Plant-Based ความท้าทายของของผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรม ท่ามกลางกระแสการดูแลสุขภาพยุคใหม่

นุชประภา โมกข์ศาสตร์


หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า Plant Based มาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มคนรักสุขภาพ Plant Based คืออะไร? จริงๆ แล้ว Plant Based เป็นอาหารสุขภาพที่ทำจากพืชผักผลไม้ เช่น เนื้อที่ทำจากพืช (Plant-Based Meat) นมที่ทำจากพืช (Plant-Based Milk & Diary) น้ำสลัดที่ทำจากพืช (Plant-Based Dressing) เครื่องปรุงที่ทำจากพืช (Plant-Based Seasoning) ไข่ที่ทำจากพืช (Plant-Based Egg) ไอศครีมที่ทำจากพืช (Plant-Based Ice-cream) ฯลฯ

ภาพจาก unsplash.com


Plant-Based จึงเป็นเทคโนโลยีอาหาร ที่มีการนำอาหารมาพัฒนากระบวนการผลิต และทำการปรุงด้วยวัตถุดิบจากพืชซึ่งช่วยลดการทานเนื้อสัตว์ และเพิ่มทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพให้สามารถเลือกกินอาหารมีประโยชน์และปลอดภัยมากขึ้น

ปัจจุบันมีการนำผักผลไม้มาปรุงเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจำนวนมาก ซึ่งทำให้การทานผักผลไม้เป็นเรื่องง่าย ที่สำคัญยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรค NCDs ได้มากขึ้นด้วย


ตลาด Plant Based ในต่างประเทศ

จากข้อมูลระบุว่า Plant-Based Food ในตลาดโลกมีมูลค่าราว 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12% โดยตลาดได้รับปัจจัยบวกจากโควิด-19 ทำให้ยอดขายเติบโตค่อนข้างมาก เพราะผู้บริโภคกังวลเรื่องเนื้อสัตว์ปนเปื้อนในช่วงแรกของการระบาด โดยกลุ่มที่เรียกว่า Flexitarian (กลุ่มคนที่กินทั้งมังสวิรัตและลดเนื้อสัตว์ลงในบางมื้อ)  ในสหรัฐอเมริกามีประมาณร้อยละ 29  กล่าวคือ ประชากรชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 3 ลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม ทำให้ตลาด Plant Based มีโอกาสที่จะเติบโตมากขึ้น Bloomberg ระบุว่าตลาด Plant-Based จะมีมูลค่าถึง 162,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2573 มีส่วนแบ่งในตลาดโปรตีนโลก 7.7 % เนื่องจาก (ก) ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น (ข) การทำปศุสัตว์เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้ผู้คนหันไปทาน Plant Based (ค) การเติบโตของกลุ่ม Flexitarian (ง) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร

โดยข้อมูลงานวิจัยพบว่า การทานเนื้อสัตว์จากพืชหากทานอย่างเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการก็สามารถสร้างกล้ามเนื้อได้เช่นเดียวกันกับการทานเนื้อสัตว์ทั่วไป ดังนั้นตลาด Plant Based จึงคาดว่าจะกลายเป็นเมกะเทรนด์ในอนาคต

ภาพจาก https://krua.co/food_story/plant-based-mea/


ตลาด Plant Based ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย Plant-Based Food ในปี พ.ศ. 2562 มีมูลค่าตลาดราว 28,000 ล้านบาท เติบโต 20% ผลิตภัณฑ์หลักที่ออกสู่ตลาดยังคงมีพื้นฐานมาจากอาหารเจ มังสวิรัติ ส่วนอาหารจากพืชที่มาจากการนำเข้าและการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศยังมีไม่มากนัก โดยคนไทยร้อยละ 20 เป็นกลุ่ม Flexitarian แบ่งเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพร้อยละ 65 และควบคุมน้ำหนักร้อยละ 20  ซึ่งประเทศไทยยังนับว่า Plant-Based Food เป็นตลาดที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน เนื่องจากช่วงแรกหรือย้อนไปประมาณ 5 ปีที่แล้ว Plant-Based Food มีเพียงกลุ่มสตาร์ทอัพเท่านั้นที่เริ่มเข้ามาเปิดตลาด


ข้อดีของ Plant Based มีอะไรบ้าง?

  • Plant Based คือหนึ่งในแนวทางลดปัญหาโลกร้อน

หากวันหนึ่งโลกของเราได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนทำให้การเลี้ยงสัตว์ หรือการทำเกษตรแปลงใหญ่แบบเดิม ไม่สามารถให้ผลผลิตได้ตามความต้องการจนส่งผลให้ปริมาณอาหารที่ผลิตไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้ทางเลือกในการบริโภคอาหารของมนุษย์จำเป็นต้องเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน การหันไปทาน Plant Based เพื่อทดแทนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ก็อาจได้รับความสนใจมากขึ้น และรัฐบาลสามารถผลักดันนโยบาย Plant Based เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางของการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้ เพราะในปัจจุบันประชากรโลกอยู่ที่ 7,000 ล้านคน และในปี 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,000 – 10,000 ล้านคน ดังนั้น Plant Based จึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและลดปัญหาโลกร้อนจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร

ภาพจาก istockphoto.com


Plant Based และพืชผักผลไม้ (ที่ปลอดสารเคมี) คือทางออกจากปัญหาสุขภาพของคนไทย

ปัจจุบันการเลือกรับประทาน Plant Based และพืชผักผลไม้ ไม่เพียงเป็นทางเลือกในการป้องกันโรค NCDs เท่านั้น แต่ยังเป็นเทคโนโลยีอาหารที่ช่วยในการชะลอวัย และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลงได้  นอกจากนี้ผู้ที่รับประทานอาหารประเภทมังสวิรัต วีแกน หรือลดการรับประทานเนื้อสัตว์ลงในบางมื้อเป็นประจำจะอาจมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูสภาพจิตใจได้ด้วย จากการรับสารอาหารและวิตามินที่มาจากพืช (ซึ่งเป็นอาหารที่เติบโตจากการได้รับแสงแดดในธรรมชาติ) โดยช่วยปรับระบบฮอร์โมนในร่างกายให้ทำงานอย่างสมดุล และคลายความกังวลในเรื่องอาการเจ็บป่วยต่างๆ จึงอาจเป็นทางเลือกในการบรรเทาภาวะซึมเศร้าสำหรับบางผู้ป่วยบางรายได้ 

ภาพจาก unsplash.com


Plant Based ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

ในเชิงเศรษฐกิจ Plant Based เป็นตลาดที่กำลังได้รับความสนใจและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศ ขณะที่ตลาดในบ้านเราก็มีแนวโน้มการเติบโตสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันเริ่มมีสตาร์ทอัพที่หันมาผลิตอาหารจากพืชและเปิดร้านอาหารสไตล์ Vegan มากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการของคนรักสุขภาพ โดยในปี 2562 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท และศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส มองว่า Plant Based Food ในไทยจะเติบโตเฉลี่ย 10% ทุกปีจนมีมูลค่า 45,000 ล้านบาท ในปี 2567 

อีกทั้งการที่คนไทยมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยจากโรค NCDs ที่มาพร้อมกับค่ารักษาพยาบาลที่สูงลิ่ว ทำให้เรามีเงินเหลือสำหรับไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้ เช่น การเดินทางท่องเที่ยว การลงทุน การบริจาค เป็นเงินเก็บเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินหรือเกษียณอายุ ฯลฯ ดังนั้นการทาน Plant Based และพืชผักผลไม้จึงเป็นการลงทุนเพื่อลดต้นทุนด้านสุขภาพที่ได้ผลค่อนข้างดี อีกทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะ อุตสาหกรรมอาหาร สังคมสูงวัย การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสีเขียว


ภาพบรรยากาศงาน Plant Based Festival 2022

เมื่อวันที่ 9-10 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมามีการจัดงาน Plant Based Festival 2022 ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ในงานมีผู้ประกอบการ SMEs มาร่วมจัดบู๊ธแสดงสินค้า ทั้งสินค้าประเภทนมจากพืช เช่น นมข้าวโอ๊ต (ซึ่งกำลังได้รับความนิยม) โปรตีนสกัดจากถั่ว 7 ชนิด อาหารจากพืช เช่น เบอร์เกอร์เนื้อวัว/เนื้อไก่/เนื้อแกะ ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ และมี SMEs จากแบรนด์ต่างๆ มาแนะนำผลิตภัณฑ์สำหรับผู้มาเยี่ยมชมจำนวนมาก

จากการสอบถาม SMEs ที่หันมาพัฒนาสินค้า Plant Based ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่ตัดสินใจหันมาศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในด้านนี้เพราะมองเห็นแนวโน้มการเติบโตของตลาดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา รวมทั้งตลาดในบ้านเรา เพราะเห็นการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารสไตล์ Vegan ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ทำผลไม้อบแห้งส่งออกมา 40 ปีหันมาผลิตสินค้าที่เป็นขนมขบเคี้ยวประเภทเนื้อจากพืช โดยที่ก่อนหน้านี้มีการลงไปสำรวจตลาด Plant Based ในสหรัฐอเมริกา พบว่าคนอเมริกันนิยมรับประทาน Jerky หรือเนื้ออบแห้งสำหรับทานเล่นเพื่อสุขภาพ ทำให้บริษัทหันมาพัฒนาเนื้ออบแห้งจากพืชซึ่งทำมาจากมันแกว ซึ่งมีการทดลองและศึกษาด้วยการนำวัตถุดิบหลายสิบชนิดมาผลิตกว่าจะได้วัตถุดิบที่ลงตัว และอีกเหตุผลคือธุรกิจผลไม้อบแห้งที่เคยทำมาหลายปีอาจจะไม่ตอบสนองต่อตลาดผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมในต่างประเทศ และค่อยๆถูกทดแทนด้วยอาหารจากพืชหรือ Plant Based ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่ SMEs อีกรายหนึ่งบอกว่าได้รับไอเดียมาจากการไปเห็นชาวต่างชาติที่นิยมรับประทานอาหารประเภทไส้กรอก แฮมเบอร์เกอร์ จึงสนใจนำมาเป็นไอเดียเพื่อทำเบอร์เกอร์จากพืชซึ่งให้รสชาติและกลิ่นที่คล้ายกับเนื้อสัตว์จริง และเพิ่งจะเริ่มทำการตลาดเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งกำลังจะขยายเฟรนไชด์ร้านอาหารภายในปีนี้ 


Plant-Based ช่วยให้สังคมดีขึ้น 

การบริโภค Plant Based ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ลดการผูกขาดของกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแปรรูป เพราะตลาด Plant Based จะมีผู้ประกอบการที่เป็นรายย่อย (SMEs) มากกว่าตลาดเนื้อสัตว์หรือสินค้าประเภทอาหารแปรรูปที่มีผู้ประกอบการอยู่ไม่กี่ราย ดังนั้นการส่งเสริมสินค้า Plant Based เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ประโยชน์ร่วมกัน และยังเป็นนโยบายที่มิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ภาพจาก unsplash.com


อย่างไรก็ตามแม้ Plant Based จะมีประโยชน์มากมายแต่ก็ยังมีความท้าทายในการพัฒนา Plant Based Food เพื่อตอบสนองต่อความต้องการผู้บริโภคในประเทศมากขึ้น ตัวอย่างเช่น 

  • ประเทศไทยยังไม่มีการสร้างมาตรฐานและยังไม่มีหน่วยงานรับรองกระบวนการผลิตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ที่ขายในท้องตลาดนั้นทำจากพืช 100% จริงหรือไม่ (กล่าวคือ ไม่มี DNA ของเนื้อสัตว์ผสมอยู่เลย) ทำให้หลายคนยังไม่มั่นใจในมาตรฐานของสินค้าประเภท Plant Based จากบริษัทผู้ผลิตที่เป็นของคนไทย
  • ความท้าทายด้านรสชาติอาหาร ที่ยังไม่สามารถทำให้คล้ายคลึงกับรสชาติของเนื้อสัตว์จริง เช่น หมูกรอบที่ทำจากพืชที่ยังให้รสชาติของถั่วเหลือง ทำให้ผู้ประกอบการต้องนำเข้าวัตถุปรุงแต่งกลิ่นตามธรรมชาติเพื่อใช้ในการเพิ่มรสชาติให้คล้ายเนื้อสัตว์มากขึ้น
  • ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ และปัจจุบันยังไม่มีนโยบายเพื่อที่จะผลักดันให้ Plant Basedเป็นอาหารได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานภาครัฐหรือ อย. และมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการ SMEs และรับฟังปัญหาและอุปสรรคของผู้ประกอบการ (แม้ปัจจุบันจะมีสถาบันอาหาร ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยด้านอาหารและศึกษาในเรื่องนี้)
  • รัฐยังไม่มีนโยบายสนับสนุนรวมทั้งพัฒนาตลาด Plant Based ในประเทศ เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของ Plant Based การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการที่สนใจพัฒนานวัตกรรมอาหารจากพืช การส่งเสริมให้ท้องถิ่นพัฒนาและผลิตอาหาร Plant Based จากวัตถุดิบในชุมชน รวมทั้งการจัดหาพื้นที่หรือตลาดให้กับร้านอาหาร Plant Based เช่น การใช้ Plant Based ในการลดจำนวนผู้ป่วย NCDs ในโรงพยาบาล หรือการดูแลสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ 
  • ความท้าทายด้านราคา ปกติอาหารที่เป็น Plant Based มักจะมีราคาสูง ทำให้กลุ่มผู้บริโภคที่เข้าถึง Plant Based food ส่วนมากมักเป็นกลุ่มชนชั้นกลางและคนที่มีรายได้สูง การทำตลาดจึงทำได้ในวงจำกัด ดังนั้นการทำให้ Plant Based food มีราคาถูกลงจะเป็นการพัฒนาตลาดอาหารจำพวกพืชผักผลไม้ที่สามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆได้มากขึ้น
  • ร้านอาหารยังกระจุกตัวอยู่เฉพะในกรุงเทพและปริมณฑล ทำให้การเข้าถึงทางเลือกในการบริโภคอาหารจากพืช จำกัดอยู่ในกลุ่มคนจำนวนไม่มาก การส่งเสริมการกระจายร้านอาหารประเภท Plant Based ไปยังท้องถิ่นและชุมชนสามารถลดการกระจุกตัวของธุรกิจ ซึ่งอาจผลิตสินค้าชุมชนในลักษณะของอาหารจากผักผลไม้พื้นบ้านแทนได้
  • กลุ่มธุรกิจอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือสินค้าอาหารแปรรูปอาจคัดค้านแนวทางในการส่งเสริมธุรกิจ Plant Based เนื่องจากการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดและจำนวนลูกค้าที่เคยรับประทานอาหารจากเนื้อสัตว์อาจลดลงเพราะหันไปรับประทานอาหารจากพืชมากขึ้น


เปรียบเทียบราคาเนื้อสัตว์กับอาหารจากพืช Plant Based

โดยเฉลี่ยเนื้อที่ผลิตจากพืชจะขายอยู่ที่ประมาณ 300 – 500 บาท/กิโลกรัม ซึ่งมีราคาสูงกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไปประมาณสองเท่า


นโยบายในเชิงพัฒนาและการบริหารจัดการ

ด้วยข้อจำกัดและอุปสรรคที่กล่าวมาทำให้ต้องมีการพัฒนาแนวทางในการส่งเสริมตลาด Plant Based มากขึ้นและเพื่อให้รัฐบาล กลุ่มผู้ประกอบการและผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับอาหาร Plant Based เพื่อดูแลสุขภาพและลดการรับประทานเนื้อสัตว์ Think Forward Center มีข้อเสนอดังนี้

  • ผู้ประกอบการควรส่งเสริมกระบวนการผลิต Plant Based food ให้ได้มาตรฐาน ทั้งการผลิตที่ได้คุณค่าทางโภชนาการที่พอดีกับร่างกาย การพัฒนารสชาติให้คล้ายกับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และการกำหนดราคาที่ไม่สูงจนเกินไป
  • รัฐควรสนับสนุนมาตรการทางการเงินการคลังให้กับร้านอาหารประเภท Plant Based ที่เชื่อมโยงกับตลาดมังสวิรัต วีแกน และอาหารเจ เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ในสินค้ากลุ่ม Plant Based และตลาดที่เกี่ยวเนื่อง
  • รัฐสนับสนุนผู้ประกอบการมีการเชื่อมโยงตลาดวัตถุดิบของการทำ Plant Based ไปสู่เกษตรกรรายย่อย และช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรที่หันมาปลูกผักผลไม้ที่เป็นวัตถุดิบสำหรับ Plant-Based food ที่มีมาตรฐานปลอดภัย
  • รัฐ/หน่วยงานต่างๆ ควรจัดสถานที่เพื่อส่งเสริมธุรกิจ Plant Based ในพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย องค์กรภาครัฐ สวนสาธารณะ โดยจัดพื้นที่เป็นตลาด Plant Based เพื่อคนรักสุขภาพและกลุ่มคนที่เป็นโรค NCDs รวมทั้งประชาชนทั่วไป
  • รัฐควรเข้ามาสนับสนุนการเข้าถึง Plant-Based food สำหรับกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงในโรค NCDs และมีความจำเป็นต้องทาน Plant-Based food 




รายการอ้างอิง

  • Brandinside. 2022. เนื้อหมูจากพืช ถูกกว่า เนื้อหมูจริง ถึงเวลากิน Plant-based Food? เช็คราคาแบรนด์ไหนถูกกว่าบ้าง. https://brandinside.asia/meat-avatar-plant-based-1-kg/
  • Money Hub. 2561. โรค NCDs สร้างค่าใช้จ่ายมากสุด คร่าชีวิตคนไทยสูงสุด https://moneyhub.in.th/article/ncds/
  • STARTUP. Plant Based Food. อาหารแห่งอนาคตตอบโจทย์ธุรกิจ.

บทความล่าสุด

งบ 67: สิ่งที่พอจัดการได้กับงบโรงเรียนขนาดเล็ก

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร

ห้ามนำเข้าสินค้า จากพื้นที่ที่มีการเผา นโยบายที่ปรากฏอยู่ในร่าง พรบ.ฝุ่นพิษ ฉบับก้าวไกล

คุยกับ “นิติพล ผิวเหมาะ” ทางออกที่เป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกันของ “คนกับสัตว์”

จาก “ตัวเงินตัวทอง” และ “ลิง” สู่ “นกปรอดหัวโขน” และ “ช้างป่า” ว่าด้วยปัญหาที่ผ่านมาระหว่าง “คนกับสัตว์”

“ถ้าคุณให้ทุนมา จะมีนักมานุษยวิทยาที่พร้อมนั่งสังเกตลิง”: รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ว่าด้วย ‘คนกับสัตว์’ ที่ไม่รู้ใจ แต่ใช้ชีวิตร่วมกันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า