เดชรัต สุขกำเนิด
ตามที่ วุฒิพงศ์ ทองเหลา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปราจีนบุรี เขต 2 พรรคก้าวไกล ได้เข้าไปตรวจสอบการระเบิดเหนือบ่อขยะเคมีอุตสาหกรรมของ บ.เวสท์ทูเอ็นเนอร์ยี่ ที่ ต.ลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา
วุฒิพงศ์ ทองเหลา บอกว่า ปัญหาการจัดการขยะอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการลักลอบทิ้งขยะกากอุตสาหกรรม และการเกิดอุบัติภัยสารเคมี เป็นปัญหาเรื้อรังในพื้นที่ภาคตะวันออกมาเป็นเวลานาน เพราะภาครัฐขาดการตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างจริงจัง ยิ่งเมื่อรัฐบาล คสช. ประกาศปล่อยผีให้โรงงานและบ่อขยะอุตสาหกรรม ตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ให้ผู้ประกอบการสามารถจัดตั้งโรงงานและบ่อขยะได้ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องทำตามกฎหมายผังเมือง ก็ยิ่งส่งผลให้โรงงานและบ่อขยะกระจายกันไปทั่วพื้นที่ภาคตะวันออก
วุฒิพงศ์ ทองเหลา ชี้ว่า โรงงานที่เกิดระเบิดเมื่อวันเสาร์นี้ก็เป็นหนึ่งในโรงงานที่ได้รับปล่อยผีเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้จากพื้นที่รอบบ่อขยะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และอยู่ไม่ไกลจากชุมชน การที่มีบ่อขยะอยู่ใกล้ๆ ชุมชน ก็ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องในชุมชนเป็นอย่างมาก ชุมชนเองก็ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจสอบว่า บ่อขยะแต่ละแห่งเก็บ/ทิ้งสารเคมีอะไรบ้าง? และดำเนินการเป็นไปตามแนวทางที่ควรจะเป็นหรือไม่? เพราะชุมชน/ท้องถิ่นไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบบ่อขยะของเอกชน จนเกิดเป็นคำถามว่า เมื่อไรที่การจัดการขยะอุตสาหกรรมของไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
Think Forward Center วิเคราะห์ว่า การจัดการขยะอุตสาหกรรมของไทยจะเปลี่ยนไปก็ต่อเมื่อ (ก) มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ (ข) มีการกำหนดขั้นตอนและกระบวนการให้ใบอนุญาตที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องผังเมือง และ (ค) กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น/ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุญาต และตรวจสอบการดำเนินงานของกิจการจัดการขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ของตน
เพราะฉะนั้น การจัดการขยะของไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดมากขึ้น Think Forward Center จึงเสนอให้มีการดำเนินการใน 4 ข้อต่อไปนี้
- ผลักดันกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ที่ภาคประชาชนได้ยกร่าง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลชนิดและปริมาณของสารเคมีในบ่อขยะและโรงงานขยะในพื้นที่ของตนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการตรวจสอบการดำเนินการของบ่อขยะ และการป้องกันและการเผชิญเหตุอุบัติภัยสารเคมีในพื้นที่
- ยกร่างพระราชบัญญัติในการควบคุมธุรกิจการจัดการขยะ/ของเสียอุตสาหกรรมเป็นการเฉพาะ เพื่อควบคุมการดำเนินการของบ่อขยะและโรงงานขยะอย่างเข้มงวด เช่น
- การได้รับใบอนุญาตจัดการขยะอุตสาหกรรมจะต้องผ่านกระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทุกกรณี และต้องเลือกใช้เทคโนโลยี/เครื่องจักรที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
- การได้รับใบอนุญาตจัดการขยะอุตสาหกรรมต้องเป็นไปตามกฎหมายผังเมืองเท่านั้น พื้นที่บ่อขยะและโรงงานต้องอยู่ห่างจากชุมชน และต้องมีพื้นที่กันชนรอบข้าง เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง
- การดำเนินการจัดการขยะอุตสาหกรรมจะต้องทำตามกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ซึ่งกล่าวถึงข้างต้น อย่างเข้มงวด
- การประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อต่อใบอนุญาตทุกปี เพื่อควบคุมและตรวจสอบการดำเนินงานของบ่อขยะ/โรงงานขยะ อย่างเข้มงวด
- กรมควบคุมมลพิษ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีอำนาจในการควบคุม ในการตรวจสอบ และระงับการให้ใบอนุญาตของบ่อขยะ/โรงงานขยะได้ทันทีที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
- ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจในการทบทวนการให้ใบอนุญาตกับธุรกิจที่รับจัดการขยะอุตสาหกรรม ที่ขัดกับกฎหมายผังเมืองที่ได้รับยกเว้นตามประกาศ คสช. ที่ 4/2559 ทั้งหมด เพื่อมิให้ก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนและพื้นที่รอบข้าง หากบ่อขยะ/โรงขยะแห่งนั้นๆ มิได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดการขยะอุตสาหกรรม และมิได้มีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
- รัฐบาลและหน่วยราชการจะต้องเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา และเยียวยาประชาชนในพื้นที่ที่มีกรณีอุบัติภัยสารเคมีและการลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรมในทันทีโดยไม่รอช้า หรือรอการฟ้องร้องดำเนินคดีเสียก่อน เพราะการทอดเวลาให้เนิ่นนานออกไปจะทำให้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แผ่ขยายออกไปในวงกว้าง หรือส่งผลกระทบรุนแรง/เรื้อรังมากขึ้น