แน่นอนว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญขณะนี้คือ “หนี้ครัวเรือน” และเวลาเราพูดถึงหนี้ครัวเรือน สิ่งหนึ่งที่เรามักจะมองควบคู่กันเสมอก็คือ “การออม” ในการประชุมวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็กล่าวในการปาฐกถาว่า “มีเพียง 22% ของคนไทยที่มีเงินออมในระดับที่เพียงพอ และเพียง 16% ที่มีการออมเพื่อการเกษียณอายุ” และภาวะออมน้อย และหนี้สูงก็มักถูกผูกรวมกันเป็นภาวะการ “มองสั้น” หรือการไม่ได้วางแผนถึงอนาคตของคนไทย
บทความนี้ จะมาพูดคุยเรื่องการออมของคนไทย เพื่อตอบคำถามว่าคนไทยมองสั้นจริงหรือไม่? คนไทยออมไม่พอจริงหรือไม่? อะไรเป็นอุปสรรคในการออมของคนไทย? และเราจะฝ่าข้ามอุปสรรคเหล่านั้นได้อย่างไร
คนไทยมองสั้นจริงหรือไม่?
จากการสำรวจ“ทักษะทางการเงิน” ของคนไทย เมื่อปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสำรวจ ความรู้ พฤติกรรม และทัศนคติ ของคนไทยในการบริหารจัดการเงินในชีวิตประจำวัน พบว่า คนไทยมีพัฒนาการของระดับทักษะทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 71.4% ดีขึ้นกว่าปี 2563 ที่ 67.4% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 60.5%
จากการสำรวจต่อเนื่องในช่วง 6 ปีหลัง (ตั้งแต่ปี 2559) คนไทยมีความรู้ทางการเงินดีขึ้นต่อเนื่อง โดยภาพรวมคนไทยมีความเข้าใจเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อ และความเสี่ยงและผลตอบแทนมากที่สุด
ขณะเดียวกัน คนไทยมีทัศนคติทางการเงินแย่ลงเล็กน้อย โดยคนตอบเห็นด้วยมากขึ้นกับคำถามในหัวข้อ “มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ ไม่คิดวางแผนสำหรับอนาคต” และ “มีความสุขในการใช้เงินมากกว่าเก็บออม” สะท้อนให้เห็นว่า คนที่ไม่ได้วางแผนและเก็บออมเพื่ออนาคตมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ค่าคะแนนทัศนคติทางการเงินของคนไทย (76.8 คะแนน) ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD (59.2 คะแนน)
นอกจากนั้น การสำรวจดังกล่าวยังพบว่า สัดส่วนคนไทยที่เก็บออมในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 87.5% คือมีการออมสูง แม้ว่าจะผ่านช่วงวิกฤตโควิด-19 มา สัดส่วนคนไทยที่มีการออมก็ลดลงเพียง 2.7% จากในปี 2563
โดยสรุป คนไทยไม่ออม หรือคนไทยไม่มีความณ้เรื่องการออม ก็คงไม่จริงไม่ได้
ปัญหาคือ การออมไม่พอ
เมื่อเจาะลงไปถึง การออมของไทยที่เผื่อไว้ในยามฉุกเฉินก็พบว่า ร้อยละ 71.7 ของคนไทยมีการออเงินเผื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน และเมื่อถามลึกลงไปอีกว่า ระยะเวลาที่สามารถนำเงินออมมาใช้ดำรงชีพเมื่อต้องหยุดทำงาน (หรือเราอาจจะเรียกว่า “กันชนทางการเงิน”) ได้สักกี่เดือน? จุดนี้ที่จะเป็นปัญหาของการออมเงินของคนไทย เพราะการสำรวจพบว่า ระยะเวลาที่ครัวเรือนสามารถนำเงินออมมาใช้ดำรงชีพได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป มีไม่ถึง 1 ใน 4 ของครัวเรือนทั้งสิ้นหรือคิดเป็นร้อยละ 22.2 เท่านั้น (ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยใช้กล่าวในงานสัมมนา)
ถ้าเราลองเรียงลำดับ จากกันชนทางการเงินน้อยไปมากเราจะพบว่า
- ร้อยละ 4.6 ดำรงชีพได้ 1 สัปดาห์เท่านั้น
- ร้อยละ 14.4 อยู่ได้อย่างน้อย 1 สัปดาห์แต่ไม่ถึง 1 เดือน
- ร้อยละ 19.4 อยู่ได้อย่างน้อย 1 เดือนแต่ไม่ถึง 3 เดือน
- ร้อยละ 13.4 อยู่ได้อย่างน้อย 3 เดือน แต่ไม่ถึง 6 เดือน
แน่นอนว่า ครัวเรือนเกือบร้อยละ 60 นี้ ย่อมมีความเสี่ยงทางการเงิน นี่ยังไม่นับรวมครัวเรือนร้อยละ 26 ที่ไม่ทราบหรือไม่แน่ใจว่าตนเองมีเงินออมเพียงพอสำหรับการดำรงชีพหากต้องหยุดทำงานอยู่เท่าไร?
ในแง่การวางแผนการเก็บออมไว้สำหรับยามชรา/เกษียณอายุ พบว่า ร้อยละ 72 ของครัวเรือนไทยมีการวางแผนการออมสำหรับยามเกษียณอายุเอาไว้ แต่พบว่า
- ร้อยละ 20.0 คิด/วางแผนแล้ว แต่ยังไม่เริ่มทำ
- ร้อยละ 46.7 คิด/วางแผนแล้ว เริ่มทำแล้ว แต่ยังทำไม่ได้ตามแผนที่วางไว้/ตั้งใจไว้
- มีเพียงร้อยละ 14.4 เท่านั้นที่คิด/วางแผน และทำได้ตามแผนที่วางไว้
กล่าวโดยย่อ คนไทยมีการเก็บออม เพียงแต่เก็บออมได้น้อย เพียงพอที่จะนำมาใช้ได้ในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น และยังไม่สามารถดำเนินการตามแผนการเงินของตนในระยะยาวได้
แล้วทำไมคนไทยออมเงินได้น้อย?
ถ้าเรามองรายได้และรายจ่ายของครัวเรือนไทยแต่ละกลุ่ม (ทั้งสิ้น 10 กลุ่ม กลุ่มละ 10% ของครัวเรือนทั้งหมด) จากกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด (ซ้ายมือสุด) ไปจนถึงกลุ่มที่มีรายได้มากที่สุด (ขวามือสุด) เราจะเห็นได้ว่า ครัวเรือนไทย 5 กลุ่ม ซึ่งก็คือร้อยละ 50 มีเงินที่สามารถออมได้ (คือรายได้มากกว่ารายจ่าย) ไม่ถึง 1,000 บาท/คน/เดือน
ในทางตรงกันข้าม ครัวเรือนกลุ่มที่รวยที่สุด 10% ของประเทศ กลุ่มนี้มีเงินออมเหลือถึง 14,175 บาท/คน/เดือน
ถ้าเราลองเปรียบเทียบเงินออม เดือนละ 1,000 บาท กับเดือนละ 14,000 บาท ไปตลอดระยะเวลา 20 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 เราจะพบว่า ครัวเรือน 50% ที่มีเงินออม (น้อยกว่า) 1,000 บาท/เดือน จะมีเงินออมสะสมมากที่สุดประมาณ 297,400 บาท (เมื่อครบ 20 ปี) ในขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้มากที่สุดและออมเดือนละ 14,000 บาทจะพบว่า 4,163,600 บาท
ซึ่งถ้านำเงินออมดังกล่าวเปรียบค่าใช้จ่ายของครัวเรือน 50% ของคนไทย ที่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 บาท/เดือน ก็จะพบว่า หากผู้ที่มีเงินออมเกือบ 300,000 บาท ก็จะรองรับค่าใช้จ่าย 5,000 บาท/เดือน ได้ประมาณ 60 เดือน (หรือ 5 ปี) ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ที่มีเงินออก 4.16 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 20,000 บาท/เดือน ก็จะรองรับค่าใช้จ่ายได้ 208 เดือน (หรือประมาณ 17 ปี)
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้โดยสรุปว่า สาเหตุสำคัญที่คนไทยมีเงินออมน้อยก็คือ คนไทยมีรายได้น้อย (เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย) นั่นเอง
ทางเลือกในการออมและการลงทุนก็จำกัดเช่นกัน
นอกจาก ปริมาณเงินออมแต่ละเดือนที่มีจำกัดแล้ว วิธีการเก็บออมของคนไทยก็มีจำกัดเช่นกัน เพราะจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถึงวิธีการเก็บออมที่ครัวเรือนเลือกใช้ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า
- มีครัวเรือนเก็บเป็นเงินสดสูงสุดถึงร้อยละ 75.0
- รองลงมาคือ เก็บเงินในบัญชีที่เปิดไว้เพื่อออมเงินโดยเฉพาะ ร้อยละ 54.5
- ฝากเงินในสหกรณ์และกลุ่มออมทรัพย์ต่าง ๆ ร้อยละ 14.4
- ให้คนในครอบครัวเก็บแทน ร้อยละ 12.1
- เก็บออมในรูปแบบอื่น ๆ (เช่น ซื้อที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์เพื่อการเก็งกำไร) ร้อยละ 3.4
- ลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (เช่น พันธบัตรหุ้น กองทุนรวม) ร้อยละ 2.5
- นำไปลงทุนในเงินดิจิทัล (เช่น Bitcoin, Ethereum และ Libra) ร้อยละ 0.5
ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขข้างต้นพบว่า ครัวเรือนมีการออมในรูปแบบของการลงทุนเพียงไม่ถึง 10% เท่านั้น ส่วนใหญ่จะเก็บในรูปของบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งมีผลตอบแทนน้อยกว่า และจะส่งผลต่อเงินออมที่เราจะได้รับด้วย
เช่น ถ้าหากเราคำนวณเงินออมของครัวเรือน 50% ที่มีเงินออม (น้อยกว่า) 1,000 บาท/เดือน ตลอดระยะเวลา 20 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี แต่ะครัวเรือนจะมีเงินออม 266,870 บาท แต่ถ้าสามารถเพิ่มอัตราผลตอบแทน (หรืออัตราดอกเบี้ย) ได้เป็น 4% ต่อปี เงินออมของแต่ละครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 371,630.42 บาท หรือเท่ากับรองรับค่าใช้จ่าย 5,000 บาท/เดือน ได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 21 เดือน หรือเกือบ 2 ปี
แนวนโยบายช่วยคนไทยออมเงิน
แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะเพิ่มเงินออมของคนไทยได้อย่างไร?
- แน่นอนว่า การเพิ่มรายได้ของคนไทยจึงสำคัญมาก ซึ่งต้องดำเนินการผ่านนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การกระจายรายได้สู่ภูมิภาคต่างๆ การสร้างงานสำหรับอนาคต
- ตามมาด้วยการลดค่าใช้จ่ายของคนไทย แล้วนำมาออมแทน ผ่าน
- การลดรายจ่ายที่เกินสมควร (แต่บางครั้งไม่มีทางเลือก) เช่น การเปลี่ยนดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ เป็นในระบบ
- ระบบสวัสดิการต่างๆ เช่น ขนส่งสาธารณะ น้ำประปาดื่มได้
- การลงทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือน
- การจูงใจให้มีการออมผ่านระบบสวัสดิการสังคม เช่น
- การที่รัฐจะร่วมสมทบออมเพิ่มขึ้นสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผ่านกองทุนประกันสังคม (เช่นในมาตรา 40) หรือกองทุนการออมแห่งชาติ
- การตั้งข้อกำหนดกองทุนบำนาญผู้สูงอายุ ที่จะมีทั้งการเพิ่มบำนาญ (หรือเบี้ยยังชีพ) ผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า โดยมีเงื่อนไขหรือมีแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมออมสมทบตั้งแต่ในวัยทำงาน
- การมีองค์กรที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของครัวเรือน อาจเป็นกิจการเพื่อสังคม ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เช่น กลุ่ม Nuburo wealth-being เพื่อช่วยให้คำแนะนำทั้งในเรื่องการออม การลงทุน และการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่เผชิญด้วย
- เพิ่มแรงจูงใจในการออมในรูปแบบต่างๆ เช่น การมีบ้านที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งถือเป็นการออมเงินในระยะยาว หรือกองทุนธนาคารต้นไม้ ซึ่งก็ถือเป็นการออมเงินในระยะยาว และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงด้วย
เอกสารอ้างอิง
ธนาคารแห่งประเทศไทย, มปพ. ผลสำรวจทักษะการเงินของคนไทย 2565. https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-67-2/2567-info-financial-skill.html
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. สถิติด้านความยากจนและการกระจายรายได้ https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=3518&filename=PageSocial
สำนักงานสถิติแห่งชาติ.สรุปผลที่สำคัญ การสำรวจติดตามระดับความรู้ และการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือน พ.ศ. 2565 https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/survey_detail/2023/20231115075919_49757.pdf
*หมายเหตุ ดัดแปลงจากบทสัมภาษณ์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร เนื่องในวันการออมแห่งชาติ 31 ตุลาคม 2567 คลิปวิดีโอสามารถรับชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=hP9-xiVEQTw&t=529s