วิกฤตอุทกภัยไทย จะรับมืออย่างไรในระยะยาว


นาวิน โสภาภูมิ


       ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นท่วมฉับพลันในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือ อาทิ เชียงราย  พะเยา เชียงใหม่ แพร่และลำปาง ได้สร้างความตื่นตระหนกให้ผู้คนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ อ.แม่สาย และ อ.เมือง จ.เชียงราย ที่มีทั้งน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนจำนวนมหาศาลที่ถูกพัดพามาพร้อมกับมวลน้ำในน้ำแม่สายและแม่น้ำกก ส่วนเชียงใหม่ก็เกิดปัญหาน้ำหลากท่วมอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ เช่น อ.แม่แตง อ. แม่ริม อ.เมือง และ อ.สารภี โดยที่ประชาชนไม่ทันตั้งตัว ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก หวาดกลัวและความสูญเสียต่อชีวิตทรัพย์สินและเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่ภาคกลาง เช่น อยุธยา และปทุมธานี ก่อให้เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก แต่ไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะดูแลประชาชนเหล่านี้อย่างทั่วถึงได้อย่างไร สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดคำถามถึงประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยของภาครัฐ ที่ไม่เท่าทันสถานการณ์และควรจะต้องมีการปรับปรุงให้มีความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะรุนแรงขึ้นในอนาคต  

       เพื่อหาทางช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ปัญหาอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สส.พรรคประชาชน และ เดชรัต สุขกําเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ได้เข้าร่วมประชุมและหารือกับเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 .ค.) ณ ห้องประชุมน้ำปิง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ


อุทกภัยที่ไม่คุ้นเคยและจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

       สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่และพะเยา มีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาฝนตกหนักมากกว่าปกติในพื้นที่ลุ่มน้ำสาย น้ำกก และลุ่มน้ำปิง จากข้อมูลของ สทนช. ชี้ให้เห็นว่า ฝนที่ตกหนักมากในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำสาย ซึ่งอยู่ในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ได้ทำให้เกิดน้ำหลากและดินโคลนไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่อำเภอแม่สาย ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำกก มีฝนที่ตกหนักและตกสะสมต่อเนื่องในระยะเวลาสั้นๆ จนทำให้เกิดน้ำหลากท่วมอย่างรวดเร็วในพื้นที่เชียงรายและพะเยา ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งตั้งอยู่ในลุ่มน้ำปิงก็เกิดฝนตกหนักสะสมต่อเนื่องคล้ายเชียงราย ประกอบกับในพื้นที่ลุ่มน้ำสาย กกและปิง มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งในด้านป่าไม้ การเกษตร การพัฒนาเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง การบุกรุกลำน้ำ การสร้างสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ และการเปลี่ยนแปลงของลำน้ำ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การไหลของน้ำในพื้นที่ใหม่  เมื่อเกิดฝนตกหนักจึงเกิดปัญหาน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำท่วมหนักมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ระบบประปา รุนแรงมากกว่าที่เคยประสบมา

การเปลี่ยนแปลงการตกของฝนทั้งในเชิงการกระจายตัวของฝน และการตกหนักแบบสุดขั้ว (Extreme)  มีแนวโน้มว่าจะเกิดมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้การบริหารจัดการน้ำยากขึ้น และต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่รุนแรงกว่าเดิม ขณะที่ความแม่นยำในการพยากรณ์อากาศยังมีความคลาดเคลื่อนสูง ทำให้ยากต่อการเตรียมตัวรับมือล่วงหน้า เช่น กรณีน้ำท่วมเชียงราย ไม่มีสัญญาณเตือนว่าฝนจะตกหนักในเมียนมาและเชียงรายมากขนาดนั้น ในอนาคตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ฝนตกหนักแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมืออย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการพยากรณ์ฝนที่แม่นยำและทันเวลามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนภัยและเตรียมการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ


มาตรการเร่งด่วนเตรียมรับมืออุทกภัย ฉบับ New normal

ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ดังเช่นพื้นที่เชียงราย พะเยา เชียงใหม่และลำปาง มีความรวดเร็วและรุนแรงมาก และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้นี้ สนทช.  กมธ.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สภาผู้แทนราษฎร และพรรคประชาชนมีความเห็นร่วมกันว่า  จำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกเตรียมรับมือปัญหาอุทกภัยในปี 2568 และปีต่อๆ ไป ดังนี้

·  การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้เท่าทันสถานการณ์มากขึ้น ทั้งการพัฒนาโมเดลการพยาการณ์อากาสให้แม่นยำมากขึ้น และการประสานขอความร่วมมือกับประเทศเมียนมา ตามกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อขอติดตั้ง สถานีตรวจวัดสภาพอากาศและสถานีโทรมาตรในพื้นที่ลุ่มน้ำสายตอนบนที่อยู่เขตประเทศเมียนมา รวมถึงการประสานความร่วมมือขอติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศและสถานีโทรมาตรในพื้นที่รับผิดชอบของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งชาติ เป็นต้น

·  การจัดการกีดขวางทางน้ำ ได้แก่ แก้ไขปัญหาเรื่องลำน้ำที่อุดตันจากตะกอนและโคลนทับถมในช่วงอุทกภัยที่ผ่านมา การปรับปรุงแก้ไขเส้นถนนที่ท่อระบายน้ำเล็กกว่าขนาดของลำน้ำเดิม รวมทั้งการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ เป็นต้น

·  การปรับปรุงประตูระบายน้ำ การซ่อมแซมโครงสร้างระบบชลประทาน อาคารชลศาสตร์หรือพนังกั้นน้ำที่เสียหายจากอุทกภัยที่ผ่านมา เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

·  การจัดทำแผนที่ความเสี่ยงและปรับปรุงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่มและอาจส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนในอนาคต

นายคริษฐ์ ปานเนียม สส. พรรคประชาชน  เขต 1 จังหวัดตาก ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของปัญหาอุทภัยในลุ่มน้ำวังได้  “แม่น้ำวังทั้งเส้นช่วงปลายตีบและแคบเมื่อเทียบอัตราการไหลในแต่ละช่วงสิ่งแรกที่ควรทำคือขุดลอกเพิ่มพื้นที่ร่องน้ำให้สมดุลข้อมูลปัจจุบัน 361 > 579 >897 และช่วงท้ายที่ 580 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แปลว่าช่วงท้ายต้องขุดลอกให้ได้อย่างน้อย 950 ขึ้นไปจะช่วยได้”

ขณะที่ นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส. พรรคประชาชน เชียงใหม่ เขต 3  เน้นย้ำว่า การจัดการอุทกภัยในระดับพื้นที่นั้นต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานหลายภาคส่วนโดยใช้ “ผังน้ำ” เป็นเครื่องมือช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ให้ทุกหน่วยงานมีความเข้าใจในแนวทางเดียวกัน ไม่สร้างอุปสรรครุกล้ำหรือกีดขวางทางน้ำ ซึ่งจะลดและบรรเทาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

“เราร่วมกับเทศบาลเมืองต้นเปา, แขวงทางหลวงที่ 2, โครงการส่งน้ำเขื่อนแม่กวง, กรมชลประทาน, อำเภอสันกำแพง และศูนย์น้ำ มช. เพื่อหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อจะคิกออฟโครงการหลายโครงการเพื่อแก้ปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ทิศตะวันออกของเชียงใหม่ ได้แก่ ดอยสะเก็ด แม่ออน สารภี และสันกำแพง

ปัญหานี้แก้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวกับหลายเจ้าภาพ ยกตัวอย่าง การขุดลอกลำเหมืองเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น การทำให้น้ำไหล Flow ผ่านถนนได้เร็วขึ้นเป็นหน้าที่ของกรมทางหลวง การตรวจวัดปริมาณฝนและปริมาณน้ำเป็นงานของกรมชลประทาน การแจ้งเตือนภัยเป็นงานของ ปภ. และการช่วยเหลือด้านเครื่องจักรก็เป็นของ อบจ.

การจะแก้ปัญหาของ Flow น้ำ ต้องอาศัยข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติได้ทำไว้ มาผนวกเข้ากับโครงข่ายระบายน้ำของท้องถิ่น เชื่อมเข้ากับผังท่อใต้ถนนของทางหลวง ตรวจทานข้อมูลกับประสบการณ์ของคนในพื้นที่ แล้วจึงจะสามารถตั้งโครงการเพื่อแก้ไขเป็นจุดๆไปแบบแม่นยำ แก้ได้จริง และประหยัดงบประมาณ

เรื่องนี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นปัญหาตรงกัน วางแผนร่วมกัน ตั้งโครงการที่เชื่อมโยงกัน และติดตามการจัดสรรงบประมาณให้ลงมาตามที่พื้นที่ต้องการ”

มาตรการเร่งด่วนเหล่านี้สามารถดำเนินการในปีงบประมาณ 2568 ได้เลย โดยอาศัยงบประมาณกลางของรัฐบาล ดำเนินการในพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงอุทกภัยสำคัญในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง พะเยาและสุโขทัย เป็นต้น


ความซับซ้อนของปัญหาอุทกภัยเชิงพื้นที่และช่องว่างในการเข้าถึงเงินเยียวยา

สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2567 หลายจังหวัดได้มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติอุทกภัย และรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาให้เงินช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม  อย่างไรก็ตาม ในกรณีจังหวัดปทุมธานี ประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม กลับไม่ได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือแต่อย่างใด เนื่องจากทางจังหวัดไม่ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม โดยให้เหตุผลว่า “สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดปทุมธานีไม่เป็นน้ำท่วมเฉียบพลัน หรือมีความเสียหายรุนแรงจนไม่อาศัยอยู่ในบ้านได้”  ขณะที่ประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดปทุมธานีกลับได้รับเงินเยียวยากันอย่างไม่มีปัญหา นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ สส.ปทุมธานี เขต 2 ได้อธิบายให้เห็นความซับซ้อนของปัญหาน้ำท่วมจังหวัดปทุมธานีและปัญหาช่องว่างในช่วยเหลือประชาชน ในเวทีการประชุมกับ สทนช. ได้อย่างน่าสนใจ

ปทุมธานีเป็นจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำหลากจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554  ได้มีป้องกันน้ำท่วมโดยการสร้างแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการท่วม จากที่มีการท่วมแบบกระจายไปทั่วพื้นที่เปลี่ยนเป็นการท่วมขังในบางพื้นที่อย่างรุนแรงมากขึ้น เมื่อเกิดปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงและการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่: กลุ่มที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ: กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างหนักและต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่ไม่สามารถย้ายที่อยู่ได้ ชุมชนเหล่านี้มักเป็นชุมชนแออัดและยากจน กลุ่มที่อยู่ริมคลองระบายน้ำ: กลุ่มนี้แม้ปกติจะไม่ท่วม แต่จะได้รับผลกระทบเมื่อมีการระบายน้ำจากพื้นที่อื่นเข้ามาในคลอง เช่น คลองรังสิตที่รับน้ำจากกรุงเทพฯ และกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่แอ่ง: กลุ่มนี้มักประสบปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากไม่มีทางระบายน้ำออก คาดการณ์ว่ามีจำนวนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ประมาณ 5,000- 6,000 ครัวเรือน ชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ เนื่องจากหน่วยงานราชการมองว่าน้ำท่วมเป็น “วิถีชีวิต” ของคนปทุมธานี ไม่เข้าเกณฑ์ภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการช่วยเหลือทางการเงินอย่างเหมาะสม แม้ว่าบางปีจะท่วมนานถึง 5-6 เดือน หรือเกิดน้ำท่วมนอกฤดู ก็ไม่ได้รับการดูแล ส.ส.เจษฎามองว่าปัญหานี้เกิดจากการตีความกฎหมายที่ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงในการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ยึดติดกับตัวอักษรมากเกินไป และ ขาดความเข้าใจในความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้เกิดความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย

นอกจากนี้ ส.ส. เจษฎา มองว่าจังหวัดปทุมธานียังไม่มีระบบการเตือนภัยน้ำท่วมที่ดีและขาดแผนจัดการและรับมืออุทกภัยอย่างเป็นระบบ หากทาง สทนช.เข้ามาช่วยเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาระบบเตือนภัยของจังหวัดให้มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการเตือนภัยแบบออนไลน์และออฟไลน์ เช่น การติดตั้งสตาฟวัดระดับน้ำและกล้องวงจรปิดติดตามระดับน้ำในพื้นที่ให้มีจำนวนมากขึ้น การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำระดับจังหวัดเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ลดความตื่นตระหนกจากข่าวลือรวมทั้งการจัดทำแผนจัดการและรับมืออุทกภัยอย่างเป็นระบบในระยะยาว เช่น การปรับปรุงยกระดับบ้านเรือนให้อยู่กับน้ำท่วมได้ การขุดลอกคลองระบายน้ำ และการหาพื้นที่รับน้ำ โดยคำนึงถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชน จะช่วยลดและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัดปทุมธานีได้มากขึ้น สำหรับเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมนั้น ควรมีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประสบภัยทุกครัวเรือน โดยพิจารณาจากระดับน้ำท่วมและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละครัวเรือน อย่างเป็นธรรม โดยยึดหลักการช่วยเหลือดูแลประชาชนที่เดือดร้อนอย่างถ้วนหน้า


จัดการ ฟื้นฟูและพัฒนา ให้อยู่ร่วมอยู่รอดกับน้ำในระยะยาว 

ความท้าทายสำคัญของการรับมือและจัดการปัญหาอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคตก็คือ การวางแผนจัดการในระยะยาว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี เช่น อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เดชรัต สุขกําเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอบางบาล และได้ข้อเสนอที่สะท้อนความต้องการของพี่น้องชาวบางบาล 3 ประการ ได้แก่ 

(1)แผนการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างยังไม่มีความชัดเจน เช่น พี่น้องประชาชนในพื้นที่ยังไม่ทราบว่ากรมชลประทานจะปล่อยน้ำเข้าทุ่ง (ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม) ในช่วงวันใด ปริมาณเท่าไร และจะปล่อยให้พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ (ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนหรือที่อยู่อาศัยของคนส่วนใหญ่) จะท่วมสูงเพียงใดและนานเพียงใด ทำให้ประชาชนวางแผนจัดการยกของ/ย้ายรถ/อพยพผู้คนได้ยาก รวมถึงการระบายน้ำออกนอกพื้นที่ยังทำได้ช้า เพราะศักยภาพการรับและระบายน้ำของระบบคูคลองและแม่น้ำมีจำกัด

(2) แผนบริหารจัดการน้ำของภาคกลางอย่างเป็นระบบ โดยมีแนวทางเลือกที่ระบายน้ำหรือตัดยอดน้ำไปช่องทางอื่นๆ ด้วย เพื่อลดผลกระทบการเป็นพื้นที่รับน้ำของชาวบางบาล และชาวอยุธยาลงได้บ้าง รวมถึงการฟื้นฟูและพัฒนาระบบคูคลองให้มีศักยภาพในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วขึ้นด้วย

(3) แผนฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่รับน้ำในอยุธยา ว่ารัฐบาลจะพัฒนาพื้นที่บางบาลไปในทิศทางใด เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างยั่งยืนและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจหลังภาวะน้ำท่วม และการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย


การรุกและรับมือปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นรอบด้านและทั่วถึง

ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ไม่มีวันเหมือนเดิมดังในอดีต เนื่องจากรูปแบบการตกของฝนที่เปลี่ยนไป จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ทำให้ภูมิทัศน์การไหลของน้ำท่าหรือลำน้ำเปลี่ยนไป มีแนวโน้มชัดเจนที่ปัญหาอุทกภัยจะส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ปรากฏการณ์ความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ สะท้อนความไม่พร้อมของระบบเตือนภัยและการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ ขณะที่ปัญหาอุทกภัยที่จังหวัดปทุมธานีสะท้อนช่องว่างของปัญหาการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง เนื่องจากการตีความเกณฑ์ภัยพิบัติที่ไม่สอดคล้องกับความเดือดร้อนของประชาชน กรณีอยุธยายังขาดแผนการบริการจัดการอุทกภัยในระยะยาวให้ประชาชนปรับตัวอยู่ร่วมและอยู่รอดกับปัญหาน้ำท่วมได้ การแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างรอบด้านและทั่วถึง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานหลายฝ่าย โดยยึดเอาความเดือดร้อนและประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องมีการพัฒนาระบบเตือนภัยที่แม่นยำ การจัดการลำน้ำให้รองรับน้ำหลากได้ดีขึ้น การจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ การปรับปรุงระบบอาคารชลศาสตร์ และการปรับปรุงเกณฑ์การเยียวยาให้มีความเป็นธรรมและครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนรับมือและจัดการอุทกภัยในระยะยาว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า