หนึ่งเทอมผ่านไป Learning Loss ของเด็กไทย ได้รับการฟื้นฟูแล้วหรือยัง

เดชรัต สุขกำเนิด


ช่วงนี้ ผมมีโอกาสพูดคุยกับคุณครูหลายท่าน เกี่ยวกับ Learning Loss ของเด็กไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และผมอยากรู้ว่า เมื่อสถานการณ์โควิด-19 กำลังจะผ่านพ้นไป และห้องเรียนได้กลับมาทำหน้าที่ของมันจนครบหนึ่งภาคการศึกษา (หรือเกือบครบ) แล้ว สถานการณ์ Learning Loss ของเด็กไทยเป็นอย่างบ้าง ดีขึ้นมากน้อยเพียงใด และมีสิ่งใดที่เราควรดำเนินการต่อ

ผมจึงได้คุณครูหลายท่านไปว่า “เมื่อคุณครูสอนไปเกือบหนึ่งเทอมแล้ว คุณครูเห็นปัญหา Learning Loss อย่างไรบ้างครับผม? แง่มุมและความคิดของครูแตกต่างไปจากตอนเริ่มเปิดเทอมนี้หรือไม่? อย่างไร? และคุณครูคิดว่าเราควรทำอย่างไรต่อไป?” และผมได้รับคำตอบที่น่าสนใจหลายประการ ที่อยากจะมาแบ่งปันให้ฟัง 

ผมขอแบ่งปันคำตอบที่ผมได้รับ และจัดกลุ่มคำตอบ ออกเป็น 6 ประการด้วยกันคือ


หนึ่ง Learning Loss ไม่ใช่มีเพียงการถดถอยทางความรู้/ทักษะวิชาการ แต่เพียงอย่างเดียว

ครูหนึ่งได้อ้างอิงถึง UNESCO ว่า Learning Loss จะแบ่งใหญ่ออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน คือ

  • ด้านความรู้/ทักษะวิชาการ ซึ่งครูหนึ่งบอกว่า จะพบมากในระดับมัธยมฯ ครูกั๊กเคยเล่าให้ผมฟังว่า ช่วงเปิดเทอมมาใหม่ๆ ทักษะการแก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนถดถอยลงไปมาก เนื้อหาที่นักเรียนชั้น ม.3 ควรได้เรียนใน ม.1 และ ม.2 (2 ปีการศึกษาช่วงโควิด-19) นักเรียน ม.3 เกือบจำไม่ได้เลย เป็นต้น ขณะเดียวกัน ครูเก๋สะท้อนว่า ในช่วงต้นเทอม ทักษะการเขียน และทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนมัธยมปลายมีการถดถอยลงอย่างชัดเจน เช่นกัน 
  • ด้านสังคม ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการเข้าสังคม มีเพื่อน ทำงานร่วมกัน ซึ่งเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในช่วงโควิด-19 ครูหยกพบว่า เด็กอนุบาลได้รับผลกระทบในด้านการสื่อสาร การเรียงลำดับคำสลับกัน และการไม่สามารถสื่อสารความต้องการของตนได้ ส่วนเด็กโตก็ได้รับผลกระทบในลักษณะของการขาดโอกาสในการทำกิจกรรมร่วมกัน ครูหนึ่งเล่าว่า เพราะฉะนั้น พอบางโรงเรียนเปิดให้มีกิจกรรมกีฬาสี นักเรียนจึงคึกคักกันมาก
  • ด้านอารมณ์ ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการจัดการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ การควบคุมอารมณ์ของตนเอง การกำกับ/ควบคุมพฤติกรรมและการเรียนรู้ของตนเอง การมีสมาธิในการเรียนรู้ ไปจนถึงการตระหนักในคุณค่าของตนเอง ซึ่งประเด็นนี้ อาจเกี่ยวพันกับความถดถอยด้านสังคม และยังอาจเกี่ยวพันกับพฤติกรรมการเรียนรู้และการดูแลทางสังคม ครูหยกเล่าให้ฟังว่า น้องๆ ป.3 จะมีความรับผิดชอบลดน้อยลงกว่าเดิม (แทบจะไม่ได้มาโรงเรียนในช่วง 2 ปี) และมีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมที่ทำได้ไม่นานนัก ในขณะที่ครูเก๋บอกว่า น้องๆ มัธยมปลายจะมีปัญหาการขาดความมั่นใจ การขาดแรงขับในตัวเอง ครูกั๊กเล่าให้ฟังว่า เมื่อน้อง ม.ปลาย เรียนในวิชาคณิตศาสตร์ไม่ทัน น้องๆ บางคนเริ่มมีทัศนคติว่า “หรือว่าตนเองโง่เกินไป?” ซึ่งคุณครูต้องรีบช่วยแก้ไขและลดทัศนคติและความรู้สึกดังกล่าว

นอกจากนี้ ครูสุประดิษฐ์ ครูเอกภพ และครูกั๊กยังได้พูดถึงปัญหาการติดโทรศัพท์มือถือของนักเรียนมากขึ้นกว่าก่อนช่วงโควิด-19 ซึ่งน่าจะเป็นผลข้างเคียงมาจากการใช้โทรศัพท์มือถือและโซเชียลมีเดียอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ครูมะพร้าวได้พูดถึง ปัญหาที่เด็กเล็กทำตามคลิปที่เห็นใน Tik Tok โดยอาจไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของท่าทางต่างๆ

อย่างไรก็ดี การใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมากขึ้นก็มีข้อดีที่ครูทิวและครูกั๊กเห็นว่า นักเรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความเป็นไปได้ของโลก ทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคมมากขึ้นกว่าก่อนโควิด-19 มาก และมีทัศนคติที่อยากจะเข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาการถดถอยของการเรียนรู้จะต้องไม่คำนึงเฉพาะมิติใดมิติหนึ่งเป็นหลักเพียงด้านเดียว


สอง Learning Loss หรือการถดถอยของการเรียนรู้จะแตกต่างกันไปตามช่วงวัย ตามวิชา/ทักษะแต่ละด้าน และตามสไตล์การเรียนรู้ของเด็กๆ แต่ละคน

เวลาเรากล่าวถึง การถดถอยของการเรียนรู้ เราจะพบว่า การถดถอยของการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน จะไม่เหมือนกัน โดยปัจจัยที่ทำให้แตกต่างกันอาจจำแนกเป็น 3 ปัจจัยสำคัญ คือ

  • ความแตกต่างตามช่วงวัย ครูหนึ่ง ได้เล่าให้ผมฟังแบบย่อๆ ว่า ความแตกต่างตามช่วงวัยที่พอสังเกตได้โดยทั่วไปคือ เด็กเล็กจะมีการถดถอยในด้านสังคมและอารมณ์ (ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว) เด็กโต (เช่นมัธยม) จะมีการถดถอยทางด้านเนื้อหาวิชาการ และด้านสังคม อย่างไรก็ดี ครูหนึ่งย้ำว่า จริงๆ แล้ว เด็กๆ แต่ละคน แม้จะอยู่ในวัยเดียวกันก็มีความถดถอยที่ไม่เหมือนกัน (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป)
  • ความแตกต่างตามเนื้อหาวิชา/ทักษะที่ต่างกัน เท่าที่ผมได้มีโอกาสคุยกับครูหลายท่าน จะพบว่า เนื้อหาแต่ละวิชา หรือแม้กระทั่งแต่ละเรื่อง จะประสบปัญหาการถดถอยของการเรียนรู้ที่แตกต่างกันอยู่มากพอสมควร โดยวิชาและประเด็นที่ต้องอาศัยการฝึกฝนเฉพาะเช่น คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ ก็อาจจะประสบปัญหามากกว่า แม้กระทั่งในวิชาเดียวกัน การถดถอยของการเรียนรู้ของแต่ละบทเรียนก็อาจจะแตกต่างกันอีกด้วย ตัวอย่างเช่น วิชาคณิตศาสตร์ ครูกั๊กเคยเล่าให้ฟังในช่วงต้นเทอมว่า บทเรียนเรื่อง “การแยกตัวประกอบ” ในชั้นมัธยม จะมีภาวะถดถอยของทักษะในการแก้โจทย์อย่างชัดเจน หรือครูแสน ก็สะท้อนว่า น้องๆ ป.5 ก็จะลืมเนื้อหาในส่วนบทเรียนเรื่อง เศษส่วนและทศนิยม เป็นต้น ซึ่งการถดถอยในการเรียนรู้ในเนื้อหาสำคัญที่ยกตัวอย่างมานี้ก็จะกระทบกับการเรียนเนื้อหาอื่นๆ ในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป
  • ความแตกต่างตามสไตล์การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน ครูกั๊ก ได้เสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า การถดถอยของการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับสไตล์การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน (เช่น บางคนเรียนออนไลน์ได้ดี บางคนไม่ชอบเรียนออนไลน์) และขณะเดียวกัน ครูกั๊กบอกว่า การฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กๆ แต่ละคนหลังจากกลับมาเข้าห้องเรียน ก็ยังแตกต่างกันไปตามสไตล์การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนด้วย ซึ่งหากครูไม่เข้าใจสิ่งนี้ จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนในชั้นเรียนเดียวกัน มีความแตกต่างหรือเหลื่อมล้ำกันมากยิ่งขึ้น

ในประเด็นการแตกต่างตามสไตล์การเรียนรู้นั้นยังพบว่า เด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งชอบวิธีการเรียนแบบออนไลน์ และการจัดการเวลาของตนเอง ทำให้มีนักเรียนส่วนหนึ่งหันไปเรียนในแนวทางของการศึกษานอกระบบมากขึ้น แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายไปแล้วก็ตาม (ทั้งนี้ ไม่นับรวมถึง การเลือกเรียนนอกระบบด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจของครอบครัว อันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19)


สาม การประเมินการถดถอยการเรียนรู้ และสไตล์การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน แบบละเอียดจึงสำคัญมากๆ

ครูหนึ่งย้ำว่า ในขณะที่การประเมินการถดถอยการเรียนรู้มักจะเป็นการประเมินตามแบบฟอร์มกลาง เพื่อนำไปสู่การประเมินผลในภาพรวม แต่ครูหนึ่งมองว่า ในหน้างานจริงนั้น การประเมินการถดถอยของการเรียนรู้จำเป็นต้องมีการประเมินที่ลงลึกไปถึงเนื้อหาวิชาแต่ละวิชา ของแต่ละระดับชั้น และของเด็กแต่ละคนด้วย ซึ่งการประเมินการถดถอยของการเรียนรู้ที่ละเอียดเช่นนี้ อาจมีครูบางท่าน/โรงเรียนบางโรงเรียนได้เริ่มดำเนินการแล้ว และนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดี (จะเล่าต่อไป) แต่โดยส่วนใหญ่ ยังไม่ได้ดำเนินการ

ขณะเดียวกัน ครูกั๊ก ได้ประยุกต์ใช้ VARK model ในการประเมินสไตล์การเรียรู้ของนักเรียนในชั้น แล้วนำมาจัดรูปแบบการเรียนรู้เพิ่มเติมที่เหมาะสมสำหรับนักเรียนแต่ละคน เช่น (ก) V=Visual ชอบตัวอย่าง/ขั้นตอน/สาธิต (ข) A=Auditory ชอบฟังครูอธิบาย/แนะนำแบบช้าๆ ชัดๆ (ค) R=Read/Write ชอบอ่าน ชอบดูเอกสารประกอบการเรียน และ (ง) K=Kinesthetic ชอบทำแบบฝึกหัด/บททดสอบซ้ำๆ กันหลายครั้ง ซึ่งครูกั๊กก็ได้นำผลการประเมินนั้นมาออกแบบทั้งในส่วนของการสอนในชั้นเรียน และการสอนเสริม/กิจกรรมเสริม สำหรับแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ ครูกั๊กยังบอกว่า น่าจะนำการประเมินแบบ VARK Model มาใช้ตั้งนานแล้ว

ประเด็นนี้ ครูหนึ่งได้เสริมว่า เป็นไปได้ว่า learning loss หรือการถดถอยของการเรียนรู้ อาจเกิดขึ้นมาก่อนหน้าโควิด-19 แล้ว เพราะรูปแบบการเรียนสอนในปัจจุบัน ไม่ค่อยสอดคล้องกับสไตล์การเรียนรู้ของผู้เรียนยุคใหม่มาตั้งนานแล้ว โควิด-19 เพียงแต่มาทำให้ภาวะถดถอยปรากฎชัดเจนมากขึ้นเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ การประเมินการถดถอยของการเรียนรู้ และสไตล์การเรียนรู้รายบุคคล ควรใช้เพื่อการปรับปรุง/ฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนเท่านั้น จะต้องไม่ปะปนหรือถูกใช้ในการประเมินผลของผู้บริหารโรงเรียนหรือครูแต่ละคน

นอกจากนี้ เมื่อมีการประเมินการถดถอยของการเรียนรู้ และสไตล์การเรียนรู้รายบุคคล การเติมเครื่องมือหรือกระบวนการในการฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนให้กับคุณครู ในแต่ละวิชา ในแต่ละเรื่อง และแต่ละสไตล์การเรียนรู้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน มิฉะนั้น การประเมินการเรียนรู้จะไม่มีคุณประโยชน์ในการฟื้นฟู้การเรียนรู้ของนักเรียนแต่อย่างใด


สี่ การออกแบบการฟื้นฟูการเรียนรู้ จำเป็นจะต้องดำเนินการทั้งสามมิติ (ความรู้ สังคม และอารมณ์) ให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละช่วงอายุ และแต่ละสไตล์การเรียนรู้ (รวมถึงตามผลการประเมินการถดถอยของการเรียนรู้)

ครูหนึ่งสะท้อนว่า ในโรงเรียน แผนการฟื้นฟูในโรงเรียนส่วนใหญ่ยังมีลักษณะ (ก) เน้นมิติด้านเนื้อหา มากกว่าด้านสังคม และอารมณ์ (ข) นิยมเพิ่มกิจกรรมเป็นชั้นเรียนมากกว่าการเพิ่มกิจกรรมรายบุคคล แม้ว่า ภาวการณ์ถดถอยของการเรียนรู้จะแตกต่างกันในนักเรียนแต่ละคน ทั้งนี้ การเพิ่มเนื้อหา เข้าไปในรูปแบบที่นักเรียนคนนั้นๆ ไม่ถนัด อาจจะเป็นผลร้ายหรือเป็นการถดถอยของการเรียนรู้ในวิชานั้นในระยะยาวก็เป็นได้

ครูหนึ่งเล่าให้ฟังว่า บางโรงเรียน ได้จัดรูปแบบของการเรียนรู้ โดยแยกระดับของการเรียนรู้ในเนื้อหานั้นๆ ไม่ใช่แยกตามห้องเรียน ซึ่งครูหนึ่งเห็นว่า น่าจะช่วยแก้ปัญหาให้กับนักเรียนแต่ละคนได้ตรงจุดมากขึ้น ส่วนครูกั๊กใช้วิธีการเสริมกระบวนการเรียนรู้ตามสไตล์การเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน (ใน VARK model) ซึ่งทำให้การฟื้นฟูการเรียนรู้สอดคล้องกับสไตล์หรือแนวทางของเด็กแต่ละคนมากกว่า

สำหรับการฟื้นฟูทางด้านสังคมนั้น ครูหยกและครูแสนพยายามเพิ่มกิจกรรมในชั้นเรียน ซึ่งจำเป็นมากๆ สำหรับชั้นอนุบาล และชั้นประถม ส่วนในระดับมัธยม คุณครูหลายท่านก็บอกว่า โรงเรียนก็พยายามเพิ่มกิจกรรมในโรงเรียนขึ้นเช่นกัน เพียงแต่รูปแบบกิจกรรมยังอาจจะจำกัดอยู่ในกิจกรรมเดิมที่เคยทำ เช่น กีฬาสี ซึ่งอาจจะทำได้ไม่บ่อย และอาจยังไม่ตอบโจทย์สำหรับนักเรียนบางกลุ่ม 

สำหรับการฟื้นฟูด้านอารมณ์นับว่า เป็นมิติที่มีแนวทางการฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ชัดเจนน้อยที่สุด เพราะเป็นมิติที่มีความซับซ้อน ตั้งแต่การประเมินภาวะถดถอยเชิงอารมณ์ ความแตกต่างในภาวะของอารมณ์ของนักเรียนแต่ละคน และรูปแบบการจัดกระบวนการฟื้นฟูการเรียนรู้ด้านอารมณ์ของนักเรียน

ครูเก๋เสนอว่า บทบาทของครูในการประเมินภาวะถดถอยในมิติเชิงอารมณ์สำคัญมากๆ เพราะคุณครูเป็นผู้พบปะกับนักเรียนโดยตรง โดยเฉพาะการป้องกันภาวะท้อหรือซึมเศร้า เพียงแต่ศักยภาพและกระบวนการฟื้นฟูที่คุณครูจะใช้ในการฟื้นฟูทางอารมณ์ก็ยังมีข้อจำกัดในหลายๆ กรณีเช่นกัน ซึ่งครูหนึ่งเสนอว่า โรงเรียนน่าจะต้องให้การสนับสนุนเพิ่มเติมศักยภาพของคุณครู และกิจกรรมอื่นๆ ในโรงเรียน

เช่นเดียวกับครูกั๊กที่เสนอว่า การสนับสนุนกิจกรรมชมรมของนักเรียนอย่างจริงจัง และให้นักเรียนสามารถเลือกได้ด้วยตนเอง และสามารถปรับเปลี่ยนได้ แม้ในระหว่างภาคการศึกษา ก็น่าจะช่วยฟื้นฟูมิติการเรียนรู้ทางสังคมและมิติการเรียนรู้ทางอารมณ์ได้ด้วย

อย่างไรก็ดี คุณครูหลายท่านก็ได้สะท้อนว่า อุปสรรคที่สำคัญมากในการออกแบบกิจกรรมฟื้นฟูการเรียนรู้ คือเนื้อหาตามหลักสูตรที่ค่อนข้างแน่น และรูปแบบการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ณ ปลายทาง (ปลายปีการศึกษา หรือการข้ามช่วงชั้น) ซึ่งยังเป็นแบบเดิม และคุณครูก็มีความกังวลใจว่า หากปรับรูปแบบการสอนเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน ก็อาจจะสอนได้ไม่ครบถ้วนตามที่หลักสูตรกำหนด หรือมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ไม่ดีเท่าที่ควร

ประเด็นเรื่องความแข็งตัวของหลักสูตรและการประเมินผลจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ครูสุประดิษฐ์เล่าให้ฟังว่า ผู้บริหารโรงเรียนในระดับประถมศึกษาของตนระบุไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ต้นปีการศึกษาว่า สำหรับนักเรียนประถมศึกษาให้เน้นการฟื้นฟูทักษะทางสังคมและทางอารมณ์ก่อน และให้ปรับเนื้อหาและรูปการเรียนการสอนไปตามความพร้อมของนักเรียน อย่างไรก็ดี ครูในระดับมัธยมศึกษาจะมีความกังวล การปรับลด/สอนย้อนเนื้อหาเดิมที่นักเรียนลืมไป (ในช่วงโควิด-19) ก็อาจจะทำให้สอนไม่ทัน และเป็นผลกระทบในการศึกษาต่อของนักเรียนได้

ห้า การฟื้นตัวของการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ (เมื่อเปิดเทอมมาแล้วหนึ่งในภาค หรือในภาคการศึกษาหน้า) แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอยไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ผมได้ลองสอบถามคุณครูทุกท่านแล้วว่า คุณครูเห็นว่า เมื่อเปิดเทอมมาแล้วหนึ่งในภาค และต่อเนื่องไปยังภาคการศึกษาหน้า คุณครูก็มองเห็นการฟื้นตัวของการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะครูและนักเรียนก็ค่อยๆ ปรับตัว และฟื้นฟูการเรียนรู้ของตนตามสถานการณ์ เพียงแต่ว่า การดำเนินการตามธรรมชาติก็คงจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอยไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 

เพราะฉะนั้น ครูหนึ่ง ครูเก๋ ครูแสน ครูกั๊ก และครูหยก จึงย้ำตรงกันว่า ความพยายามของโรงเรียน คุณครู ในการฟื้นฟูการเรียนรู้ในเทอมหน้าจึงยังสำคัญมากๆ และครูหนึ่ง ครูแสน และครูเก๋ ก็ย้ำว่า ถ้าไม่ฟื้นฟูให้ลุล่วง/ดีขึ้น ก็จะส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในระยะยาว รวมถึงทักษะพื้นฐานที่ไม่ใช้เนื้อหาวิชาเช่น การอ่าน/การเขียน การคิด/วิเคราะห์ การสื่อสาร/การนำเสนอ ก็จำเป็นต้องฟื้นฟูให้ดีขึ้นเช่นกัน มิฉะนั้น จะส่งผลต่อการเรียนรู้ หรือการทำงานของนักเรียนในระยะยาว

ครูหยกเล่าให้ฟังว่า สำหรับเด็กอนุบาลและประถมศึกษา คุณครูพยายามมีกิจกรรมง่ายๆ เช่น การอ่านเรื่องสั้นๆ ที่ให้ทางครอบครัวช่วยเสริมและช่วยฟื้นฟูกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน 

ครูกั๊กเห็นว่า แนวทางหนึ่งที่ช่วยให้คุณครูสามารถปรับตัวและช่วยเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดีขึ้น ในสถานการณ์ที่นักเรียนแต่ละคนมีภาวะการถดถอยของการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน คือ กระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้ของคุณครู (หรือ PLC) เพียงแต่ว่า กระบวนการ PLC ที่ดำเนินการในหลายโรงเรียน เลือกสรรช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น คาบสุดท้ายของทุกวัน ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการปรึกษาหารือของคุณครู จึงไม่นำไปสู่การปรับปรุงการสอนมากนัก ในขณะที่โรงเรียนที่ใช้กระบวนการ PLC อย่างได้ผลจะให้เวลาที่เหมาะสมกับการหารือของคุณครู (2-3 ชั่วโมง ในวันใดวันหนึ่งของสัปดาห์ เช่นเป็นช่วงเวลาเดียวกับชมรมของนักเรียน) เช่นเดียวกับครูมะพร้าวที่เล่าให้ฟังการจัดเวิร์คช้อปกับคุณครูเรื่องเกี่ยวกับการฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนก็ได้รับการตอบรับที่ดี และคุณครูก็สามารถนำไปปรับใช้ในห้องเรียนได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี คุณครูหลายท่านก็ได้แสดงความเป็นห่วงว่า การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในช่วงภาคการศึกษาปลาย ไม่ว่าจะเป็นการประเมินของโรงเรียน หรือการประเมินของส่วนกลาง (หรือ O-NET) หรือการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับต่อไป ก็อาจจะส่งผลกระทบทางลบ ต่อ (ก) ความเร่งรีบและการมุ่งเน้นเนื้อหาตามหลักสูตร มากกว่าการฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียน (ข) การกดดันเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาลงมาที่คุณครูและนักเรียน ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดความเครียดในการศึกษา และ (ค) การขาดความชัดเจนในเส้นทางอนาคต การขาดความมั่นใจและแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อของนักเรียน เมื่อบวกกับความกดดันที่กล่าวถึงข้างต้น ก็อาจทำให้อัตราการศึกษาต่อของนักเรียนลดลงได้


หก แนวทางที่ควรดำเนินการในช่วงต่อไป

เมื่อสอบถามกับคุณครูทุกท่านถึงแนวทางที่ควรจะดำเนินการต่อไป ซึ่งคุณครูหลายท่านก็ได้เสนอแนวทางที่น่าสนใจ ดังนี้

  • การประเมินภาวการณ์ถดถอยของการเรียนรู้ และสไตล์การเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน (ตามข้อที่สาม) จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เช่น ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนภาคการศึกษาหน้า (เทอมปลาย) เพื่อที่จะได้วางแผนฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละชั้น แต่ละคน ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
  • การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ของนักเรียน และป้องกันไม่ให้นักเรียนเกิดภาวะความไม่มั่นใจ ไม่ตระหนักในคุณค่าของตนเอง สับสนในเส้นทางชีวิตในอนาคต ซึ่งอาจจะนำไปสู่ภาวะความเครียด ความโดดเดี่ยว และความซึมเศร้าได้
  • การปรับรูปแบบการเรียนการสอนในภาคการศึกษาปลาย จะต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้ง (ก) ความยืดหยุ่นในแง่ของเนื้อหาและสื่อการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสไตล์การเรียนรู้ของนักเรียนของแต่ละคน (ข) การจัดกระบวนการเรียนรู้เสริมเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนแต่ละกลุ่ม/แต่ละราย
  • ปรับรูปแบบการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ ในปีการศึกษานี้ ให้มีความเปิดกว้างตามความถนัดและความสามารถของนักเรียนให้มากขึ้น (เท่าที่จะทำได้) และต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการสร้างความกดดันไปที่คุณครูหรือนักเรียน
  • ช่วงปิดภาคการศึกษาที่จะถึงนี้ (ตุลาคม 2565) ก็เป็นเวลาสำคัญในการฟื้นฟูการเรียนรู้เช่นกัน เพียงแต่จะต้องไม่ใช่เป็นการบังคับให้เข้าร่วม หรือการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบห้องเรียนแบบเดิมๆ และควรเน้นการฟื้นฟูการเรียนรู้ในด้านสังคม และด้านอารมณ์ เพราะฉะนั้น หากสามารถประสานกับแหล่งการเรียนรู้ที่มีในพื้นที่ เช่น พิพิธภัณฑ์ เทศกาล (เช่น เทศกาลวัยรุ่นโคราช) ก็จะช่วยเสริมการเรียนรู้ได้
  • การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ และแนวทางการปรับตัวของคุณครู เช่น กระบวนการ PLC เพื่อช่วยให้คุณครูสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น ทั้งในเชิงเวลาที่เหมาะสม และในเชิงการนำผลลัพธ์จากกระบวนการไปใช้ประโยชน์จริง
  • การเปิดกว้างรูปแบบการเรียนรู้สำหรับนักเรียน ทั้งในเชิง (ก) การจัดสายการเรียน/ชั้นเรียน (ข) การเสริมกิจกรรมที่นักเรียนได้เลือกเอง ให้สอดคล้องกับความสนใจ และเส้นทางการพัฒนาตนเอง (ค) การปรับปรุง/พัฒนาสื่อการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับความสนใจ และสไตล์การเรียนรู้ของนักเรียน ให้มากขึ้น 


สรุป

หลังจากการสนทนามาระยะหนึ่ง ครูหนึ่งได้ช่วยสรุปบทสนทนาในตอนท้าย เป็น 4 ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า

  • Learning Loss เป็นปัญหาระยะยาว และต้องได้รับการแก้ไขและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง
  • การมอง Learning Loss และการฟื้นฟูต่างๆ จำเป็นต้องมองในระดับบุคคลมากขึ้น ไม่ใช่มองเป็นภาพรวมเท่านั้น เพราะภาวะปัญหามีความแตกต่างและมีความซับซ้อนตามแต่ละบุคคลอย่างชัดเจน
  • การพยายามแก้ไขปัญหา Learning Loss จะต้องพยายามให้มากขึ้น และไม่ใช้พยายามเพียงชดเชยการถดถอยที่ผ่านมาในช่วง 2 ปีเท่านั้น แต่จะต้องทำให้ดีกว่าเดิมหรือดีกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ด้วย หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ครูกั๊กพูดว่า เราอาจจะต้อง Learning Rest กันเลยทีเดียว
  • ความพยายามในการช่วยเหลือคุณครูหน้างานการฟื้นฟูการเรียนรู้ จะต้องไม่ทำเพียงการบอกทิศทาง หรือการให้รายงานผลการดำเนินงานเท่านั้น แต่ต้องมีการสนับสนุนทั้งแนวทาง/แนวปฏิบัติ และ/หรือเครื่องมือในการดำเนินงานที่หลากหลายมากพอ เพื่อให้คุณครูสามารถนำไป “เลือก/ปรับ” ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ตนเองเผชิญอยู่

ขอขอบคุณคุณครูผู้ให้ข้อมูลในการสรุปครั้งนี้

  • ครูทิว (ครูธนวรรธน์ สุวรรณปาล)
  • ครูกั๊ก (ครูร่มเกล้า ช้างน้อย)
  • ครูหนึ่ง (ครูธีรศักดิ์ จิระตราชู)
  • ครูเก๋ (ครูสุดารัตน์ ประกอบมัย)
  • ครูหยก (ครูธีรดา อุดมทรัพย์)
  • ครูแสน (ครูธีระวุฒิ ศรีมังคละ)
  • และคุณครูอีกหลายท่าน (ครูสุประดิษฐ์ ครูเอกภาพ ครูมะพร้าว ฯลฯ) ที่เข้าร่วมในการสนทนา “หนึ่งเทอมผ่านไป Learning Loss ของเด็กไทย ได้รับการฟื้นฟูแล้วหรือยัง” โดย Think Forward Center และครูขอสอน เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า