เราจะรักษาระบบนิเวศวัฒนธรรม พื้นที่ชุ่มน้ำ “บางมด” ได้อย่างไร?

เดชรัต สุขกำเนิด

In Focus

  • แม้ว่าทุกวันนี้ บางมดจะไม่ได้เป็นแหล่งผลิตส้มในเชิงพาณิชย์แล้ว แต่สายน้ำ วิถีชีวิต ภารกิจทางนิเวศ และ เสน่ห์ของระบบนิเวศวัฒนธรรมในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ยังคงเหมือนเดิม
  • ที่ผ่านมาชุมชนย่านบางมด พยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำนี้ไว้ โดยมีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวตามลำคลองต่างๆ การรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชนสร้างสรรค์ต่างๆ การจัดทำพิพิธภัณฑ์คลองบางมด การจัดกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมมาโดยตลอด
  • แต่ปัจจุบัน คลองบางมดและคลองอื่นๆ ในพื้นที่กำลังได้รับการคุกคามจากการสร้างเขื่อนและถนนปิดกั้นทางน้ำ การสร้างกำแพงสูงของหมู่บ้านจัดสรรตามริมคลอง การสูญเสียพื้นดินและต้นไม้ตามชายคลอง และการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในคลองต่างๆ
  • Think Forward Center เสนอให้กรุงเทพมหานคร และรัฐบาลประกาศให้พื้นที่ชุ่มน้ำคองบางมดแห่งนี้ เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และดำเนินนโยบายต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างสอดประสานกัน ได้แก่
    • การสนับสนุนภาษีที่ย้อนกลับ (หรือ Negative Land Tax) เพื่อให้รัฐบาลสามารถจ่ายเงินสนับสนุนให้กับผู้ที่รักษาพื้นที่เหล่านั้นไว้ในระยะยาว  
    • การสนับสนุนระบบอาหารท้องถิ่นสำหรับโรงเรียนในอัตรา 9 บาท/วัน/นักเรียน 1 คน
    • การพัฒนาแหล่งพื้นที่เรียนรู้ ผ่านกองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ
    • แนวทางในการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคลองทั้งหมด เช่น การมีระยะถอยร่นจากแนวคลอง การมีกำแพงริมคลองเปิดโล่ง และระบบบำบัดน้ำของแต่ละโครงการ/ชุมชน
    • การทบทวนและกำหนดผังเมือง รวมถึงผังเฉพาะพื้นที่ ให้การพัฒนาในพื้นที่และการอนุรักษ์ในพื้นที่ไม่ขัดแย้งกัน 
    • การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อกัน ทั้งเส้นทางจักรยานและเส้นทางทางน้ำ รวมถึงเส้นทางวิ่งเทรลด้วย


ในอดีต เวลากล่าวถึง “บางมด” เราจะนึกถึงพื้นที่ผลิตส้มเขียวหวานชั้นนำของประเทศไทย แท้จริงแล้ว “บางมด” ไม่ได้เป็นเพียงแค่แหล่งผลิตส้ม แต่ยังเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำ” ที่มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และเป็นพื้นที่ที่มีระบบคูคลองที่เชื่อมโยงสายน้ำและผู้คนในชุมชนต่างๆ เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัว 



แม้ว่าทุกวันนี้ บางมดจะไม่ได้เป็นแหล่งผลิตส้มในเชิงพาณิชย์แล้ว แต่สายน้ำ วิถีชีวิต ภารกิจทางนิเวศ และเสน่ห์ของระบบนิเวศวัฒนธรรมในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ยังคงเหมือนเดิม 

จากการลงสำรวจพื้นที่ของ Think Forward Center เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 พบว่า แม้ว่าจะอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร แต่บรรยากาศโดยรวมในลำคลองต่างๆ ก็ยังรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ มีปลาและนกหลายชนิดให้ชมไปตลอดทาง สภาพน้ำยังอยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ (ยกเว้นบางจุดซึ่งจะกล่าวต่อไป) เราพบเห็นชาวบ้านยกยอและตกปลาตลอดเส้นทาง และยังพบเห็นร้านค้าริมน้ำ และแม่ค้าพายเรือขายของในคลองต่างๆ เป็นระยะ รวมถึงมีกระเช้าชักรอกส่งสินค้าข้ามคลอง เพราะทางเดินเลียบริมคลองมักมีอยู่ในข้างใดข้างหนึ่งของคลอง


ความสร้างสรรค์ของชุมชนย่านบางมด



ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมาชุมชนในย่านบางมด พยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำนี้ไว้ ชุมชนและหน่วยงานต่างๆ มีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวตามลำคลองต่างๆ การรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชนสร้างสรรค์ต่างๆ การจัดทำพิพิธภัณฑ์คลองบางมด การจัดงานศิลปะ และเทศกาลบางมดเฟสติวัลมาตลอด Think Forward Center รู้สึกชื่นชมความพยายามของชุมชนในย่านนี้เป็นอย่างมาก

Think Forward Center ขอเล่าความพยายามของชุมชนบางมดในบทความนี้ 2 กรณีด้วยกัน


> เซฟติสท์ ฟาร์ม: พื้นที่อนุรักษ์และการเรียนรู้

เซฟติสท์ ฟาร์ม (SAFETist Farm) เป็นพื้นที่เล็กๆ (2-3 ไร่) ริมคลองบางมด กรุงเทพมหานคร ที่นักกิจกรรมสังคมรุ่นใหม่ในนาม Can Do Team ได้พัฒนาขึ้นมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญถึง 3 ด้าน ด้วยกันคือ

หนึ่ง เป็นพื้นที่ผลิตอาหารปลอดภัย ทั้งผัก ไข่ ฯลฯ ให้กับสมาชิก ซึ่งตอนนี้มีสมาชิกที่รับผักและอาหารจากฟาร์มแห่งนี้กว่า 30 ราย และกำลังจะขยายเป็น 50 ราย และปัจจุบันก็ขยายพื้นที่เพาะปลูกไปยังชุมชนรอบๆ ข้าง เพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริมให้กับครัวเรือนในสถานการณ์ความยากลำบากทางเศรษฐกิจด้วย

สอง เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้สำหรับครอบครัว ที่ผ่านมา เซฟติสท์ ฟาร์ม ได้จัดกิจกรรมต่างๆ ให้กับเด็กๆ ครอบครัว และชุมชน ทั้งการเกษตร การผจญภัย การท่องเที่ยว เช่น การพายเรือคายักในคลอง และการขี่จักรยาน

สาม เป็นการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญมาก สำหรับกรุงเทพมหานคร เดิมทีพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณนี้มีอดีตมากมาย จากนาข้าว สู่สวนส้ม สู่พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และพื้นที่บริเวณนี้ก็ใช้คลองเป็นหลัก แต่ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณนี้กำลังถูกคุกคามรุนแรง (จะกล่าวถึงในลำดับต่อไป) และเซฟติสท์ ฟาร์ม กำลังพยายามร่วมมือกับชุมชนในการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ โดยการเป็นต้นแบบของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่



เซฟติสท์ ฟาร์ม คือตัวอย่างที่น่าประทับใจมากของการพัฒนาพื้นที่ในระบบนิเวศวัฒนธรรม “บางมด” Think Forward Center เชื่อว่า หากมีการผลักดันเรื่อง “กองทุนระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ” ที่ Think Forward Center เคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้ กองทุนระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติจะเข้ามาร่วมลงทุนกับพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นพื้นที่และสื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้ในมิติเชิงนิเวศวัฒนธรรม สำหรับชุมชนและโรงเรียนย่านนี้เลย

เช่นเดียวกับ หน้าที่ในการผลิตผัก/อาหารท้องถิ่น ซึ่ง Think Forward Center เสนอให้มีนโยบายสนับสนุนอาหารท้องถิ่นสำหรับโรงเรียน โดยมีงบประมาณสนับสนุนสำหรับนักเรียนในอัตรา 9 บาท/วัน/คน (เพิ่มเติมจากงบอาหารกลางวันเดิมที่ 21 บาท/คน/วัน) การสร้างตลาดอาหารท้องถิ่นในโรงเรียนจะเป็นรายได้เสริมที่ดีมากสำหรับชุมชนย่านนี้ โดยเฉพาะเมื่อมี เซฟติสท์ ฟาร์ม เป็นที่ปรึกษา และจะเป็นหนทางที่จำเป็นในการรักษาพื้นที่ทางนิเวศวัฒนธรรมในย่านนี้เอาไว้


> กำปงในดงปรือ: วิสาหกิจของชุมชนมุสลิมย่านบางมด

ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา วิถีชีวิตของชุมชนมุสลิมย่านบางมดมีพลวัตเป็นอย่างมาก เริ่มต้นจากการปลูกข้าวและจับปลาแต่ดั้งเดิม พอถึงคนรุ่นปู่ (ประมาณ 80 ปีก่อน) ก็เริ่มเปลี่ยนมาทำสวนส้มตามคนจีนในย่านนี้ แต่เมื่อสวนส้มล่มไป (เมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน) ชุมชนมุสลิมย่านนี้ก็หันมาเลี้ยงแพะ เลี้ยงปลา จนกลายเป็นสินค้าการเกษตรหลักของชุมชนแห่งนี้

วิสาหกิจชุมชน “กำปงในดงปรือ” แห่งนี้ก็มาต่อยอดกิจกรรมการเกษตรของชุมชน ด้วยการแปรรูป “นมแพะ” เป็นสบู่นมแพะ โลชั่นนมแพะ และแปรรูป “ปลา” ที่มีการเพาะเลี้ยงในพื้นที่ให้เป็น “ปลาบูดูทรงเครื่อง”

คำว่า “กำปง” แปลว่า เกาะ ในภาษามลายู (นอกจากนี้ยังแปลว่า หมู่บ้านได้ด้วย) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูทั่วประเทศ ส่วนในดงปรือเป็นภาษาไทย เพราะว่า ในย่านนั้น มี “ต้นปรือ” (คล้ายกับกก) มาก จึงรวมกันเป็น เกาะในดงของต้นปรือ นั่นเอง

บทบาทของกำปงในดงปรือมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะกรณีของ “ปลาบูดูทรงเครื่อง” เพราะในรอบการผลิตที่ผ่านมา เกษตรกรขายปลายี่สกในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากราคาปลายี่สกตกต่ำ จนเหลือเพียง 15 บาท/กิโลกรัม แทนที่จะปล่อยให้เกษตรกรขายปลาไปในราคาถูก (กด) วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้จึงตัดสินใจรับซื้อปลาจากเกษตรกร ในราคา 35 บาท/กิโลกรัม จำนวน 150 กิโลกรัม เพื่อมาใส่ไหทำ “ปลาบูดู” และแปรรูปเป็น “ปลาบูดูทรงเครื่อง” ในราคา 69 บาท/กระปุก เรียกว่า เป็นทางออกที่เป็นประโยชน์หรือ Win-Win สำหรับทุกฝ่าย



Think Forward Center เห็นว่า แนวทางการแปรรูปสินค้าเกษตรกรของท้องถิ่น มีความสำคัญมากๆ ในการรักษาระดับราคาสินค้าเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ เพียงแต่ว่า การแปรรูปลักษณะนี้จำเป็นต้องมีทุนหมุนเวียน (ปลาบูดูใช้เวลาหมักนานถึง 1 ปี) เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลสามารถเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ สามารถสนับสนุน หรือสามารถเปิดระดมทุนให้กับวิสาหกิจชุมชนได้ดีขึ้น การพัฒนาและการสนับสนุนด้านการตลาด รวมถึงรัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณทั้งหมดในการยกระดับมาตรฐานสินค้าแปรรูปของชุมชน


ความเสี่ยง: เส้นเลือดที่เริ่มตีบตัน

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า สภาพคลองในบริเวณนี้ มีการเชื่อมโยงกันเสมือนเป็นตาข่าย หรือเส้นเลือดในการกระจายน้ำ ทั้งในน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและจากทะเล ปัจจุบันเริ่มมีเส้นเลือดตีบตันบางแล้วในบางจุด แม้จะยังไม่มาก แต่ต้องระมัดระวังและรีบป้องกัน/แก้ไขโดยด่วน



จุดแรกคือ ประตูระบายน้ำ/กั้นน้ำ และสะพานรถยนต์ จุดเหล่านี้ทำให้เกิดน้ำนิ่ง และน้ำเสียชัดเจนมาก แถมยังทำให้การใช้เรือในคลองทำไม่ได้ด้วย จุดนี้คงต้องวางแผนและออกแบบระบบประตูระบายน้ำที่ทำให้การไหลผ่านของน้ำและเรือคล่องตัวกว่านี้

จุดที่สอง คือ กำแพงของบ้านจัดสรร (และบ้านเรือน) ริมคลอง ในระหว่างการลงพื้นที่สำรวจ เราเห็นถึงความแตกต่างชัดเจนระหว่างบ้านจัดสรรที่ทำกำแพงทึบ และบ้านจัดสรรที่ทำกำแพงโปร่ง บ้านจัดสรรที่ทำกำแพงทึบ มักจะทำให้คลองดูทึบ ดูแคบ และเกรงว่าจะทำให้คลองค่อยๆ กลายเป็นทางระบายน้ำในอนาคต



จุดที่สาม คือ การใช้พื้นที่ริมคลอง การใช้พื้นที่ริมคลองแถบนี้ มีบางส่วนที่ทำลายระบบนิเวศชายตลิ่งของคลองไปทั้งสองข้าง เช่น การทำเขื่อนคอนกรีต หรือการตัดต้นไม้ในริมคลอง ทำให้คันดินถูกกัดเซาะ ซึ่งจะมีผลต่อทั้งระบบนิเวศ และความรู้สึกในการใช้ชีวิตของผู้ที่อยู่ริมคลอง

จุดสุดท้าย เนื่องจากสภาพน้ำในบริเวณนี้จะมีน้ำในระดับที่สูงเกือบตลอดเวลา ท่อระบายน้ำจากชุมชน/สถานประกอบการทั้งหลายจึงอยู่ใต้น้ำ และยากที่จะสังเกตได้ หลายครั้งจึงเกิดปัญหาน้ำเสียที่จับมือใครดมได้ยาก เพราะท่อน้ำเสียทั้งหมดอยู่ใต้น้ำ และมักจะมีการปล่อยน้ำกันในช่วงกลางคืน หรือมีน้ำมาก


นโยบายในการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำบางมด



จากความพยายาม และความเสี่ยงที่กำลังเผชิญอยู่ การที่จะรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ “บางมด” แห่งนี้ไว้ คงจำเป็นต้องมีแนวนโยบายและมาตรการที่จำเพาะเจาะจงเป็นพิเศษ ซึ่ง Think Forward Center เสนอให้มีการกำหนดนโยบายดังนี้

(ก) สร้างแรงจูงใจในการรักษาพื้นที่เชิงนิเวศเอาไว้ เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เช่น ฟาร์มเป็ด สวนส้ม สวนมะพร้าว ฟาร์มแพะ ฯลฯ ที่มีอยู่เป็นระยะๆ ในริมคลองต่างๆ และนำมาตรการต่างๆ มาใช้ดังนี้

  • การสนับสนุนภาษีที่ย้อนกลับ (หรือ Negative Land Tax) เพื่อให้รัฐบาลสามารถจ่ายเงินสนับสนุนให้กับผู้ที่รักษาพื้นที่เหล่านั้นไว้ในระยะยาว  
  • การสนับสนุนอาหารท้องถิ่น (9 บาท/คน/วัน) สำหรับโรงเรียนและนักเรียนในพื้นที่
  • การพัฒนาแหล่งพื้นที่เรียนรู้ ผ่านกองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ

(ข) กำหนดแนวทางในการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคลองทั้งหมด เช่น การมีระยะถอยร่น การมีกำแพงเปิดโล่ง ระบบบำบัดน้ำของแต่ละโครงการ/ชุมชน หรือระบบบำบัดน้ำในภาพรวม การสร้างสะพาน/เสาไฟฟ้า เพื่อมิให้กีดกันระบบนิเวศ และการสัญจรทางน้ำ

(ค) การทบทวนและกำหนดผังเมือง รวมถึงผังเฉพาะพื้นที่ เพื่อทำให้การพัฒนาในพื้นที่และการอนุรักษ์ในพื้นที่ไม่ขัดแย้งกัน การออกแบบบ้านพักอาศัยที่โอบรวมมิติทางสิ่งแวดล้อมจะตอบโจทย์เหล่านี้ได้ แต่รัฐบาลและผู้ประกอบการต้องมีความตั้งใจ/ความเข้าใจมากพอ

(ง) การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อกัน เช่น เส้นทางจักรยานจากบางมด (วัดพุทธบูชา) ไปจนถึงบ้านสาขลา จ.สมุทรปราการ หรือเส้นทางท่องเที่ยวทางน้ำเชื่อมโยงไปสู่คลองสนามชัย และชายทะเลบางขุนเทียน (ไปดูเหยี่ยวและนาก) หรือเส้นทางพายเรือคายักในหลายจุด รวมถึงเส้นทางวิ่งเทรล ด้วย

แต่เมื่อประเมินจากทั้งเสน่ห์ที่ยังคงมีอยู่มากมายในพื้นที่บางมด บวกกับสถานการณ์ความเสี่ยงที่กำลังคุกคามเข้ามา Think Forward Center เสนอให้ กรุงเทพมหานครและรัฐบาลผลักดันให้มีการประกาศให้พื้นที่แห่งนี้ได้เป็น “พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม” เพื่อที่จะได้จัดทำแผนทั้งหมด เพื่อให้มาตรการทั้งหมดที่กล่าวถึงข้างต้น ได้ดำเนินการได้อย่างสอดประสานกัน และสามารถใช้มาตรการได้อย่างเป็นระบบ จริงจัง และเข้มงวดในการป้องกันและแก้ไขปัญหามากขึ้น 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า