เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center
สหกรณ์เป็นรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตย และภราดรภาพในสังคม สหกรณ์จึงถูกออกแบบให้เป็นองค์กรทางเศรษฐกิจที่ “คนเท่ากัน” โดยไม่แบ่งชั้นวรรณะและอำนาจเงินทุนทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
พรรคก้าวไกลและ Think Forward Center เชื่อมั่นในหลักการและแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้ “คนเท่ากัน” และ Think Forward Center ยังเชื่อมั่นว่า การกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านการสร้างสหกรณ์ที่เข้มแข็ง จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศนี้ และสามารถสนับสนุนให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยเข้มแข็งขึ้นในอนาคต
แต่แม้ว่า สหกรณ์ในประเทศไทยจะผ่านการพัฒนามากว่าหนึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 แต่ขบวนการสหกรณ์ของไทยก็ยังไม่เข้มแข็ง เพราะภาครัฐมีการควบคุมและจำกัดอำนาจในการบริหารจัดการของสหกรณ์มาโดยตลอด ทำให้ขบวนสหกรณ์ในประเทศไทยขยายตัวได้ช้า และหลายกรณีก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิก ของเกษตรกร และของประชาชนได้อย่างเต็มที่
ฉะนั้น ในโอกาสที่ครบรอบ 107 ปีของสหกรณ์ Think Forward Center จึงเสนอแนวทางในการปลดล็อกศักยภาพสหกรณ์ไทย ดังนี้
- การแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรม/ธุรกิจของสหกรณ์ เช่น การจำกัดอายุของผู้บริหารสหกรณ์ ระบบการตรวจบัญชีสหกรณ์
- การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาสหกรณ์ มาให้องค์กรของสหกรณ์ต่างๆ เป็นผู้ดำเนินการตามความจำเป็นและตามเป้าหมายในการดำเนินการ แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ที่การตัดสินใจของกรมส่งเสริมสหกรณ์
- การสนับสนุนให้สหกรณ์ขนาดเล็กและสหกรณ์ที่มีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการสามารถเข้าถึงกองทุนพัฒนาสหกรณ์ได้ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนของรัฐให้มากขึ้น
- การพัฒนาระบบบัญชีสหกรณ์และนักบัญชีสหกรณ์ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ สามารถปิดงบการเงินประจำปีได้ตามช่วงเวลาที่ควรจะเป็น โดยไม่ต้องถูกจำกัดอยู่ที่การตรวจบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เท่านั้น
- การออกแบบระบบการตรวจสอบ และการกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ ให้มีความเหมาะสมกับกลไกการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ มิใช่การนำเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์มาใช้โดยตรง แต่ระบบการตรวจสอบของสหกรณ์ก็ต้องมีคุณภาพเพียงพอในการสร้างความโปร่งใสและความพร้อมรับผิดขององค์กร พร้อมทั้งพิทักษ์ผลประโยชน์ของสมาชิกด้วย
- การสนับสนุนให้มีองค์กรของสหกรณ์ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมต่อภาครัฐ เช่นเดียวกับสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าไทย
ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกลและ Think Forward Center ได้นำเสนอบทบาทของสหกรณ์ในการพัฒนาการเกษตรและการลดความเหลื่อมล้ำในชนบท ในนโยบายการเกษตร ที่พรรคก้าวไกลได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยพรรคก้าวไกลจะเสนอแนวทาง “หนึ่งท้องถิ่น หนึ่งสหกรณ์คุณภาพ” โดยในรัฐบาลก้าวไกล สหกรณ์คุณภาพ จะมีบทบาทที่สำคัญ ดังนี้
- การลดต้นทุนสำหรับเกษตรกร ผ่านโครงการซื้อ 1 แถม 1 ปุ๋ยสั่งตัด โครงการสูบน้ำเพื่อการเกษตรด้วยระบบโซลาร์เซลล์ การจัดตั้งบริการรับจ้างมืออาชีพที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (เช่น AI IoT โดรน) โดยรัฐบาลก้าวไกลสนับสนุนงบประมาณสำหรับสหกรณ์ในระยะดำเนินการ
- การตลาดสำหรับสินค้าเกษตร เช่น การรวบรวม การรับและส่งสินค้าสำหรับตลาดภายในท้องถิ่น เช่น โรงเรียน/โรงพยาบาลในพื้นที่ โดยรัฐบาลก้าวไกลเพิ่มงบประมาณการจัดซื้อสินค้าเกษตร/อาหารจากภายในท้องถิ่น และรัฐบาลก้าวไกลจะสนับสนุนให้สหกรณ์ใช้แอพพลิเคชันในการกระจายสินค้าร่วมกับบริษัทจัดส่งสินค้าต่างๆ โดยจะสนับสนุนทั้งทางเทคโนโลยีดิจิทัล ทางการลงทุน และการเจรจาต่อรองกับบริษัทจัดสินค้าและคู่ค้าต่างๆ
- การแปรรูปสินค้าเกษตรกร โดยรัฐบาลก้าวไกลจะกระจายงบประมาณในการแปรรูปสินค้าเกษตรไปสู่ท้องถิ่นแต่ละจังหวัด เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร และสนับสนุนให้สหกรณ์มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมผลผลิตที่จะนำไปใช้ในการแปรรูปแบบฉุกเฉิน เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรนั้นๆ
นอกเหนือจากการพัฒนาการเกษตรและชนบท ขบวนการสหกรณ์ยังมีความสำคัญอย่างมากในนโยบายอื่นๆ เช่น
- นโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบ้านตั้งตัว ของพรรคก้าวไกล (ช่วยผ่อนบ้าน 2,500 บาท/เดือน สำหรับบ้านที่มีราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท)
- การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถเมล์ไฟฟ้าในจังหวัดต่างๆ ให้ครบทุกจังหวัดภาย 7 ปี และ
- การแก้ไขปัญหาหนี้สิน ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ของข้าราชการและสมาชิกสหกรณ์ และการปรับลำดับการตัดชำระหนี้ ให้มีความเป็นธรรม (ลูกหนี้ที่ชำระหนี้จะต้องได้รับการตัดลดเงินต้น) เพื่อให้สมาชิกของสหกรณ์ที่เป็นผู้กู้สามารถมีเงินที่ใช้ในการดำรงชีพได้อย่างเพียงพอและมีศักดิ์ศรี
- การแก้ไขหนี้นอกระบบสำหรับประชาชนผ่านสหกรณ์เช่น สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกล และ Think Forward Center พร้อมสนับสนุนและพร้อมเดินเคียงข้างขบวนการสหกรณ์ เพื่อร่วมกันสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เท่าเทียม และมีภราดรภาพ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยให้จงได้