหมายและศาลของ National Association of Citizens Advice Bureaux โดย Citizens Advice ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการหนี้สิน ดังนี้
- เพื่อลดหนี้บัตรเครดิตของคุณให้เร็วที่สุด คุณควรพยายามจ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ทุกเดือน เพราะถ้ายอดบัตรเครดิตของคุณเยอะมากเท่าไหร่ ดอกเบี้ยก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
- หากคุณหลีกเลี่ยงได้ อย่าใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าเพิ่มเติมในช่วงเวลาที่เป็นหนี้บัตรเครดิต เพื่อให้คุณสามารถเคลียร์หนี้ได้เร็วขึ้น
- อย่าเพิกเฉยต่อจดหมายแจ้งเตือนหนี้บัตรเครดิต ควรรีบดำเนินการโดยด่วนเพื่อไม่ให้สถานการณ์การเงินของคุณแย่ลง โดยคุณสามารถติดต่อพูดคุยกับ Citizens Advice เพื่อรับความช่วยเหลือว่าต้องจัดการกับปัญหาหนี้อย่างไร?
- หากคุณได้รับจดหมายเกี่ยวกับจดหมายเรียกร้องค่าเสียหาย (ถูกยื่นคำร้องต่อศาล) ให้ดำเนินการดังนี้
- พึงตรวจเช็ค หากเริ่มมีจดหมายแจ้งผิดนัดชำระหนี้ นอกจากรายละเอียดการชำระเงินที่คุณค้างจ่ายแล้ว เจ้าหนี้จะต้องให้เวลาคุณอย่างน้อย 2 สัปดาห์สำหรับการชำระหนี้/เจรจาต่อรองการชำระหนี้ หากเกินกำหนด พวกเขาสามารถส่งจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายให้คุณได้ โดยจดหมายแจ้งผิดนัดชำระหนี้ จะต้องมีเอกสารข้อเท็จจริงจาก Financial Conduct Authority ซึ่งอธิบายสิทธิของคุณที่ด้านบนของหน้าแรกควรพูดว่า:
- สิ่งสำคัญที่คุณควรอ่านอย่างละเอียด
- คำบอกกล่าวผิดนัดตามมาตรา 87 (1) พระราชบัญญัติสินเชื่อผู้บริโภค พ.ศ. 2517
- คุณควรตรวจสอบทางเลือกในการปลดหนี้เสียก่อน เนื่องจากคุณสามารถตกลงเจ้าหนี้เพื่อออกแบบแผนการชำระหนี้แทนการขึ้นศาลก่อนได้
- หากคุณถูกนำตัวขึ้นศาล ศาลอาจมีคำสั่งว่าคุณต้องชำระหนี้หรือไม่ หรือหากต้องการชำระหนี้ คำสั่งศาลจะระบุเพิ่มเติมว่า คุณต้องชำระเป็นจำนวนเท่าใดและต้องชำระเมื่อไร
- พึงตรวจเช็ค หากเริ่มมีจดหมายแจ้งผิดนัดชำระหนี้ นอกจากรายละเอียดการชำระเงินที่คุณค้างจ่ายแล้ว เจ้าหนี้จะต้องให้เวลาคุณอย่างน้อย 2 สัปดาห์สำหรับการชำระหนี้/เจรจาต่อรองการชำระหนี้ หากเกินกำหนด พวกเขาสามารถส่งจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายให้คุณได้ โดยจดหมายแจ้งผิดนัดชำระหนี้ จะต้องมีเอกสารข้อเท็จจริงจาก Financial Conduct Authority ซึ่งอธิบายสิทธิของคุณที่ด้านบนของหน้าแรกควรพูดว่า:
- หากคุณเคยขึ้นศาลแล้ว จดหมายของคุณจะมีการแจ้งว่าปลัดอำเภออาจขอมาเยี่ยมที่บ้านของคุณ
- หากคุณเป็นหนี้บัตรเครดิตเป็นเวลา 18 เดือน หรือชำระเงินดอก/เงินขั้นต่ำจนยอดมากกว่าเงินต้นของหนี้บัตรเครดิต คุณอาจได้รับจดหมายจากบริษัทบัตรเครดิตของคุณที่แจ้งว่า “คุณเป็นหนี้ถาวร” พร้อมกับระบุว่า จดหมายนี้แจ้งเตือนหลังจากคุณมีหนี้เป็นเวลา 18 เดือน 27 เดือนและ 36 เดือน
- ทั้งนี้ภายในจดหมายระบุว่า บริษัทบัตรเครดิตมีข้อแนะนำถึงวิธีที่จะทำให้คุณสามารถชำระหนี้เร็วขึ้น เช่น การลดดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย หรือแผนการชำระหนี้ (ส่วนใหญ่มักระบุให้อยู่ในระยะเวลา 4 ปี) และหากเข้าเดือนที่ 36 หากบริษัทบัตรเครดิตเสนอแผนการจัดการหนี้ให้คุณ แต่คุณไม่เห็นด้วย พวกเขาจะหยุดบัตรของคุณ
- หากทำได้คุณควรพยายามจ่ายเงินขั้นต่ำที่สุด ไม่เช่นนั้น บริษัทจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและอันดับเครดิตของคุณอาจแย่ลง
- หากคุณมีบัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ ให้ชำระเงินขั้นต่ำสำหรับบัตรแต่ละใบหากทำได้ และหากคุณสามารถจ่ายเพิ่มได้ ให้ชำระเพิ่มในบัตรที่มีค่าใช้จ่ายมากที่สุด
- พยายามจ่ายเงินให้ครบและเท่ากันทุกเดือน เพื่อความสะดวกในการวางแผนทางการเงินต่อเดือนเท่าไรสำหรับอย่างอื่น คุณยังจะชำระหนี้ได้เร็วกว่าถ้าคุณเพิ่งจ่ายชำระขั้นต่ำ เนื่องจากการชำระเงินขั้นต่ำคือ เปอร์เซ็นต์ของหนี้ที่เหลืออยู่ในบัตร
- หากคุณไม่สามารถจ่ายขั้นต่ำได้ เนื่องจากปัญหาชั่วคราว เช่น หากคุณตกงานหรือหากคุณต้องชำระหนี้ที่มีลำดับความสำคัญสูง อาทิ หนี้ผ่อนชำระบ้าน/ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ/ไฟ ค่าโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ต บริษัทบัตรเครดิตอาจอนุญาตให้คุณหยุดการชำระหนี้บัตรเครดิตของคุณชั่วคราว
- และหากเวลาล่วงเลยไป คุณยังคงชำระได้เพียงเงินขั้นต่ำ ให้ลองหาลู่ทางในการรวมหนี้ไปยังบัตรเครดิตธนาคารอื่น/การกู้เงินในรูปแบบอื่นที่ดอกเบี้ยน้อยกว่า โดยก่อนรวมหนี้ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ไม่มีการใช้อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านของคุณ มาเป็นหลักค้ำประกัน (จำนอง) ไม่เช่นนั้นคุณอาจสูญเสียบ้านถ้าไม่สามารถชำระคืนได้ 4
สหรัฐอเมริกา
ภาพจาก travelandleisure.com
NerdWallet บริษัทที่ให้คำปรึกษาทางด้านการเงินกับบุคคล/นิติบุคคลทั่วไป รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้อธิบายถึง 4 ขั้นตอนที่จะทำให้หลุดพ้นวัฏจักรการเป็นหนี้บัตรเครดิต โดยแต่ละขั้นตอนประกอบไปด้วยวิธีแยกย่อยที่ผู้เป็นหนี้สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสภาพการณ์ของตนได้ โดยเริ่มจาก
- ค้นหากลยุทธ์ในการชำระเงินหนึ่งหรือสองอย่าง
หากคุณต้องการจบปัญหาหนี้บัตรเครดิตจริงๆ ควรพิจารณาวิธีการดังต่อไปนี้ เพื่อกำหนดกลยุทธ์และดำเนินการตามเป้าหมายในการชำระเงินคืนอย่างรวดเร็วขึ้น
- จ่ายแบบเกินขั้นต่ำ การชำระเงินขั้นต่ำรายเดือนเป็นหนทางที่บริษัทบัตรเครดิตกำหนดวิธีการไว้เพื่ออำนวยสะดวกแก่คุณ โดยทั่วไปจะกำหนดอยู่ที่ 2-3% ของยอดเงินคงเหลือ และเพื่อให้แน่ใจว่าคุณต้องการชำระเงินให้เร็วขึ้น ควรชำระเงินเกินขั้นต่ำ เนื่องจากการจ่ายขั้นต่ำคือ การจ่ายดอกเบี้ยที่บริษัทลบัตรเครดิตเรียกเก็บในแต่ละงวด ดังนั้นยิ่งคุณจ่ายขั้นต่ำนานเท่าใด บริษัทบัตรเครดิตก็จะได้เงินมากขึ้นเท่านั้น
- จ่ายแบบก้อนหิมะ การชำระหนี้แบบก้อนหิมะจะใช้ความรู้สึกสำเร็จเป็นแรงจูงใจ โดยวิธีนี้จัดลำดับความสำคัญของสินเชื่อตามจำนวนเงิน โดยเน้นที่หนี้ก้อนเล็กที่สุดก่อน เมื่อคุณชำระเงินคืนแล้ว จึงนำยอดหนี้ก้อนนี้ไปทบยอดหนี้ก้อนที่เล็กรองลงมาต่อไป เช่นเดียวกับก้อนหิมะที่กลิ้งลงมาจากเนินเขา คุณจะค่อยๆ จ่ายเงินก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้หนี้สินของคุณหมดไปในที่สุด
- จ่ายแบบหิมะถล่ม ตรงข้างกับการชำระหนี้แบบก้อนหิมะ การสลับลำดับความสำคัญของหนี้สิน โดยเริ่มจากชำระหนี้บัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยสูงสุด เป็นวิธีที่เร็วกว่าและถูกกว่าการชำระหนี้แบบก้อนหิมะ
- จ่ายเงินแบบตัดยอดอัตโนมัติ การชำระเงินอัตโนมัติเป็นวิธีที่ง่ายเพื่อให้แน่ใจว่าคุณชำระหนี้อย่างแน่นอน ดังนั้นคุณจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมส่วนค่าธรรมเนียมล่าช้า หากคุณกำลังฝึกใช้วิธีจ่ายเงินแบบก้อนหิมะหรือหิมะถล่ม คุณจะต้องลงมือมากขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถชำระหนี้แต่ละบัญชีแน่นอน
- พิจารณาการรวมหนี้
การพิจารณาการรวมหนี้ไว้ที่บัญชีเดียว ด้วยวิธีดังกล่าวจะทำให้คุณเหลือการชำระเงินเพียงครั้งเดียวต่อเดือน โดยหักจากยอดคงเหลือ
- บัตรเครดิตดอกเบี้ย 0% การสมัครบัตรเครดิตเพิ่มอาจดูเหมือนขัดกับสัญชาตญาณเมื่อเป้าหมายหลักของคุณคือการหมดหนี้บัตรเครดิต แต่บัตรเครดิตดอกเบี้ย 0% สามารถประหยัดเงินของคุณในระยะยาวได้ ค้นหาบัตรที่มีช่วงดอกเบี้ย 0% ยาวนาน (15-18 เดือน) และโอนหนี้บัตรเครดิตคงค้างทั้งหมดของคุณไปยังบัญชีเดียว เพื่อให้เหลือการชำระเงินเพียงหนึ่งครั้งต่อเดือน และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย
- สินเชื่อส่วนบุคคล ในทำนองเดียวกัน คุณสามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยคงที่เพื่อรวมหนี้ แม้วิธีการนี้จะทำให้คุณต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่อัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลมักจะต่ำกว่าบัตรเครดิต ซึ่งจะช่วยให้คุณประหยัดเงินได้อีก ใช้เครื่องคำนวณการรวมหนี้เพื่อประมาณการเงินออมของคุณ
- เจรจากับเจ้าหนี้ของคุณ
หากคุณอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีทางการเงิน ควรติดต่อเจ้าหนี้ของคุณเพื่ออธิบายสถานการณ์ของคุณ บริษัทบัตรเครดิตอาจเต็มใจที่จะเจรจาเงื่อนไขการชำระเงินหรือเสนอโปรแกรมเพื่อลดความยากลำบาก หากคุณเป็นลูกค้าเก่าที่มีประวัติการชำระเงินที่ดี
โดยทั่วไป บริษัทบัตรเครดิตจะเสนอโปรแกรมเพื่อลดความยากลำบาก หากคุณอยู่ในสถานการณ์ เช่น ว่างงาน หรืออยู่ระหว่างต้องพักรักษาตัว ซึ่งมีผลต่อความสามารถต่อการจัดการชำระหนี้ของคุณ ไม่ว่าคุณจะเจรจากับบริษัทบัตรเครดิต หรือยอมรับเงื่อนไขโปรแกรมเพื่อลดความยากลำบาก ทางออกของทั้งสองทางจะนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยหรือการยกเว้นค่าธรรมเนียม เพื่อช่วยให้คุณจัดการกับหนี้ของคุณได้ง่ายขึ้น
- มองหาความช่วยเหลือเพื่อปลดหนี้
หากจำนวนเงินที่คุณค้างชำระมีมากกว่าจำนวนที่คุณจ่ายได้ในแต่ละเดือน และกำลังประสบปัญหาในการควบคุมหนี้สิน ก็อาจถึงเวลาที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น โดยพิจารณาทางเลือกในการบรรเทาหนี้ดังต่อไปนี้
- วางแผนจัดการหนี้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) การวางแผนจัดการหนี้เกิดขึ้นจากความช่วยเหลือขององค์กรที่ให้คำปรึกษาด้านสินเชื่อที่ไม่แสวงหากำไร (NGO) โดยองค์กรเหล่านี้อาจออกแบบให้คุณเจรจาเงื่อนไขใหม่กับเจ้าหนี้ของคุณ และรวมหนี้บัตรเครดิตของคุณเป็นก้อนเดียว จากนั้นคุณจะต้องจ่ายเงินให้องค์กรที่ให้คำปรึกษาคุณเป็นอัตราคงที่ในแต่ละเดือน โดยบัญชีเครดิตของคุณอาจถูกปิด และอาจต้องละทิ้งการมีบัญชีใหม่ระยะเวลาหนึ่ง และแม้จะดูเป็นเรื่องดี ถ้าเจ้าหนี้ยอมตกลงให้คุณชำระเงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่คุณเป็นหนี้ แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสำหรับคนส่วนใหญ่ เนื่องจากคุณจ้างบริษัทรับชำระหนี้เพื่อเจรจากับเจ้าหนี้ในนามของคุณ และอาจนำมาซึ่ง
- การทำให้คุณสูญเสียเครดิต/ความน่าเชื่อถือ
- การบรรลุข้อตกลงอาจใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ ส่วนมากใช้เวลาประมาณ 2-4 ปี
- อาจมีค่าใช้จ่ายที่แพง
- การยื่นคำร้องล้มละลาย การยื่นคำร้องล้มละลายตามมาตรา 7 กฎหมายล้มละลาย (Bankruptcy Code) จะเป็นการล้างหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต โดยไม่มีผลตามมา และมาตรา 13 จะช่วยให้คุณปรับโครงสร้างหนี้เป็นแผนการชำระเงินได้ถึง 3-5 ปี ซึ่งถ้าคุณมีสินทรัพย์ที่ต้องการเก็บไว้ มันยังสามารถอยู่ในเครดิตของคุณได้เป็นเวลา 7-10 ปี และแม้ว่าคะแนนเครดิตของคุณมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในช่วงหลายเดือนหลังจากการยื่นคำร้อง ล้มละลาย แต่หนี้บางประเภท เช่น เงินกู้นักเรียนและหนี้ภาษี จะไม่สามารถลบล้างได้ในการยื่นคำร้องล้มละลาย 5
Think Forward Center กับข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาหนี้สินบัตรเครดิต
ภาพจาก tonkit360.com
เพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อย่าง หนี้บัตรเครดิต ในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจประเทศซบเซาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังไม่มีวี่แววจะดีขึ้นในเร็ววันนี้ Think Forward Center มีข้อเสนอเพื่อการจัดการปัญหาหนี้สินที่เป็นมิตรกับทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ และรัฐบาล ดังนี้
- รัฐต้องผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. … โดยปัจจุบัน พรรคก้าวไกล นำโดย ส.ส.วรภพ วิริยะโรจน์ และคณะ ได้ยื่นเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. … โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะเพิ่มเติมขั้นตอนการฟื้นฟูสถานะทางการเงินของลูกหนี้ โดยลูกหนี้จะได้รับสิทธิที่จะไม่ถูกฟ้องล้มละลาย และได้รับโอกาสในการปรับโครงสร้างหนี้และการผ่อนชำระหนี้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น ซึ่งจะเป็นผลให้เจ้าหนี้ได้รับเงินจากการชำระหนี้คืนในที่สุด หากขั้นตอนการฟื้นฟูสถานะทางการเงินของลูกหนี้ไม่เป็นผล จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือ กระบวนการฟ้องร้องล้มละลายตามกฎหมายเดิม
- รัฐต้องคงไว้ซึ่งหน่วยงาน/กระบวนการในการแก้ไขหนี้สินครัวเรือนที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ คลินิกแก้หนี้ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน รวมถึงสนับสนุนนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการที่
- ออกมาตรการให้ธนาคารพาณิชย์/บริษัทบัตรเครดิตลดเพดานดอกเบี้ย (อัตราดอกเบี้ยเดิมและดอกเบี้ยผิดนัดชำระ)
- ออกนโยบายกู้สินเชื่อเพื่อรวมหนี้สินทั้งหมดเป็นก้อนเดียว เพื่อเป็นช่องทางให้ลูกหนี้สามารถจัดการกับภาระหนี้สินของตัวเองได้
- ออกนโยบายสนับสนุนคนชำระหนี้ เช่น “จ่ายปุ๊บลดดอกเบี้ย” เป็นต้น
- ออกมาตรการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้รายย่อยให้ได้รับสิทธิในการประนอมหนี้ และขอเจรจาเพื่อต่อรองการชำระหนี้
- รัฐต้องสนับสนุนงบให้เกิดสื่อสร้างสรรค์/Workshop ที่ให้ความรู้พร้อมสนับสนุนให้คนรู้สึกว่าการจัดทำรายรับ-รายจ่าย การออมเงิน และการจัดลำดับภาระค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมถึงต้องนำเสนอมีวิธีการแก้ปัญหาเมื่อเกิดหนี้สินที่เริ่มจัดการไม่ได้ให้กับประชาชน ทั้งนี้รัฐสามารถประชาสัมพันธ์รูปแบบโปรแกรมสำหรับจัดทำรายรับ-รายจ่ายไปพร้อมกันได้ (เดิมที ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยได้จัดทำรูปแบบโปรแกรมรายรับ-รายจ่ายไว้ดังนี้ https://www.1213.or.th/th/finresilience/worksheet/wsbudgeting.pdf )
- รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานรัฐที่ได้รับมอบหมาย เกี่ยวกับการจัดการทางการเงินหลังเกษียณอายุ การจัดการหนี้ และความรู้ทางด้านการเงิน รวมถึงต้องมีการจัดระเบียบธุรกิจ/องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเรื่องการเป็นหนี้และการจัดการทางการเงิน เช่น การจดแจ้งใบอนุญาตสำหรับธุรกิจประเภทนี้โดยเฉพาะ เป็นต้น
- รัฐมีส่วนสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยทำให้ความสัมพันธ์ในรูปแบบ Zero – Sum Game (ความสัมพันธ์แบบเกมที่ต้องมีผู้แพ้-ผู้ชนะ) ของเจ้าหนี้และลูกหนี้บัตรเครดิตเปลี่ยนไปเป็นความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ เมื่อประกาศใช้มาตรการ/นโยบายแล้วเจ้าหนี้จะต้องได้เงินคืน และลูกหนี้สามารถหาวิธีการนำเงินมาชำระหนี้คืนได้ รวมถึงยังรักษาคุณภาพชีวิตของลูกหนี้ไว้ได้
อ้างอิง
1 AlphaCard, บัตรเครดิต 101 ปูพื้นฐานความรู้เรื่องบัตรเครดิต https://th.alphacard.io/blog/2022/05/30/creditcard101/
2 ฐานเศรษฐกิจ, หนี้สินคนไทย พุ่งขึ้นมากแค่ไหน เฉลี่ยหนึ่งครัวเรือนมีหนี้รวมกันกี่บาท https://www.thansettakij.com/economy/526337
3 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, มองวิถีเมืองและชนบท กับบทบาทหญิงชายต่อหนี้ครัวเรือนไทย ผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร https://www.pier.or.th/abridged/2019/06/
4 Citizens Advice, If you’re struggling with credit card debt https://www.citizensadvice.org.uk/
5 NerdWallet, How to Get Out of Credit Card Debt in 4 Steps https://www.nerdwallet.com/article/finance/credit-card-debt