นโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center


นอกเหนือจากภูมิอากาศโลก สิ่งที่กำลังถูกคุกคามอย่างหนักคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งจากการเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินรูปแบบต่างๆ ไปเป็นเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน หรือจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการเกษตรที่ทำให้เหลือพืชและสิ่งมีชีวิตเพียงน้อยชนิดเท่านั้น


Think Forward Center และพรรคก้าวไกล เห็นว่า ความหลากหลายทางชีวภาพคือ ขุมทรัพย์อันมีค่า ที่ระบบนิเวศวัฒนธรรม ได้เลือกสรรและรักษามาให้กับพวกเรา เพื่อให้พวกเราได้ใช้ขุมทรัพย์เหล่านี้ตอบสนองต่อความท้าทายที่เราต้องเผชิญในอนาคต ไม่ว่าจะโรคภัยใหม่ๆ หรือความแปรปรวนของระบบนิเวศ หรือแม้กระทั่งเยียวยาจิตใจของเราเอง เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ และส่งมอบต่อคนไทยรุ่นต่อไป!

Think Forward Center และพรรคก้าวไกล จึงรวบรวมข้อเสนอนโยบายต่างๆ ที่พรรคก้าวไกลได้ประกาศไป และ และที่ได้รับข้อเสนอแนะเพิ่มเติม มารวมเป็นชุดนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ 9 ประการ ดังนี้


  1. สนับสนุนงบประมาณ ความรู้ และทรัพยากรให้ท้องถิ่นและชุมชนประกาศเขตคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น เทือกเขาหินปูน พื้นที่ชุ่มน้ำ ทรัพยากรชายฝั่ง เพื่อกำหนดแผนและงบประมาณในการดูแลรักษาพื้นที่ กิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้/ไม่ได้ในพื้นที่ การทำบัญชีรายชื่อทรัพยากรทางชีวภาพในพื้นที่นั้น และการต่อยอดเศรษฐกิจบนความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชน รวมถึงคุ้มครองผลประโยชน์ที่ชุมชนในเขตคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพที่พึงได้รับจากการรักษาทรัพยากรชีวภาพดังกล่าว หากมีการนำทรัพยากรชีวภาพนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ



  1. การประกาศผังเมือง การกำหนดแผนการพัฒนา การทำโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การให้อนุมัติ/อนุญาตในการดำเนินโครงการกิจกรรมต่างๆ จะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ (ตามข้อ 1) และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพด้วย และให้ชุมชน/ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมทำการศึกษา/เสนอผลการศึกษาต่อคณะผู้ชำนาญการด้วย



  1. การให้ความคุ้มครองกับพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจะต้อง (ก) เพิ่มงบประมาณ อุปกรณ์ สวัสดิการ และทีมงานสำหรับการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (หรือ Smart patrol) และทีมงานในการป้องกันและดับไฟป่า (ข) การฟื้นฟูระบบนิเวศริมน้ำ ริมลำธาร รวมถึงการรื้อสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมใน/ริมลำน้ำ (ค) การกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (หรือ Carrying Capacity) (ง) การเพาะพันธุ์และปล่อยสัตว์ป่าคืนธรรมชาติ ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการอย่างเคร่งครัด และ (จ) การจัดการในพื้นที่อนุรักษ์จะต้องไม่กระทำการอันละเมิดสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และต้องสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการดังกล่าว



  1. สนับสนุนเกษตรกรให้เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การปลูกพืชแซมหรือเสริมยาง/ปาล์ม การปลูกไม้ยืนต้นที่มีความหลากหลายในแปลงเกษตร รวมถึงการส่งเสริมการปลูก/การตลาดพันธุ์พืชพื้นบ้านที่หายากและหายไปจากตลาด ทั้งทุเรียน ขนุน ส้มโอ กล้วย ฯลฯ โดยเกษตรกรได้รับการประกันผลตอบแทนเป็นรายเดือน เดือนละ 500-1,000 บาท ผ่านการรับซื้ออาหารที่ผลิตได้มาเป็นอาหารในโรงเรียนและในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (เช่น ผักพื้นบ้าน) หรือนำมาแปรรูป (เช่น บุก ไผ่ กาแฟ น้ำผึ้งชันโรง) และการประกันมูลค่าเนื้อไม้ยืนต้นในระยะยาว



  1. สนับสนุนให้ประชาชน/เอกชนร่วมรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ของตน ด้วยการลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (หรือ negative land tax) ให้กับพื้นที่ที่ให้บริการทางระบบนิเวศและพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ สวนเกษตรบางกะเจ้า สวนสมรม และอื่นๆ โดยจะเชิญชวนชุมชน/นักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ มาร่วมกันพัฒนา/ติดตาม/นำเสนอดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biodiversity Index ของพื้นที่นั้นอย่างต่อเนื่อง



  1. การสนับสนุนโครงการ/กิจกรรมการฟื้นคืนธรรมชาติ (หรือ Rewilding) ต่างๆ ที่สัมพันธ์กับความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้น/ขยายตัวในเมืองต่างๆ ทั้งการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรม การออกแบบพื้นที่สีเขียว/พื้นที่สาธารณะ การพัฒนาและออกแบบการแก้ไขปัญหาที่อิงกับแนวทางธรรมชาติ (หรือ natural-based solution) เช่น สวนพรุนน้ำ หรือพื้นที่หน่วงน้ำ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วม และโดมความร้อนในเมือง รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้คนได้สัมผัสและสัมพันธ์กับความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การอาบป่า การดูนกดูนาก ตู้กับข้าวท้องถิ่น และอื่นๆ ทั้งนี้ โดยไม่กระทบกับระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวิตนั้นๆ



  1. การจัดการแก้ไขปัญหาพันธุ์ต่างถิ่น หรือ aliens species อย่างจริงจัง สร้างระบบการขึ้นทะเบียน/จดแจ้งพันธุ์ต่างถิ่น ระบบการตรวจสอบ/ควบคุมการนำเข้า การเพาะเลี้ยง และการจัดการพันธุ์ต่างถิ่น และการแก้ไข/ฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกรุกรานจากพันธุ์ต่างถิ่น



  1. ส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการผลิตสื่อการเรียนรู้ต่างๆ การส่งเสริมและพัฒนาครูและวิทยากรด้านธรรมชาติวิทยา ทั้งในภาพรวม และผู้เชี่ยวชาญประจำพื้นที่ เพื่อช่วยกันการสร้างความรู้/ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งในแง่ความสำคัญ การอนุรักษ์ และการต่อยอดการใช้ประโยชน์ในระบบการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะ การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และการจัดทำโครงงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในชั้นเรียน ในทุกๆ ระดับ เช่น การดูนก/สัตว์อื่นๆ ในธรรมชาติ การเดินป่า/อาบป่า โครงงานนักสืบสายน้ำ/สายลม/ชายหาด เป็นต้น



  1. สนับสนุนการผลิตและการสร้างเส้นทางอาชีพ (หรือ career path) สำหรับงานธรรมชาติวิทยา และนักนิเวศวิทยา ในทุกระดับการศึกษา (ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก) ทั้งในสถาบันการศึกษา ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในท้องถิ่น และในภาคเอกชน รวมถึงสนับสนุนการศึกษาวิจัยเรื่องระบบนิเวศวัฒนธรรมที่รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำในงานด้านอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในระดับภูมิภาค 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า