การศึกษาไทยในยุค (ไม่) วิจัย และ (ไม่) พัฒนา

โดย เดชรัต สุขกำเนิด

In Focus

  • ในปี 2562 งบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษาเท่ากับ 3,420.5 ล้านบาท ก่อนที่จะลดลงเป็น 779.0 ล้านบาท ในปี 2563, 260.4 ล้านบาท ในปี 2564 และล่าสุดถูกปรับลดจนเหลือเพียง 193.4 ล้านบาท หรือลดลงไปถึง 94% หากเทียบกับงบประมาณปี 2562
  • หากเทียบเป็นสัดส่วนจะพบว่า ในทุกๆ 1,000,000 บาทของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด เราจะแบ่งงบมาทำการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษาเพียง 423 บาทเท่านั้น
  • การตัดลดงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษา สวนทางกับทิศทางการศึกษาไทย ที่กำลังจะมีการเริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ หรือการสร้างพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ใน 6 จังหวัด ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้การวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง




การตัดลดงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาทางการศึกษา กำลังพาการศึกษาไทยให้ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงและวังวนของการใช้ความคิด/ความเชื่อ/แนวปฏิบัติเดิมๆ ของผู้มีอำนาจในระบบการศึกษา โดยปราศจากการใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงมารองรับ และยังทำให้ระบบการศึกษาไทยขาดนวัตกรรมและประดิษฐกรรมใหม่ๆ ที่จะพาการศึกษาไทยให้ทันโลก

เป็นที่ทราบกันพอสมควรแล้วว่า งบประมาณสำหรับการศึกษาของไทยได้ถูกปรับลดมาอย่างต่อเนื่องหลายปีติดต่อกันแล้ว ในปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาของไทย 510,427 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2565 ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2565 รัฐบาลได้จัดสรรงบเพื่อการศึกษาเพียง 456,240 ล้านบาท

หนึ่งในงบประมาณด้านการศึกษาที่ถูกตัดลดลงไปมากที่สุดคือ งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาการศึกษาที่ถูกปรับลดลงไปจากที่ได้เคยได้รับ 260.4 ล้านบาทในปี 2564 เหลือเพียง 193.4 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 (ใช้ตัวเลขจากเอกสารการจำแนกงบประมาณตามกิจกรรม ในรายงานงบประมาณโดยสังเขปของสำนักงบประมาณ)

บทความนี้จะมาขยายความว่า งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาการศึกษานี้สำคัญอย่างไร และถูกตัดลดลงไปมากน้อยเพียงใด


การวิจัยและพัฒนาทางการศึกษาคืออะไร? 

ศ. ศิริชัย กาญจนวาสี (2559) ได้อธิบายเรื่องการวิจัยและพัฒนาทางการศึกษาไว้ว่า การวิจัยและพัฒนาทางการศึกษาเป็นวิธีวิทยาการวิจัยแบบหนึ่งที่ประยุกต์หลักการวิจัยและพัฒนา (R&D) มาใช้ทางการศึกษา เพื่อสร้างนวัตกรรมหรือประดิษฐกรรมทางการศึกษา ที่สามารถเผยแพร่ และนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาไทย ทั้งระบบการบริหารจัดการศึกษา หลักสูตรและการสอน การจัดกิจกรรมและการเรียนรู้ สื่อการสอนและเทคโนโลยีการศึกษา และ การวัดและประเมินผลการศึกษา

เขายังให้ความเห็นด้วยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ลงทุนทางด้านการศึกษาเยอะมาก แต่ลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาทางการศึกษาน้อยมาก ทั้งๆ ที่ การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาทางการศึกษาจะช่วยสร้างนวัตกรรมและประดิษฐกรรมทางการศึกษาอย่างรอบด้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลิตภาพของครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริงและทั่วถึงกัน

เช่นเดียวกับ รศ. ดร.ชัยยุทธ (2564) ที่ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การศึกษาไทยมีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูง แต่ถือว่าเพียงพอกับสถานะเศรษฐกิจของประเทศ แต่ 75% เป็นงบสำหรับจ้างครูอาจารย์ การจัดการเรียนการสอน และการจัดสรรเพื่อลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง เช่น ตำราเรียน เครื่องแบบ และอุปกรณ์การเรียน จึงเหลืองบสำหรับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและการเรียนการสอนน้อย 

ข้อมูลจากระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (หรือ National Education Account) ระบุว่า ในปี 2562 ประเทศไทยจัดสรรงบประมาณสำหรับ

(ก) พัฒนาการเรียนการสอน หลักสูตรและสื่อ เพียง 1.72% 

(ข) การส่งเสริมวิจัยและพัฒนา เพียง 1.09%

(ค) การพัฒนาครู เพียง 0.44% ของงบประมาณด้านการศึกษาทั้งหมด (รวมทั้งงบประมาณภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคครัวเรือน)

งบเพื่อวิจัยและพัฒนาทางการศึกษาถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง 

แม้ว่าคำทักท้วงว่า ระบบการศึกษาของไทยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษาน้อยเกินไป แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารงบประมาณตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปีงบประมาณ 2565 กลับพบว่า งบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษากลับลดน้อยลงไปอีก 

โดยในปี 2562 งบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษาเท่ากับ 3,420.5 ล้านบาท ก่อนที่จะลดลงเป็น 779.0 ล้านบาท ในปี 2563, 260.4 ล้านบาท ในปี 2564 และล่าสุดถูกปรับลดจนเหลือเพียง 193.4 ล้านบาท ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2565

นั่นแปลว่า หากเทียบกับเมื่อปี 2562 งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษาที่ได้รับในปี 2565 เทียบเท่ากับร้อยละ 6 ของที่เคยได้รับในปี 2562 หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ งบประมาณดังกล่าวถูกตัดไปมากกว่า 90% ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

หรือหากจะเทียบกับงบประมาณด้านการศึกษาทั้งหมด เราก็จะพบว่า สัดส่วนของงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาทางการศึกษาคิดเป็น 0.04% ของงบประมาณด้านการศึกษาทั้งหมด หรือกล่าวง่ายๆก็คือ ในทุกๆ 1,000,000 บาทของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด เราจะแบ่งงบมาทำการวิจัยและพัฒนาเพียง 423 บาทเท่านั้น

ในทุกๆ 1,000,000 บาทของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด เราจะแบ่งงบมาทำการวิจัยและพัฒนาเพียง 423 บาทเท่านั้น

ความจำเป็นเร่งด่วนของการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษา 

การตัดลดงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาทางการศึกษาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นับเป็นการสวนทางอย่างยิ่งกับทิศทางการศึกษาไทยที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เช่น การเริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในปี 2565 หรือการสร้างพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ใน 6 จังหวัด (หรือ sandbox) ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้การวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่การออกแบบ การนำไปใช้ ไปจนถึงการติดตาม การประเมินผล และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของครู นักเรียน สื่อและพื้นที่การเรียนรู้ ตัวหลักสูตรฐานสมรรถนะเอง และระบบการบริหารการศึกษาในภาพรวมด้วย 

การตัดลดงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาทางการศึกษาจนแทบจะไม่มีเหลือ กำลังพาการศึกษาไทยให้ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงและวังวนของการใช้ความคิด/ความเชื่อ/แนวปฏิบัติเดิมๆ ของผู้มีอำนาจในระบบการศึกษา (บางครั้งก็เป็นความเชื่อและประสบการณ์ส่วนตัวของผู้นั้น) โดยปราศจากการใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงมารองรับ และยังทำให้ระบบการศึกษาไทยขาดนวัตกรรมและประดิษฐกรรมใหม่ๆ ที่จะพาการศึกษาไทยให้ทันโลก

Think Forward Center เห็นว่า การเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาทางการศึกษานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาไทย โดยจะต้องมีการออกแบบกระบวนการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษา ให้ทุกภาคส่วนในสังคมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกระบวนการวิจัยและพัฒนาอย่างเหมาะสม และนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของผู้เรียนและผู้สอนอย่างแท้จริง รวมถึงเร่งสร้างนวัตกรรมและประดิษฐกรรมที่เปี่ยมคุณค่าในการเรียนรู้ และมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ในโลกยุคเศรษฐกิจฐานความรู้/การเรียนรู้ต่อไป

หมายเหตุ

เพื่อนบางท่านแจ้งว่า งบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาบางส่วนได้ย้ายไปอยู่ในการบริหารงานของ สกสว. ซึ่งอาจมิได้จำแนกไว้ในหมวดนี้ ซึ่งต้องรอการชี้แจงจาก สกสว. ต่อไป

รายละเอียดเพิ่มเติมดูใน 

สำนักงบประมาณ, 2564. งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ 2565. 

ศิริชัย กาญจนวาสี, 2559. “การวิจัยและพัฒนาการศึกษาไทย” ใน วารสารศิลปากรศึกษาศาสตร์วิจัย ปีที่ 8 ฉบับที่ 2

THAIPUBLICA, 2564. งบการศึกษา 8 แสนล้าน (ตอน 1) : รายจ่ายสูง ตกหล่น-ใช้เงินไม่ตรงจุด,

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า