สถานการณ์น้ำท่วมอยุธยา: ปัญหาน้ำท่วมและการจัดการน้ำที่ซับซ้อน
สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาจากการไหลของน้ำจากภาคเหนือซึ่งเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง หลังจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนในปริมาณ 1,899 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พื้นที่ในจังหวัดอยุธยาจำนวนมาก (และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) โดยเฉพาะบ้านเรือนในพื้นที่นอดแนวคันกั้นน้ำ ในอำเภอบางบาล อำเภอเสนา และอำเภอผักไห่ ต่างได้รับผลกระทบจากน้ำที่ไหลเข้าท่วมใต้ถุนบ้านของประชาชนในระดับตั้งแต่เข่าไปจนถึงอก สถานการณ์นี้สร้างความกังวลอย่างมากในพื้นที่ ซึ่งต้องเผชิญกับน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี
ประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ จึงหวังว่า ทางราชการจะตัดสินใจระบายน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำ ซึ่งทุ่งรับน้ำเป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้โดยกรมชลประทาน ให้สามารถรับน้ำในช่วงน้ำหลาก เพื่อบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ และสำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ อย่างไรก็ตาม ความกังวลยังคงอยู่ในหมู่ชาวบ้านนอกแนวคันกั้นน้ำ ว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์ในปี 2565 เมื่อระดับน้ำถูกกักไว้ในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำจนทำให้น้ำสูงขึ้นถึงชั้นสองของบ้านเรือนหรือสูงกว่าใต้ถุนบ้าน ก่อนที่ราชการจะตัดสินใจระบายน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำ

การตอบสนองของหน่วยงานภาครัฐ
หลังจากการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ภาค 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน ได้พยายามเร่งดำเนินการระบายน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำ แต่การดำเนินการยังคงล่าช้าเนื่องจากต้องรอคำสั่งจาก สทนช. ส่วนกลาง แม้ว่าจะมีการตั้งศูนย์ส่วนหน้าในอำเภอบางบาลเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์แล้วก็ตาม ปัจจุบันทุ่งป่าโมกและทุ่งผักไห่เริ่มมีการระบายน้ำเข้าไปแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น ส่วนทุ่งบางบาล-บ้านแพนเริ่มมีการระบายน้ำตามธรรมชาติเข้าไปบ้าง ในภาพรวมปัจจุบันพื้นที่ทุ่งรับน้ำ มีน้ำเข้าในพื้นที่ประมาณ 19% ของพื้นที่ ส่งผลให้ระดับน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำยังไม่ได้อย่างที่ประชาชนคาดหวัง และกังวลว่าอาจมีน้ำท่วมมากขึ้นในอนาคต
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทาง สส. ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส. อยุธยา พรรคประชาชน จึงมีข้อเสนอแนะว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเปิดเผยข้อมูลการจัดการทุ่งรับน้ำและการระบายน้ำให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ได้อย่างชัดเจน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อตรวจสอบและตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการจัดการน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำและการบริหารพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะการบริหารจัดการน้ำควรพิจารณาทั้งผลกระทบต่อพื้นที่นอกคันกั้นน้ำและในคันกั้นน้ำอย่างสมดุล เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
สถานการณ์น้ำท่วมในปทุมธานี: ผลกระทบจากแนวกั้นน้ำและปัญหาการจัดการน้ำ
ปทุมธานีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่นอกแนวกั้นน้ำ คำว่า “แนวคันกั้นน้ำ” ในจังหวัดปทุมธานีก็คือ ถนนที่ขนานกับแนวแม่น้ำเจ้าพระยา และถูกยกให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันการเอ่อล้นของน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไปยังพื้นที่ตอนใน ทว่ากลับสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนภายในและภายนอกแนวคันกั้นน้ำ ชาวบ้านที่อยู่นอกแนวกั้นน้ำต้องเผชิญกับน้ำท่วมที่รุนแรงและต่อเนื่องทุกปี ในขณะที่ชุมชนภายในแนวคันกั้นน้ำ แม้จะไม่ต้องเผชิญน้ำท่วม แต่กลับต้องเผชิญกับปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดจากการระบายน้ำไม่เพียงพอ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน
ชุมชนมอญที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำต้องเผชิญกับน้ำท่วมเฉลี่ย 4 เดือนต่อปี ส่งผลให้พวกเขาต้องรับภาระจากการรับมือน้ำท่วมทุกปี และตอนนี้ในบางพื้นที่ เช่น วัดในชุมชน ได้เริ่มปรับปรุงพื้นที่ให้สูงขึ้นเพื่อเป็นจุดพักพิงและที่จอดรถสำหรับผู้ประสบภัย
ปัญหาด้านการจัดการน้ำในจังหวัดปทุมธานี
หลายชุมชนต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการรุกล้ำพื้นที่และลำคลองสาธารณะ ซึ่งทำให้การระบายน้ำไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ชุมชนปากคลองรังสิตที่ได้รับผลกระทบจากการติดตั้งประตูระบายน้ำใหม่ ทำให้พื้นที่ที่ไม่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมกลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก ชาวบ้านยังตั้งข้อสังเกตถึงการขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในการปล่อยน้ำจากเขื่อนและการจัดการน้ำในพื้นที่ อีกทั้งยังเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้ายคันกั้นน้ำ


ชุมชนในพื้นที่สามโคก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชียงรากน้อย ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีจุดวัดระดับน้ำและการแจ้งเตือนภัยที่เพียงพอ ชาวบ้านยังคงกังวลเกี่ยวกับการเยียวยาหลังน้ำท่วม ซึ่งหลักเกณฑ์ในการเยียวยายังไม่ชัดเจนและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่
ในชุมชนเทพประทานและชุมชนเทพพัฒนา ประชาชนตั้งคำถามถึงความชัดเจนในการจัดตั้งศูนย์อพยพและมาตรการเยียวยาที่ไม่ชัดเจน ชุมชนเทพพัฒนาถึงแม้จะอยู่ด้านในแนวคันกั้นน้ำ (หรือพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม) แต่กลับประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกับพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ เนื่องจากไม่มีจุดระบายน้ำที่เพียงพอ หลายพื้นที่ถูกครอบครองทำให้การระบายน้ำไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชุมชนวัดเกาะลอย (วัดบางหลวง) ต้องเผชิญกับน้ำท่วมซ้ำซากเนื่องจากพื้นที่ต่ำ และการตอบสนองจากหน่วยงานในพื้นที่ยังไม่เพียงพอ การเยียวยาประชาชนในพื้นที่นี้ยังคงขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น การกำหนดระดับน้ำที่ท่วมสูงเท่าใดจึงจะได้รับการช่วยเหลือ

การเยียวยาและการตอบสนองของหน่วยงานราชการ
ในส่วนของการเยียวยาจากหน่วยงานราชการ ปภ. จังหวัดปทุมธานีได้แจ้งว่า น้ำท่วมในพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ดังนั้นจึงให้หน่วยงานท้องถิ่นหรือ อปท. เป็นผู้ดูแลเรื่องการแจกถุงยังชีพและการซ่อมแซมบ้านเรือนแทน ทางท้องถิ่นได้สั่งการให้สำรวจบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบและส่งรายงานมายังท้องถิ่นจังหวัด เพื่อให้ดำเนินการส่งเรื่องไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อขอเงินเยียวยาเพิ่มเติม แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่?
สส เจษฎา ดนตรีเสนาะ สส ปทุมธานี พรรคประชาชน สรุปว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปทุมธานีสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ซับซ้อนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ การเตือนภัย และการเยียวยาผู้ประสบภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับปรุงการประสานงานและสร้างหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภายในหรือนอกแนวคันกั้นน้ำ