อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
แม้ว่า พลาสติก และโฟม จะเป็นพาชนะที่มนุษย์ผลิตขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการบรรจุอาหาร/สิ่งของภายหลังจากการซื้อสินค้า แต่เมื่อการใช้พลาสติกนั้นมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและไม่มีการกำจัดอย่างเป็นระบบ พลาสติกที่ผ่านการใช้เหล่านี้จะนำมาซึ่งปัญหาในการใช้ชีวิตอื่นๆ เช่น
- เศษพลาสติดอุดตันท่อระบายน้ำทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม
- การทิ้งขยะจำพวกพลาสติกไม่เป็นที่ นำมาซึ่งการทำให้สภาพแวดล้อมดูแย่ลง เช่น เศษพลาสติกและโฟมปลิวไปติดตามข้างทาง ลอยในแม่น้ำ คลอง และริมชายหาด
- หากเศษพลาสติกจมลงใต้น้ำ อาจนำมาสู่ปัญหาระบบนิเวศท้องทะเล จากการที่สัตว์น้ำกินอาหารที่มีพลาสติกติดเข้าไปด้วย ทำให้สัตว์น้ำมีปัญหาระบบย่อยอาหารและตายลงในที่สุ
- กระบวนการตั้งแต่การผลิตพลาสติกไปจนถึงการกำจัดขยะหลังใช้เสร็จ ทั้งหมดก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
โดยในช่วงปี 2563 รัฐบาลในยุคนั้นได้นำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) (Action Plan on Plastic Waste Management Phase I) มาบังคับใช้กับประเทศไทย โดยเน้นย้ำทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความร่วมมือในการลดการแจกจ่ายพาชนะจำพวกพลาสติกและโฟมทุกชนิด และหันมาใช้ถุงผ้า กระติกน้ำหรือแก้วทัมเบลอร์ เพื่อลดการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น และส่งเสริมการนำพลาสติกที่เคยใช้แล้วมาใช้ซ้ำในอัตราร้อยละ 100 เพื่อการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและยั่งยืน
ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ, แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) https://www.pcd.go.th/publication/28484/
อย่างไรก็ดี เมื่อผ่านพ้นระยะที่ 1 มาแล้ว แม้ว่าจากรายงานสรุปผลการรณรงค์ลดการใช้พลาสติกจะรายงานว่า ภายใน 3 ปี ไทยลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้กว่า 1 แสนตัน แต่ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษพบว่า อุปสรรคในการดําเนินงานอยู่ที่การไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อบังคับที่แน่ชัดในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกหลากหลายประเภทโดยไม่ได้คํานึงถึงการนํากลับมาใช้ประโยชน์ ทําให้ยังคงเกิดขยะพลาสติกใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี
จากการสำรวจความคิดเห็นประชากร โดยสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจกลับพบว่า แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการงดแจกถุงพลาสติก เพราะเป็นการช่วยลดปริมาณขยะในประเทศ และเป็นการลดโลกร้อนได้ส่วนหนึ่ง แต่ห้างสรรพสินค้า/ร้านสะดวกซื้อ ไม่ควรขายถุงพลาสติกให้กับลูกค้าที่ไม่ได้นำถุงผ้ามาใส่สินค้า
นอกจากนี้ ยังพบว่า ในภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอย่าง ร้านคาเฟ่ ร้านอาหาร หรือแม้แต่ร้านขายอาหารแผงลอย ยังคงไม่ปรับตัวตามนโยบายเท่าที่ควร โดยจะเห็นได้ชัดที่สุดจากการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นที่ยังคงใช้วัสดุจำพวกพลาสติกอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแก้วพลาสติก หลอดพลาสติก ถุงบรรจุน้ำแข็ง ถุงบรรจุอาหาร ช้อนและส้อมพลาสติก เป็นต้น รวมถึง เมื่อนโยบายดำเนินการไปได้สักระยะหนึ่ง ร้านสะดวกซื้อบางร้านก็เริ่มผ่อนปรนแผนปฏิบัติการดังกล่าว และแจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าอีกครั้ง
แม้ว่า แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) จะสิ้นสุดลง และเป็นผลให้ประเทศไทยเข้าสู่การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งจะเป็นระยะที่ทุกภาคส่วนจะต้องยกระดับการจัดการขยะพลาสติกผ่านการแปรรูปวัสดุรีไซเคิล ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเลือกใช้สินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำ เพื่อให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด
Think Forward Center เห็นด้วยกับแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกทั้ง 2 ระยะที่ได้มีการประกาศใช้ออกมาแล้ว แต่กระนั้น การมีกฎระเบียบ ข้อบังคับตั้งแต่ระดับกระทรวง จังหวัด และท้องถิ่นนั้นก็มีความสำคัญอย่างมากที่จะกำหนดพฤติกรรมของประชาชนในการใช้พลาสติกให้ลดลงได้ ในบทความนี้ Think Forward Center จึงขออาสาพาไปส่องแนวทางการลดการใช้พลาสติก และการจัดการขยะของเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียว่า พวกเขามีการแนวทางในการจัดการขยะจำพวกพลาสติกอย่างไร และเหตุใดแนวทางที่พวกเขาเลือกใช้จึงประสบความสำเร็จ?
อินโดนีเซีย กับแผนปฏิบัติเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)
อินโดนีเซีย ประเทศหมู่เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดโลก และมีประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยความเป็นประเทศแบบหมู่เกาะ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของอินโดนีเซียส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการประมง และการท่องเที่ยวเป็นหลัก
โดยการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยว มีผลอย่างมากต่อการขยายตัวของเมืองและทำให้ประชากรจากทั่วประเทศหลั่งไหลเข้ามายังเมืองใหญ่ หรือเมืองท่าตากอากาศ เพื่อเข้ามาประกอบอาชีพต่างๆ โดยปรากฏข้อมูลจาก Worldbank ปี 2562 ว่า สองทศวรรษที่ผ่านมา ประชากรทั้งหมดในเขตเมืองนั้นเพิ่มขึ้นมาก และคาดการณ์ว่าจะมีถึงร้อยละ 68 ภายในปี 2568
ดังนั้น การพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการท่องเที่ยว และการขยายตัวของเมืองที่มาจากประชากรหลั่งไหลเข้ามายังเมืองใหญ่ นำมาซึ่งขยะนอกระบบเกิดขึ้นจำนวนมาก จากการศึกษาระหว่างปี 2558-2562 ทำให้อินโดนีเซียคาดการณ์ได้ว่า อินโดนีเซียผลิตขยะจำพวกพลาสติกอยู่ที่ประมาณปีละ 0.27 ถึง 1.29 ล้านตันต่อปี ถือเป็นร้อยละ 10.1 ของปริมาณขยะพลาสติกโลก
ขณะที่ เดิมทีรัฐบาลท้องถิ่นทุกที่ทั่วประเทศ จะได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการขยะของตนเองอยู่ที่ 5–6 ดอลลาร์ต่อหัว/ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศที่ 15–20 ดอลลาร์ต่อหัว/ต่อปี ทำให้ Woldbank ในปี 2561 เคยคาดการณ์ไว้ว่า มีประชาชนชาวอินโดนีเซียเพียงร้อยละ 60 จาก 142 ล้านคนเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงบริการเก็บขยะและขยะมูลฝอยจากภาครัฐ และจากจำนวนขยะเหล่านี้มีเพียงร้อยละ 55 เท่านั้น ที่ได้รับเคลื่อนย้ายสถานีขนย้ายหรือโรงงานแปรรูปรีไซเคิล
การนำเสนอแนวทางเพื่อการลดมลพิษพลาสติกโดยรัฐสภาอินโดนีเซีย จึงถือเป็นความท้าทายที่จะยกเครื่องการจัดการขยะภายในประเทศ ภายหลังอินโดนีเซียประกาศเข้าร่วมแคมเปญ #CleanSeas ของ UN Environment เมื่อปี 2560 เพื่อกำจัดแหล่งขยะทางทะเลที่สำคัญผ่านนโยบายการลดขยะพลาสติกในเมืองชายฝั่ง 25 เมือง และตั้งเป้าหมายว่า จะต้องลดขยะในทะเลลง 70% ภายในปี 2568 อินโดนีเซียได้ผ่านกฎหมายระดับชาติและกฎหมายย่อยเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยในวงกว้างขยะพลาสติก โดยกฎหมายเหล่านี้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หน่วยงานใดบ้างที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินนโยบายและการบังคับใช้
ที่มา: https://www.biorock-indonesia.com/en/blue-economy/
นอกจากนี้ ในระดับนโยบาย อินโดนีเซียยังได้ริเริ่มการปฏิบัติตามแนวนโยบายส่งเสริมระบบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ที่มุ่งเน้นพัฒนาความยั่งยืนในสาขาประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และการแก้ไขปัญหา IUU ควบคู่กับการพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่น
- การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลพลอยได้ของการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางทะเลและการเชื่อมต่อเกาะต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งคมนาคมทางทะเล และ
- การใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างยั่งยืน ผ่านการมีแนวนโยบายในระยะเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของอินโดนีเซีย
เดิมที อินโดนีเซีย ประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดการขยะ (ฉบับที่ 18/2551) และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองและการจัดการสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 32/2552) โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ได้ระบุถึงแนวทางการออกกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวเนื่องกับมลพิษจากขยะมูลฝอยและพลาสติก ส่งผลให้เกิดระเบียบข้อ บังคับต่างๆ ตามมา อาทิ ระเบียบรัฐบาลว่าด้วยการจัดการครัวเรือนและขยะในครัวเรือน (ฉบับที่ 81/2555) ระเบียบรัฐบาลว่าด้วยการจัดการขยะอันตราย (ฉบับที่ 101/2557) ระเบียบประธานาธิบดีว่าด้วยการจัดการเศษซากทางทะเล (ฉบับที่ 83/2561) ระเบียบประธานาธิบดีว่าด้วยการเร่งพัฒนาขยะให้เป็นพลังงาน การติดตั้งโดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 35/2561) และอื่นๆ
ซึ่งแนวทางเหล่านี้นำมาซึ่ง การจัดทำระเบียบกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ระเบียบกระทรวงโยธาธิการ เรื่องการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกขยะมูลฝอย (ฉบับที่ 3/2013) ระเบียบกระทรวงการค้า เรื่องการนำเข้าของเสียไม่อันตราย (ฉบับที่ 31/2559) ระเบียบกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ เรื่องโรดแมปเพื่อการลดของเสียโดยผู้ผลิต (ฉบับที่ 75/2019) เพื่อตอบสนองต่อเป้าประสงค์ของรัฐบาลในการจัดการขยะและมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
บาหลี: ภาพจำของชายหาดขยะ และแนวทางการจัดการขยะของรัฐบาลท้องถิ่น
สำหรับ จังหวัดบาหลี เป็นหนึ่งใน 34 จังหวัดของประเทศอินโดนีเซีย ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ยังคงวิถีชีวิตดั้งเดิมกับการบูชาเทพเจ้าฮินดู 3 ช่วงเวลาต่อวัน การส่งเสริมจุดขายในเรื่องการเป็นพื้นที่สำหรับการฝึกโยคะและการเจริญภาวนาสติแบบดั้งเดิมรวมถึงสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ยังสามารถสืบย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ว่า ภูมิภาคนี้เคยเป็นดินแดนที่วัฒนธรรมพราหมณ์-ฮินดูเจริญรุ่งเรืองมาก ทั้งหมดได้กลายเป็นปลายทางที่นักท่องเที่ยวมากมายเลือกที่จะมาพำนักพักผ่อน และนำมาซึ่งปริมาณขยะที่เยอะมากขึ้น โดยรายงาน
เดิมที จังหวัดบาหลี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบกับปรากฏการณ์การเพิ่มขึ้นของขยะตามฤดูกาล จากรายงานวิจัยที่มีชื่อว่า “การจัดการขยะตามฤดูกาลในชายฝั่งทางใต้ของเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย” เปิดเผยว่า ขยะเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงฤดูมรสุม และพบอย่างมากในบริเวณชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะชายหาดทางตอนใต้ ได้แก่ หาดเซมินยัก (Seminyak), หาดลีเจียน (Legian), หาดกูตา (Kuta), หาดเจอร์มาน (Jerman), หาดเกดงกานัน (Kedonganan) และ หาดเกลัน (Kelan) ปริมาณขยะตามฤดูกาลที่สะสมบนชายฝั่งทางใต้ของบาหลีมีอยู่ถึง 2,176.5 ตัน โดยขยะเหล่านี้อยู่ในรูปของเศษพลาสติก วัสดุอินทรีย์ โฟม เครื่องใช้ในครัวเรือน และอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลเพิ่มมากขึ้นจากชุมชนท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงระดับนานาชาติต่อท่าทีการจัดการขยะของรัฐบาลท้องถิ่นบาหลี
ที่มา: aljazeera.com
ปัญหานี้ ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นบาหลีศึกษาข้อมูล และค้นพบว่า ปริมาณขยะพลาสติกมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงที่สุด เมื่อเทียบกับขยะประเภทอื่นๆ โดยขยะเหล่านี้มักเกิดจากภาคครัวเรือนที่ยังขาดความตระหนักรู้ในการจัดการขยะ
ผู้ว่าราชการจังหวัดบาหลีจึงได้ออกกฎระเบียบจังหวัดบาหลี เพื่อจำกัดการสร้างขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เมื่อปี 2561 และกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการขยะจากแหล่งที่มา เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การจัดการขยะในบาหลีค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ
รีวิวบาหลี: ระเบียบที่ถูกนำมาปฏิบัติจริง และบางส่วนที่รอรับการพัฒนา
ที่มา: thecommonwanderer.com
เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2568 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดบาหลี และเข้าพักอาศัยบริเวณย่านชังกู (Canggu) ซึ่งเป็นบริเวณที่รับการพัฒนาใหม่เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ย่านนี้เต็มไปด้วยร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านเสื้อผ้า ร้านยา และจุดแลกเงินตราระหว่างประเทศมีให้เห็นโดยทั่วไป
หากเราเดินเข้าไปยังร้านกาแฟสด คำถามที่จะได้รับจากพนักงานแคชเชียร์คือ ทานที่นี่ หรือกลับบ้าน? ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า หากเลือกที่จะทานที่ร้าน ทางร้านจะเลือกใช้แก้วเซรามิกในการเสิร์ฟกาแฟ พร้อมกับหลอดเหล็ก (กรณีเป็นเครื่องดื่มเย็น) หรือช้อน (กรณีเป็นเครื่องดื่มร้อน) และถ้าหากเราเลือกจะสั่งกาแฟกลับบ้าน เราก็จะไม่พบเห็นการใช้พลาสติกทั้งแก้วและหลอด เพราะที่ร้านกาแฟสดจะเสิร์ฟกาแฟด้วยกับแก้วกระดาษ ตามนโยบายการกำจัดขยะที่กระดาษนั้นย่อยสลายเร็วกว่าพลาสติก
เช่นกันหากเราเลือกที่จะไปซื้อของยังร้านเสื้อผ้า หากเราไปซื้อเสื้อผ้ายังร้านรวงต่างๆ ร้านเสื้อผ้าเหล่านี้ก็จะไม่แจกถุงกระดาษสำหรับใส่สินค้าให้ หากเห็นทันทีว่า เรามีถุงมาด้วย ซึ่งตอนที่เราเลือกไปซื้อเสื้อเคบาย่า (Kebaya) ที่ร้านดังกล่าวนี้ เรานำเสื้อผ้าไปเปลี่ยนให้เข้าชุดกัน ทำให้เรามีถุงสำหรับใส่เสื้อผ้าไปอยู่แล้ว ทำให้ทางร้านไม่แจกถุงกระดาษให้ในตอนจ่ายเงิน
หรือแม้แต่หากเราไปซื้อของในร้านขายยา เนื่องจากอินโดนีเซียนั้นมียาสมุนไพรพื้นบ้านที่ชื่อว่า “Tolak Angin” ถือเป็นยาสามัญประจำบ้าน โดยมีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืด คลื่นไส้ ปวดท้อง ปวดศีรษะ มีไข้ และคอแห้ง โดยยาชนิดสามารถหาซื้อได้ในร้านขายยาทั่วไป แต่เมื่อเราชำระเงินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางร้านก็จะแจ้งให้เราทราบว่า ร้านจะไม่มีบริการถุงพลาสติกหรือถุงผ้าให้
จากการที่ภาคเอกชนในจังหวัดบาหลีตอบรับนโยบาย ภายหลังประกาศใช้กฎระเบียบระดับท้องถิ่นเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยและพลาสติก สิ่งที่พบได้ทันทีคือ สองข้างทางในเกาะบาหลีนั้นแทบไม่พบเศษขยะ โดยเฉพาะขยะจำพวกพลาสติกเลย ส่งผลให้ทัศนียภาพของเมืองท่าตากอากาศแห่งนี้ดีขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี พลาสติกบางชนิดก็เป็นเรื่องยากที่จะบังคับไม่ให้มีการใช้ได้ เช่น พลาสติกสำหรับห่อกันกระแทกขนมหรืออาหาร เนื่องจากหากบรรจุลงในพาชนะจำพวกกระดาษอาจมีการรั่วซึมและทำให้รสชาติของขนมหรืออาหารเสียไปได้ หรือแม้แต่ในระดับครัวเรือนที่มักเป็นเรื่องยากที่สุดในลดการใช้ถุงพลาสติก เนื่องจากบรรจุอาหารได้ดี ไม่รั่วซึม และต้นทุนต่ำ โจทย์นี้จึงอาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลอินโดนีเซีย หรือแม้แต่รัฐบาลไทยอาจต้องให้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และด้วยวันที่ 3 กรกฎาคม ของทุกปีนี้ เป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day) โดย Think Forward Center เห็นว่า เป็นการดีหากรัฐบาลจะออกนโยบายการลดภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ใช่พลาสติกและสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ให้สินค้าและบริการที่ไม่ใช้พลาสติกในการบรรจุภัณฑ์ หรือแม้แต่รัฐบาลส่วนกลางเลือกที่จะกระจายอำนาจ โดยเพิ่มงบประมาณและอำนาจในการบริหารงบประมาณจากการจัดการขยะได้ ก็อาจเป็นแนวทางที่ทำให้สถานการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมไทยค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับได้เช่นกัน