กัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาเชิงโครงสร้างและการจัดสรรงบประมาณ

นุชประภา โมกข์ศาสตร์


ปัจจุบันชายฝั่งทะเลตลอดแนว 3,151 กิโลเมตร ของประเทศไทยใน 23 จังหวัด พบว่ามีพื้นที่ชายฝั่งที่ประสบปัญหากัดเซาะระยะทางประมาณ 146.73 กิโลเมตรโดยแบ่งเป็นพื้นที่กัดเซาะระดับรุนแรง 42.17 กิโลเมตร พื้นที่กัดเซาะระดับปานกลาง 7.64 กิโลเมตรและพื้นที่กัดเซาะน้อย 96.92 กิโลเมตร ผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งทะเลหรือชายหาด เกิดการทับถมของตะกอนบริเวณชายหาด ซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งครัวเรือนและชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่กัดเซาะที่อาจจะต้องอพยพไปอยู่ในพื้นที่ใหม่

ภาพการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
ภาพจาก tcijthai.com


นอกจากนี้ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงจะเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลในพื้นที่ 23 จังหวัด ที่นำไปสู่ความเสียหายต่อพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ท่าเรือ ถนน เขตอุตสาหกรรม พื้นที่เพาะปลูก นาข้าว ชุมชนเมือง ฯลฯ  รวมทั้งประชาชนและครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง   

ในปี พ.ศ. 2552 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ศึกษาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลต่อสภาพการใช้ที่ดินและระบบนิเวศชายฝั่งทะเลในพื้นที่ 23 จังหวัดด้วยระบบภูมิสารสนเทศ  พบว่า

  • กรณีที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง จะทำให้มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 25 จังหวัด มูลค่าความเสียหายคิดเป็นประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท 
  • ในกรณีที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 2 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 33 จังหวัด  มูลค่าความเสียหายคิดเป็น 14.1 ล้านล้านบาท  
  • และเมื่อระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 3 เมตร จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 34 จังหวัด  มูลค่าความเสียหายคิดเป็น 17.9 ล้านล้านบาท ตามลำดับ 

ซึ่งหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ความเสียหายของสำนักงานนโยบายฯโครงสร้างที่ดำเนินการก่อสร้างมาทั้งหมดก็จะถูกทำลายและปกคลุมด้วยน้ำทะเลในที่สุด 

ชายหาดเขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
ภาพจาก khaolakbeach-restoration.com


มาตรการลดการกัดเซาะชายฝั่ง

ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ใช้มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบ่งออกเป็น 3 มาตรการ ได้แก่ 

  1. มาตรการสีขาว หรือการกำหนดพื้นที่ถอยร่น (setback zone) เป็นพื้นที่ที่ให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณ พื้นที่ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ อพยพไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ โดยไม่มีการเข้าไปดำเนินมาตรการป้องกันการกัดเซาะ กล่าวคือ เป็นพื้นที่ที่ปล่อยให้การกัดเซาะเป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีการดำเนินมาตรการใดๆ
  2. มาตรการสีเขียว เป็นมาตรการที่เข้าไปรักษาเสถียรภาพชายฝั่ง เพื่อลดผลกระทบจากการกัดเซาะ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ (ก) การปลูกป่า (ข) การฟื้นฟูชายหาด และ (ค) การปักเสาดักตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลน ซึ่งมาตรการนี้เป็นมาตรการที่ช่วยรักษาการกัดเซาะชายฝั่งที่ยั่งยืนและไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และที่สำคัญคือใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างกำแพงกันคลื่นหรือเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลที่เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่
  3. มาตรการสีเทา เป็นรูปแบบของการรักษาเสถียรภาพชายฝั่งด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรม เช่น การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น/เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล/กำแพงกันคลื่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมบริเวณชายฝั่ง จำนวนสัตว์น้ำที่ลดลง เป็นการเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติของชายฝั่งทะเล เกิดการทำลายทัศนียภาพทางธรรมชาติ 


ภาพชายหาดหน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
ภาพจาก today.line.me


ที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ส่งเสริมให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะด้วยมาตรการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีข้อดีคือ (ก) ไม่ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่ง (ข) ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (ค) ป่าชายเลน และการปักเสาคอนกรีตสามารถเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำ เช่น หอยแมลงภู่  ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชุมชน (ง) ส่งเสริมให้ชุมชนบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากร (จ) ใช้งบประมาณน้อยกว่าโครงการก่อสร้างเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง (โครงสร้างทางวิศวกรรม)

ภาพการปักไม้ไผ่ ชะลอความรุนแรงของคลื่น ในพื้นที่ ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี 
ภาพจาก Beachlover.net

อย่างไรก็ตามแม้เราจะทราบดีว่ามาตรการสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้มีประสิทธิภาพกว่าโครงสร้างทางวิศวกรรม แต่ที่ผ่านมากรมโยธาธิการและผังเมืองก็ได้มีการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น/เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล มาตั้งแต่ พ.ศ 2533 เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณเพื่อเข้าไปดำเนินการก่อสร้างตามพื้นที่ชายฝั่งที่เกิดการกัดเซาะ ซึ่งระหว่าง พ.ศ. 2533 – 2560 มีการดำเนินโครงการมากถึง 73 โครงการ และต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2563 -2566 กรมโยธาฯ ดำเนินโครงการอีก 42 โครงการ แยกเป็นงบประมาณระหว่าง พ.ศ. 2563 -2566 และ พ.ศ. 2564-2567 จำนวน 38 โครงการ (รายชื่อโครงการทั้งหมดอยู่ในภาคผนวกของบทความ) และโครงการใหม่ในปี 2566 อีกจำนวน 4 โครงการ (เป็นงบประมาณที่ดำเนินการระหว่าง พ.ศ. 2566-2568)

ในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมเจ้าท่ามีการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเสริมชายหาด การใช้เขื่อนถุงทราย การสร้างเขื่อนหินขนาดใหญ่ การใช้เขื่อนหินแกเบียน การสร้างเขื่อน/กำแพงคอนกรีตกันคลื่นและการสร้างเขื่อนคอนกรีตขั้นบันได อย่างไรก็ดีแม้จะมีการใช้วิธีในการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตามแนวทางที่กล่าวมาข้างต้น แต่ส่วนมากจะเป็นการก่อสร้างที่เป็นโครงสร้าถาวร (Hard Structure) มากกว่า ซึ่งปัญหาคือในอนาคตความผันแปรของมหาสมุทรและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นอาจทำให้โครงสร้างลักษณะนี้หมดประสิทธิภาพลง ดังนั้นกรมโยธาฯและกรมเจ้าท่าควรป้องกันปัญหาการกัดเซาะด้วยโครงสร้างชั่วคราวที่ป้องกันเฉพาะช่วงเวลา และลดมาตรการโครงสร้างที่เป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งแบบถาวร เพราะต้องรอคอยกระบวนการศึกษา ตั้งงบประมาณ และก่อสร้าง ไม่ต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้เวลามากเกินไปและไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาที่มีความเร่งด่วนฉุกเฉินหรือปัญหาเฉพาะหน้าได้ กล่าวคือหากต้องรอกระบวนการต่างๆสถานการณ์ความเสียหายที่เกิดจากการกัดเซาะอาจเปลี่ยนแปลงไปจนหมดแล้ว

ชายหาดหน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
ภาพจาก today.line.me


สำหรับปัญหาของการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะ มีการเปิดช่องว่างทางกฎหมายให้กำแพงกันคลื่นไม่ต้องประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) นับตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ข้อมูลจาก Beach lover และ Beach for life ระบุว่าเมื่อนำงบประมาณเฉพาะของกรมโยธาธิการฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด และมีการดำเนินการเฉพาะการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นอย่างเดียวนั้น จะพบว่า ระหว่างปี 2554-2566 งบประมาณในการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ มีงบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังจากการเพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการหรือกิจการที่ต้องทำ EIA 

และหากย้อนดูมูลค่าของกำแพงกันคลื่น โดยอ้างอิงข้อมูลมูลค่าของกำแพงกันคลื่นเฉพาะของกรมโยธาธิการฯ ซึ่งถือว่าเป็นกรมหลักที่ก่อสร้างกำแพงกันคลื่นจะพบว่า มูลค่ากำแพงกันคลื่นต่อกิโลเมตรในปี 2534 อยู่ที่ 10 ล้านบาทต่อกิโลเมตร และมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ และสูงอย่างก้าวกระโดดภายหลังจากกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA โดยพบว่า ปี 2561 มูลค่ากำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการฯ ตกกิโลเมตรละ 117 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 29 ปี


ผลกระทบจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น

สภาพพื้นที่ชายหาดหน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นแบบเรียงหิน ของกรมโยธาธิการและผังเมือง
ภาพจาก Beachlover.net

การดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นประสบปัญหาหลายด้าน ตัวอย่างเช่น (ก) ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม เพราะไปทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นการแทรกแซงกระบวนการธรรมชาติของชายฝั่งทะเล (ข) เป็นโครงการขนาดใหญ่และต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการก่อสร้าง (กำแพงกันคลื่นใช้งบประมาณก่อสร้างกิโลเมตรละ 100-120 ล้านบาท) และเป็นโครงการที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องหลายปี (ค) ส่วนมากเน้นการสร้างตามแนวพื้นที่กัดเซาะ ซึ่งต้องขยายระยะทางการสร้างไปเรื่อยๆ และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ (ง) เป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณเพื่อซ่อมบำรุง/ปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นประจำทุกปี (จ) ภาครัฐยังไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสและความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการได้  (ฉ) บางพื้นที่เป็นพื้นที่กัดเซาะชั่วคราว ที่สามารถใช้มาตรการชั่วคราวหรือประกาศพื้นที่ถอยร่นแทนได้ และ (ช) ล่าสุดกรมเจ้าท่าได้ตั้งงบประมาณในการรื้อถอนรอดักทราย 3 ตัว จำนวน 10 ล้านบาท บริเวณหน้าพระราชนิเวศมฤคทายวัน ตามมติคณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการรื้อถอนโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง เพื่อคืนสมดุลให้กับธรรมชาติ แต่ก็นับว่าเป็นการภาระงบประมาณจำนวนมากด้วยเช่นกัน

ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณพระราชนิเวศมฤคทายวัน ต.ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
ภาพจาก Beachlover.net

Southern Youth Monitoring Development และ Beach for life ได้จัดทำข้อมูลกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ภาคใต้พบว่าหลังจากการเพิกถอนกำเเพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องทำ EIA พบว่า มีโครงการกำเเพงกันคลื่นระบาดในพื้นที่ภาคใต้ ในปี 2557-2563 จำนวน 26 โครงการ ระยะทางรวม 37.56 กิโลเมตร งบประมาณรวม 3,690 ล้านบาท  โดยจังหวัดสงขลา เเละจังหวัดนครศรีธรรมราช มีโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นมากที่สุด จังหวัดสงขลา 17 โครงการ ระยะทางรวม 13.3 กิโลเมตร เเละจังหวัดนครศรีธรรมราช 16 โครงการ ระยะทาง 10 กิโลเมตร เเละรองลงมาคือ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 9 โครงการ ความยาว 6.9 กิโลเมตร 

พื้นที่ชายหาดหน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
ภาพจาก Beachlover.net

การอนุญาตให้เกิดโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายหาดภาคใต้ สะท้อนให้เห็นการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการเเก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของกรมโยธาธิการและผังเมือง แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับตรงกันข้ามเพราะยิ่งสร้างก็ยิ่งเพิ่มปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้รุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริเวณหาดหน้าสตน นครศรีธรรมราช หาดทรายแก้ว หาดแต้ว จังหวัดสงขลา โดยหลังการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดการกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่อง อีกทั้งยังอาจทำให้หาดทรายหายไปอย่างถาวร นอกจากนี้การเกิดขึ้นของกำเเพงกันคลื่น ยังทำให้เกิดการสะท้อนของคลื่นที่จะตะกรุยทรายหน้ากำเเพงกันคลื่นออกไปนอกฝั่ง ทำให้หน้ากำเเพงกันคลื่นลึกขึ้น จนไม่มีทรายเหลืออีกด้วย

ภาพจาก Beach for life


งบประมาณในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ในปีงบประมาณ 2566 กรมโยธาธิการและผังเมือง ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ได้รับงบประมาณ 34,837.6 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565) และในแผนยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง มีงบประมาณสำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อป้องกันการสูญเสียดินแดนของประเทศจำนวน 5,428.32 ล้านบาท แยกเป็นงบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำตามชายแดนระหว่างประเทศ 4,450.54 ล้านบาท และงบก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 977.78 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณในส่วนหลังมีจำนวน 223 โครงการ 

ถึงแม้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดทำรายงานเพื่อตรวจสอบความรุนแรงของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ใดบ้างที่มีการกัดเซาะในระดับที่รุนแรงและจำเป็นต้องใช้โครงสร้างถาวร แต่ปัญหาคือ มีหลายพื้นที่ที่ไม่จัดอยู่ในระดับที่ต้องมีการแก้ไขเร่งด่วน (พื่นที่สีแดง)แต่ก็มีความพยายามให้ประชาชนในพื้นที่ไปร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขด้วยการสร้างกำแพงกันคลื่น (แม้พื้นที่ที่ถูกกัดเซาะเป็นพื้นที่กัดเซาะชั่วคราว พื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์และยังไม่อยู่ในขั้นเร่งด่วนฉุกเฉินก็ตาม) เพื่อให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบและดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำไปดำเนินโครงการเพิ่มจำนวน 4 โครงการ ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่

  1. โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบ้านคลองวาฬ อำเภอเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ระยะที่ 2) ความยาว 409 เมตร งบประมาณ 8 ล้านบาท (2566 – 2568)   รวมวงเงินทั้งสิ้น 40 ล้านบาท
  2. โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพื้นที่ชายฝั่งชุมชนหาดวอนภา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ยาวไม่น้อยกว่า 500 เมตร งบประมาณ 8 ล้านบาท (2566-2568) รวมวงเงินทั้งสิ้น 40 ล้านบาท 
  3. โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งบริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลระยอง ตำบลแพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ความยาวไม่น้อยกว่า 728 เมตร งบประมาณ 8.4 ล้านบาท (2566-2568) รวมวงเงินทั้งสิ้น 42 ล้านบาท 
  4. โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลบ้านหลังเขา ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ความยาวไม่น้อยกว่า 756 เมตร งบประมาณ 16 ล้านบาท (2566-2568) รวมวงเงินทั้งสิ้น 80 ล้านบาท

และมีโครงการที่ยังต้องดำเนินการต่อเนื่องอีก 38 โครงการ ซึ่งหากพบว่าพื้นที่ที่มีการของบประมาณเป็นพื้นที่ที่มีระดับการกัดเซาะปานกลาง หรืออยู่ในระดับเฝ้าระวัง ก็อาจทำให้ภาครัฐสูญเสียงบประมาณไปกับการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่มากกว่าที่มีการประเมินโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และในอนาคตโครงการเหล่านี้ก็จะถูกน้ำทะเล คลื่นลม กัดเซาะจนชำรุด และต้องใช้งบเพื่อซ่อมบำรุง หรือในบางพื้นที่อาจมีมติให้รื้อถอนโครงสร้างป้องกันชายฝั่งเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น


การเรียกร้องของภาคประชาชนเกี่ยวกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 

ตัวอย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่ภาคประชาชนออกมาคัดค้านโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมือง คือ โครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งตำบลเเม่น้ำเเละตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎ์ธานี เนื่องจากมติที่ประชุมโดยภาคประชาชนมองว่าเป็นโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  อีกทั้งจากการสำรวจพบว่าบริเวณที่มีการกัดเซาะชายฝั่งมีความยาวเพียง 50 เมตรเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานรัฐสามารถใช้มาตรการป้องกันชั่วคราวแทนได้และไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ตลอดแนวชายฝั่งของหาดแม่น้ำ 1.5 กิโลเมตร และหาดบางมะขาม 2.3 กิโลเมตร ตามข้อเสนอของกรมโยธาธิการและผังเมือง

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ตัวแทนประชาชนเกาะสมุย ได้รวมตัวเดินทางไปยังกรมโยธาธิการฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อยื่นหนังสือขอให้ยุติการศึกษาโครงการเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากแนวทางที่กำหนดมานั้นไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และเกรงว่าการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น อาจส่งผลกระทบให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ชายหาด สูญเสียทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยว กระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน และกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของเกาะสมุย

ในด้านของอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

 “ ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้กำหนดแนวทางหลักเกณฑ์โครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติ เพื่อการพิจารณาเลือกมาตรการ รูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพชายฝั่งทะเลและการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้น ซึ่งในพื้นที่ชายหาดต่างๆ ที่อยู่ในเขตแผ่นดินนั้นมีหลักเกณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมอยู่ แต่สำหรับพื้นที่เกาะ อย่างเช่นเกาะสมุย และที่อื่นนั้นไม่มีหลักเกณฑ์ในลักษณะดังกล่าวกำหนดไว้ ซึ่งยิ่งทำให้การดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบนพื้นที่เกาะสมุยมีความน่าเป็นห่วงและกังวลอย่างยิ่ง”

จากกรณีนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและคณะทำงานกล่าวว่า จะลงพื้นที่ติดตามและตรวจสอบสถานภาพการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น พร้อมทั้งเร่งหารือร่วมกับจังหวัด ท้องถิ่น ในการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องชุมชนชาวเกาะสมุย เพื่อหาทางออกที่ดีให้กับทุกฝ่าย โดยล่าสุดหลังจากที่เทศบาลนครเกาะสมุย ทำหนังสือถึงกรมโยธาธิการฯ ขอชะลอโครงการศึกษาเเละออกเเบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดบางมะขามเเละหาดเเม่น้ำ บริเวณเกาะสมุย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ทำให้กรมโยธาธิการฯ ตัดสินใจยกเลิกโครงการดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการยกเลิกโครงการศึกษาและออกแบบเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เกาะสมุย ล่าสุดเพจ Beach for life ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น ในปีงบประมาณ 2567 จำนวน19 โครงการ จาก 5 หน่วยงาน ได้แก่  กรมโยธาธิการเเละผังเมือง  กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง สำนักการระบายน้ำ และโครงการของหน่วยงานท้องถิ่น เข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองเเละให้ข้อเสนอเเนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ ซึ่งใน 19 โครงการนี้มี 12 โครงการ ที่เป็นโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น ได้แก่

  • โครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมือง 9 โครงการ งบประมาณรวม 613.36 ล้าน บาท
  • โครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นของกรมเจ้าท่า 2 โครงการ งบประมาณรวม 62 ล้านบาท
  • โครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นของสำนักงานโยธาธิการเเละผังเมือง จ.ฉะเชิงเทรา 1 โครงการ งบประมาณ 14 ล้านบาท

ซึ่งต้องรอลุ้นกันอีกครั้งว่าทั้ง 12 โครงการนี้จะผ่านการกลั่นกรองจากคณะทำงานหรือไม่ ก่อนที่จะเสนอต่อสำนักงบประมาณ เเละสภาผู้เเทนราษฎรเพื่อของบประมาณสำหรับการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไป 


รายชื่อโครงการกำแพงกันคลื่น ปีงบประมาณ 2567

ภาพจาก Beach for life


เราจะเห็นว่าปรากฎการณ์กำแพงกันคลื่นเป็นตัวสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญในการจัดทำงบประมาณ ตลอดจนปัญหาการรวมศูนย์อำนาจและปัญหาของระบบราชการไทยตามลำดับ ตัวอย่างเช่น การให้งบประมาณแก่หน่วยงานบางหน่วยงาน (ที่อาจไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการสร้างกำแพงกันคลื่นโดยตรง) มากกว่าหน่วยงานอื่นๆ การแก้ไขกฎหมายให้การสร้างกำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA  จำนวนโครงการและความสมเหตุสมผลในการตั้งงบประมาณ ข้อสงสัยในด้านความคุ้มค่าในการก่อสร้าง ตลอดจนประสิทธิภาพของโครงการฯในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าที่ผ่านมากำแพงกันคลื่น (ซึ่งมีมูลค่าการก่อสร้างมากถึงกิโลเมตรละ 100 ล้านบาทและบางแห่งมีมูลค่าสูงถึง 170 ล้านบาท) นั้นสามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้มากน้อยเพียงใด และถึงแม้ว่าท่าทีของภาคประชาชนในหลายพื้นที่จะออกมาคัดค้านการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น แต่ในท้ายที่สุดหน่วยงานต่างๆก็ยังดำเนินการตามแนวทางเดิมคือการเสนอโครงการต่อคณะทำงานเพื่อของบประมาณในปีต่อๆไป แม้บางพื้นที่จะมีปัญหาการกัดเซาะเพียงเล็กน้อยและไม่จำเป็นต้องสร้างกำแพงกันคลื่นก็ตาม


แนวทางการแก้ไขปัญหา

Think Forward Center เห็นว่าหากปล่อยเอาไว้เช่นนี้ต่อไปอาจทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างตรงจุด อีกทั้งงบประมาณที่นำไปใช้ก็อาจจะไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และที่น่ากังวลคือ ประชาชนอาจได้โครงสร้างถาวรที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมบริเวณชายหาด และกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน และยังต้องเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นปรากฎการณ์นี้จึงชวนให้สงสัยว่า การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งเราทุกคนต้องช่วยกันจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับแนวทางในการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่น่าสนใจ ดังนี้

  • เพื่อป้องกันการใช้อำนาจซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน รัฐบาลควรทำการแบ่งอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเพื่อลดความทับซ้อนในการดำเนินการ เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งควรเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและดูเรื่องแผนการจัดการ ส่วนกรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมเจ้าท่าควรเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตามแผน โดยกำหนดให้กรมเจ้าท่ามีหน้าที่ดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง ส่วนกรมโยธาธิการฯ ควรดำเนินการเฉพาะในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ กรมโยธาธิการฯ ไม่ควรดำเนินการในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าแต่ควรเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนตั้งอยู่ เพื่อเป็นไปตามพันธกิจของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน ส่วนบริเวณพื้นที่ที่อยู่นอกสุดควรให้กรมประมงและ อปท. เป็นผู้เข้ามาดูแล 
  • รัฐควรจัดทำ EIA เพื่อศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่เกิดการกัดเซาะอย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันผลกระทบที่มีต่อระบบนิเวศ การทำลายบรรยากาศของความเป็นชายหาด และลดการแทรกแซงกระบวนการในการฟื้นฟูทางธรรมชาติ 
  • ควรมีนโยบายด้านการจัดการพื้นที่ชายฝั่งโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศชายฝั่งทะเลทั้งระบบ รวมทั้งการคำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และทัศนียภาพโดยรวมของพื้นที่ชายหาดนอกจากวิธีการมองในด้านความมั่นคงของแผ่นดินเพียงอย่างเดียว 
  • การดำเนินมาตรการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนโครงสร้างถาวรและเปลี่ยนมาใช้โครงสร้างชั่วคราวในการป้องกันการกัดเซาะเฉพาะช่วงเวลา เช่น บริเวณที่มีการกัดเซาะไม่รุนแรง พื้นที่กัดเซาะในฤดูมรสุม
  • รัฐควรใช้มาตรการสีขาวหรือมาตรการถอยร่น โดยควรเวรคืนที่ดินในบริเวณที่เกิดการกัดเซาะที่เป็นพื้นที่ว่างเปล่า/พื้นที่ชุมชนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะ โดยแก้ไขกฎหมายเวรคืนเพื่อให้อำนาจกรมโยธาธิการฯและกรมเจ้าท่าในการเวรคืนที่ดินให้เป็นของรัฐได้ และจ่ายเงินชดเชยที่เหมาะสมแก่ชาวบ้านที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งแนวทางนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำงบประมาณไปลงทุนเพื่อก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่
  • ควรมีการประกาศระยะถอยร่น กำหนดระยะทาง มีกฎหมายระยะถอยร่น เช่น โรงแรม/บ้านเรือน ต้องถอยออกไปไกลจากทะเลเป็นระยะทางกี่เมตร เพื่อเป็นแนวกันชน รวมทั้งการออกกฎหมายเกี่ยวกับโฉนดระยะประชิดน้ำที่ต้องกำหนดระยะทางที่ชัดเจน เพื่อให้โอกาสธรรมชาติสามารถคืนสภาพและฟื้นฟูตัวเองได้ 
  • มาตรการสีขาวควรเป็นมาตรการที่รัฐนำมาใช้เป็นลำดับแรก แต่หน่วยราชการไม่ได้ดำเนินการเพราะไม่ได้รับงบประมาณ แต่ถ้าจำเป็นต้องสร้าง ควรทำการส่งเสริมการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมอย่างเข้มงวด
  • ควรคำนึงถึงมิติของการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ขณะเดียวกันมาตรการการกัดเซาะชายฝั่งควรปรับเปลี่ยนไปตามบริบทพื้นที่ โดยรัฐต้องรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน เช่น พื้นที่ที่ชาวบ้านต้องการที่จอดเรือ หน่วยงานควรออกแบบให้โครงสร้างนั้นสามารถจอดเรือได้ หรือในพื้นที่ที่ชาวบ้านต้องการชายหาดที่ปลอดภัย เป็นบรรยากาศชายหาดสาธารณะ หน่วยงานก็ไม่ควรนำโครงสร้างทางวิศวกรรมเข้าไปดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าว
  • ควรสร้างองค์ความรู้ในการป้องกันชายฝั่งให้กับชาวบ้านริมชายฝั่งทะเล เพื่อให้ทุกคนมีชุดข้อมูลและความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับการจัดการชายฝั่ง และการรักษาทรัพยากรชายหาดที่ยั่งยืน ลดการแก้ปัญหาด้วยโครงสร้างทางวิศวกรรมและหันมาใช้มาตรการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการป้องกันการกัดเซาะ


นอกจากข้อเสนอของผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ที่ได้เสนอมาแล้วนั้น  Think Forward Center มีข้อเสนอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยดังนี้

  • รัฐบาลควรรื้อโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพและระบบนิเวศในบางพื้นที่ โดยเฉพาะโครงสร้างที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 
  • รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมมาตรการถ่อยร่นเพื่อนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ และสามารถพัฒนาแหล่งรายได้ของชุมชน หรือการพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ
  • ควรเพิ่มการปลูกป่าบริเวณที่เป็นดินโคลน การเติมทรายชายหาด การปักเสาดักตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลน  การปักเสาคอนกรีตในทะเลเพื่อป้องกันการกัดเซาะ ซึ่งสามารถช่วยอนุรักษ์สัตว์น้ำที่มาอาศัยอยู่ตามหลังแนวเสา 
  • ควรจัดสรรงบประมาณและกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐ โดยการส่งเสริมให้ชุมชนบริเวณชายฝั่งใช้มาตรการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการป้องกันปัญหาการกัดเซาะทั้งระบบ


ภาพจาก Beachlover.net



ภาคผนวก

รายชื่อโครงการเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลเพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พ.ศ. 2566 ที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้จำนวน 38 โครงการ 

โครงการที่เป็นงบผูกพัน

  1. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับภูมิทัศน์ระยะที่ 4 ชายฝั่งหมู่ที่ 4 ต่อเนื่องเขื่อนเดิมถึงบริเวณสะพานสูบน้ำหมู่ที่ 5 ตำบลปะเตระ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ความยาว 928 เมตรงบประมาณ 78.2 ล้านบาท (2563 – 2566) วงเงินทั้งสิ้น 153.35 ล้านบนาท
  2. ฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดชะอำตำบลชะอำอำเภอชะอำจังหวัดเพชรบุรีระยะที่ 2 ความยาว 1,219 เมตร งบประมาณ 35.12 ล้านบาท  (2563 – 2566) วงเงินทั้งสิ้น 74.16 ล้านบาท
  3. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลระยะที่ 3  ชายหาดแตงโม หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียนจังหวัดตรัง ความยาว 603 เมตร งบประมาณ 23.27 ล้านบาท  (2563 – 2566) วงเงินทั้งสิ้น 49.43 ล้านบาท
  4. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งบริเวณศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและพื้นที่ต่อเนื่อง ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 460 เมตร 20.54 ล้านบาท (2563 – 2567) วงเงินทั้งสิ้น 54.26 ล้านบาท
  5. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลบริเวณชายฝั่งอ่าวดงตาล เทศบาลตำบลเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ต่อเนื่องเขื่อนเดิมความยาว 928 เมตร 44.94 ล้านบาทเริ่ม (2563-2566) วงเงินทั้งสิ้น 89.04 ล้านบาท 
  6. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับภูมิทัศน์ระยะที่ 3 บริเวณชายฝั่งหมู่ที่ 4 หมู่ 5 ตำบลปากแตระ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ความยาว 650 เมตร 41.52 ล้านบาท  (2563-2566) วงเงินทั้งสิ้น 96.4 ล้านบาท 
  7. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับภูมิทัศน์ (ระยะที่ 3) พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราชเทศบาล ตำบลสะพิงพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลาความยาว 555 เมตร 20.958 ล้านบาท (2563-2566) วงเงินทั้งสิ้น 76.86 ล้านบาท 
  8. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหมู่ 3 บ้านวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ความยาว 790 เมตร 24.12 ล้านบาท (2563-2566) วงเงินทั้งสิ้น 52.139 ล้านบาท
  9. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพื้นที่ชายฝั่งหมู่ที่ 6 บ้านท้องอ่าว เทศบาลเมืองดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานีความยาว 747 เมตร 13.39 ล้านบาท (2563-2567) วงเงินทั้งสิ้น 39.56 ล้านบาท 
  10. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับภูมิทัศน์ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร (ระยะ 4) ความยาว 920 เมตร 69.03 ล้านบาท ( 2563-2566) วงเงินทั้งสิ้น 147.31 ล้านบาท 
  11. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพื้นที่ชายฝั่งทะเลหมู่ 4 บ้านคอหมู ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ความยาว 710 เมตร 21.236 ล้านบาท (2563-2566) วงเงินทั้งสิ้น 45.66 ล้านบาท 
  12. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหมู่ 10 ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ความยาว 1,017 เมตร 23.388 ล้านบาท (2563-2566) วงเงินทั้งสิ้น 50.3 ล้านบาท 
  13. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพื้นที่ชายฝั่งหมู่ 6 ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ความยาว 633 เมตร 36.59 ล้านบาท (2563-2566) วงเงินทั้งสิ้น 78.245 ล้านบาท
  14. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลบริเวณชายฝั่งอ่าวดงตาล เทศบาลตำบลเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 2 15.93 ล้านบาท (2563 – 2566)
  15. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณชายฝั่งอ่าวดงตาล เทศบาลตำบลเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี (ต่อเนื่องเขื่อนเดิมระยะที่ 2) ความยาว 808 เมตร 15.93 ล้านบาท (2564 – 2567) วงเงินทั้งสิ้น 134.93 ล้านบาท
  16. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพื้นที่ชายหาดหนองแฟบและหาดสนกระซิบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ความยาว 890 เมตร งบประมาณ 4.7 ล้านบาท (2564-2567) วงเงินทั้งสิ้น 59.37 ล้านบาท
  17. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหมู่ที่ 3 หาดดวงตะวัน ตำบลแกลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง งบประมาณ 6.14 ล้านบาท  (2564-2567) วงเงิ้นทั้งสิ้น 77.76 ล้านบาท
  18. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลระยะที่ 2 พื้นที่ชายฝั่งบริเวณศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการสำนักงานตำรวจแห่งชาติและพื้นที่ต่อเนื่องตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 4.66 ล้านบาท (2564-2567) วงเงิ้นทั้งสิ้น 47.58 ล้านบาท
  19. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดคุ้งวิมานตำบลสนามชัยอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ความยาว 528 เมตร 3.68 ล้านบาท (2564-2567) วงเงินทั้งสิ้น 37.57 ล้านบาท
  20. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพื้นที่ชายฝั่งทะเลบ้านปากระวะ ระยะที่ 4 หมู่ 5 ตำบลหน้าสตน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช 5 จุด 75 ล้านบาท 
  21. เขื่อนป้องกันกลิ่นริมทะเลหมู่ที่ 3 ตำบลปากพนังตะวันออกอำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราชความยาว 510 เมตร 20.93 ล้านบาท (2563-2566) วงเงินทั้งสิ้น 44.48 ล้านบาท
  22. โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดชะอำตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี (ระยะที่ 3) ความยาว 314 เมตร 4.53 ล้านบาท (2564-2567) วงเงินทั้งสิ้น 47.95 ล้านบาท
  23. โครงการฟื้นฟูบูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ความยาว 888 เมตร 12.469 ล้านบาท (2564-2567) วงเงินทั้งสิ้น 134.93 ล้านบาท 
  24. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ความยาว 805 เมตร งบประมาณ 8.36 ล้านบาท (2564 – 2567) วงเงินทั้งสิ้น 79.07 ล้านบาท
  25. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ (ระยะที่ 1) พื้นที่ชายฝั่งทะเลตำบลท่าขึ้นอำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราชความยาว 700 เมตร 1 แห่ง 14.77 ล้านบาท (2565 – 2567) วงเงินทั้งสิ้น 56 ล้านบาท
  26. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ (ระยะที่ 2) พื้นที่ชายฝั่งทะเลตำบลท่าขึ้นอำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราชความยาว 2,400 เมตร 1 แห่ง 39.36 ล้านบาท (2565 – 2567) วงเงินทั้งสิ้น 192 ล้านบาท
  27. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล (ระยะที่ 3) บริเวณชายฝั่งหมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 ตำบลปากเเระอำเภอระโนดจังหวัดสงขลา
  28. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์  (ระยะที่ 5) ความยาว 650 เมตร 41.52 ล้านบาท  (2563-2566)
  29. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลบริเวณตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ความยาว 818 เมตร งบประมาณ 6.81 ล้านบาท (2564-2567) วงเงินทั้งสิ้น 86 ล้านบาท
  30. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพื้นที่ชายฝั่งทะเลบ้านปากระวะ (ระยะที่ 4) หมู่ 5 ตำบลหน้าสตน อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช 5.75 ล้านบาท  (2564-2567)  วงเงินทั้งสิ้น 72.73 ล้านบาท
  31. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลตำบลท่าชนะ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ความยาว 1,513 เมตร งบประมาณ 6.27 ล้านบาท (2564-2567) วงเงินทั้งสิ้น 79.17 ล้านบาท
  32. ฟื้นฟูบูรณะเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวประจวบคีรีขันธ์ ถนนปิ่นอนุสรณ์อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ความยาว 454 เมตร งบประมาณ 3.87 ล้านบาท (2564-2567) วงเงินทั้งสิ้น 39.55 ล้านบาท
  33. เขื่อนป้องกันจะเป็นริมทะเลพร้อมปรับภูมิทัศน์ระยะที่ 1 พื้นที่ชายฝั่งทะเลตำบลท่าขึ้นอำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราช 14.77 ล้านบาท (2565-2567) วงเงินทั้งสิ้น 56 ล้านบาท  
  34. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ระยะที่ 2 พื้นที่ชายฝั่งทะเลตำบลท่าขึ้นอำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราชความยาว 2,400 เมตร 39.36 ล้านบาท (2565-2567) วงเงินทั้งสิ้น 192 ล้านบาท
  35. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ระยะที่ 5 บริเวณชายฝั่งทะเลตำบลปากเเระอำเภอระโนดจังหวัดสงขลาความยาว 535 เมตร 18.65 ล้านบาท (2565-2567) วงเงินทั้งสิ้น 77.25 ล้านบาท
  36. ฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบ้านผาแดงตำบลหาดทรายรีอำเภอเมืองชุมพรความยาว 450 เมตร 11.27 ล้านบาท (2565-2567) วงเงินทั้งสิ้น 42.75 ล้านบาท 
  37. เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพื้นที่ชายฝั่งทะเลบริเวณชุมชนบางกะไซ ตำบลบางกะไซ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรีความยาว 1,100 เมตร 21.24ล้านบาท (2565-2567) วงเงินทั้งสิ้น 88 ล้านบาท 
  38. ฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวดงตาลตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีความยาว 400 เมตร 12.66 ล้านบาท (2565-2567) วงเงินทั้งสิ้น 48 ล้านบาท




รายการอ้างอิง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า