Thai Board Game Policy นโยบายเพื่อการพัฒนาบอร์ดเกมไทย

เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center


บอร์ดเกมเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่แทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตและวิถีการเรียนรู้ของคนยุคใหม่ในวงกว้าง ทั้งในฐานะของกิจกรรมสันทนาการ ในฐานะของสื่อในการเรียนการสอนยุคใหม่ และในฐานะของธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต


ปัจจุบัน สมาคมบอร์ดเกมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า ประเทศไทยเป็นตลาดบอร์ดเกมที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของเอเชีย และน่าจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ยิ่งไปกว่านั้น วงการบอร์ดเกมของไทยยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้อีกมาก แต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่หลายประการ ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน และทั้งในการขยายตลาดในประเทศ และการบุกตลาดต่างประเทศ

Think Forward Center จึงได้มีโอกาสสอบถามและพูดคุยกับคนในวงการบอร์ดเกม ในช่วงวันที่ 10-11 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ในงาน Thailand Indy Board Game Market 2022 โดยมีหัวข้อการรับฟังความคิดเห็นว่า “คุณคิดว่า… บอร์ดเกมไทยจะก้าวหน้า ถ้ารัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนในข้อใด” 

คำตอบที่ได้คือ 5 ประเด็นนโยบายที่สำคัญสำหรับวงการบอร์ดเกมไทยในปี 2566 และความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาแนวนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว

ที่มา: Facebook Page – Board Game Academy


1. การพัฒนาแหล่งเรียนรู้/พื้นที่สำหรับบอร์ดเกม

จุดเด่นสำคัญของบอร์ดเกม คือ การสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แบบพบปะหน้าตากัน ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกำลังเป็นทักษะที่มีความสำคัญ และขณะเดียวกัน ก็หายากมากขึ้นในสังคมดิจิทัล เพราะฉะนั้น การมีพื้นที่สำหรับการพบปะและสังสรรค์ทางความคิดผ่านบอร์ดเกมจึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับวงการบอร์ดเกม และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วย

Think Forward Center เห็นว่า การพัฒนาแหล่งและพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันในสังคมจึงมีความสำคัญมาก ขณะเดียวกัน ในเมืองใหญ่หลายเมืองของไทย ก็ยังมีพื้นที่จำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น (เช่นปล่อยทิ้งร้างไว้) เพียงแต่กลไกตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เอื้อมากพอที่จะทำให้มีการนำพื้นที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์เหล่านั้นมาสู่การเป็นพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์สำหรับวงการบอร์ดเกมได้

Think Forward Center จึงเสนอให้รัฐบาลมีกลไกในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์นำพื้นที่ที่ตนถือครองมาใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะ เช่น การให้ส่วนลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (หรือ Negative Land Tax) ที่มีอัตราส่วนลดมากพอ จนกลายเป็นกลไกที่รัฐบาล/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสนับสนุนงบประมาณ (ที่เรียกว่า Negative Land Tax) ให้กับเจ้าของพื้นที่เหล่านั้น เปิดให้ผู้ประกอบกิจการด้านบอร์ดเกมเข้ามาพัฒนาและใช้ประโยชน์สำหรับพื้นที่เหล่านั้น สำหรับการเป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกันในด้านบอร์ดเกมได้

นอกจากนี้ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นยังสามารถพัฒนาพื้นที่สาธารณะต่างๆ ที่มีอยู่ให้มาเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องบอร์ดเกมในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ เช่น ในวันเสาร์อาทิตย์ หรือในช่วยปิดภาคการศึกษา

ที่มา: teacheracademy.eu


2. การส่งเสริมการใช้บอร์ดเกมในการเรียนการสอน

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา วงการบอร์ดเกมไทยได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนการสอนและงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง การประกวดและการฝึกอบรมการออกแบบบอร์ดเกมที่ใช้เพื่อการเรียนรู้ต่างๆ มีจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ การประกันภัย ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ จนได้เกมที่ดีและมีคุณค่าสำหรับการเรียนรู้และการเรียนการสอนอย่างมาก จนกลายเป็นจุดที่โดดเด่นสำหรับวงการบอร์ดเกมไทยที่แตกต่างจากวงการบอร์ดเกมในอาเซียน และยังสามารถต่อยอดคุณค่าและมูลค่าของบอร์ดเกมไทยได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องยอมรับกันว่า ปัจจุบันยังมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อยสำหรับการนำบอร์ดเกมไปใช้ในการเรียนการสอนในวงกว้าง อุปสรรคดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ (ก) ประสบการณ์ของครู/อาจารย์จำนวนไม่น้อย ในการใช้บอร์ดเกมในการเรียนการสอน ซึ่งจำเป็นต้องมีการสรุปให้เชื่อมโยงเนื้อหาที่เรียนรู้กับประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย (ข) รูปแบบการจัดซื้อ/จัดเก็บ/การใช้ประโยชน์ของบอร์ดเกมสำหรับโรงเรียน เพราะอาจมีลักษณะที่แตกต่างไปจากการสั่งซื้อหนังสือ (ค) ช่วงเวลาของชั่วโมงเรียนที่สั้นเกินไป (เช่น 45-50 นาที) ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำหรับการใช้บอร์ดเกมในบางลักษณะที่ผู้เรียนต้องใช้เวลาในการขบคิดและทำงานร่วมกัน และ (ง) เวทีการต่อยอดการเรียนรู้ของผู้เรียนไปสู่ทักษะ/ขีดความสามารถขั้นสูงขึ้นอย่างเป็นระบบ เช่น การแข่งขันเกมที่พัฒนาทักษะด้านภาษา (คล้ายกับ crossword) ทักษะด้านการจัดการ หรือทักษะในด้านอื่นๆ 

เพราะฉะนั้น Think Forward Center จึงเสนอให้มี (ก) การเปิดการฝึกอบรมสำหรับคุณครู/อาจารย์ ให้คุณครู/อาจารย์สามารถเข้าร่วมการอบรมในการใช้/ออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้โดยสมัครใจ (และมีงบประมาณสนับสนุน) (ข) การจัดเวทีวิชาการในการนำเสนอผลงานบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ (คล้ายกับ Symposium) เพื่อให้คุณครู/อาจารย์/นักเรียน/สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างต่อเนื่อง และ (ค) การสนับสนุนให้โรงเรียน โดยความริเริ่มและการร่วมมือกันของนักเรียนและคุณครูตั้ง “ชมรมบอร์ดเกม” ในโรงเรียน เพื่อเป็นหน่วยจัดการในการเก็บรักษาและใช้ประโยชน์บอร์ดเกม ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขต่างๆ ของนักเรียนและโรงเรียน และสามารถเป็นหน่วยรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลได้ในอนาคต (จะกล่าวถึงในข้อต่อไป) 

นอกจากนี้ Think Forward Center เสนอให้สมาคมบอร์ดเกมแห่งประเทศไทยและหน่วยงานรับผิดชอบ (เช่น TK Park) พัฒนา (ก) รูปแบบการดำเนินธุรกิจบอร์ดเกมแบบใช้/เช่าหมุนเวียน เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะหมุนเวียนให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในช่วงเวลาอื่นๆ เพื่อลดข้อจำกัดในการลงทุนในการจัดซื้อบอร์ดเกมของโรงเรียนลง และ (ข) พัฒนารูปแบบการแข่งขันทักษะต่างๆ โดยใช้บอร์ดเกม เพื่อการต่อยอดการเรียนรู้ในทักษะนั้น (เช่น ภาษา การบริหารจัดการ) ในอนาคต รวมถึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาการออกแบบบอร์ดเกมของไทยในอนาคตด้วย

ที่มา: pdxmonthly.com


3. years การสนับสนุนงบประมาณให้เด็ก/เยาวชนได้เลือกซื้อบอร์ดเกม

ในโลกธุรกิจปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุปสงค์ หรือ Demand เป็นตัวเหนี่ยวนำให้ธุรกิจนั้นเกิดการพัฒนาต่อไป แต่ข้อจำกัดสำคัญสำหรับประเทศไทยก็คือ กำลังซื้อของเด็ก/เยาวชนไทยจำนวนมากมีจำกัด ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ปกครอง ทำให้การเติบโตของอุปสงค์บอร์ดเกมไทยจึงอยู่ในวงแคบ ซึ่งจะผลเสีย 2 ประการก็คือ (ก) การเติบโตของบอร์ดเกมไทยโดยภาพรวมก็จะช้ากว่าที่ควรจะเป็น และ (ข) การสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้บอร์ดเกมของเด็ก/เยาวชนไทยจำนวนมาก ดังนั้น จึงมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้เด็ก/เยาวชนได้เลือกซื้อบอร์ดเกม ในฐานะของการเรียนรู้เชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์รูปแบบหนึ่ง

Think Forward Center เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว และเห็นว่า รัฐบาลสามารถสนับสนุนงบประมาณให้กับเด็กและเยาวชนไทยได้ใน 2 ลักษณะด้วยกันคือ

หนึ่ง การสนับสนุนงบประมาณส่วนบุคคล ซึ่งพรรคก้าวไกลได้นำเสนอนโยบาย “คูปองเปิดโลก” ที่จะสนับสนุนงบประมาณในการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเด็ก/เยาวชนไทย ในอัตรา (ก) ระดับประถมศึกษา 1,000 บาท/ปี (ข) ระดับมัธยมศึกษา 1,500 บาท/ปี และระดับอุดมศึกษา/อาชีวศึกษา 2,000 บาท/ปี ซึ่งงบประมาณดังกล่าวสามารถนำมาใช้ในสำหรับการซื้อบอร์ดเกมได้โดยตรง เช่นเดียวกับการใช้เพื่อกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ตามความสนใจของเด็กและเยาวชนแต่ละคน

สอง การสนับสนุนงบประมาณสำหรับชมรมบอร์ดเกม นอกเหนือจากงบประมาณสำหรับส่วนบุคคลแล้ว Think Forward Center เห็นว่า บอร์ดเกมคือ รูปแบบหนึ่งของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เพราะฉะนั้น การสนับสนุนงบประมาณผ่านกลุ่ม/ชมรมที่จัดตั้งโดยเด็ก/เยาวชน ในระดับโรงเรียน/ท้องถิ่น/เมือง ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์มากเช่นกัน เพราะ (ก) บอร์ดเกมจำนวนหนึ่งอาจจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการซื้อสูงกว่าที่งบสนับสนุนส่วนบุคคลจะได้รับ การสนับสนุนแบบส่วนรวมจะช่วยให้สามารถจัดซื้อบอร์ดเกมลักษณะนี้ได้ง่ายขึ้น (ข) การจัดตั้งกลุ่ม/ชมรมยังมีส่วนช่วยหนุนเสริมการเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกมในลักษณะที่ลึกซึ้งและกว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น การต่อยอดไปสู่การเป็นนักออกแบบอร์ดเกมด้วยตนเอง และ (ค) กลุ่ม/ชมรมยังเป็นกลไกประสานงานที่ดีในการสนับสนุนให้โรงเรียน/คุณครูสามารถใช้บอร์ดเกมในการเรียนการสอนได้ (ตามหัวข้อที่ผ่านมาได้)

ที่มา: mahidol.ac.th


4. การส่งเสริมนักออกแบบบอร์ดเกมในเวทีนานาชาติ/เวทีโลก

ปัจจุบัน นักออกแบบบอร์ดเกมไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเวทีบอร์ดเกมโลก และบอร์ดเกมเอเชีย ล่าสุด นักออกแบบบอร์ดเกมไทย และสมาคมบอร์ดเกมแห่งประเทศไทยได้รับเชิญไปแสดงผลงานที่ประเทศสิงคโปร์ และได้รับความสนใจจากประเทศอื่นๆ ในวงกว้าง ด้วยแนวทางการออกแบบบอร์ดเกมที่สามารถเชื่อมโยงเนื้อหา/ปัญหาต่างๆ ในสังคมได้อย่างดี เช่น เกม Water Journey จำลองการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งน้ำมากไป-น้ำน้อยไป-น้ำเสีย ก็ได้รับความสนใจจากวงการบอร์ดเกมในเอเชียเป็นอย่างมาก

เพราะฉะนั้น Think Forward Center จึงเชื่อว่า วงการบอร์ดเกมไทยมีศักยภาพสูงมากในการขยายตลาดไปร่วมมือกับองค์กรต่างๆ และร่วมมือกับวงการบอร์ดเกมของประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยรัฐบาลควร (ก) ให้การสนับสนุนการเข้าร่วม/การจัดกิจกรรมนานาชาติของนักออกแบบบอร์ดเกมไทย โดยเฉพาะสำหรับการร่วมกับประเทศชั้นนำในเอเชียเช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น ในการบุกเบิกตลาดในแถบอาเซียน (ข) การสนับสนุนให้สมาคมบอร์ดเกมแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่จะรับผิดชอบในด้านนี้ (เช่น TK Park) ศึกษาแนวทางและประสบการณ์การพัฒนาบอร์ดเกมในประเทศที่เป็นผู้นำในด้านนี้ โดยเฉพาะไต้หวัน และ (ค) การวางแนวทางและตำแหน่งของการพัฒนาบอร์ดเกมไทยในเวทีโลก (และ/หรือเอเชีย) ในระยะยาว ซึ่งรวมถึง คำตอบเกี่ยวกับคอขวดในห่วงโซ่อุปทานการผลิตบอร์ดเกมของไทย (ที่จะกล่าวถึงในข้อต่อไป) ด้วย

ที่มา: hunterandbligh.com.au


5. การแก้ไขคอขวดในห่วงโซ่อุปทานการผลิตบอร์ดเกมของไทย

ห่วงโซ่อุปทานสำคัญของการผลิตบอร์ดเกมคือ อุตสาหกรรมการพิมพ์และอุปกรณ์ประกอบ ซึ่งแม้ว่า ธุรกิจการพิมพ์ของประเทศไทยจะมีพัฒนาการมาเป็นเวลานาน แต่เป็นไปเพื่อตอบโจทย์การผลิตหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่นๆ เป็นหลัก ทำให้การสต็อกสินค้า เช่น กระดาษสำหรับการ์ดบอร์ดเกมประเภทต่างๆ  และความชำนาญในการพับ/ตัด/ประกอบอุปกรณ์บอร์ดเกม จึงยังมีจำกัด ทำให้ปัจจุบัน บอร์ดเกมที่ออกแบบเกมในประเทศไทยจำนวนมากจึงจำเป็นต้องส่งไปผลิตในประเทศจีน ทำให้มีปัญหาในการประสานงาน และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานบอร์ดเกมของไทยในระยะยาว

อย่างไรก็ดี การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสำหรับการผลิตบอร์ดเกม โดยเฉพาะธุรกิจสิ่งพิมพ์ เป็นการดำเนินการที่ (ก) ต้องใช้ความละเอียดสูง (เพื่อให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการ) (ข) ต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงในวงการบอร์ดเกม และเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตบอร์ดเกม และ (ค) ต้องมีขนาดที่มากพอหรือใหญ่พอสำหรับการขยายและพัฒนาความร่วมมือระหว่างผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานในอนาคต 

เพราะฉะนั้น การดำเนินการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสำหรับการผลิตบอร์ดเกมจึงจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือระหว่าง (ก) สมาคมบอร์ดเกม (ข) ผู้ออกแบบและผู้จัดพิมพ์บอร์ดเกม (ค) ธุรกิจการพิมพ์ และ (ง) รัฐบาล หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ (ตามที่รัฐบาลมอบหมาย) เช่น TCDC หรือ TK Park โดยในระยะแรก อาจมุ่งเน้นสำหรับการผลิตบอร์ดเกมเพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนที่รัฐบาลหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุน เพื่อเป็นฐานให้มีขนาดที่มากพอสำหรับการขยายความร่วมมือในอนาคต ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรมีเงื่อนไขสนับสนุนทางการเงินสำหรับธุรกิจการพิมพ์ของไทยที่จะเข้ามาร่วมในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs เช่น การให้แต้มต่อในการประมูลงาน หรือการมีสินเชื่อเพื่อการสต็อกวัตถุดิบในการผลิตบอร์ดเกมในโครงการดังกล่าว การศึกษาดูงานธุรกิจสิ่งพิมพ์เพื่อการผลิตบอร์ดเกมในต่างประเทศ

นอกจากแนวนโยบายที่สรุปมาทั้ง 5 ข้อ แล้วยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอื่นๆ ที่น่าสนใจได้แก่

  • การปรับมุมมองสังคมต่อบอร์ดเกมเป็นหนึ่งในสื่อสร้างสรรค์ที่เสริมสร้างความคิดวิเคราะห์ ความสร้างสรรค์จินตนาการ อาจรวมไปถึงอุตสาหกรรมเกม ไม่มองเกมเป็นผู้ร้าย
  • การสร้างความเข้าใจว่า บอร์ดเกมช่วยสร้าง The Quality Time ให้เกิดขึ้นและ The Quality Time เป็นประตูสู่สัมพันธภาพและการเรียนรู้ในครอบครัว
  • การผลักดันให้เกิดอาชีพต่างๆ ในวงการบอร์ดเกม เช่น นักพากษ์ นักจัดงาน นักวิเคราะห์เกมเพื่อพัฒนาวงการ
  • การให้เสรีภาพ ไม่คุกคามนักออกแบบบอร์ดเกม
  • การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบอร์ดเกม ให้เทียบเท่ากับหนังสือ (ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม)


Think Forward Center เชื่อว่า ถ้าข้อเสนอเหล่านี้ ได้รับการต่อยอดและพัฒนาเป็นนโยบายจะมีส่วนสนับสนุนวงการบอร์ดเกมไทยอย่างแน่นอน

ขอขอบคุณ ผู้จัด Thailand Indy Board Game Market 2022 และสมาคมบอร์ดเกมแห่งประเทศไทย ที่เอื้อเฟื้อพื้นที่ในการพูดคุย

ตัวอย่างของบอร์ดเกมที่น่าสนใจในงาน Thailand Indy Board Game Market 2022


Organs Go! เกมแนวชีววิทยา จากการลงการ์ดอวัยวะภายในที่เชื่อมโยงกันเพื่อนับแต้ม ของ Boss Lab Board Game นำทีมโดย รัชกร เวชวรนันท์ หรือ คุณบอส โดยมีจุดเริ่มต้น จากการที่บอสหาข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนขณะเรียนต่อปริญญาโท ศึกษาศาสตร์ (สาขาวิทยาศาสตร์) จนกระทั่งพบกับรูปแบบ Game Based Learning และได้ลองเล่นบอร์ดเกมการศึกษามาใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียน ผลปรากฏว่าหลังเล่นเกม นักเรียนที่เคยไม่เข้าใจบทเรียนดังกล่าวก็เข้าใจบทเรียนนี้มากขึ้นผ่านการเล่นเกม ทำให้บอสตัดสินใจทดลองสร้างบอร์ดเกมการศึกษาใหม่ขึ้นมาชื่อ Organs Go! เพื่อนำมาใช้ควบคุมการเรียนการสอนเรื่องการทำงานของอวัยวะภายใน


1-2-3-4-5 I LOVE COUP เกมการเมืองวนลูปของประเทศกะลาแลนด์ ผลงานของ Vanta ในเกมผู้เล่นต้องแข่งการลงการ์ดเหตุการณ์การเมืองจากลำดับ 1.หาเสียง 2.เลือกตั้ง 3.จัดตั้งรัฐบาล 4.ลงถนน 5.ยึดอำนาจ แล้ววนกลับไปข้อ 1 ใหม่ (เหมือนประเทศบางประเทศ) อย่างไรก็ดีขณะที่ยังพายเรือประเทศเป็นวงกลมก็อาจจะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เปลี่ยนโมเมนตั้มเกมการเมือง ไม่ว่าจะต้องเปลี่ยนจากวนซ้ายมาวนขวา ลงการ์ดจากเลขมากไปเลขน้อย หรือแม้กระทั่งเขียนธรรมนูญใหม่กลางเกม!! ทำให้อยู่ดี ๆ ทุกคนก็ต้องทำอะไรประหลาด ๆ เช่น ปรบมือ 1 ครั้งเมื่อมีคนลงถนนเป็นต้น (ห่ะ!) โดยเกมการ์ดนี้ Board Game Academy เลือกใช้วิธีการผลิตแบบ Mass Order เพื่อรองรับความต้องการสำหรับกลุ่มคนที่สนใจเกมการ์ดการเมือง


3rd World Labour บอร์ดเกมเพื่อการทำความเข้าใจชีวิตแรงงานรายวัน ของ Lunar Gravity เป็นบอร์ดเกมที่ได้เกิดขึ้นจากการที่ทุกคนภายในทีม Lunar Gravity ได้รับโจทย์แบบเดียวกันว่า อยากได้เกมที่สื่อสารประเด็นความเปราะบางของแรงงานรายวัน โดยแต่ละคนต้องแยกย้ายไปหาข้อมูลมาเพื่อพัฒนาเกมของตนเอง โดยคุณภูมิ นักออกแบบเกม 3rd World Labour ได้รับแรงบันดาลใจจากเกมที่มีชื่อว่า “3rd World Farmer” ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของชาวนาในประเทศด้อยพัฒนา ก่อนจะปรับเนื้อหามาให้เป็นเรื่องราวของแรงงานรายวัน ผ่านการลงพื้นที่ไปพูดคุยสอบถามแรงงานรายวันจริงๆ เพื่อให้เข้าใจเงื่อนไขและอุปสรรคชีวิตต่างๆ ที่เขาต้องแบกรับในวันที่รัฐไม่มีสวัสดิการให้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า