เดชรัต สุขกำเนิด
เมื่อปี 2565 นนทบุรีขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในการจัดอันดับดัชนีความก้าวหน้าของคน โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (หรือสภาพัฒน์ฯ) แต่ในปี 2566 นนทบุรีกลับมาอยู่ที่อันดับที่ 7 ในการจัดอันดับดัชนีความก้าวหน้าของคน ซึ่งหนึ่งในมิติที่ทำให้ความก้าวหน้าของคนของนนทบุรีร่วงลงมานั้นคือ มิติด้านการศึกษา
หากย้อนไปในปี 2563 นนทบุรีเคยมีอันดับในมิติด้านการศึกษาของดัชนีความก้าวหน้าของคนอยู่ที่อันดับที่ 18 แต่พอมาปี 2564 ก็ร่วงลงมาเป็นอันดับที่ 38 และเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยในปี 2565 เป็นอันดับที่ 30 ก่อนที่จะร่วงลงมาเป็นอันดับที่ 56 ในปี 2566
ข้อมูลนี้อาจสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ติดตามเรื่อง การศึกษาและบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่น้อย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีมีความพิเศษกว่าอบจ. ที่อื่นๆประการหนึ่งคือการลงทุนในด้านการศึกษา งบประมาณด้านการศึกษาในปี 2565 เท่ากับ 1,311 ล้านบาทในปี 2566 เท่ากับ 1,308 ล้านบาทและในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 1,488 ล้านบาทหรือประมาณ 60% ของงบประมาณทั้งหมดของอบจ. จะเน้นมาที่การศึกษา
แต่ทำไมการลงทุนที่น่าชื่นชมดังกล่าวกลับยังไม่ให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น บทความฉบับนี้จะมาเจาะลึกถึงปัญหาของการศึกษาในจังหวัดนนทบุรีว่า ยังมีช่องโหว่หรือจุดบกพร่องอยู่ตรงไหนบ้างและจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร
เจาะลึกดัชนีความก้าวหน้าของคนด้านการศึกษา
ในดัชนีความก้าวหน้าของคนด้านการศึกษาในแต่ละจังหวัดเป็นการคำนวณมาจาก 4 ตัวชี้วัดสำคัญ ตัวชี้วัดแรกคือ จำนวนปีเฉลี่ยที่ได้รับการศึกษา ซึ่งคนในจังหวัดนนทบุรีได้รับการศึกษาโดยเฉลี่ยในระดับ 11.20 ปี หรือเกือบเทียบเท่าการศึกษาในระดับมัธยมปลาย ซึ่งจังหวัดนนทบุรีได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับหนึ่งในตัวชี้วัดนี้ตลอดมา
แต่ตัวชี้วัดที่น่าสนใจคือ อันดับผลการสอบ ONET ในระดับมัธยมปลายที่จังหวัดนนทบุรีมีอันดับลดลงเรื่อยๆ จากที่เคยมีคะแนนสอบโดยเฉลี่ยอยู่ในอันดับแปดของประเทศในปี 2563 ขยับมาเป็นอันดับ 9 ของประเทศในปี 2564 และหล่นลงมาเป็นอันดับที่ 17 ในปี 2565 และล่าสุดอยู่ในอันดับที่ 25 ในปี 2566 ซึ่งนั่นอาจมีนัยว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนนทบุรีอาจกำลังลดลงเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ในปี 2566 นนทบุรียังมีอันดับที่ไม่ค่อยดีนักในเรื่องอัตราการเรียนต่อมัธยมปลายและอาชีวศึกษา ที่นนทบุรีอยู่ในอันดับที่ 32 (ร่วงลงมาจากอันดับที่ 18 ในปี 2563) และตัวชี้วัดการพัฒนาการที่สมวัยของเด็กอายุ 0-5 ปี ที่นนทบุรีอยู่ในอันดับสุดท้ายของประเทศ
แน่นอนว่า การพิจารณาตัวชี้วัดเพียงสี่ตัวอาจไม่ใช่ภาพสะท้อนที่ดีที่สุด ของคุณภาพทางการศึกษาของจังหวัดนนทบุรี แต่ก็ช่วยทำให้เห็นว่ามีประเด็นบางด้านที่จำเป็นจะต้องศึกษาให้ลึกซึ้งลงไป ซึ่งในบทความนี้จะได้เจาะลึกใน 3 ประเด็นด้วยกันดังนี้
ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจากคะแนนสอบ ONET
หากพิจารณาจากผลคะแนนสอบโอเน็ตโดยเฉลี่ยของจังหวัดนนทบุรี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของทั้งประเทศ ในแต่ละระดับการศึกษา แล้วนำมาคำนวณเป็นค่าคะแนนมาตรฐาน (หรือค่า Z score) ซึ่งเป็นค่าที่นำคะแนนเฉลี่ยของจังหวัดนนทบุรีเปรียบเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของประเทศ โดยหากค่าคะแนนมาตรฐานของจังหวัดนนทบุรีมีค่ามากกว่าศูนย์ในวิชาใด แปลว่านนทบุรีมีผลการสอบในวิชานั้น (และในระดับชั้นนั้น) ดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ยิ่งค่าคะแนนมาตรฐานของจังหวัดนนทบุรีเพิ่มมากขึ้นก็แปลว่า นนทบุรีมีผลสอบที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศมากขึ้นไปอีก
จากภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่า คะแนนมาตรฐานการสอบโอเน็ตโดยเฉลี่ยของจังหวัดนนทบุรีมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะในวิชาภาษาอังกฤษ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือค่าคะแนนมาตรฐานการสอบโอเน็ตของจังหวัดนนทบุรีมีค่าลดลงเรื่อยๆ ในแทบทุกวิชาและในแทบทุกระดับชั้น และบางวิชาเริ่มต้นใกล้เคียงกับศูนย์ นั่นแปลว่าความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของจังหวัดนนทบุรีที่ต่างจากค่าเฉลี่ยของประเทศเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ หรือกล่าวโดยย่อก็คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของจังหวัดนนทบุรีมีแนวโน้มลดลง
ในรายละเอียดในรายวิชาอาจจะมุ่งเน้นว่าความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในรายวิชาคณิตศาสตร์ในทุกระดับชั้นดูจะมีความแตกต่างกันน้อยที่สุดและน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งจะมีความน่าเป็นห่วงในยุคที่ทักษะวิทยาการคำนวณ หรือการเรียน STEM กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในระบบเศรษฐกิจและสังคมโลก

ภาพที่ 1 ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่พิจารณาคะแนนมาตรฐานของผลสอบ ONET ของจังหวัดนนทบุรี ใน 4 รายวิชา และใน 3 ระดับชั้น
ความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ระหว่างโรงเรียน
ทั้งนี้ หากจะเจาะลึกลงมากขึ้น เราก็จะพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่สะท้อนจากคะแนนสอบ ONET มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ระหว่างโรงเรียนต่างๆในจังหวัดนนทบุรี โดยในภาพที่ 2 สะท้อนภาพผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่แตกต่างของโรงเรียนในสังกัดที่แตกต่างกันในแต่ละระดับชั้น โดยความแตกต่างเด่นชัดตั้งแต่ในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ค่าคะแนนเฉลี่ยในวิชาภาษาอังกฤษมีผลแตกต่างกันถึง 16 คะแนน ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ยังมีค่าคะแนนเฉลี่ยในวิชาภาษาไทยแตกต่างกันถึง 15 คะแนนเช่นกัน และโรงเรียนในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นโรงเรียนที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดในทุกวิชาและในทุกระดับการศึกษาภายในจังหวัดนนทบุรี

ภาพที่ 2 ความแตกต่างของผลสอบ ONET ของโรงเรียนในจังหวัดนนทบุรี ในแต่ละระดับชั้น จำแนกตามสังกัดของโรงเรียน
หรือหากจะเจาะลึกลงไปถึงค่าคะแนนในโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดเดียวกัน เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. นนทบุรี 1 และ 2 ก็จะเห็นว่าค่าคะแนนในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มีความแตกต่างกันสูงมากระหว่างโรงเรียนที่มีค่าคะแนนสูงสุดกับโรงเรียนที่มีค่าคะแนนต่ำสุดในบางวิชาแตกต่างกันประมาณ 20 คะแนน (ภาพที่ 3) ซึ่งนั่นสะท้อนภาพคุณภาพทางการศึกษาที่แตกต่างกันในแต่ละโรงเรียนของจังหวัดนนทบุรีเป็นอย่างดี และเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งหากจะยกระดับคุณภาพการศึกษาของจังหวัดนนทบุรีทั้งจังหวัดไปพร้อมๆ กัน

ภาพที่ 3 ความแตกต่างของผลสอบ ONET ในระดับชั้น ป.6 ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ ในจังหวัดนนทบุรี ระหว่างโรงเรียนที่ได้แนนต่ำสุดและสูงสุด
ภาวะโภชนาการของนักเรียนจังหวัดนนทบุรี
อีกเรื่องหนึ่งที่มีประเด็นปัญหาและความท้าทายให้สนใจศึกษาคือ ภาวะโภชนาการของนักเรียนในจังหวัดนนทบุรี โดยหากพิจารณาจากเด็กในช่วงอายุ 0-5 ปีจะพบว่า จังหวัดนนทบุรีมีอัตราเด็กที่มีความสูงดีสมส่วนอยู่ ร้อยละ 53.5 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ร้อยละ 57.7 และ หากพิจารณาจากเด็กอายุหกถึง 14 ปีก็จะพบว่าจังหวัดนนทบุรีมีเด็กสูงดีส่วนสมส่วนอยู่ร้อยละ 52.7 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 54.7 หรือแปลว่า ภาวะโภชนาการของเด็กนนทบุรียังอยู่ต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ
และหากพิจารณาถึงภาวะโภชนาการที่มีความเสี่ยงจะพบว่าเด็กจังหวัดนนทบุรีที่มีอายุ 6-14 ปี มีภาวะโภชนาการอยู่ในระดับผอมร้อยละ 6.22 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ร้อยละ 5.87 และมีภาวะโภชนาการอยู่ในระดับเริ่มอ้วนและอ้วนที่ ร้อยละ 16.86 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ระดับร้อยละ 13.41 แปลว่าจังหวัดนนทบุรีมีปัญหาทั้งในส่วนของภาวะผอม ภาวะอ้วนและเริ่มอ้วนมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
ยิ่งเราเจาะลงไปถึงในระดับรายอำเภอก็จะพบว่า อำเภอไทรน้อยเป็นอำเภอที่มีเด็กสูงดีสมส่วนน้อยที่สุดของจังหวัดนนทบุรีทั้งในระดับศูนย์ถึงห้าปีที่มีเด็กสูงดีสมส่วนร้อยละ 49.95 และในระดับหกถึง 14 ปีที่มีเด็กสูงดีสมส่วนร้อยละ 46.76 ซึ่งต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัดนนทบุรีและค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ โดยมีสัดส่วนเด็กผอมในช่วงอายุ 6-14 ปีถึงร้อยละ 7.95 ส่วนในอำเภอเมืองนนทบุรีมีสัดส่วนเด็ก อายุ 6-14 ปีที่เริ่มอ้วนและอ้วนมากที่สุดที่ร้อยละ 18.83 (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4 ภาวะโภชนการของเด็กอายุ 6-14 ปี ในจังหวัดนนทบุรี ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จำแนกตามสถานะความสูงเทียบกับน้ำหนักและตามรายอำเภอ
และถ้าเราเทียบไปจนถึงส่วนสูงของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงที่อายุห้าปีและ 12 ปี เราจะพบว่าในภาพรวมเด็กนนทบุรียังมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศทั้งสองระดับ แต่เราพบความแตกต่างในรายอำเภอระหว่างเด็กในอำเภอเมืองและอำเภอไทรน้อยที่มีความสูงแตกต่างกัน ในระดับประมาณ 5 เซนติเมตรในช่วงอายุ 5 ปี (ระหว่าง 110.23 เซนติเมตรกับ 105.09 เซนติเมตรในเด็กผู้หญิง และ 111.11 เซนติเมตรกับ 106.57 เซนติเมตรในเด็กผู้ชาย) ความแตกต่างได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8 เซนติเมตรในระดับอายุ 12 ปี (ระหว่าง 152.19 เซนติเมตรกับ 145.81 เซนติเมตรในเด็กผู้หญิง และ 153.85 เซนติเมตรกับ 145.00 เซนติเมตรในเด็กผู้ชาย)
ข้อมูลภาวะโภชนาการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การดูแลเรื่องอาหาร โภชนาการ การพักผ่อนและการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับสุขภาพของนักเรียนในจังหวัดนนทบุรีซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปจนถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้วย

ภาพที่ 5 ส่วนสูงโดยเฉลี่ยของเด็กอายุ 5 ปี และ 12 ปี ตามรายอำเภอ ในจังหวัดนนทบุรี
แหล่งเรียนรู้ในจังหวัดนนทบุรี
ประเด็นสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ จำนวนแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดนนทบุรี ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมพบว่าจำนวนพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดนนทบุรีมีอยู่ด้วยกัน 27 แห่งซึ่งนับเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศ โดยจังหวัดที่มีพิพิธภัณฑ์มากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร 247 แห่งรองลงมาคือเชียงใหม่ 118 แห่งนครปฐม 48 แห่ง เชียงราย 41 แห่ง อยุธยาและนครราชสีมา 34 แห่ง สุพรรณบุรี ลำปางและราชบุรี 30 แห่ง และชลบุรี 28 แห่ง
แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่สามารถที่จะนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง เพราะจำนวนประชากรในช่วงวัยเด็กและเยาวชนศูนย์ถึง 19 ปี อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละจังหวัดเราจึงได้ทำการเทียบสัดส่วนจำนวนประชากรอายุศูนย์ถึง 19 ปีในแต่ละจังหวัด กับจำนวนจำนวนพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดนั้นนั้นเพื่อให้ได้ตัวเลขสัดส่วนประชากรอายุศูนย์ถึง 19 ปีต่อจำนวนพิพิธภัณฑ์หนึ่งแห่ง ซึ่งมีนัยยะว่า หากจังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรต่อพิพิธภัณฑ์หนึ่งแห่งน้อย ย่อมแปลว่ามีจำนวนพิพิธภัณฑ์มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรวัยเด็กและเยาวชน ในทางตรงกันข้าม หากจังหวัดใดมีสัดส่วนจำนวนประชากร เด็กและเยาวชนต่อพิพิธภัณฑ์หนึ่งแห่งมาก ก็แปลว่า จังหวัดนั้นมีจำนวนพิพิธภัณฑ์ค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรเด็กและเยาวชนในจังหวัด
ผลการเปรียบเทียบพบว่าจังหวัดนนทบุรีมีสัดส่วนจำนวนประชากรเด็กและเยาวชนต่อพิพิธภัณฑ์หนึ่งแห่งอยู่ที่ 9,260 คนต่อแห่ง ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดใกล้เคียงเช่นกรุงเทพมหานครอยู่ที่ระดับ 4,285 คนต่อแห่ง หรืออยุธยาที่อยู่ในระดับ 1,543 คนต่อแห่ง หรือสุพรรณบุรีที่ระดับ 5,665 คนต่อแห่ง หรือนครปฐมที่ระดับ 6,626 คนต่อแห่ง (ภาพที่ 6) เพราะฉะนั้นจังหวัดนนทบุรีจึงควรที่จะลงทุนเพื่อเพิ่มพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ ในจังหวัดนนทบุรี เพื่อช่วยในการต่อยอดการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในจังหวัดนนทบุรี

ภาพที่ 6 สัดส่วนจำนวนประชากรวัยเด็กและเยาวชนอายุ 0-19 ปี เทียบต่อพิพิธภัณฑ์ 1 แห่งในจังหวัด ของจังหวัดนนทบุรี และบางจังหวัด รวมถึงเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ
แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตของนักเรียนนนทบุรี
เพื่อแก้ไขปัญหาหลักๆ ด้านการศึกษาทั้งสามด้าน ทีมผู้สมัครองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.) ของพรรคประชาชน จึงเสนอแนวทาง 3 ด้านคือ การแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการ การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงรายละเอียดในการดำเนินการทั้ง 3 เรื่อง ดังนี้
การแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการ
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.) สามารถมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการของเด็กในพื้นที่ได้โดยการดำเนินการในเชิงรุกทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การศึกษา และการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ โดยแนวทางที่อาจดำเนินการได้มีดังนี้:
- จัดทำนโยบายโภชนาการในโรงเรียนและชุมชน: ให้การสนับสนุนอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยให้ความสำคัญกับเด็กที่ขาดสารอาหารและเด็กที่มีน้ำหนักเกิน
- การจัดอบรมผู้ปกครองและครู: จัดกิจกรรมอบรมหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการและการดูแลสุขภาพเด็ก เช่น การเลือกวัตถุดิบที่มีประโยชน์ หรือการลดการบริโภคอาหารแปรรูป
- การตรวจสุขภาพและติดตามสถานการณ์ โดย
- ตรวจสุขภาพประจำปีของเด็ก: ตั้งโครงการตรวจสุขภาพเด็กในโรงเรียนเพื่อตรวจวัดภาวะน้ำหนัก ส่วนสูง และโภชนาการ รวมถึงให้คำแนะนำในการปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารระบบฐานข้อมูลด้านโภชนาการ
- สร้างฐานข้อมูลเด็กที่มีภาวะโภชนาการบกพร่องหรือเสี่ยง เพื่อติดตามความก้าวหน้าและออกแบบโครงการช่วยเหลือเฉพาะจุด
- การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกาย: สนับสนุนงบประมาณในการสร้างสนามเด็กเล่น สนามกีฬา หรือพื้นที่สีเขียวสำหรับเด็กและครอบครัว และโครงการกีฬาและการออกกำลังกายในชุมชน: เช่น การจัดกิจกรรมกีฬาสำหรับเด็ก
- การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพ: ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ เช่น การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อตรวจโภชนาการ และให้ความช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่มีปัญหาโภชนาการ
- การสนับสนุนการผลิตอาหารในท้องถิ่น โดย
- ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์: สนับสนุนการผลิตผักผลไม้ปลอดสารพิษในชุมชน และเชื่อมโยงกับโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน
- จัดตลาดชุมชนสำหรับอาหารเพื่อสุขภาพ: สนับสนุนการสร้างตลาดในพื้นที่ที่เน้นขายอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
- การรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ในชุมชน โดย
- จัดแคมเปญลดน้ำหนักและเสริมโภชนาการ: เช่น โครงการ “กินดี อยู่ดี เด็กไทรน้อยสูงใหญ่” เพื่อสร้างแรงจูงใจในชุมชน
- สร้างสื่อความรู้ด้านโภชนาการ: ผลิตสื่อ เช่น คู่มือ โปสเตอร์ หรือคลิปวิดีโอ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านโภชนาการในชุมชน
- สื่อสารผ่านช่องทางท้องถิ่น: ใช้สื่อท้องถิ่น เช่น วิทยุชุมชนและโซเชียลมีเดีย เพื่อรณรงค์เกี่ยวกับความสำคัญของโภชนาการ
การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของจังหวัดนนทบุรี
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.) ของพรรคประชาชนจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กนักเรียนในจังหวัด และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยดำเนินมาตรการในเชิงนโยบาย การสนับสนุนทรัพยากร และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยแนวทางที่อาจดำเนินการได้มีดังนี้:
- การเร่งสนับสนุนทรัพยากรและพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเมือง และมีผลสัมฤทธฺ์การศึกษาที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย :โดย
- สนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยี เช่น การจัดให้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและอุปกรณ์ดิจิทัล (แท็บเล็ต/คอมพิวเตอร์) และ
- สนับสนุนการปรับปรุง/พัฒนาห้องสมุด ห้องปฏิบัติการและจัดหาสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยให้โรงเรียน
- พัฒนาคุณภาพครู โดยการ
- เติมครูในพื้นที่หรือโรงเรียนหรือวิชาที่ขาดแคลน
- สนับสนุนให้ครูเลือกเข้าอบรมทักษะการสอนที่ทันสมัย เช่น การสอนแบบ Active Learning, การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสอนและการประเมินผลที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์
- มีระบบครูช่วยสอน (Co-Teacher) เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพทางการศึกษา
- ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จัดตั้งกองทุนการศึกษาและสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีฐานะยากจนเพื่อสนับสนุนการเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
- การสนับสนุนหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน โดยการ
- ส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เช่น การเขียนโปรแกรม, การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านโครงงาน (STEM), ทักษะอาชีพ และความรู้ที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน
- จัดทำสื่อการเรียนที่ทันสมัยที่สนุกและเข้าใจง่าย เช่น วิดีโอการเรียนรู้ หนังสือแบบฝึกหัด หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผลิตหรือจัดหาสื่อการเรียนการสอนส่งเสริมการใช้ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (E-Library) ที่นักเรียนสามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่
- การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างโรงเรียน: โดยการ
- จัดโครงการจับคู่โรงเรียน (School Partnership) ระหว่างโรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์สูงกับโรงเรียนที่ต้องการพัฒนา เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนและทรัพยากร
- ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกในการจัดทำโครงการพัฒนาการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เช่นเชิญวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยหรือภาคเอกชนมาร่วมจัดกิจกรรมในโรงเรียน
- การติดตามผลและประเมินผล โดยการ
- พัฒนาระบบฐานข้อมูลนักเรียน เช่น คะแนนสอบโอเน็ตและผลสัมฤทธิ์รายบุคคล เพื่อติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนในทุกพื้นที่
- จัดทำรายงานการศึกษาปัญหาและผลลัพธ์เชิงนโยบายเพื่อปรับปรุงแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดช่องว่างคะแนนระหว่างโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ลงให้ได้
การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดนนทบุรี
พรรคประชาชนเห็นว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.) สามารถส่งเสริมและพัฒนาแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในจังหวัดเพื่อสนับสนุนการศึกษานอกห้องเรียนและสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงองค์ความรู้ได้มากขึ้น โดยมีแนวทางดังนี้:
- สนับสนุนงบประมาณและทรัพยากร เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ใหม่ หรือปรับปรุงแหล่งเรียนรู้เดิมให้ทันสมัยและเหมาะสมกับทุกกลุ่มวัย และ/หรือจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่สนับสนุนการจัดแสดงและการเรียนรู้
- การแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมหรือชุมชน ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เช่น การสร้างแหล่งเรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยีจากภาคเอกชน หรือภูมิปัญญาของชุมชน
- พัฒนาเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ สร้างเครือข่ายระหว่างแหล่งเรียนรู้ เช่น เชื่อมโยงพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ และห้องสมุด เพื่อให้นักเรียนและประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวก
- จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ จัดกิจกรรมเวิร์กช็อป การจัดนิทรรศการ การแข่งขันกีฬา หรือกิจกรรมวันเปิดบ้านของแหล่งเรียนรู้ เพื่อดึงดูดความสนใจและเพิ่มการใช้งานพื้นที่ ตามเทศกาล วันหยุด หรือช่วงหยุดภาคการศึกษา
โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.) สามารถพัฒนาและสนับสนุนการสร้างแหล่งเรียนรู้หลากหลายประเภทให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในจังหวัด และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยตัวอย่างประเภทและแนวทางพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในระยะเวลา 4 ปี มี 7 ลักษณะดังนี้:
1) แหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น ศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะและสถาปัตยกรรมดั้งเดิม
ตัวอย่างพื้นที่และแนวทางพัฒนา:
- เกาะเกร็ด: จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาวมอญ การปั้นเครื่องปั้นดินเผา และการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และ สร้างเส้นทางการเรียนรู้ผ่านนิทรรศการกลางแจ้งที่เน้นการปฏิสัมพันธ์
- วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร: พัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา เช่น การจัดแสดงวัตถุโบราณ ภาพถ่ายเก่า และศิลปกรรมในอดีต
- วัดปรางค์หลวงและวัดอัมพวัน ย่านบางม่วง ซึ่งสามารถศึกษาประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองนนทบุรีและศิลปวัฒนธรรมในแต่ละช่วงยุคสมัย
2) แหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรและสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างพื้นที่และแนวทางพัฒนา:
- สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ นนทบุรี: สามารถ สร้าง “ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ที่มีนิทรรศการเรื่องระบบนิเวศ การจัดการขยะ และพลังงานทดแทน
- อำเภอไทรน้อย: สามารถพัฒนา “ศูนย์การเรียนรู้เกษตรกรรมสมัยใหม่” ที่รวมการสอนการปลูกพืชแนวตั้ง การทำเกษตรอินทรีย์ และการใช้เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม
- พื้นที่โรงเรียน: สามารถจัดตั้งห้องปฏิบัติการ STEM Lab หรือ Maker Space เพื่อให้นักเรียนได้ทดลองประดิษฐ์และทำโครงงานด้านวิทยาศาสตร์
3) แหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ศูนย์ศิลปะการแสดงและการสร้างสรรค์ แกลเลอรีหรือพื้นที่ศิลปะสำหรับเยาวชน
ตัวอย่างพื้นที่และแนวทางพัฒนา: ศาลากลางจังหวัดนนทบุรีเก่า: สามารถปรับปรุงให้เป็น “ศูนย์ศิลปะและหัตถกรรมท้องถิ่น” โดยจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยของเยาวชน และสาธิตงานหัตถกรรม พื้นที่ในห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าในจังหวัดนนทบุรี: จัดตั้ง “Creative Hub” ที่มีการจัดเวิร์กช็อปศิลปะสำหรับเด็กและเยาวชน เช่น การวาดภาพ ดนตรี และการแสดงละคร
4) แหล่งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจและทักษะอาชีพ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาทักษะอาชีพและพื้นที่เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ตัวอย่างพื้นที่และแนวทางพัฒนา:
- ตลาดน้ำไทรน้อย วัดไทรใหญ่: สามารถสร้าง “ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์และทักษะอาชีพ” ที่สอนทักษะด้านการเกษตร การแปรรูปอาหาร และการทำงานฝีมือ
- ตลาดน้ำวัดตะเคียน: จัดพื้นที่สำหรับสาธิตการทำอาหารพื้นบ้าน การขายสินค้าเกษตร และการทำงานฝีมือ
5. แหล่งเรียนรู้ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ศูนย์อนุรักษ์ธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวและเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
ตัวอย่างพื้นที่และแนวทางพัฒนา:
- พื้นที่คลองอ้อมนนท์: สามารถพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติริมคลองที่มีเนื้อหาสำหรับการเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศวัฒนธรรมชุมชนริมน้ำ
- พื้นที่สวนสาธารณะในเขตเมือง: สามารถสร้าง “สวนการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม” ที่มีนิทรรศการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ การจัดการพลังงาน และการปลูกต้นไม้
6. แหล่งเรียนรู้ด้านกีฬา เช่น สนามกีฬา ลานกีฬา หรือสนามประจำโรงเรียน
ตัวอย่างพื้นที่และแนวทางพัฒนา:
- ปรับปรุงและพัฒนาสนามกีฬาที่มีอยู่ รวมถึงขอความร่วมมือโรงเรียนในการให้บริการชุมชนในช่วงเวลาที่ไม่มีการเรียนการสอน
- ปรับปรุงพื้นที่ว่างเอกชนให้เป็นลานกีฬาและสนามกีฬาของชุมชน โดยจะลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูก
- จัดแข่งกีฬาและกิจกรรมต่างๆ เช่น ลีกฟุตบอล/ฟุตซอลภยในจังหวัด การแข่งวิ่งเทรลหรือพายเรือในพื้นที่คลองอ้อมและสวนผลไม้ที่มีอยู่
7. แหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชนและครอบครัว เช่น ห้องสมุดชุมชนหรือห้องสมุดดิจิทัล และศูนย์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมกิจกรรมสำหรับครอบครัว
ตัวอย่างพื้นที่และแนวทางพัฒนา:
- พื้นที่ใกล้โรงเรียนในเขตเมืองและชนบท: สร้าง “ห้องสมุดดิจิทัลสำหรับชุมชน” ที่ประชาชนทุกวัยสามารถใช้อินเทอร์เน็ต อ่านหนังสือออนไลน์ และเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัล
- พื้นที่สาธาณะทั่วไปสามารถพัฒนา “ศูนย์เรียนรู้ครอบครัว” ที่มีทั้งพื้นที่สำหรับการอ่านหนังสือ ห้องเล่านิทาน และพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว
ทั้งนี้ หาก อบจ. ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและบูรณาการกับทุกภาคส่วน จัดทำแผนแม่บทด้านแหล่งเรียนรู้ของจังหวัดนนทบุรี: เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้ครอบคลุมและต่อเนื่อง และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน: ผ่านการรับฟังความคิดเห็น และเปิดโอกาสให้เอกชนหรือชุมชนเข้ามามีบทบาทร่วมดำเนินการ จังหวัดนนทบุรีจะเป็นต้นแบบด้านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่ครบวงจรและตอบสนองต่อทุกกลุ่มเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน
สรุป
แม้ว่า อบจ. นนทบุรีจะมีการลงทุนในด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นตัวอย่างที่สำคัญของ อบจ. หลายจังหวัด แต่นนทบุรีเองยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาในด้านการศึกษา โดยเฉพาะผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่เริ่มถดถอยลง และมีความแตกต่างกันในด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียน ปัญหาทางด้านโภชนาการที่จะต้องเร่งแก้ไขในทุกกลุ่มช่วงอายุ และการเพิ่มแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน ครอบครัว และชุมชน ซึ่งหากดำเนินการได้ในทั้ง 3 ด้าน คุณภาพการศึกษาของจังหวัดนนทบุรีจะกลับมาดีขึ้นและโดดเด่นอีกครั้งหนึ่ง