นโยบายแก้ไขปัญหาช้างป่าใน 6 จังหวัดภาคตะวันออก

Think Forward Center
พรรคก้าวไกล 6 จังหวัดภาคตะวันออก

ช้างป่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศไทยและของโลก ในขณะที่ทั่วโลกกำลังกังวลเรื่องจำนวนช้างป่า แต่ประเทศไทยกำลังมีจำนวนช้างป่าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี จำนวนช้างป่าที่เพิ่มขึ้นก็ได้ส่งผลกระทบและความเสียหายกับพี่น้องประชาชนที่อยู่รอบผืนป่า โดยเฉพาะในภาคตะวันออก 

พรรคก้าวไกล 6 จังหวัดภาคตะวันออกและ Think Forward Center เห็นว่า รัฐบาลมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลและป้องกันมิให้ช้างป่าที่เพิ่มจำนวนขึ้น และออกหากินในพื้นที่ที่กว้างขึ้น ก่อผลกระทบและ/หรือความเสียหายกับพี่น้องประชาชน และหากเกิดผลกระทบจากช้างป่าเกิดขึ้น รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงต้องแสวงหา/พัฒนาแนวทางที่จะทำให้ผลกระทบจากช้างป่าเกิดขึ้นน้อยที่สุด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และแนวทางดังกล่าวจะต้องเป็นแนวทางที่ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการนั้นด้วย 


นโยบายการแก้ไขปัญหาช้างป่า

พรรคก้าวไกล 6 จังหวัดภาคตะวันออกและ Think Forward Center ขอเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาช้างป่า โดยแยกเป็นระยะเวลาในการดำเนินการ 3 ระยะด้วยกันคือ

  • ระยะสั้น คือ การป้องกันปัญหาเฉพาะหน้า และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2566
    • การปรับค่าชดเชย/เยียวยาให้เป็นธรรมกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
    • การจัดตั้งทีมอาสาป้องกันช้างป่าในทุกหมู่บ้านรอบป่าตะวันออก (300 หมู่บ้าน)
    • การจัดตั้งศูนย์บัญชาการการป้องกันช้างป่าภาคตะวันออก (war room)
  • ระยะสั้นและปานกลาง คือ มาตรการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาช้างป่าในระยะยาว โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 เป็นต้นไป จนกว่าแก้ไขปัญหาได้ลุล่วง โดยมีมาตรการสำคัญ 4 ประการ ดังนี้
    • การพัฒนาเทคโนโลยีระบบติดตามเฝ้าระวังช้าง
    • การล่อช้างเพื่อกลับเข้าสู่พื้นที่ป่า/พื้นที่อาศัยเฉพาะของช้าง
    • การทดลองทำแนว/คูกันช้างรูปแบบต่างๆ และการประเมินผลอย่างจริงจัง
    • การลดกิจกรรมของมนุษย์ (และราชการ) ในพื้นที่ป่า/พื้นที่อาศัยของช้าง 
  • ระยะปานกลางและระยะยาว หลังจากการดำเนินมาตรการในระยะสั้นและระยะปานกลาง จนปรากฎผลชัดเจนระดับหนึ่งแล้ว ก็จะก้าวเข้าสู่มาตรการที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ได้แก่
    • การจัดทำพื้นที่อาศัยถาวรสำหรับช้างป่า
    • การจัดการท่องเที่ยวแนวซาฟารี เพื่อเป็นรายได้สำหรับท้องถิ่น/ชุมชน
    • การได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตและกลไกทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ


รายละเอียดของนโยบายแต่ละข้อมีดังนี้

1. การปรับค่าชดเชย/เยียวยาให้เป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

การจ่ายค่าชดเชย/เยียวยาที่เป็นธรรม เป็นมาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลย เพียงแต่ปรับแก้ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาลในการแก้ไข/ป้องกันปัญหาช้างป่าด้วย โดยพรรคก้าวไกล 6 จังหวัดภาคตะวันออกและ Think Forward Center เสนอให้มีจัดตั้งกองทุนดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าและสัตว์ป่า ซึ่งเป็นกองทุนระดับประเทศ และให้สามารถเบิกจ่ายให้ผู้ได้รับผลกระทบฝความเสียหายจากกองทุนฯดังกล่าวได้โดยตรง และสามารถเบิกจ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบได้ทันท่วงที และเสนออัตราการจ่ายชดเชยที่ควรปรับแก้เป็นดังนี้

  • ค่าชดเชยต่อชีวิต โดยกรณีเสียชีวิตควรได้รับค่าชดเชย 1,000,000 บาท/ราย และในกรณีบาดเจ็บสาหัส/ทุพพลภาพควรได้รับค่าชดเชย 500,000 บาท/ราย
  • ค่าชดเชยต่อผลผลิตการเกษตร ต้องพิจารณาตามความเสียหายที่ปรากฏเช่น จำนวนต้นที่เสียหาย หรือ พื้นที่ตารางเมตรที่เสียหายจริง และอัตราค่าชดเชย/เยียวยาจะคำนวณจากค่าเสียโอกาสของผลตอบแทนที่เกษตรกรควรจะได้รับจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดังแสดงในตารางนี้


ตาราง อัตราค่าชดเชย/เยียวยาการได้รับความเสียหายจากช้างป่า กรณีไม้ผล/ไม้ยืนต้น


ตาราง อัตราค่าชดเชย/เยียวยาการได้รับความเสียหายจากช้างป่า กรณีพืชไร่

  • ค่าชดเชยต่อบ้านเรือน/ทรัพย์สินอื่นๆ จะพิจารณาตามมูลค่าความเสียหาย และ/หรือการซ่อมแซมเพื่อให้คืนสภาพเดิม


2. การจัดตั้งทีมอาสาป้องกันช้างป่าในทุกหมู่บ้านรอบป่าตะวันออก (300 หมู่บ้าน)

ทีมอาสาป้องกันช้างป่าเป็นบุคลากรที่สำคัญมากในการดูแลและปกป้องความปลอดภัยให้ประชาชน แต่ปัญหาในปัจจุบันคือ (ก) ทีมอาสาป้องกันช้างป่ายังมีไม่ครบทุกหมู่บ้าน (ข) ทีมอาสาป้องกันช้างป่าไม่มีอุปกรณ์/งบประมาณเพียงพอที่จะดำเนินการ (ค) ทีมอาสาป้องกันช้างป่าไม่มีระบบสวัสดิการ/สวัสดิภาพการทำงานที่เพียงพอสำหรับงานที่มีความเสี่ยง และ (ง) ทีมอาสาป้องกันช้างป่าในแต่ละหมู่บ้านไม่ได้ทำงานประสานกัน จนบางครั้งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างทีมอาสาป้องกันช้างป่าของต่างหมู่บ้านกัน

เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกล 6 จังหวัดภาคตะวันออกและ Think Forward Center เสนอ

  • จัดตั้งและให้ความรู้/ทักษะแก่ทีมอาสาป้องกันช้างป่าทั้ง 300 หมู่บ้าน รอบพื้นที่ป่าตะวันออก ให้เสร็จภายในปี พ.ศ. 2566
  • ทีมอาสาป้องกันช้างป่าต้องมีอุปกรณ์ที่เพียงพอในการรับมือช้างป่า (เช่น รถยนต์, ไฟฉายแรงสูง, โดรนจับความร้อนเพื่อใช้ค้นหาช้างในดงไม้ หรือในช่วงกลางคืน, ฯลฯ) และได้รับงบประมาณในการดำเนินการที่เพียงพอ ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท/ทีม/ปี
  • ทีมอาสาป้องกันช้างป่าต้องได้รับสวัสดิการพิเศษ โดยเฉพาะค่าประกันชีวิต (วงเงิน 1 ล้านบาท) ค่าประกันอุบัติเหตุ และค่าประกันสุขภาพในการทำงาน
  • การทำงานของทีมป้องกันช้างแต่ละหมู่บ้านต้องประสานงานกัน ภายใต้ศูนย์บัญชาการการป้องกันช้างป่าภาคตะวันออก เพื่อป้องกันมิให้เกิดความสับสน และความขัดแย้งในการดำเนินการ


3. การจัดตั้งศูนย์บัญชาการการป้องกันช้างป่าภาคตะวันออก (war room)

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า หลายครั้งการป้องกันและการขับไล่ช้างป่าที่เข้ามาใกล้ชุมชนไม่ได้ทำงานประสานกัน จนกลายเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในอีกพื้นที่หนึ่งได้ รวมถึงทีมอาสาป้องกันช้างป่า/ชุมชนก็ไม่ได้รับข้อมูลเตือนภัยเรื่องช้างป่าอย่างทันท่วงที 

เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกล 6 จังหวัดภาคตะวันออกและ Think Forward Center จึงเสนอให้ตั้ง ศูนย์บัญชาการการป้องกันช้างป่าภาคตะวันออก (war room) เพื่อป้องกันมิให้เกิดความสับสน และความขัดแย้งในการดำเนินการ เช่น การขับไล่ช้างป่าในระหว่างหมู่บ้านใกล้เคียง การล่อ/ต้อนช้างกลับเข้าสู่ป่า และต้องดำเนินการตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

การจัดตั้งศูนย์บัญชาการการป้องกันช้างป่าภาคตะวันออก สามารถดำเนินการได้เลย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่จะต้องมีผู้แทนจากภาคประชาชน ภาครัฐ อื่นๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการ รวมถึงศูนย์บัญชาการฯ จะต้องส่งต่อ/เผยแพร่ข้อมูลในการระวังช้างป่า แก่ทีมป้องกันช้างป่าในแต่ละหมู่บ้าน (300 หมู่บ้าน) อย่างทันท่วงที และศูนย์บัญชาการฯ จะต้องประเมินผลการดำเนินงาน และประมวลความรู้ในการรับมือช้างป่า อย่างต่อเนื่อง โปร่งใส และทันท่วงที


4. การพัฒนาเทคโนโลยีระบบติดตามเฝ้าระวังช้าง

เพื่อให้การติดตาม/เฝ้าระวังและป้องกันช้างป่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดความสูญเสียลงในระยะยาว พรรคก้าวไกล 6 จังหวัดภาคตะวันออกและ Think Forward Center เสนอให้มีการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบติดตามเฝ้าระวังช้าง ดังนี้

  • สนับสนุนงบประมาณการพัฒนาเทคโนโลยีระบบติดตามเฝ้าระวังช้างรูปแบบต่างๆ อย่างเป็นระบบ และเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็น
    • ระบบปลอกคอช้าง GPS-Collar ให้มีการติดตั้งให้มากขึ้น (โดยเฉพาะ กับช้างที่ทำหน้าที่สำรวจ/ออกนอกพื้นที่ป่า)
    • ระบบกล้องดักถ่ายภาพช้าง (Camera trap) และระบบ AI
    • โดรนความร้อน เพื่อการติดตามช้างในระยะใกล้ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนที่ช้างเข้าไปในดงไม้
  • พยายามนำข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีระบบติดตามเฝ้าระวังช้าง มาพัฒนาเป็นระบบข้อมูลการติดตาม และการแจ้งเตือนให้เป็นแบบทันที และสะดวกใช้งานในการเฝ้าระวังมากขึ้น เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่น ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากดาวเทียมและทีมอาสาป้องกันช้างป่า
  • ประเมินผลการติดตามเฝ้าระวังช้างอย่างใกล้ชิดและโปร่งใส จนสามารถนำไปสู่องค์ความรู้ในการจัดการช้างป่าที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อการระดมทุนในการป้องกัน/แก้ไขปัญหานี้ในขั้นตอนต่อไป และในอนาคตได้


5. การล่อช้างเพื่อกลับเข้าสู่พื้นที่ป่า/พื้นที่อาศัยเฉพาะของช้าง

นอกเหนือจากการป้องกันและการติดตามเฝ้าระวังช้างป่าแล้ว ในระยะปานกลางและระยะยาวจะต้องล่อช้างเพื่อกลับเข้าสู่พื้นที่ป่า/พื้นที่อาศัยเฉพาะของช้าง เพื่อให้อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ของชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยจะต้องเริ่มจากการออกแบบจุด/เส้นทาง/พื้นที่การให้อาหารช้างป่า เพื่อเบี่ยงเบนทิศทางการเดินของช้างให้ห่างจากชุมชน/พื้นที่การเกษตร และนำไปสู่การกลับเข้าสู่พื้นที่ป่า/พื้นที่อาศัยเฉพาะของช้างต่อไป

ทั้งนี้ การให้อาหารช้างป่ายังสามารถซื้อผลผลิตการเกษตรจากชุมชนในพื้นที่ เพื่อเป็นอาหารสำหรับการล่อช้าง และทำให้ชุมชนที่มีความเสี่ยง/ได้รับผลกระทบ มีส่วนได้รับประโยชน์กลับคืนบ้าง (อย่างน้อยบางส่วน) จากการมีช้างป่าเข้ามาหากินในพื้นที่ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่กันกับการติดตามเฝ้าระวังช้าง (มาตรการก่อนหน้านี้) และการทดลองทำแนว/คูกันช้าง (มาตรการถัดไป)


6. การทดลองทำแนว/คูกันช้างรูปแบบต่างๆ และการประเมินผลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

การทำแนว/คูกันช้างเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่มีความจำเป็นในหลายๆ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ แต่การดำเนินการที่ผ่านมา โครงการทำแนว/คูกันช้างยังขาดการดูแลที่ดีพอจากทางราชการทำให้รั้ว/แนวกันช้างหลายพื้นที่พังไปโดยไม่มีการซ่อมแซม แถมช้างป่ายังมีพัฒนาการในการรับมือ/จัดการกับแนวป้องกันของมนุษย์ ทำให้หลายโครงการไม่ประสบความสำเร็จในการป้องกันช้างป่าอย่างแท้จริง และพี่น้องประชาชนเองก็ไม่ทราบผลการประเมินความสำเร็จ/ไม่สำเร็จในการดำเนินการที่ผ่านมา

เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกลภาคตะวันออก และ Think Forward Center เห็นว่า การทดลองทำแนว/คูกันช้างรูปแบบต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การทดลองทำแนว/คูกันช้างจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และมีการประเมินผลอย่างจริงจัง เพื่อมิให้สุ่มเสี่ยงกับการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่เกิดประโยชน์ และเมื่อดำเนินการสำเร็จแล้ว ก่อนที่จะขยายผลในวงกว้างต่อไป


7. การลดกิจกรรมของมนุษย์ (และราชการ) ในพื้นที่ป่า/พื้นที่อาศัยของช้าง

ปัจจุบันในพื้นที่ป่า เช่น เขาอ่างฤาไนย มีการใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่เป็นกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งที่เป็นสถานที่ราชการ และถนน ซึ่งเป็นการรบกวนและกลายเป็นการผลักดันให้ช้างออกมาหากินนอกพื้นที่ป่า เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นจะต้องพิจารณาการย้ายกิจกรรมของมนุษย์ ส่วนที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ป่าออกนอกพื้นที่ รวมถึงการหาแนวทางการลดการสัญจรทางถนนผ่านพื้นที่ป่า เช่น กำหนดช่วงเวลาในการสัญจรผ่านพื้นที่ป่า หรือการพัฒนาเส้นทางสัญจรอื่นๆ ในการเดินทาง 


8. การจัดทำพื้นที่อาศัยถาวรสำหรับช้างป่าและการจัดการท่องเที่ยวแนวซาฟารีโดยชุมชน

เป้าหมายการดำเนินนโยบายป้องกันช้างป่าในระยะยาว คือ การจัดทำพื้นที่อาศัยถาวรสำหรับช้างป่าและการจัดการท่องเที่ยวแนวซาฟารีโดยชุมชน เมื่อเราสามารถล่อ/นำช้างป่ากลับเข้าอยู่และหากินในพื้นที่อาศัยถาวร และแนวป้องกันที่เหมาะสมแล้ว การจัดทำพื้นที่อาศัยถาวรสำหรับช้างป่าจะช่วยให้ชุมชนรอบแนวป่าอยู่อย่างปลอดภัย โดยจะเริ่มจากการศึกษาวิจัย/ออกแบบพื้นที่อาศัยถาวรสำหรับช้างป่า แบ่งเป็น 3 พื้นที่หลักคือ พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดเดิม พื้นที่หมดสัมปทานการปลูกป่าของเอกชน (ซึ่งกำลังใกล้จะหมดสัมปทาน) และพื้นที่ป่าอื่นๆ ที่เหมาะสม

ส่วนการจัดการท่องเที่ยวแนวซาฟารีโดยชุมชน เพื่อเข้าไปชมช้างป่าในเส้นทางที่กำหนด จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวและเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะยาวกับชุมชนรอบแนวป่าอย่างยั่งยืน พรรคก้าวไกลภาคตะวันออก และ Think Forward Center เชื่อว่า จะทดลองเริ่มดำเนินการในบางพื้นที่ ปี 2570

นอกจากนี้ เมื่อเราสามารถจัดการปัญหาช้างป่าและมีที่อยู่อาศัยถาวรสำหรับช้างป่าได้ ในขณะที่ช้างป่าเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ในการรักษาระบบนิเวศ และเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ชุมชนจึงยังสามารถได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตและอื่นๆ จากองค์กรสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า