เส้นทางก้าวไกลสู่สังคมไทย Net Zero Emission ที่ทุกคนร่วมสร้าง

เดชรัต สุขกำเนิด

ปัจจุบัน หลายๆ ประเทศตั้งเป้าและเอาจริงเอาจังกับการเดินหน้ามุ่งสู่สังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero Emission ประเทศไทยของเราก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ประกาศที่จะเป็น Net Zero Emission ในปี ค.ศ. 2065 (หรือในอีก 42 ปีข้างหน้า) แต่เส้นทางที่สังคมไทยจะก้าวไปสู่สังคมที่มี Net Zero Emission จะเป็นอย่างไร? ก้าวแรกที่สังคมไทยควรจะก้าวจะเป็นอย่างไร? และประชาชนจะมีส่วนร่วมในการก้าวไปสู่สังคมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างไร? นี่คือคำถามที่ยังต้องการคำตอบสำหรับคนไทยทุกคน

บทความนี้ จะขอนำเสนอมุมมองของ Think Forward Center ในการก้าวไปสู่สังคมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 (หรืออีก 27 ปีข้างหน้า) และเป้าหมายและก้าวแรกที่สังคมไทยควรทำให้ได้ในปี ค.ศ. 2030 (หรืออีก 7 ปีข้างหน้า) รวมถึงเส้นที่ประชาชนจะร่วมเดินและได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ไปพร้อมๆ กัน


การตั้งเป้าหมายที่ไม่ท้าทาย

คณะรัฐมนตรีเพิ่งให้การเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development strategy) เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยในแผนดังกล่าว กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกปกติในปี 2030 (หรือ Business as Usual หรือ BAU) (จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 20-25%) 

แต่ปัญหาคือรัฐบาลไทยประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% มาจากการคาดการณ์ค่า BAU ที่สูงเกินจริง (555 ล้านตัน CO2 ในปี 2030) หากดูในภาพประกอบจะเห็นว่า แม้ประเทศไทยไม่ได้ดำเนินการอะไร เราก็คงปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 555 ล้านตัน CO2 ในปี 2030 แต่การตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ไว้ที่ 333 ล้านตัน CO2 ในปี 2030 จริงๆ แล้ว เท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงแค่ 10% เมื่อเทียบกับการปล่อยในปี 2018 (373 ล้านตัน CO2 ในปี 2018) เท่านั้น 


เป้าหมายที่ท้าทายกว่า 

Think Forward Center จึงเสนอตั้งเป้าหมายที่ท้าทายกว่า ด้วยการเสนอให้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ที่ 300 ล้านตัน CO2 ซึ่งด้วยระดับการปล่อยก๊าวเรือนกระจกที่ลดลงดังกล่าวจะเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 19.5% เมื่อเทียบกับการปล่อยในปี 2018 (373 ล้านตัน CO2 ในปี 2018) แทนที่จะเป็น 10% อย่างที่รัฐบาลไทยนำเสนอ และเท่ากับลดลง 46% เมื่อเปรียบเทียบกับค่าการคาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก BAU ที่สูงเกินจริง (555 ล้านตัน CO2 ในปี 2030)


เส้นทางการบรรลุเป้าหมาย

การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียง 300 ล้านตัน CO2 ภายในปี ค.ศ. 2030 เท่ากับว่า ประเทศไทยจะต้องตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากปีนี้จนถึงในปี ค.ศ. 2030 ลงให้ได้เท่ากับ 73 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะมาจากการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก ด้วยการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน การยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เร็วขึ้น  การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและขนส่งสาธารณะให้เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการจัดการของเสีย ตามลำดับ 

หลักการสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายในปี ค.ศ. 2030 หรือภายใน 7 ปี หรือภายใน 2 รอบของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะเปิดขึ้นได้ก็ต้องยึดหลักการที่จะให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวอย่างกว้างขวางที่สุด และร่วมได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านของระบบพลังงานนี้อย่างเป็นรูปธรรม หรือที่เรียกว่า Just Energy Transition การเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานที่เป็นธรรม


มาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ (Mitigation to Climate Change)

มาตรการสำคัญที่จะทำให้ภายใน 7 ปีนี้ สังคมไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้เกือบ 20% จากที่ปล่อยปัจจุบัน หรือประมาณ 72.6 ล้านตัน และเป็นมาตรการที่กระจายการมีส่วนร่วม และกระจายประโยชน์ให้กับประชาชนไทยและสังคมไทยในวงกว้างประกอบด้วย

  • พัฒนาพลังงานหมุนเวียน แนวทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกมาจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์และพลังงานหมุนเวียน ได้แก่
    • ระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือน 3,000 MW และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ทั่วประเทศอีก 1,500 MW ในปี ค.ศ. 2025
    • ระบบโซลาร์เซลล์ทุกระบบเพิ่มเติมอีก 10,000 MW และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ 8,000 MW ในปี ค.ศ. 2030
    • มาตรการนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 18.1 ล้านตัน CO2 
  • ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยกำหนดให้กำลังการการผลิตติดตั้งจากโรงไฟฟ้าไฟฟ้าถ่านหินในระบบไฟฟ้าลดลงจาก 4,637 MW ในปี 2020 เหลือ 1,430 MW ในปี ค.ศ. 2030 และยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดในปี ค.ศ. 2035 (พ.ศ. 2578) หรือในอีก 13 ปีข้างหน้า มาตรการนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 18.9 ล้านตัน CO2
  • ยานยนต์ไฟฟ้าและขนส่งสาธารณะ 
    • เพิ่มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็น 600,000 คัน/ปี ในปี ค.ศ. 2025 และเป็น 1.7 ล้านคัน/ปี ในปี ค.ศ. 2030
    • เพิ่มระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ให้บริการต่อประชาชนในราคาที่เข้าถึงได้ จำนวน 300,000 คัน ในปี ค.ศ. 2030
    • มาตรการนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 22.7 ล้านตัน CO2 หรือเท่ากับลดลง 33% จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการขนส่งในปี ค.ศ. 2016
  • ภาคอุตสาหกรรม 
    • การกำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น ซีเมนต์ ปิโตรเคมี เหล็ก/โลหะ กระดาษ และอื่นๆ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาประสิทธิภาพและนวัตกรรมในกระบวนการผลิต
    • มาตรการนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4.0 ล้านตัน CO2 หรือเท่ากับลดลง 13% จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมในปี ค.ศ. 2016
  • ภาคเกษตร โดยการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ ในการการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งแบบครบวงจร การทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพสำหรับฟาร์มปศุสัตว์ และการลดการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยการสนับสนุนตั้งแต่เทคโนโลยี การส่งเสริมการเกษตร การลงทุน และการตลาดโดยมาตรการนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 5.4 ล้านตัน CO2 หรือเท่ากับลดลง 10% จากจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตรในปี ค.ศ. 2016
  • ภาคการจัดการของเสีย ด้วยการสนับสนุนทางการเงินให้ชุมชนและกิจการต่างๆ มีการจัดการขยะอินทรีย์ตั้งแต่ต้นทาง การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการจัดการมีเธนที่หลุมฝังกลบ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3.5 ล้านตัน CO2 หรือเท่ากับ 21% ของที่เคยปล่อยในปี ค.ศ. 2016


มาตรการการเพิ่มการดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นอกเหนือจากมาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว Think Forward Center ยังเสนอให้ดำเนินมาตรการในการเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มเติมอีกได้แก่

  • การปลูกป่าในพื้นที่ของเกษตรกร โดยใช้เป็นหนึ่งในมาตรการการปลดหนี้เกษตรกร ด้วยที่รัฐบาลจะรับซื้อหนี้จากเกษตรกร และเช่าพื้นที่ระยะยาว 20 ปี จากเกษตรกร ไม่เกิน 50% ของพื้นที่ที่เกษตรกรมี คาดว่าจะมีเกษตรกรที่เป็นหนี้ได้รับประโยชน์ประมาณ 400,000 ราย มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 4 ล้านไร่ และทำให้เกิดการดูดซับก๊าซเรือนกระจกประมาณ 6-8 ล้านตัน CO2
  • การปลูกป่าในพื้นที่ป่าชุมชน โดย Think Forward Center เสนอให้ดำเนินการ ผ่านการพิสูจน์สิทธิและมอบเอกสารสิทธิในที่ดินในที่ดินที่มีข้อพิพาท ให้แก่เกษตรกรและชุมชน เพื่อดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่ของเกษตรกร และป่าชุมชนเพิ่มเติม โดยคาดว่า จะมีพื้นที่เข้าร่วมประมาณ 1 ล้านไร่ และทำให้เกิดการดูดซับก๊าซเรือนกระจกประมาณ 1.5-2 ล้านตัน CO2
  • การปลูกป่าในพื้นที่มีเขียวในเมือง โดยการสนับสนุนและการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีพื้นที่ดำเนินการในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศประมาณ 500,000 ไร่

มาตรการทั้งสามข้อจะช่วยเพิ่มการดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 9-10 ล้านตัน CO2    ในปี 2030


การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในระยะยาว

Think Forward Center เชื่อว่า หากประเทศไทยสามารถออกตัวเพื่อสร้างความเปลี่ยนผ่านได้อย่างทั่วถึงและจริงจังมากพอ ภายในระยะเวลา 7 ปี หรือ 2 ช่วงอายุรัฐสภา เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงประมาณ 72 ล้านตัน CO2   และการเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีก 9 ล้านตัน CO(หรือรวมกันมากกว่า 80 ล้านตัน CO2 ) ซึ่งนั่นจะเป็นก้าวสำคัญสู่การเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เร็วขึ้นถึง 15 ปี หรือภายในปี ค.ศ. 2050 แทนที่จะเป็น ค.ศ. 2065 อย่างที่รัฐบาลประกาศไว้


มาตรการเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (Adaptation to Climate Change)

นอกเหนือจากมาตรการในการก้าวไปสู่ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 แล้ว การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมจะต้องรวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะตามมาด้วย Think Forward Center เสนอให้รัฐบาลมีแนวนโยบาย/แนวทางในการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศดังนี้

  • นโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย
    • มาตรการการลงทุนสำหรับการจัดการน้ำในระดับไร่นาและชุมชน 25,000 บาท/ปี ครอบคลุมพื้นที่ 20 ล้านไร่ ในปี ค.ศ. 2030
    • มาตรการป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ความเสี่ยงสูง เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน-ป่าสัก, ลุ่มน้ำมูน-ชี, ลุ่มน้ำภาคตะวันออก และภาคใต้
    • มาตรการที่ชัดเจนและเป็นธรรม สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่หน่วงน้ำ ในเขตเมือง/เขตชุมชน 
    • มาตรการการเฝ้าระวังและเตือนภัยในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น
  • การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช/พันธุ์สัตว์ที่ตอบสนองต่อภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 
  • การพัฒนาระบบประกันความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกลไกประกันภัยพืชผล กลไกและมาตรการชดเชยและเยียวยาจากภาครัฐ และสวัสดิการพื้นฐานทางสังคม


เส้นทางการบรรลุ Net Zero ระยะยาว

Think Forward Center เชื่อว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และสามารถดำเนินการเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน ด้วยการกระจายการมีส่วนร่วม และการมีส่วนได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านนั้นให้ทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน และหากดำเนินการอย่างจริงจัง ภายในระยะเวลา 7 ปี (หรือภายในปี ค.ศ. 2030) สังคมไทยและสังคมโลกจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม และทุกคนได้รับประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า