นุชประภา โมกข์ศาสตร์
ปกติแล้วเราอาจได้ยินปัญหาเกี่ยวกับมลพิษมากันอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางกลิ่น มลพิษทางน้ำ มลพิษทางเสียง แต่น้อยคนที่จะรู้ว่ายังมีมลพิษอีกอย่างหนึ่งที่ถูกมองข้าม นั่นคือ “มลภาวะทางแสง”
แน่นอนว่า มลภาวะทางแสงมาพร้อมกับความเจริญหรือความทันสมัยของบ้านเมือง เมื่อบ้านเรือนมีการใช้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น บ้านเมืองมีถนนหนทางที่มีแสงไฟนำทางมากขึ้น และมีห้างร้านและโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น แสงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น จากจุดที่มืดมิด สู่จุดที่สว่าง และสว่างไสว มาจนถึงสว่างจ้าจนเกินสมควร
ที่มา: nomadsworld.com
จริงๆ แล้ว สิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางแสงสิ่งแรกไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นสัตว์ที่ใช้แสงนำทางในการผสมเกสรอย่างผีเสื้อกลางคืน เมื่อแสงฟุ้งมากเข้าจะทำให้หลงทิศทางบินไปผสมเกสรไม่ได้ หรือการบินหลงทิศทางในช่วงอพยพของนกบางสายพันธุ์ แสงที่ฟุ้งขึ้นไปบนท้องฟ้าอาจทำให้นกบินมาชนกระจก/บินหลงทางในบริเวณชุมชนเมืองจนเหนื่อยตาย รวมทั้งการเดินหลงทางของลูกเต่าทะเลบางสายพันธุ์ จากแสงเรืองไปบนท้องฟ้าบริเวณริมชายหาด ทำให้ลูกเต่าที่เพิ่งฟักออกจากไข่เดินหลงทางขึ้นไปบนบกไม่ยอมเดินลงไปในทะเลตามธรรมชาติ และอาจถูกรถชนบนถนนหรือเกิดภาวะขาดน้ำและทำให้ตายได้
เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารยิ่งพัฒนาขึ้น มนุษย์เองก็หนีไม่พ้นภาวะ “สว่างจ้า” จนเกินสมควร โดยเฉพาะบริเวณใจกลางเมืองหรือย่านเศรษฐกิจ เช่น สุขุมวิท ทองหล่อ สีลม สยาม ฯลฯ หรือพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับถนน สนามกีฬา ป้ายสปอร์ตโฆษณาขนาดใหญ่
แม้ว่า ปัญหามลภาวะทางแสงอาจไม่ได้เป็นที่กล่าวถึงเหมือนมลพิษในด้านอื่นๆ ทั้งนี้ ก็อาจเป็นเพราะผู้ได้รับผลกระทบรุนแรง เพิ่งปรากฏตัวในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ แต่จากแนวทางการเติบโตของเมืองและเศรษฐกิจก็คาดว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางแสงจะเพิ่มมากขึ้น และจะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการควบคุมและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ฉะนั้น Think Forward Center จึงขอชวนคุยในบทความนี้กัน
ผลกระทบจากมลพิษทางแสง
มลภาวะทางแสงส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของคนเมือง ไม่แพ้มลพิษที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เนื่องจากหลายครั้งการที่ร่างกายได้รับปริมาณแสงที่มากและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมงอาจทำให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น การหลั่งเมลาโทนินในยามค่ำคืนมีปัญหา เกิดภาวะนอนหลับยากหรือนอนไม่หลับต่อเนื่องกันหลายวัน หรืออาจทำให้ร่างกายเหนื่อยล้าจากการหลับไม่ลึก และมีผลต่อระบบประสาท ระบบไหลเวียนเลือด และอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังในระยะยาวตามมาได้
นอกจากนี้การเปิดไฟหรือจอ LED ตลอด 24 ชั่วโมง ย่อมทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อพลเมืองหรือประชาชนที่ผ่านไปมา เช่น แสงที่เจิดจ้าไปกระทบกับดวงตา ทำให้มีการแสบตา ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด หรืออาจทำให้สุขภาพสายตาแย่ลงในระยะยาว รวมทั้งส่งผลต่อสุขภาพ/พัฒนาการโดยรวมของเด็กเล็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และอาจสร้างความเดือดร้อนรำคาญจากการมีแสงไฟกระพริบอยู่ตลอดเวลา
ตัวอย่างเช่น ในย่านทองหล่อ ซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจหรูใจกลางกรุงเทพมหานคร เต็มไปด้วยห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง คอนโดมิเนียมหรู และที่พักผ่อนหย่อนใจในยามค่ำคืน พบว่า มีป้ายโฆษณาไดโอดเปล่งแสง หรือ LED (Light – Emitting Diode) ยักษ์ บางป้ายมีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 32 เมตร หรือ 256 ตารางเมตร ถูกติดตั้งอยู่บนอาคารกินพื้นที่ 6 คูหา เปิดโฆษณาหลากหลายเนื้อหาสลับไปมาทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้ผู้พักอาศัยบริเวณนั้นซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้ หลายคนมีอาการนอนไม่หลับ รวมทั้งอาการปวดศีรษะตลอดเวลา บางคนมีปัญหาสุขภาพ จนเกิดภาวะเครียด จนต้องออกมาร้องเรียนขอให้ยุติการเปิดใช้ป้าย LED ดังกล่าว
ภาพตัวอย่างการประท้วงป้าย LED ซอยทองหล่อ ในปลายปี 2564
ภาพจาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000127742
ในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน เกิดกรณีที่มีการร้องเรียนโดยเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ปล่อยเช่า ที่ได้รับผลกระทบจากป้ายโฆษณา LED ที่มีขนาดเท่ากับตึก 3 ชั้น โดยแสงจากป้ายดังกล่าวส่องเข้ามายังบริเวณพื้นที่ที่เป็นห้องเช่า ทำให้เกิดเป็นแสงกระพริบตลอดเวลา ผลคือ ทำให้ไม่มีคนมาเช่าห้องพัก และเจ้าของห้องพักต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท ดังนั้นนี่คือตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบที่เกิดจากมลพิษทางแสง
ปัญหากลไกการควบคุมมลภาวะทางแสง
ที่มา: assets.madan.fun
คำถามที่น่าสนใจคือ ปัญหามลพิษทางแสงที่เกิดจากการมีแสงไฟจากถนน ป้ายและสปอร์ตโฆษณาขนาดใหญ่ตามอาคารสำนักงาน หรือตามสนามกีฬา ที่เปิดในยามค่ำคืนจนทำให้ผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างนั้นมีกฎหมายควบคุม หรือมีหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลปัญหานี้หรือไม่? และรัฐรวมทั้งบุคคลที่ทำให้มีแหล่งกำเนิดแสงดังกล่าวนั้น ควรจะเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อผลกระทบเหล่านี้อย่างไร?
กรณีมลภาวะทางแสงที่ทองหล่อ เกิดคำถามเฉพาะที่น่าสนใจว่า การดัดแปลงอาคารโครงเหล็กของป้ายยักษ์ที่มีพื้นที่ถึง 256 ตารางเมตร นั้นเหตุใดจึงลอดสายตาของเจ้าพนักงานท้องถิ่นไปได้ แล้วการติดป้ายโฆษณาจอยักษ์ในลักษณะนี้มีกฎหมาย หรือข้อบังคับที่จะต้องขออนุญาตหรือรับฟังความคิดเห็นของผู้พักอาศัยในย่านดังกล่าวก่อนหรือไม่ เพื่อไม่ให้มีการติดตั้งจอ LED ขนาดใหญ่จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัยเหมือนเช่นที่ผ่านมา
ตัวอย่างประเทศที่ประสบปัญหามลภาวะทางแสง
ฮ่องกง เป็นประเทศที่ประสบปัญหามลภาวะทางแสงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยแสงส่วนใหญ่มาจากแสงไฟบนถนน แสงไฟจากสนามกีฬา ไซส์ก่อสร้าง และแสงจากป้ายโฆษณา (billboard) ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การท่องเที่ยวของฮ่องกงก็เติบโตขึ้นจากการแสดงแสงไฟในยามค่ำคืน ที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้เข้ามาเที่ยวฮ่องกงเพื่อมาดูการแสดงแสงไฟชื่อ “The Symphony of Lights” โดยเป็นการยิงแสงเลเซอร์ขึ้นไปบนท้องฟ้าและตึกสูงและมีการแสดงดนตรีประกอบการแสดง มีตึกสูงจำนวน 44 แห่งและแหล่งแลนด์มาร์คสำคัญที่อยู่ในย่านอ่าววิคตอเรีย การแสดง The Symphony of Lights จึงเป็นการแสดงที่น่าตื่นตาตื่นใจและสวยงาม สีสันของการแสดงแสงไฟนี้ทำให้ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาไม่เงียบเหงา และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมและรับชมโชว์ดังกล่าว
ภาพการแสดง The Symphony of Lights
ภาพจาก https://www.hotels.com/go/hong-kong/best-kowloon-nightlife-experiences
แต่แสงไฟเหล่านี้กลับส่งผลกระทบต่อผู้ที่พักอาศัยในย่านเมืองและธุรกิจ โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพ การพักผ่อนและการนอน โดยแสงที่มาจากจอ LED จากการฉายภาพและวิดีโอในฮ่องกงเป็นสาเหตุของปัญหามลพิษทางแสง ตัวอย่างเช่น ย่าน จิมซาจุ่ย (Tsim Sha Tsui) ที่พบว่ามีระดับความสว่าง/เข้มของแสงประมาณ 1200 เท่า ของท้องฟ้าในยามค่ำคืน อีกทั้งงานศึกษาของมหาวิทยาลัยฮ่องกงยังพบว่า พื้นที่ใจกลางเมืองและศูนย์กลางธุรกิจในฮ่องกง เช่น มงก๊ก (Mong kok) หว่านจ๋าย (Wan chai) แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นย่านร้านค้า โรงแรม ภัตตาคาร มีระดับความเข้มของแสงสูงถึง 500 เท่า ของพื้นที่ในชนบท
ภาพจาก https://www.hotels.com/go/hong-kong/best-kowloon-nightlife-experiences
ถึงแม้การแสดงแสงไฟและป้ายโฆษณาจะได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว แต่การแสดงดังกล่าวก็ทำให้เกิดปัญหาในด้านมลพิษทางแสงเช่นเดียวกัน ผู้พักอาศัยที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางแสงได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา โดยมีการพูดถึงแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังในปี 2008-2009 รัฐบาลฮ่องกงเข้าใจดีถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง และพยายามจะหาทางป้องกันเพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผลกระทบทางสุขภาพ เช่น ปัญหาสุขภาพจากการนอนไม่หลับ การปรับเปลี่ยนนาฬิกาชีวิต การทำงานของระบบฮอร์โมน ปัญหาสุขภาพจิต ความเครียด ที่อาจส่งผลต่อการทำงานของพลเมือง
ดังนั้น รัฐบาลฮ่องกงจึงพยายามแก้ปัญหาผ่านการศึกษาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางแสงในพื้นที่ต่างๆ การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบกับต่างประเทศ ต่อมาฮ่องกงได้ตั้งคณะทำงานด้านมลพิษทางแสงขึ้นในปี 2011 เพื่อดำเนินการตามนโยบายด้านการป้องกันและบรรเทาผลกระทบ จนนำมาสู่การให้คำแนะนำในการจัดการปัญหาร่วมกัน การกำหนดนโยบายเพื่อลดผลกระทบทางแสงและให้คำแนะนำกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในการลดการใช้พลังงานและจำกัดปริมาณแสงเพื่อลดความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้พักอาศัย รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบจากมลพิษทางแสง การขอความร่วมมือในการเปิดปิดไฟให้เป็นเวลาเพื่อไม่ให้กระทบต่อพลเมืองและผู้พักอาศัย รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
ข้อเสนอ
Think Forward Center เห็นว่า ปัญหามลภาวะทางแสงกำลังจะมีผลกระทบกับประชาชนในเมืองใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงควรเตรียมมาตรการในป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ โดย Think Forward Center เสนอว่า รัฐบาลควรดำเนินมาตรการ ดังต่อไปนี้
- รัฐบาลควรพัฒนาข้อกำหนดในการติดป้ายโฆษณา เช่น ต้องตั้งห่างจากชุมชน/ตึกสูงเป็นระยะทางตามที่กำหนด ควรกำหนดขนาดของป้ายไม่ให้มีขนาดใหญ่เกินไป และกำหนดปริมาณแสงไฟ ทิศทางการส่องสว่างป้องกันการรบกวนผู้พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง
- รัฐบาลและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีการใช้แสงมาก (เช่น เทศบาลนคร) ควรมีการตั้งหน่วยงานด้านการควบคุมผลกระทบจากมลภาวะทางแสง (อาจอยู่ในกรมควบคุมมลพิษ หรือในสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของเทศบาล) เข้ามาดำเนินการตรวจสอบ และแก้ไขบริเวณพื้นที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากแสง เช่น ใจกลางเมือง บริเวณถนน ทางด่วน ห้างสรรพสินค้า ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ฯลฯ รวมถึงการเปิดช่องทางร้องเรียนผลกระทบทางแสงสำหรับประชาชน และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง ก่อนดำเนินการติดป้ายโฆษณา/ไฟที่มีแสงรบกวน
- รัฐบาลควรเข้ามาเป็นผู้ส่งเสริมหรือสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ ในการจัดทำแนวทางปฏิบัติในการป้องกันผลกระทบจากมลภาวะทางแสงให้กับภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมปริมาณแสงจากป้ายโฆษณา ไฟถนน รวมถึง เสนอให้ผู้ประกอบการให้ปิดโฆษณาในช่วงเวลากลางคืน เช่น ช่วงเวลา 21.00-06.00 น. เนื่องจากไม่ใช่ช่วงเวลาของธุรกิจ
- ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมโฆษณา ควรช่วยกันพัฒนาส่งเสริมการติดตั้งป้ายโฆษณาแบบลดการกระจายแสง หรือการใช้โซลาร์เซลล์และระดับแสงที่เหมาะสม ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัยบริเวณใกล้แหล่งกำเนิดแสง โดยรัฐบาลอาจช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีต่างๆ
- ในกรณีที่มีการติดตั้งป้ายโฆษณาหรืออื่นๆ ที่มีแสงไฟที่มีความสว่าง จนกระทบรบกวนต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน รัฐบาลควรกำหนดแนวทาง/มาตรการการจ่ายเงินชดเชยกรณีที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางแสง ให้เป็นธรรมและสามารถบังคับใช้ได้ในวงกว้าง
- รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรส่งเสริมให้มี “พื้นที่อนุรักษ์ด้านความมืด” เช่น พื้นที่ที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวด้านการดูดาว หรือการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ การชมหิ่งห้อย หรือการเรียนรู้ระบบนิเวศช่วงกลางคืน
เอกสารอ้างอิง
ปีดิเทพ อยู่ยืนยง, 2563. คู่มือป้องกันมลภาวะทางแสง (Light Pollution) ฉบับประชาชน คู่มือมลภาวะทางแสง-ฉบับประชาชน-2-1-1.pdf (cmu.ac.th)
ผู้จัดการออนไลน์. 2564. “มลพิษทางแสง” ป้ายโฆษณา LED รุกล้ำที่พักอาศัยย่านทองหล่อ ข้องใจ จนท.ยันผิดแต่ยังไม่ถูกรื้อ. https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000120284
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ. 2565. เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด. https://darksky.narit.or.th/
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์. “มลพิษทางแสง” ปัญหาที่หลายคนคิดไม่ถึง https://www.cigna.co.th/health-wellness/tip/jigsawforgoodlife-ep14
The matter. 2565. มลพิษ ‘แสง’ จากป้ายโฆษณา: ปัญหาที่จะกระทบชีวิตคนกรุงมากขึ้นเรื่อยๆ.https://thematter.co/social/thonglor-led-billboard-light-pollution/164475
Lau Sum Yi et. all. 2014. Light Pollution in Hong Kong. City University of Hong Kong.