อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
เดชรัต สุขกำเนิด
ก่อนหน้านี้ มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมหลายครั้ง บริเวณข้างถนนหมายเลข 331 ใกล้กับจุดกลับรถเยื้องกับหน้าห้างสรรพสินค้าโลตัส โก เฟรช เกาะโพธิ์ พื้นที่ ม.4 ต.ท่าบุญมี อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี โดยเครือข่ายภาคประชาชน “คนหาทำ” ให้ข้อมูลว่า กากอุตสาหกรรมที่ถูกลักลอบนำมาทิ้ง ทำให้บริเวณจุดทิ้งกากของเสียมีลักษณะเป็นดินปนเปื้อนสารสีดำ ส่งผลให้น้ำเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็น ต้นหญ้าวัชพืชในบริเวณนั้นตายเป็นวงกว้าง
ประกอบฝนตกเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กากของเสียเหล่านี้ถูกพัดไหลลงสู่คลองท่าบุญมี ซึ่งเชื่อมต่อกับคลองหลวง คลองพานทอง ก่อนจะลงสู่แม่น้ำบางปะกง ส่งผลให้น้ำในคลองทุกเส้นที่เชื่อมต่อกันมีสีดำและกลิ่นเหม็น ปลาและสัตว์น้ำตาย และไม่สามารถนำน้ำในคลองไปใช้การเกษตรและเลี้ยงปลาได้ ส่งผลกระทบโดยตรงแก่ผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ม.3 – ม.4 ต.ท่าบุญมี อ.เกาะจันทร์ และ ม.9 – ม.10 ต.นาเริก อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
จนเมื่อวันที่ 23 ก.พ.66 ช่วงเวลาประมาณ 04.30 น.เครือข่ายภาคประชาชน พบรถบรรทุกกำลังลักลอบทิ้งของเสีย จึงเข้าสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลทะเบียนรถบรรทุกเพื่อใช้เป็นหลักฐาน ก่อนจะได้หลักฐานเพิ่มเติมจากกล้องวงจรปิดบริเวณใกล้เคียง พร้อมพาผู้เสียหายเข้าร้องเรียนต่อนายก อบต.ท่าบุญมี และร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเกาะจันทร์ ให้สืบสวนหาผู้กระทำผิดและดำเนินคดีตามกฎหมาย
เป็นเหตุให้ เวลา 15.00 น. ในวันเดียวกัน ชวาล พลเมืองดี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี เขต 3 พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ จากศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เดินทางมายังมาจุดทิ้งกากของเสีย พร้อมกับเก็บตัวอย่างกากอุตสาหกรรมไปตรวจเพื่อค้นหาว่าเป็นสารเคมีชนิดใด เพื่อสันนิษฐานต่อไปว่าเป็นสารประกอบของอุตสาหกรรมชนิดใด
แม้เบื้องต้นจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า กากของเสียชนิดนี้มาจากโรงงานอุตสาหกรรมแห่งใด แต่ ชวาล พลเมืองดี และเครือข่ายภาคประชาชน คาดการณ์ว่า การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมครั้งนี้ และหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้นตลอดแนวถนนหมายเลข 331 นี้ อาจเกี่ยวพันกับบ่อฝังกลบโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม จ.สระแก้ว ที่ถูกสั่งปิดก่อนหน้านี้
โดย เครือข่ายภาคประชาชน มีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ดังนี้
ระยะสั้น
แจ้งความร้องทุกข์กับสำนักงานโรงงานอุตสาหกรรม ศูนย์ดำรงธรรม และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ดำเนินการ ดังนี้
- ให้ดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายมลพิษทันที
- และให้ดำเนินการนำวัตถุอันตรายออกจากพื้นที่ไปอยู่ในที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายทันที
- เอาผิดกับเจ้าพนักงานควบคุมวัตถุอันตรายที่ละเลยทำปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้มีเหตุการณ์ลักลอบทิ้ง
- ดำเนินการเอาผิดจับผู้ปลดปล่อยมลพิษสู่พื้นที่สาธารณะอย่างถึงที่สุด
- เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูระบบนิเวศ
ระยะยาว
- กระจายอำนาจในการกำกับไม่ขึ้นอยู่เฉพาะ “กรมโรงงาน”
- ท้องถิ่นมีอำนาจในการสั่งปิดโรงงาน หากตั้งอยู่นอกพื้นที่ผังเมืองอนุญาต
- งบประมาณกองทุนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยระดมทุนจากโรงงานผู้ก่อกำเนิดและผู้รับบำบัดกำจัด/รีไซเคิลกากอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ในเชิงนโยบาย พรรคก้าวไกล ขอเสนอ ให้ออกกฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers หรือ PRTR) ที่กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ประชาชนอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ปล่อยให้มีการจัดตั้งโรงงานขยะ นอกพื้นที่ผังเมือง รวมถึงให้อำนาจท้องถิ่นเสนอปิดโรงงานนอกพื้นที่อนุญาต และเสนอปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อยับยั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้
สุดท้าย พรรคก้าวไกลจะเสนอร่างกฎหมายการจัดการขยะทั้งระบบ (ขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม และอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างทางกฎหมายในการจัดการขยะ (ซึ่งฝากไว้กับกฎหมายโรงงาน) และให้หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมีอำนาจในการควบคุมดูแลการจัดการขยะได้โดยตรง