เมื่อการปลดล็อกท้องถิ่น คือกุญแจดอกแรกในการสร้างเมืองสร้างสรรค์ที่ยึดโยงกับประชาชน

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ


จากบทความ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ ทำให้เราทราบว่า หนึ่งในทางที่น่าจะทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เกิดขึ้นในประเทศไทยมากที่สุดคือ การสร้างพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งรวมของธุรกิจสร้างสรรค์ในแต่ละจังหวัด/เมือง ที่เรียกว่า “ศูนย์รวมสร้างสรรค์ (Creative Clusters) โดยพื้นที่เหล่านี้จะเกิดได้จาก 2 ปัจจัย คือ 1) การมีโครงข่าย (Network) ความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ 2) การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของทรัพยากรบุคคล เพื่อรองรับการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศต่อไปได้ โดยเริ่มจากการสร้าง Creative Partnership Initiative โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน เพื่อพัฒนานักเรียน/นักศึกษาให้มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกับแนะแนวการประกอบอาชีพในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 

ทั้งหมดนี้ ทำให้ภาพถูกขยายขึ้นมากขึ้นว่า นับจากนี้หากการปลดล็อกอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ได้ทั้งงบประมาณและอำนาจในการจัดสรรที่มากขึ้นสามารถเกิดได้จริง เราจะสามารถดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของท้องถิ่นออกมาและพัฒนา จนเกิดเป็นธุรกิจที่สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเจริญให้กับเมืองของตนได้



Think Forward Center จึงนำประเด็นดังกล่าวนี้ ไปพูดคุยกับ ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์” ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. อยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล และ เบญจมินทร์ ปันสน” ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สุรินทร์ เขต 1 พรรคก้าวไกล ในฐานะที่ทั้งสองเป็นสถาปนิกและนักผังเมือง เพื่อศึกษาวิธีคิดในการออกแบบนโยบายและกลไกสำหรับการพัฒนาเมือง ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถทำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ว่าจะต้องมีอะไรบ้าง?

อยุธยา: เมืองเก่า เคล้าเสน่ห์วัฒนธรรม ที่ควรถูกพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองพักผ่อน

ที่มา: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=164194646105955&set=pb.100075462625749.-2207520000..&type=3 

“แค่เราไม่มีทางเท้า ไม่มีงบประมาณทำทางเท้าที่ดี ริมถนนไม่มีแสงไฟส่องสว่าง และกล้องวงจรปิด เท่านี้ก็เป็นปัญหาในการสร้างเศรษฐกิจได้”

ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ กล่าว


ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. อยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล เล่าให้เราฟังว่า สาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ในกรุงเทพ แต่กรุงเก่าอย่าง พระนครศรีอยุธยา ก็มีปัญหานี้เช่นกัน โดยปัญหาถนนหนทางไม่มีทางเท้า หรือมีแต่แคบจนไม่สามารถเดินสวนกันได้ และทำให้ผู้คนต้องลงมาเดินบนถนน ซึ่งถ้าเป็นเด็ก คนชรา สตรีมีครรภ์ หรือผู้พิการจะมีความเสี่ยงมากที่จะเกิดอุบัติเหตุได้

หรือแม้แต่ ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะ การไฟฟ้า น้ำประปาที่แต่ละพื้นที่ก็มีคุณภาพที่ไม่เท่ากัน หรือแม้แต่ปัญหาการจัดการน้ำท่วมที่ไม่ทันท่วงที และทำให้พื้นที่อยุธยาไม่สามารถเร่งระบายได้ ทำให้การติดต่อไปมาหาสู่กันกลายเป็นเรื่องยากลำบากขึ้น ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีปัญหาทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่ากันของผู้คนในแต่ละเมือง

“เราต้องออกแบบเมืองที่ทุกคนอยู่ได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นการทำให้ Universal Design เกิดขึ้นในเมืองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก”

ทวิวงศ์ กล่าว

ทวิวงศ์ กล่าวว่า เราต้องพัฒนาขนส่งสาธารณะ เชื่อมต่อคนให้มาเจอกันผ่านการออกแบบการเดินทางที่เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม รวมถึงการสร้างเมืองแห่งทางจักรยาน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการสร้างเศรษฐกิจและสร้างมนต์เสน่ห์ให้กับเมืองเก่า เพื่อให้ผู้คนได้มาเยี่ยมชมโบราณสถาน แหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำให้เป็นโครงข่ายที่มีทางต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีทางตัน เหมือนอย่างกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ที่มา: https://www.facebook.com/photo/?fbid=164736686051751&set=pcb.164274619431291

ทวิวงศ์ จึงบอกต่อว่า และทางที่จะทำให้ระบบสาธารณูปโภคดีขึ้นได้ ท้องถิ่นจะต้องได้รับการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง เพื่อให้นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมาจากการเลือกตั้ง สามารถจัดการงบประมาณและพื้นที่เพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่ให้ตอบสนองต่อประชาชนมากที่สุด โดยไม่ต้องไปวิ่งเต้นของบประมาณจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอีก 

เราจึงสอบถาม ทวิวงศ์ ว่า ถ้าหากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเกิดขึ้นจริง จะส่งผลต่อการพัฒนาเมืองอยุธยาอย่างไรบ้าง?

“ด้วยอยุธยาเป็นเมืองเก่า เป็นเมืองท่องเที่ยว หากเราส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไปพร้อมกับการเป็นเมืองพักผ่อน มีศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงและซึมซับมากขึ้น มีสถานพยาบาลและสถานที่พักผ่อนรองรับผู้สูงอายุหลังเกษียณอายุที่อยากออกมาใช้ชีวิตนอกเมือง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถสร้างรายได้และเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้กับอยุธยาได้”

ทวิวงศ์ กล่าว

ที่มา: https://www.facebook.com/photo/?fbid=170911622100924&set=pcb.170911712100915 


และด้วยอำนาจในการสร้างระบบเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของอยุธยา เราพบว่า อยุธยาเป็นเมืองที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงมาก อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมที่ถูกซ่อนเร้นและยังไม่เป็นที่รู้จักอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น หมู่บ้านชาวต่างชาติในเขตตัวเมืองอยุธยา ซึ่งถ้าเราพัฒนาและส่งเสริมให้สถานที่เหล่านี้ได้รับการทะนุบำรุงออกแบบให้สวยงาม น่าสนใจ มีศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้คนได้มาศึกษาหาความรู้ มีร้านค้าขายสินค้าที่ระลึกประจำถิ่น เช่น งานจักสาน งานสานปลาตะเพียน เพื่อทำให้เกิด supply chain ที่สร้างงานสร้างรายได้กับคนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญคล้ายกับสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็จะเกิดขึ้นได้

ที่มา: https://www.matichonacademy.com/ 


เราจึงถามต่ออีกว่า นอกจากการปลดล็อกอำนาจของท้องถิ่นที่เราต้องผลักดันแล้ว ในทางอื่นเราจะผลักดันอะไรให้เกิดขึ้นบ้าง

“ผมวางแผนว่า จะต้องเข้าไปคุยกับเทศบาล/อบต. ทุกที่ในเขตเลือกตั้งตัวเองว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้าง และใช้สื่อโซเชียลเพื่อส่งเสริมให้อยุธยามีจุดขายใหม่ๆ และนำเสนอออกไปสู่คนภายนอกมากขึ้น”

ทวิวงศ์ กล่าว



ทวิวงศ์ กล่าวต่อว่า ลึกๆ ตนเชื่อว่า นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีความรู้สึกน้อยใจ เนื่องจากพวกเขามาจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ แต่ศักดิ์ศรีที่มีกลับน้อยกว่าคนที่แต่งตั้งจากส่วนกลางเสียอีก และเชื่อว่า จริงๆ เขาเหล่านั้นก็อยากมีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณและพื้นที่เพื่อพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น เราจึงต้องไปผูกมิตรและทำให้เขาเห็นด้วยว่า อำนาจที่ทับซ้อนกันระหว่างส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ที่ยังผลให้ผู้ที่มาจากเลือกตั้งมีอำนาจน้อยกว่าผู้ที่ถูกแต่งตั้งมาจะต้องสิ้นสุดลงเสียที 

ทวิวงศ์ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เราต้องทำความเข้าใจและปลูกฝังค่านิยมใหม่ให้กับประชาชนในท้องถิ่น จากเดิมที่ประชาชนเห็นว่า งานพัฒนาท้องถิ่น เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเข้าสภาไปเพื่อของบประมาณจากส่วนกลางและนำมาให้มากับนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผลให้เกิดค่านิยมเชิงชี้วัดว่า ส.ส.คนใดเก่งหรือไม่เก่ง อยู่ที่สามารถต่อรองงบประมาณมาให้กับท้องถิ่นได้มากแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดมาจากกฎหมาย และเราในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เมื่อได้รับเลือกแล้วจะต้องเข้าไปแก้ไข เพื่อให้งบประมาณกลับมาอยู่กับประชาชนมากที่สุด

“หน้าที่ของ ส.ส. ในการเมืองใหม่ คือ เราต้องเข้าไปแก้ที่ต้นตอของปัญหา ซึ่งคือกฎหมาย เราต้องใช้เสียงในสภาเพื่อปลดล็อกพลังของท้องถิ่นให้ได้ และหากได้รับความไว้วางใจจากคนในพื้นที่แล้ว เราก็ต้องไม่เป็นผู้แทนราษฎรแค่เฉพาะกับราษฎรในพื้นที่เท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้แทนราษฎรของคนทุกคน รับฟังเสียงของประชาชนทุกส่วน เพื่อนำเข้าไปผลักดันในสภา และต้องเป็นหนึ่งเสียงที่ยกมือในสภา”



สุรินทร์: เมืองหน้าด่านอีสานใต้ ที่ควรพัฒนาเป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมและเมืองพักผ่อนชาวต่างชาติ

ที่มา: (ร่าง) วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กรมโยธาธิการและผังเมือง, 2564)

“เราพบการวางผังนโยบายระดับภาคอีสาน ยังเป็นการวางแผนจากคนของส่วนกลาง และไม่ได้ยึดโยงกับคนในพื้นเท่าที่ควร ออกแบบผ่านข้อมูลจากส่วนกลาง ไม่เกิดการมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่ด้วย นี่จึงสะท้อนการรวมศูนย์อำนาจมาก ๆ” เบญจมินทร์ ปันสน กล่าว

เบญจมินทร์ ปันสน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สุรินทร์ เขต 1 พรรคก้าวไกล เล่าให้เราฟังว่า ปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐกับประชาชนในประเด็นการวางผังเมืองนี้ มาจากการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมที่ไม่ทั่วถึง รวมถึงรูปแบบในการสอบถามความต้องการ และทิศทางการพัฒนาเมืองที่สืบเนื่องไปถึงวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการออกแบบมาตั้งแต่ต้น 

หรือแม้แต่การบริหารเมืองเพื่อให้มีความหลากหลาย แม้สุรินทร์จะเคยศึกษาแผนการออกแบบผังเมือง โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง และบริษัทที่ปรึกษา (จากส่วนกลาง) ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับไม่มีอำนาจในการออกแบบข้อกำหนดการใช้ประโยชน์อาคารในเมืองของตนเอง ไม่มีอำนาจในการคิดเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้เหมาะสมกับเมืองของตนเอง เช่น ตึกแถวคูหา หรืออาคารหลังเก่าของราชการที่อยู่ใจกลางเทศบาลเมืองสุรินทร์ซึ่งไม่ใช้งานแล้วมาบริหารอย่างไรให้สามารถสร้างประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด  

ที่มา: การศึกษา ออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะชุมชนเมืองสุรินทร์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ (Better Space Co., Ltd., 2564)


รวมถึงปัญหาการจัดการบ่อขยะมูลฝอยของท้องถิ่นในชุมชนบ้านแบกจาน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ที่ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาในพื้นที่มากว่า 30 ปี พรรคก้าวไกลสุรินทร์จึงประสานเรื่องไปยังกรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 จนท้ายที่สุดเทศบาลตำบลสังขะ ออกปากรับคำว่า จะเร่งจัดการฝังกลบขยะและเฝ้าระวังไม่ให้มีใครลักลอบเผาขยะอีก

ที่มา: เวทีรับฟังปัญหาการรบริหารจัดการขยะมูลฝอย ณ ปราสาทยายเหงา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ 11 พฤษภาคม 2565

“กุญแจดอกแรกในการสร้างเมืองสร้างสรรค์ที่ยึดโยงกับประชาชน คือ เราต้องหยุดสร้างเมืองด้วยความคิดที่ว่าทุกคนอายุ 30 และสุขภาพแข็งแรง เราจำเป็นต้องสร้างเมืองที่โอบรับคนทุกกลุ่มให้สามารถใช้ชีวิตในเมืองได้ และโจทย์นี้ต้องกลับไปที่รัฐบาลส่วนกลางที่กำลังวางแผนเมืองให้คนสุรินทร์ว่า รัฐส่วนกลางรู้ได้อย่างไรว่าจะสร้างเมืองแบบไหนให้ตอบโจทย์กับแต่ละเมืองที่มีบริบทแตกต่างกัน?”

เบญจมินทร์ กล่าว


เราจึงถาม เบญจมินทร์ ถึงแผนการทำงานต่อไปว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองและทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐกับประชาชนมากขึ้น?

“การพัฒนาเมืองอาจเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ ที่สามารถทำได้เลยอย่างการนำอาคารราชการในย่านเมืองเก่ากลางเมืองที่ไม่ได้ใช้งาน ออกมาใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะของประชาชนได้”

เบญจมินทร์ กล่าว

เบญจมินทร์ เล่าต่อว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยมีโอกาสได้คุยกับสำนักงานจังหวัดสุรินทร์ ในการพัฒนาศาลากลางจังหวัดสุรินทร์หลังเก่าว่า ควรจะนำรั้วเหล็กออกและเชื่อมพื้นที่ราชการโดยรอบเป็นจตุรัสกลางเมือง (Square/ Piazza) เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิใช้สอยร่วมกัน ซึ่งเป็นหลักการที่ทำให้ ‘คนเท่ากัน’ ผ่านการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยผ่านการวางผังเมือง

ที่มา: https://www.facebook.com/benjamin.punson/posts/pfbid033QF2ZcnGVfgZn88TUtZAs69qupeZ8VJfGQMtybmU4w1tychKFB1xfiia9BRvws6Ll 


อย่างไรก็ตาม เบญจมินทร์ ยังกล่าวว่า การพัฒนาเมืองยังมีปัญหาในแง่การกระจายงบประมาณลงมาสู่ท้องถิ่นอย่างไม่เท่าเทียม ทำให้การลงพื้นที่หลาย ๆ ครั้ง ต้องพบเจอคำถามว่า “หากเข้ามาเป็น ส.ส.สุรินทร์ จะดึงงบประมาณส่วนกลางได้มากน้อยเพียงใด?” “ส.ส.จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง เช่น ถนน สะพาน จุดไหนอย่างไรบ้าง?” ทำให้ตนรู้สึกว่า ประเด็นการปลดล็อกท้องถิ่นเพื่อกระจายอำนาจ (Decentralized) ที่สำคัญและควรผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองท้องถิ่น เพื่อให้อำนาจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษี จัดสรรงบประมาณและพัฒนาเมืองให้เกิดเหมาะสมกับแก่ประชาชนในเมืองของตนเองได้มากที่สุด

เราจึงถาม เบญจมินทร์ต่อว่า ถ้าหากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเกิดขึ้นจริง จะส่งผลต่อการพัฒนาสุรินทร์อย่างไรบ้าง?

“หลายคนมักยึดติดภาพจำว่า สุรินทร์เป็นเมืองช้างและการทอผ้าไหม ซึ่งจริง ๆ แล้ว สุรินทร์ไม่ได้มีแค่ผ้าไหมและช้าง แต่มีมากกว่านั้นที่ไม่ได้ถูกชูโรงจากรัฐบาลส่วนกลาง เช่น วัฒนธรรมอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตสุราพื้นบ้าน โดยเกษตรกรตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ ธุรกิจโฮมสเตย์โดยชุมชนบ้านเทนมีย์ อำเภอเมืองสุรินทร์”

เบญจมินทร์ กล่าว

ที่มา: Satom Organic Farm ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ 


เบญจมินทร์ จึงกล่าวต่อว่า จะดีกว่ามั้ย หากศักยภาพของแต่ละตำบลในสุรินทร์ถูกปลดล็อกและดันให้เมืองนี้กลายเป็น ศูนย์รวมของวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ (Cultural and Creative Hub) ที่ชักชวนให้ผู้คนจากภายนอกเข้ามาเห็นความหลากหลายและต่อยอดมูลค่า เช่น อุตสาหกรรมแฟชั่น ปัจจุบันสุรินทร์มีช่างทอผ้าไหมและผู้ขายจำนวนมาก แต่ยังไม่มีผู้ออกแบบมากนัก การปลดล็อกท้องถิ่นอาจทำให้สุรินทร์ได้พบเจอกับผู้ออกแบบหน้าใหม่ ดีไซเนอร์รุ่นใหม่เข้ามาต่อยอดมูลค่าเพิ่มของผ้าไหมสุรินทร์ให้เหมาะสมกับยุคใหม่ สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ 

ที่มา: Thai Local Wisdom Trend Book 2020/19

ที่มา: Thai Local Wisdom Trend Book 2020/19


และหากนำศาลากลางจังหวัดสุรินทร์หลังเก่ามาพัฒนาได้ อาคารนั้นอาจนำมารีโนเวทและจัดทำเป็นศูนย์สร้างสรรค์และงานออกแบบประจำจังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมวัสดุผ้าจากชุมชนต่าง ๆ เป็นแหล่งวิจัยและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเมืองสุรินทร์ นำลานสนามหญ้าหน้าศาลากลางมาจัดกิจกรรมพบปะระหว่างผู้คิด – ผู้ผลิต – ผู้ขายของแต่ละอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ระดับนานาชาติมาเจอกัน 

โดย เบญจมินทร์ ปันสน กล่าวตอนท้ายว่า หลังจากนี้การทำงานของตนในฐานะผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุรินทร์ เขต 1 พรรคก้าวไกลจะแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น คือ 

  1. การทำการเมืองสร้างสรรค์ คือ สร้างความฝันและพลังให้กับประชาชนว่าเราจะมีสิทธิจะเห็นสุรินทร์เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นำเสนอแนวทางการพัฒนาเมืองผ่านการวิจัยทางวิชาการ ศึกษาเปรียบเทียบตัวอย่างจากต่างประเทศ 
  2. การทำการเมืองเคียงคู่กับประชาชน คือ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละพื้นที่โดยตรง นำผลการศึกษา นโยบายที่มีหลักคิดทางวิชาการมาสอบถามคิดเห็นและข้อเสนอแนะร่วมกับประชาชน
  3. การทำการเมืองในระยะยาว คือ จะเป็นผู้แทนราษฎรที่มีชีวิดตลอดเวลา ไม่ใช่ขยันหรือกระตือรืนร้นทำงานเฉพาะฤดูกาลตั้งเท่านั้น แต่จะทำงานต่อทำงานการเมืองที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อทุกคนอย่างต่อเนื่อง


OLYMPUS DIGITAL CAMERA


ทั้งหมดนี้ คือความคิดริเริ่มที่จะรังสรรค์การเมืองแบบใหม่ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเมืองให้รองรับผู้คนทุกกลุ่มได้ของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกล โดยหากท่านใดต้องการติดตามว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 2 คนนี้ สามารถติดตามได้ทางเฟซบุ๊ก ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. อยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล – https://www.facebook.com/TawiwongOfficial และเบญจมินทร์ ปันสน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สุรินทร์ เขต 1 พรรคก้าวไกล – https://www.facebook.com/benjamin.punson 

สุดท้ายนี้ Think Forward Center สนับสนุนแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกแบบและกำหนดการพัฒนาเมืองของตนเองได้เพิ่มขึ้น โดยการ

  • การถ่ายโอนอำนาจที่จำเป็นในการจัดการเมืองสร้างสรรค์ให้กับท้องถิ่นให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำและการอนุมัติผังเมือง การจัดการขนส่งสาธารณะในเมือง การให้/ไม่ให้ใบอนุญาตในการประกอบการต่างๆ 
  • การเพิ่มงบประมาณรายรับของท้องถิ่นเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 50 และให้งบประมาณส่วนกลางร้อยละ 50 ภายในปี 2570
  • การให้อำนาจท้องถิ่นในการใช้การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (Negative Land Tax) และการสนับสนุนเงินกองทุนในการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ในเมือง เพื่อใช้เป็นกลไกหลักในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว และพื้นที่เรียนรู้ในเมือง 
  • การพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง ผ่านระบบสวัสดิการถ้วนหน้าทุกช่วงวัย และการพัฒนาตลาดภายในท้องถิ่นให้มีความหลากหลาย เช่น ตลาดเชิงวัฒนธรรม ตลาดแพลตฟอร์มท้องถิ่น และตลาดจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เช่น การเสริมอาหารกลางวันของโรงเรียน ด้วยอาหารภายในท้องถิ่น หรือการให้แต้มต่อกับผู้ประกอบการ SMEs ในท้องถิ่น
  • จัดสรรงบประมาณการลงทุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเพิ่มเติมใน 5 ด้านคือ
    • การพัฒนาแหล่งและสื่อการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ ในแต่ละเมือง
    • การจัดการขนส่งสาธารณะ และการจัดการขยะในเมือง
    • การพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับคนทำงานและผู้ประกอบการในเมือง
    • การพัฒนาการเข้าถึงระบบดิจิทัล ทั้งในแง่ความครอบคลุมของระบบ และความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของประชาชน
    • การรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศวัฒนธรรม การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการให้บริการของระบบนิเวศ และการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมือง


ข้อเสนอต่อการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ที่ยั่งยืนและการตอบสนองต่อการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น สามารถดูรายละเอียดฉบับเต็มได้ที่ https://think.moveforwardparty.org/paper/post-decentralisation-economy-administration/ 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า