เดชรัต สุขกำเนิด
ภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก รวมถึง คนไทย โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่ต้องเผชิญกับทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ แต่ขณะเดียวกัน การเกษตรเองก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน
แนวความคิดเรื่อง “การปลูกข้าวลดโลกร้อน” จึงเป็นแนวคิดหนึ่งที่พัฒนาขึ้น เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร และได้มีการสนับสนุนให้ดำเนินการในประเทศผู้ผลิตข้าวหลักๆ หลายประเทศ เช่น เวียดนาม รวมถึงในประเทศไทยด้วย
แต่โจทย์สำคัญสำหรับชาวนาไทยไม่ได้มีเพียงเรื่องการรับมือกับภาวะโลกร้อนเท่านั้น พี่น้องชาวนาไทยยังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งก็หมายถึงรายได้ของชาวนาที่ลดลง เพราะฉะนั้น ความพยายามในการปลูกข้าว “ลดโลกร้อน” จะตอบโจทย์ชาวนาไทยได้ ก็จะต้อง “ลดต้นทุน” ในการปลูกข้าว ไปพร้อมกันด้วย
แล้วแนวทางที่จะลดทั้งโลกร้อนและต้นทุนการปลูกข้าวจะเป็นจริงได้หรือไม่? บทความนี้จะพาไปพบกับประสบการณ์การทำนาแบบลดโลกร้อนของชาวนาในภาคกลางจากจังหวัดชัยนาทและจังหวัดสุพรรณบุรี รวมถึงเสนอแนะแนวทางเชิงนโยบายเพื่อให้การปลูกข้าวที่ลดโลกร้อนและลดต้นทุนเป็นจริงได้ในวงกว้างมากขึ้น
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนา
ก่อนที่เราจะไปศึกษาเรื่องแนวทางการทำนาเพื่อลดโลกร้อน เรามาตั้งหลักกันก่อนด้วยการทำความเข้าใจว่า การทำนาปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดโลกร้อนได้จากทางใดบ้าง เพื่อที่จะได้เป็นพื้นฐานที่จะทำความเข้าใจว่า เราจะลดก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างไร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการสำรวจการทำนาในภาคกลางในปี 2561 แล้วพบว่า การทำนาจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 5 ทาง (หรือ 5 แหล่ง) ด้วยกัน ได้แก่
- การปล่อยก๊าซมีเทนจากการที่มีน้ำขังในนา และเกิดการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุและปล่อยก๊าซมีเธน ซึ่งเป็นเรือนกระจกออกมา ประมาณ 162.6 กิโลกรัมคาร์บอนได้ออกไซด์ต่อไร่
- การปลดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากปุ๋ยเคมี ประมาณ 11.88 กิโลกรัมคาร์บอนได้ออกไซด์ต่อไร่
- การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตและการใช้ปุ๋ยเคมี ประมาณ 11.91 กิโลกรัมคาร์บอนได้ออกไซด์ต่อไร่
- การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการทำนา ประมาณ 14.64 กิโลกรัมคาร์บอนได้ออกไซด์ต่อไร่
- การปล่อยก๊าซมีเทน และก๊าซไนตรัสออกไซด์จากการเผาฟางข้าว ประมาณ 7.48 กิโลกรัมคาร์บอนได้ออกไซด์ต่อไร่
จะเห็นได้ว่า การทำนาตามปกติหนึ่งไร่น่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 208.47 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไร่ โดยประมาณร้อยละ 80 ของก๊าซเรือนกระจก มาจากการปล่อยก๊าซมีเททนจากการที่มีน้ำขังในนา
เพราะฉะนั้น แนวทางการทำนาลดโลกร้อน ก็จำเป็นจะต้อง (ก) ลดการขังน้ำในนา (ข) ลดการใช้ปุ๋ยที่เกินความจำเป็น และ (ค) ลดการเผาฟางในนาข้าว
การทำนาเปียกสลับแห้ง
การทำนาข้าวแบบน้ำขังตลอดฤดูปลูกเป็นระบบการผลิตข้าวที่แพร่หลายในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวต้องใช้น้ำปริมาณมาก และก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (Alternative wetting and drying, AWD) จึงถูกนำเสนอเป็นทางเลือกในการทำนาที่ยั่งยืน โดยมีหลักการคือการสลับช่วงเวลาการให้น้ำกับการปล่อยให้ดินในนาข้าวแห้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ข้าวแตกกอ ซึ่งต้นข้าวไม่จำเป็นต้องมีน้ำขัง เพราะการมีน้ำขังจะทำให้ข้าวแตกกอน้อยลงด้วย
การทำนาเปียกสลับแห้งในนาหว่าน มีวิธีการโดยสังเขป (ปรับปรุงจาก นิพนธ์และคณะ, 2566) ดังต่อไปนี้
ก) ปรับหน้าดิน ให้เรียบเสมอกัน มีความแตกต่างระหว่างจุดที่สูงที่สุดและต่ำที่สุดไม่เกิน 5 ซ.ม. การปรับหน้าดินด้วยเครื่องมือเลเซอร์ หรือ GPS-RTK สามารถช่วยให้หน้าดินเรียบเสมอได้ 3 – 5 ปี และไม่จำเป็นต้องทำทุกรอบการปลูก
ข) เตรียมแปลงทำนาตามปกติ สามารถทำได้ทั้งนาดำ และนาหว่าน เตรียมท่อพีวีซีขนาด 4 นิ้ว ยาว 25 ซ.ม. ให้วัดจากขอบท่อมา 5 ซ.ม. เจาะรูทั้งหมด 4 จุด ทำทุกๆ 5 ซ.ม. นำไปฝังไว้ในแปลงนาลึก 20 ซ.ม. ให้ปากท่อพ้นดิน 5 ซ.ม. ขุดดินในท่อออก เพื่อใช้สังเกตุระดับน้ำในดิน
ค) หลังข้าวอายุได้ 20 วันขึ้นไป นับจากวันที่ดำนา หรือหว่านข้าว สูบน้ำเข้านาให้ระดับน้ำสูง 5-10 ซม.จากผิวดิน แล้วปล่อยให้แห้ง รอเวลาให้ข้าวแตกรากแตกกอ เป็นเวลา 15-20 วัน หรือจนกระทั้งระดับน้ำใต้ดินในท่อที่ฝังไว้ต่ำกว่า 15 ซ.ม.จากผิวดิน ให้สูบน้ำเข้าอีกครั้ง กระบวนการนี้สามารถทำได้ 1-2 ครั้ง ก่อนข้าวเริ่มตั้งท้อง หรืออายุข้าวได้ 60 วัน
ง) ก่อนถึงช่วงเก็บเกี่ยว 10 วัน ปล่อยให้แปลงแห้งเพื่อให้ข้าวสุกแก่สม่ำเสมอและสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว
ภาพการปรับที่นาให้เรียบเสมอกัน การเตรียมดินและการหว่านข้าว ในการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง
ภาพท่อวัดระดับน้ำ ต้นข้าวและพื้นที่นา หลังการปล่อยน้ำออกจากแปลงนาจนดินแห้ง
จุดเริ่มต้นมาจากความจำเป็น
ชาวนาที่ทำนาแบบเปียกสลับแห้งที่เราไปพบในการลงพื้นที่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ได้แก่ คุณบุญฤทธิ์ หอมจันทร์ ชาวนาตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และคุณพิชิต เกียรติสมพร ชาวนาตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งสองท่านได้เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ว่ามาจากความจำเป็น ก่อนที่จะได้รับการส่งเสริมและ/หรือสนับสนุนในเวลาต่อมา
พี่บุญฤทธิ์ เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2558-2559 ได้เกิดภาวะภัยแล้งรุนแรงในภาคกลาง ทำให้การทำนาในรูปแบบมีน้ำขัง หรือแบบเดิมไม่สามารถทำได้ และต้องปล่อยให้พื้นนาแห้งในบางช่วงเวลา ตอนแรก พี่บุญฤทธิ์ก็กังวลใจว่าข้าวอาจจะตาย แต่ปรากฏว่า ต้นข้าวก็ยังสามารถเติบโตและให้ผลผลิตได้ พี่บุญฤทธิ์จึงเริ่มสนใจในแนวคิดเปียกสลับแห้ง เพราะพี่บุญฤทธิ์คาดว่า ภาวะภัยแล้งเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะฉะนั้น หากชาวนาสามารถลดการใช้น้ำในการปลูกข้าวได้ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อชาวนาในอนาคต โดยเฉพาะในฉากทัศน์ที่เกิดภัยแล้งเกิดขึ้นในพื้นที่
หลังจากนั้นพี่บุญฤทธิ์จึงเริ่มต้นศึกษาเรื่อง การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง และเริ่มต้นทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ตามรูปแบบที่มีการแนะนำให้ปล่อยน้ำให้แห้ง 2 ครั้ง ช่วงแตกกอ และช่วงก่อนเก็บเกี่ยว โดยมีการปักท่อพีวีซีเพื่อสังเกตและติดตามระดับน้ำในดิน ซึ่งปรากฏว่าได้ผลผลิต 1 ตัน/ไร่ เช่นเดิม พี่บุญฤทธิ์จึงมั่นใจและมุ่งหน้าที่จะพัฒนารูปแบบการปลูกแบบเปียกสลับแห้งอย่างจริงจัง
หลังจากได้ทดลองทำมาหลายรอบการผลิต พี่บุญฤทธิ์และพี่พิชิตจึงสังเกตและค่อยๆ ปรับวิธีการทำนา ให้สามารถทำให้น้ำแห้งได้มากครั้งขึ้นเรื่อยๆ เช่น พี่พิชิตสามารถปล่อยให้น้ำแห้งได้ 3 ครั้ง และพี่บุญฤทธิ์ ปล่อยให้น้ำแห้งได้ถึง 4 ครั้งต่อรอบการผลิต
นายบุญฤทธิ์ หอมจันทร์ และครอบครัว เกษตรกรตำบลแพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท
ข้อดีของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง
จากการพูดคุยกับพี่บุญฤทธิ์และพี่พิชิต พบว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้งมีข้อดีหลายประการ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนี้
- ลดการใช้น้ำ: การปล่อยให้นาแห้งเป็นช่วงๆ ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในการทำนาลงอย่างมาก ส่งผลให้ลดต้นทุนการสูบน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ในกรณีของพี่บุญฤทธิ์สามารถลดค่าน้ำมันลงจากที่เคยใช้ประมาณ 500 บาทต่อรอบการผลิต เหลือเพียง 200 บาทต่อรอบการผลิต ส่วนการทดลองของกรมชลประทานพบว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้งช่วยลดการใช้น้ำลงได้ 28% จากเดิมที่เคยใช้น้ำ 1,200 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ เหลือเพียง 860 ลูกบาศก์เมตร/ไร่
- เพิ่มความแข็งแรงของรากข้าวและช่วยเพิ่มการแตกกอ: ช่วงเวลาที่ดินแห้ง รากข้าวจะเจริญเติบโตลงสู่ชั้นดินที่ลึกขึ้น เพื่อหาแหล่งน้ำและธาตุอาหาร ส่งผลให้รากข้าวแข็งแรงขึ้น ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งและลมแรงได้ดีกว่า และข้าวก็แตกกอเพิ่มมากขึ้นด้วย
- การลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชบางชนิด เพราะแมลงหลายชนิดชอบอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำขัง เมื่อมีการทำนาแบบเปียกสลับแห้งก็จะลดช่วงเวลาที่โรคและแมลงสามารถเติบโตและแพร่ขยายตัวได้ดี ในกรณีของพี่บุญฤทธิ์สามารถลดการปล่อยฉีดสารเคมีการเกษตรลงได้มากจากเดิม 5 ครั้งมาเหลือเพียง 2 ครั้ง
- ลดปัจจัยการผลิต: นอกจากการลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำแล้ว การทำนาแบบเปียกสลับแห้งยังช่วยลดการใช้เมล็ดพันธุ์ เนื่องจากต้นข้าวแตกกอได้ดีขึ้นในสภาวะที่ดินที่ไม่น้ำขัง จากการลงพื้นที่พบว่า การใช้เมล็ดพันธุ์ลดลงจากที่เคยใช้ 25 กิโลกรัม/ไร่ เหลือประมาณ 15 กิโลกรัม/ไร่ นอกจากนี้ เมื่อการทำนาแบบนี้ช่วยลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชบางชนิด ที่ชอบสภาพแวดล้อมที่มีน้ำขังตลอดเวลาลงด้วย ดังนั้น จึงลดความจำเป็นในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชลงได้ด้วย
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก: การปล่อยให้นาแห้งเป็นช่วงๆ ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าวได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากกระบวนการสร้างก๊าซมีเทนต้องอาศัยสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อดินมีน้ำขัง การลดการปล่อยก๊าซมีเทนจึงเป็นการลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน
- ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ: การทำนาแบบเปียกสลับแห้งส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศที่สมดุลมากขึ้น โดยช่วงเวลาที่นาแห้ง จะเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เช่น กบ เขียด มด ซึ่งเป็นตัวห้ำของแมลงศัตรูพืช ช่วยควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ
นอกเหนือจากการทำนาแบบเปียกสลับแห้งแล้ว ทั้งพี่บุญฤทธิ์และพี่พิชิตยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้จากวิธีการอื่นๆ ที่ใช้ในการทำนาอีกด้วย ได้แก่ (ก) การไม่เผาฟางในขั้นตอนการเตรียมดินก่อนการปลูกรอบใหม่ และ (ข) การลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่เกินความจำเป็นลง โดยในกรณีของพี่พิชิตจะใช้การตรวจวิเคราะห์ค่าความอุดมสมบูรณ์ของดินและการใช้ปุ๋ยสั่งตัด ส่วนพี่บุญฤทธิ์จะใช้วิธีการปลูกปอเทือง และไถกลบปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสดในที่นา
ลดต้นทุนได้จริงหรือไม่
จากการสำรวจการทำนาของพี่บุญฤทธิ์ หอมจันทร์ จ. ชัยนาท และพี่พิชิต เกียรติสมพร จ. สุพรรณบุรี พบว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การไม่เผาฟาง และการลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่เกินความจำเป็น ไม่ได้ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ในการทำนาลดลง (เฉลี่ยประมาณ 1 ตัน/ไร่) แต่สามารถช่วยลดต้นทุนลงมาได้ โดยพี่บุญฤทธิ์ เล่าว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้งทำให้ต้นทุนการทำนาลดลงจาก 4,150 บาท/ไร่ เหลือเพียง 2,420 บาท/ไร่ หรือลดลง 1,730 บาท/ไร่ โดยหากแยกย่อยลงไปต้นทุนส่วนที่พี่บุญฤทธิ์ลดลงได้ประกอบด้วย
- ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวลดลงจากเดิม 450 บาท/ไร่ เหลือ 270 บาท/ไร่ในปัจจุบัน
- ค่าปุ๋ยเคมีลดลงจากเดิม 1,200 บาท/ไร่ เหลือ 550 บาท/ไร่ในปัจจุบัน
- ต้นทุนค่าน้ำมันในการสูบน้ำลดลงจากเดิม 800 บาท/ไร่ เหลือ 300 บาท/ไร่ในปัจจุบัน
- ต้นทุนการให้สารเคมีการเกษตรลดลงจากเดิม 900 บาท/ไร่ เหลือ 500 บาท/ไร่ในปัจจุบัน
ส่วนพี่พิชิต จ. สุพรรณบุรี เล่าว่า ต้นทุนการทำนาแบบเปียกสลับแห้งของกลุ่มเกษตรกรของพี่พิชิตลดลงจากเดิมประมาณ 4,000 บาท/ไร่ เหลือประมาณ 3,000 บาท/ไร่
นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ (2566) จาก TDRI สรุปว่า การทำนำแบบเปียกสลับแห้งจะช่วยลดต้นทุนลงได้ประมาณ 400-700 บาท/ไร่ โดยแยกเป็น
- ต้นทุนค่าสูบน้ำ ลดลงฤดูละ 2-4 ครั้ง ครั้งละ 100 – 200 บาท/ไร่ ประหยัดได้ 200-600 บาท/ไร่
- ต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ลดลงตามการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ลดจาก 15-20 กก./ไร่ เหลือ 5 กก. ในกรณีนาดำ หรือ 8-10 กก. ต่อไร่ในกรณีนาหว่าน ทำให้ประหยัดได้ 200-300 บาท/ไร่
- ต้นทุนค่าสารกำจัดศัตรูพืช จากการที่ต้นข้าวไม่อวบน้ำ ความชื้นในแปลงต่ำ ประหยัดได้ 100-200 บาท/ไร่
เพราะฉะนั้น จึงยืนยันได้ชัดเจนว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง จึงไม่เพียงแต่ลดโลกร้อนลงเท่านั้น ยังสามารถลดต้นทุนการผลิตของชาวนาลงได้ด้วย
ที่มา นายบุญฤทธิ์ หอมจันทร์
การลดโลกร้อนและคาร์บอนเครดิต
จากข้อมูลของโครงการ Thai Rice Nama ได้มีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากนาข้าวทั้ง 6 จังหวัดในภาคกลาง ได้ 1.22 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี หลังจากทำโครงการฯได้ 4 ปี จึงมีการประเมินอีกครั้งพบว่าก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวปลดปล่อยลดลง 0.87 ตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี หรือลดลง 29% ต่อฤดูการผลิต
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ราว 30% เทียบกับวิธีทำนาปกติ จึงเรียกว่า “นาข้าวลดโลกร้อน”
และเมื่อสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ทางองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ก็ได้มีการจัดทำวิธี “การคำนวณปริมาณการลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากพื้นที่ปลูกข้าว” ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ประเมินภายนอก (หรือ VVB) โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 12,000-20,000 บาท/คน/วัน และสามารถขอขึ้นทะเบียนและรับการรับรองคาร์บอนเคดิตจาก อบก. เท่านั้น โดยมีค่าใช้จ่ายในการขอขึ้นทะเบียน 10,000 บาท/โครงการ/คำขอ
กรมการข้าว ชี้แจงว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของนาข้าวสามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ 1) ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเปิดบัญชี T-VER credit กับ อบก. และ 2) ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง
จากการลงพื้นที่ภาคกลางที่ผ่านมา เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรี ที่ทำนาแบบเปียกสลับแห้งแล้ว โดยขายให้กับบริษัทที่เป็นตัวแทนมาทำการตรวจรับรอง โดยให้เกษตรกรกรอกข้อมูลการทำนาโดยละเอียดผ่านแอพพลิเคชั่นของบริษัท โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่จะต้องปล่อยน้ำออกจากนาให้ผืนนาแห้ง ในกรณีของพี่บุญฤทธิ์ และสมาชิกกลุ่มใน จ. ชัยนาท ได้เคยขายคาร์บอนเครดิตให้บริษัท 2 แห่ง ได้ราคาประมาณ 80 บาท/ไร่ ส่วนพี่พิชิต และสมาชิกกลุ่มใน จ.สุพรรณบุรี ได้เคยขายคาร์บอนเครดิตให้บริษัท 2 แห่งเช่นกัน บริษัทแรก (บริษัทเดียวกับพี่บุญฤทธิ์) ปีแรกได้ราคาประมาณ 60 บาท/ไร่ ปีต่อมาเพิ่มขึ้นเป็น 150 บาท/ไร่ และต่อมาขายให้อีกบริษัทหนึ่งในราคา 200 บาท/ไร่
จะเห็นได้ว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิตถือเป็นรายได้ส่วนเสริมของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพราะส่วนที่ได้เสริมเพิ่มเติมขึ้นยังน้อยกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากต้นทุนการทำนาที่ลดลงได้ โดยการซื้อขายส่วนใหญ่น่าจะเป็นในลักษณะซื้อขายในระบบทวิภาคหรือการตกลงกันเอง ทำให้ราคาของคาร์บอนเครดิตที่เกษตรกรได้รับผันผวนไปตามที่จะตกลงกัน
นอกจากการได้รับคาร์บอนเครดิตแล้ว โครงการ Thai Rice Nama ยังร่วมกับ บมจ. บางจาก ในการนำข้าวหอมปทุมธานี 1 มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวสารถุง “ข้าวลดโลกร้อน” ขนาด 200 กรัม มูลค่า 15 บาท เพื่อเป็นของสมนาคุณรักษ์โลกให้กับลูกค้าในสถานีบริการน้ำมันบางจาก 133 แห่งในกรุงเทพและปริมณฑล เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก เมื่อปี 2566 ด้วย เพราะฉะนั้น การขายในรูปแบบของผลิตภัณฑ์รักษ์โลกหรือ green products ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร โดยจะต้องเลือกปลูกสายพันธุ์ข้าวที่นิยมบริโภค และ/หรือนำมาแปรรูปด้วย
นายพิชิต เกียรติสมพร เกษตรกรตำบลสวนแตง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
เงื่อนไขสำคัญของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง
แม้การทำนาแบบเปียกสลับแห้งจะมีข้อดีหลายประการ ทั้งการลดต้นทุน และการลดโลกร้อน แต่การนำไปปฏิบัติจริงต้องคำนึงถึงเงื่อนไขสำคัญหลายประการ โดยพี่บุญฤทธิ์ จันทร์หอม และพี่พิชิต เกียรติสมพรได้สรุปเงื่อนไขที่สำคัญต่างๆ ดังนี้
- ระบบการจัดการน้ำ: หัวใจสำคัญของการทำนาแบบเปียกสลับแห้งคือการควบคุมระดับน้ำในนาข้าว เกษตรกรต้องสามารถนำน้ำเข้าและระบายน้ำออกจากนาได้ตามช่วงเวลาต้องการ พื้นที่ที่เหมาะสมควรอยู่ในเขตชลประทานที่มีระบบจัดรูปที่ดิน มีคลองส่งน้ำ (เข้า) และระบายน้ำ (ออก)ที่ชัดเจน เช่น ในกรณีของพี่บุญฤทธิ์ จ.ชัยนาท หรือต้องมีการรวมกลุ่มชาวนาผู้ใช้น้ำและประสานงานกับกรมชลประทานในการปล่อยน้ำให้เหมาะสม เช่นในกรณีของพี่พิชิต จ.สุพรรณบุรี
- การปรับระดับแปลงนา เพื่อให้ที่ดินเรียบเสมอกันและง่ายต่อการควบคุมปริมาณน้ำในพื้นที่นา โดยค่าใช้จ่ายในการปรับระดับแปลงนาไร่ละ 2,500-3,000 บาท ซึ่งการปรับระดับหนึ่งครั้งสามารถใช้ได้ในช่วงเวลา 3 ปี หรือ 6 ฤดูการผลิต ทั้งนี้ ในกรณีของพี่บุญฤทธิ์ได้รับการสนับสนุนในการปรับระดับแปลงนาจากโครงการ Thai Rice Nama
- ความรู้ความเข้าใจของเกษตรกร: เกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง รวมถึงการสังเกตและประเมินสภาพดินและต้นข้าว เพื่อกำหนดช่วงเวลาการให้น้ำและระบายน้ำที่เหมาะสม
ข้อค้นพบข้างต้น สอดคล้องกับผลงานวิจัยของ นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ (2566) ที่พบว่า เกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำแบบเปียกสลับแห้ง เพราะว่า
- ร้อยละ 20 (ของกลุ่มตัวอย่าง) กังวลปัญหาระบบชลประทานปล่อยน้ำไม่ตรงเวลา หรือได้น้ำไม่เพียงพอในช่วงที่ต้องการน้ำมากที่สุด
- ร้อยละ 18 กังวลกับปัญหาพื้นที่นาไม่เหมาะแก่การทำนาเปียกสลับแห้ง (เช่น เป็นที่ลุ่ม) ซึ่งพื้นที่ ๆ เหมาะสมต้องเรียบเสมอกัน
- ร้อยละ 16 บอกว่าไม่มีองค์ความรู้ในการทำนาเปียกสลับแห้ง
- ร้อยละ 12 กังวลว่าแปลงนาอาจมีหญ้ามาก
- ร้อยละ 11 ไม่แน่ใจว่าคุ้มค่าหรือไม่
- ร้อยละ 11 กลัวความเสี่ยงว่าผลผลิตต่อไร่จะลดลง
- ร้อยละ 6 ไม่มีเงินทุน/ไม่ต้องการจ่ายเงินลงทุนในการปรับระดับที่ดิน
- ร้อยละ 3 กลัวถูกบอกเลิกการเช่าที่ดินทำนากะทันหัน
ความท้าทายในการส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ กรมชลประทานจึงได้ริเริ่มส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้ง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยมีแผนให้ชาวนา จำนวน 8,750 ครัวเรือนหันมาทดลองทำนาเปียกสลับแห้งในปี 2562 เพิ่มเป็น 100,000 ครัวเรือนในปี 2566 และกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 2.8 ล้านไร่ในปี 2566 (จากพื้นที่นาปรังทั่วประเทศ 9-12 ล้านไร่) ขณะเดียวกัน ในปี 2561 GIZ ร่วมกับกรมการข้าวจัดทำโครงการThai rice NAMA เพื่อลดการใช้น้ำ เพิ่มผลิตภาพการผลิต และลดก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ดี จวบจนปัจจุบัน ยังมีชาวนาทำนาแบบเปียกสลับแห้งจำนวนน้อยมาก ด้วยข้อจำกัดหลายประการที่ได้กล่าวถึงข้างต้น
ดังนั้น การส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้งให้แพร่หลาย จึงยังคงมีความท้าทายหลายประการ ที่จะต้องก้าวข้ามให้ได้ โดยความท้าทายที่สำคัญ ได้แก่
- ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านระบบการส่ง/จัดการน้ำ: เนื่องจากในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ หรือมีระบบชลประทานแต่สามารถควบคุมระยะเวลาในการส่งน้ำ การทำนาแบบเปียกสลับแห้งอาจทำได้ยาก เพราะฉะนั้น หากต้องการส่งเสริมการทำนานแบบเปียกสลับแห้ง ก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการนี้
- การลงทุนเพื่อการจัดรูปที่ดินในพื้นที่ชลประทาน เพื่อให้การทำนามีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้น้ำและการลดต้นทุนการผลิต
- การรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำและการจัดระบบการส่งน้ำตามรอบที่กลุ่มผู้ใช้น้ำต้องการในการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง
- สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน จำเป็นต้องลงทุนในแหล่งหรือสระสำรองน้ำ และระบบการจัดการน้ำในไร่นา เพื่อให้สามารถควบคุมระดับน้ำได้
- การเติมความรู้และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกร: เกษตรกรบางรายอาจคุ้นชินกับวิธีการทำนาแบบเดิม และยังไม่มั่นใจในผลลัพธ์ของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งในประเด็นนี้ พี่บุญฤทธิ์และพี่พิชิตได้ให้คำแนะนำว่า
- ให้ใช้วิธีการชวนให้ทดลองในแปลงขนาดเล็กก่อน โดยอาจมีการประกันผลตอบแทนที่จะได้จากการผลิตข้าวในแปลงดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรคลายความกังวลใจในการทดลอง
- มีการนำแอพพลิเคชั่นอื่นๆ เช่น ระบบการติดตาม/สำรวจการเจริญเติบโตของข้าวภายในแปลงนา (ของ GISTDA) มาใช้ประกอบช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น
- การปรับรูปแบบการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชน: การส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้งต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนในหลายรูปแบบ ด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการฝึกอบรม และจะต้องเป็นไปในรูปแบบที่เหมาะสม แต่ที่ผ่านมา การช่วยเหลือของรัฐมักจะเป็นไปในลักษณะการช่วยเหลือแบบให้เปล่า ซึ่งจะไม่เอื้อต่อการปรับตัวและเข้าถึงเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น รูปแบบการช่วยเหลือจึงควรแบ่งออกเป็น 5 ลักษณะคือ
- การสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่นาของเกษตรกร เช่น การลงทุนในการจัดรูปที่ดิน การลงทุนในการปรับระดับที่นา การลงทุนระบบการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์
- การสนับสนุนแบบมีเงื่อนไขในการส่งเสริมพฤติกรรมการทำนาในบางรูปแบบ เช่น การสนับสนุนการทำนาแบบไม่เผาฟาง (ไร่ละ 200 บาท) การสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ดินและการใช้ปุ๋ยสั่งตัด การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ส่งเสริม
- การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/ผู้ประกอบการ ในการให้บริการที่จำเป็นในพื้นที่ เช่น
- ในกรณีของพี่พิชิต จ.สุพรรณบุรี กลุ่มมีการให้บริการ (ก) รถแทรกเตอร์และโดรนสำหรับการทำนาเปียกสลับแห้ง (ข) พันธุ์ข้าว และ (ค) การตรวจวิเคราะห์ดินและการใช้ปุ๋ยสั่งตัด (เพื่อลดการใช้ปุ๋ยส่วนเกินลง)
- ในกรณีของพี่บุญฤทธิ์ จ. ชัยนาท มีการให้บริการ (ก) พด. 2 และ (ข) รถไถเดินตามและจอบหมุนโรตารี่เพื่อย่อยและปั่นฟาง
- นอกจากนี้ ยังควรประสานและสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่เช่น (ก) รถเกี่ยวนวดข้าวให้ติดตั้งอุปกรณ์ในการกระจายฟาง เพื่อลดการเผาในพื้นที่นา (ข) การพัฒนาเครื่องอัดฟาง/ใบไม้เพื่อลดการเผาในพื้นที่
- การสนับสนุนในการเข้าถึงตลาด ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ (ก) ผลิตภัณฑ์ข้าวรักษ์โลก ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และ/หรือ (ข) การเข้าถึงทางเลือกและการต่อรองในตลาดคาร์บอนเครดิต
- การสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ การประกันสินเชื่อ และ/หรือการปรับโครงสร้างหนี้แบบเป็นแพ็คเก็จในระยะเวลา 5-6 ปี เพื่อช่วยลดโลกร้อนและลดหนี้สินไปพร้อมๆ กัน
- ระบบการติดตามและประเมินผล: จำเป็นต้องมีระบบการติดตามและประเมินผลที่ชัดเจน เพื่อวัดผลสำเร็จและปรับปรุงวิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้าน (ก) ประสิทธิภาพการใช้น้ำ (ข) โรคและแมลง (ค) การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศแบบสุดขั้ว เช่น อากาศร้อนจัด ซึ่งจะกระทบกับการผสมเกสรและ/หรือผลผลิตข้าว และ (ง) ต้นทุนการผลิตข้าว
สรุป
การทำนาแบบเปียกสลับแห้งเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับการผลิตข้าว ช่วยลดการใช้น้ำ ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการทำนาแบบนี้ให้แพร่หลาย จำเป็นต้องเข้าใจและแก้ไขข้อจำกัดและความท้าทายต่างๆ และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบการผลิตข้าวที่ยั่งยืนสำหรับพี่น้องชาวนาอย่างแท้จริง
เอกสารอ้างอิง
กรมชลประทาน, 2558. คู่มือการทำนาแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว. จาก http://ridceo.rid.go.th/karasin/lampao/wmlp59/wetdry_rice.pdf
นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ, 2566. นาเปียกสลับแห้ง หนทางแห่งอนาคต ลดผลกระทบโลกร้อน จาก https://tdri.or.th/2023/08/alternative-wetting-and-drying-rice/
บางจากหลากมุมมอง, 2566. Thai Rice NAMA ข้าวลดโลกร้อน. https://www.bangchak.co.th/en/newsroom/reflection/1118/thai-rice-nama-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99
ผู้จัดการ, 2567. ‘คาร์บอนเครดิต’ ติดสปีด “ทำนาข้าวลดโลกร้อน จาก https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000058844#google_vignette
สถาบันวิจัยพลังงาน มช., 2566. ปลูกข้าวด้วยนวัตกรรมใหม่ ลดโลกร้อนได้อย่างไร? จาก https://erdi.cmu.ac.th/website_new/?p=10477